ผู้เขียน หัวข้อ: อนามัยโลกเตรียมบรรจุ “แอสปาร์แตม”(Aspartame) สารให้ความหวาน เป็นสารก่อมะเร็ง  (อ่าน 178 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในที่ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า แอสปาร์แตม (Aspartame)  ที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากมาย ตั้งแต่น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ไปจนถึงหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล กำลังจะถูกบรรจุเข้าในรายการ “สารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์” ของ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง หรือ IARC ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ การตัดสินของ IARC ที่เสร็จสิ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายน มีเป้าหมายในการประเมินอันตรายของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นฐานของรายงานการศึกษาวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ออกมา ซึ่งไม่ได้ระบุถึงปริมาณการบริโภคสารแอสปาร์แตมที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารแอสปาร์แตมออกมามากมาย เช่นเมื่อปีที่แล้ว (2565) มีการศึกษาในฝรั่งเศส ที่เก็บข้อมูลของผู้ใหญ่ 100,000 คน พบว่า ผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในบริมาณมาก ซึ่งรวมถึงแอสปาร์แตม มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าผู้ที่บริโภคสารเหล่านี้ในปริมาณที่น้อยกว่า

ก่อนหน้านี้ เคยมีการศึกษาในอิตาลีช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000 ที่ระบุว่า โรคมะเร็งที่พบในหนูทดลองมีส่วนเกี่ยวข้องกับสารแอสปาร์แตม

อย่างไรก็ตาม การตัดสินของ IARC ที่ผ่านมากับสารชนิดอื่น ๆ ได้สร้างความกังวลในหมู่ผู้บริโภค ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้อง และสร้างแรงกดดันให้กับผู้ผลิตสินค้าให้ต้องปรับปรุงสูตรหรือเปลี่ยนมาใช้สารชนิดอื่นเพื่อความปลอดภัย แต่บางครั้งการตัดสินนี้ก็สร้างความสับสนให้กับสาธารณชนได้เช่นกัน

ทางแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า การบรรจุแอสปาร์แตมเป็นหนึ่งในสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริโภค และผู้ผลิต ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนร่วมกัน

ข้อมูลอ้างอิง
Exclusive: WHO's cancer research agency to say aspartame sweetener a possible carcinogen -sources

Thansettakij
30มิย2566

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
แอสปาร์แตม (Aspartame) เป็น สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น น้ำตาลเทียม เครื่องดื่มอัดลม หมากฝรั่งไร้น้ำตาล เป็นต้น จะเห็นว่า แอสปาร์แตมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งใกล้ตัว และเราก็บริโภคกันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยแทบไม่รู้ตัวเลยทีเดียว

การค้นพบและคุณสมบัติทั่วไปของแอสปาร์แตม

แอสปาร์แตม หรือ APM ถูกค้นพบครั้งแรกด้วยความบังเอิญ เมื่อปี ค.ศ.1965 โดยเจมส์ แชลเตอร์ (James Schlater) ขณะทำการสังเคราะห์สารที่ใช้รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร โดยระหว่างทำการตกผลึก L-Aspartyl-L-phenylalanine methyl ester จากเอทานอล (ethanol) ปรากฏว่า สารละลายที่กำลังผสมหกรดมือ แต่เขาไม่ได้สนใจจึงไม่ได้ล้างมือ เมื่อเขาจะหยิบกระดาษกรอง เขาได้เลียนิ้วมือเพื่อให้หยิบกระดาษกรองได้ง่ายขึ้น พบว่า เมื่อเลียนิ้วมือ เขาได้รับรสหวานจากนิ้ว

แอสปาร์แตมเป็นเมทิลเอสเทอร์ (methyl ester) ของไดเพปไทด์แอสพาทิลเฟนนิลอะลานีน (dipeptide aspartylphenylalanine) เตรียมได้จากกรดอะมิโน (amino acid) 2 ชนิด คือ กรดแอล-แอสปาร์ติก (L-aspartic acid) และ แอล-เฟนนิลอะลานีน (L-phenylalanine) ได้ผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ความสามารถในการละลายขึ้นอยู่กับ ความเป็นกรด-ด่าง (pH) และอุณหภูมิ

แอสปาร์แตมมีรสหวานคล้ายน้ำตาล แต่มีความหวานประมาณ 180-200 เท่าของน้ำตาล และเป็นรสหวานที่ติดลิ้นนานกว่ารสหวานที่ได้จากน้ำตาล หรือสารให้ความหวานชนิดอื่น ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะกับผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิด แต่หากไม่ต้องการให้หวานติดนาน อาจปรับปรุงได้โดยการผสมแอสปาร์แตมกับสารให้ความหวานชนิดอื่น หรือเติมเกลือบางชนิด เช่น อลูมินัมโปแตสเซีมซัลเฟต (aluminium potassium sulfate) หรืออาจลดปริมาณลงได้

แอสปาร์แตมเป็นโปรตีน เมื่อถูกเผาผลาญจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม ซึ่งเท่ากับน้ำตาล แต่เนื่องจากมีความหวานสูงกว่าน้ำตาลมาก ปริมาณที่ใช้จึงน้อยมาก ดังนั้น ปริมาณแคลอรีที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานจะต่ำมาก

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาสรรพคุณในเรื่องของแคลอรีต่ำ ไม่ทำให้อ้วน เช่น น้ำตาลเทียม หมากฝรั่งไร้น้ำตาล ยาสำหรับเด็กบางชนิด โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมสูตรไดเอททั้งหลาย ซึ่งนำแอสปาร์แตมมาใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่มีแคลอรีต่ำ แต่มีความหวานเหมือนน้ำตาