ผู้เขียน หัวข้อ: อนามัย..ติดแล็บ ต้นแบบ..รพ.สต.  (อ่าน 997 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
อนามัย..ติดแล็บ ต้นแบบ..รพ.สต.
« เมื่อ: 12 กันยายน 2012, 19:05:07 »


ปี 2553 รัฐบาลมีนโยบายยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า รพ.สต. เลยมีคำถามจากความคาดหวังของประชาชน ยกระดับเป็นโรงพยาบาลแล้ว จะมีอะไรดีขึ้นกว่าเก่าบ้าง

การให้บริการจะยังเป็นเหมือนสถานีอนามัยเดิมอย่างนั้นหรือ...ที่เปลี่ยนไป มีแต่เปลี่ยนป้ายชื่ออนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ กับยกระดับตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัย ขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเท่านั้นเองหรือ



เป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องหาคำตอบให้ได้ ในการพัฒนาขีดความสามารถของ รพ.สต. ภายใต้งบประมาณที่จำกัด เพราะประเทศไทยไม่สามารถจัดหาแพทย์ พยาบาล รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ให้กับ รพ.สต.ได้เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป

ปีที่แล้วกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำโครงการพัฒนา รพ.สต.ต้นแบบให้ได้ภาคละ 1 แห่ง สำหรับภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 จึงได้ทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมกับปัญหาในพื้นที่ โดยติดตั้งเครื่องตรวจวิเคราะห์เลือดกึ่งอัตโนมัติ ให้กับ รพ.สต.ที่มีความพร้อมเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ 1 แห่ง

เพื่อจะได้นำไปใช้ในการตรวจวิเคราะห์เลือดให้กับชาวบ้าน เพื่อดูภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และคอเลสเทอรอลในเลือด ที่คนไทยยุคนี้เป็นกันมาก และเมื่อก่อนสถานีอนามัยไม่สามารถตรวจวิเคราะห์เลือดได้เอง จะทำได้ต้องส่งเลือดไปให้โรงพยาบาลในเมืองทำให้


รพ.สต.มีแล็บ มีเครื่องมือตรวจวิเคราะห์เลือดได้เอง นอกจากจะเป็นการยกระดับการให้บริการแล้ว ทาง รพ.สต.เองจะได้รู้ข้อมูลปัญหาสุขภาพประชาชนในพื้นที่ด้วยว่าชาวบ้านมีปัญหาด้วยโรคอะไรมากเพื่อนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมสุขภาพ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของชื่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ

โดยเราจะจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือมาให้ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์มาคอยฝึกอบรมให้ความรู้ในการใช้เครื่องมือ แม้ในความรู้สึกของคนทั่วไปจะมองว่างานนี้เป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับเจ้าหน้าที่อนามัย แต่เราคิดว่าไม่ยากเกินไปที่ฝึกให้คนเรียนรู้และทำได้เอง เพราะเครื่องไม้เครื่องมือสมัยนี้การใช้งานไม่ยุ่งยากเหมือนในอดีต


ปิยะนาถ

น.ส.ปิยนาถ ลีวิวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี เล่าถึงที่มาของการสร้างความต่างของสถานีอนามัยเดิมกับ รพ.สต.ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเรา

จากความตั้งใจแรกต้องการเลือก รพ.สต.ที่มีความพร้อมแค่เพียง 1 แห่งมาเป็นต้นแบบเพื่อจุดประกายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องรับ รพ.สต.ไปดูแลเองในอนาคตจะได้สานงานต่อ ตามนโยบายของรัฐบาล

แต่เมื่อนำโครงการไปประสานความร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ รพ.สต. รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น...ปรากฏว่า ความต้องการกลับมีมากถึง 7 แห่ง จนทางสาธารณสุขจังหวัดต้องจัดหางบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มให้ครบตามความพร้อมและความต้องการของ รพ.สต.

ด้วยสุราษฎร์ธานีมีปัญหาที่สะท้อนให้เห็นภาพชัดของความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาทางด้านการแพทย์ที่ชัดเจน


“เป็นตัวอย่างของปัญหาในพื้นที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการให้บริการสาธารณสุขในประเทศ เพราะสุราษฎร์ธานีมีความแตกต่างของโรงพยาบาลสูงมาก มี รพ.สต. โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัดที่พัฒนาสูงไปจนถึงขั้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์

ประกอบกับเศรษฐกิจของจังหวัดค่อนข้างดี ยางพารา ปาล์มน้ำมันมีราคา ชาวบ้านมีรถยนต์ขับกันเกือบทุกบ้าน เลยส่งผลให้เกิดสภาพปัญหาผู้คนแห่กันมารักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองกันเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นที่เรียกได้ว่า โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลอำเภอ แย่งลูกค้าจาก รพ.สต.ไปจนหมด

จนเกิดความหนาแน่น แออัด ภาพที่เราเห็นกันทุกวัน สงสารชาวบ้านที่แห่กันมาตรวจรักษาในเมือง ต้องมากันตั้งแต่ ตี 4 ตี 5 มารอเข้าคิวเจาะเลือด กว่าจะได้คิวเจาะเลือดจริงปาเข้าไปตอนบ่าย คนจะมาเจาะเลือดต้องอดน้ำอดอาหารนานขนาดนั้นไม่ไหวแน่ แล้วไหนจะต้องรอผลวิเคราะห์เลือด รอคิวพบหมอ บางรายมาวันเดียวไม่ทัน ต้องมาใหม่อีกครั้ง ถึงได้รับการตรวจรักษา

แต่ถ้าทาง รพ.สต.มีความสามารถในการเจาะตรวจวิเคราะห์เลือดได้เอง นอกจากจะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลในเมืองได้แล้ว ยังจะช่วยเหลือชาวบ้านได้ไปในตัว ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง เสียเวลาทำมาหากิน เพราะชาวบ้านสามารถนำผลเจาะเลือดของ รพ.สต.มาให้หมอวินิจฉัยรักษาโรคได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารอคิวเจาะเลือดหลายชั่วโมง หลายวันอีกต่อไป”


ณัฐวุฒิ

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐศิริพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี ชี้ให้เห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และความจำเป็นที่ต้องติดแล็บให้ รพ.สต.มากถึง 7 แห่ง ทั้งที่เป้าหมายต้องการแค่แห่งเดียว

และผลของการติดแล็บวิเคราะห์เจาะเลือดให้กับ รพ.สต.ปรากฏว่า ได้ผลจนคาดไม่ถึงว่า...โครงการติดแล็บให้ รพ.สต. ต้นแบบ จะกลายเป็นมหกรรมทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ช่วยให้คนไทยได้รอดพ้นจากมหันตภัยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

เพราะโรคนี้เป็นภัยคุกคามที่มองไม่เห็น...จะมาเห็นก็ต่อเมื่อกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ไปซะแล้ว

“ตอนแรกที่เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์มาบอกว่าจะให้พวกเราทำแล็บตรวจวิเคราะห์เลือดเอง ก็ตกใจกลัว ตื่นเต้นเหมือนกันว่า พวกเราจะทำกันได้ไหม แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่มาฝึกอบรมให้ความรู้ ก็ไม่มีอะไรยาก  เจ้าหน้าที่ของเราทุกคนก็ดีใจที่จะได้ทำอะไรใหม่กันบ้าง เป็นการพัฒนาตัวเองไปในตัว”


ลาวัลย์

น.ส.ลาวัลย์ เวทยาวงศ์ ผอ.รพ.สต.ปากหมาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี 1 ใน 6 รพ.สต.ติดแล็บต้นแบบ เผยถึงความรู้สึกถึงงานใหม่ที่เพิ่งได้รับมา ที่ทำให้รู้ว่า ชาวบ้านในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเองมีปัญหาด้วยโรคยอดฮิตกันมากขนาดไหน

“เมื่อสัก 20 ปีก่อน ที่ปากหมากนั้น เรามีข้อมูลว่า มีคนป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดัน รวมทั้งคนที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต รวมแล้วแค่ 16 คนเท่านั้นเอง

แต่มาเดี๋ยวนี้ด้วยบ้านเมืองพัฒนามากขึ้น ถนนดีขึ้น ไฟฟ้าก็มีใช้ได้ 2-3 ปี ทุกหมู่บ้านมีตลาดนัด มีหมูเห็ดเป็ดไก่ให้ซื้อกินได้สะดวกกว่าแต่ก่อน เรียกว่ามีกินมีใช้อุดมสมบูรณ์มากขึ้น ปรากฏว่า ตอนนี้ชาวบ้านเป็นโรคจากกินดีอยู่ดี เป็นความดันมากขึ้น 400-500 คน


ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะไม่รู้มากขนาดนี้  แต่เดี๋ยวนี้เราตรวจวิเคราะห์เลือดได้เอง และยังมีรถโมบายแล็บเคลื่อนที่เข้าไปตรวจเลือดได้ถึงชุมชนทำให้เรารู้ข้อมูลละเอียดมากขึ้น”

และข้อมูลที่ได้จากการเจาะเลือด ทาง รพ.สต.จะได้นำไปต่อยอด จัดกิจกรรมให้คนในตำบลปากหมากได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอยู่และออกกำลังกาย

เพื่อจะได้ป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตที่จะตามมา และช่วยให้ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งยาฝรั่งให้มากจนเกินไปที่จะเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อตับในภายหลัง.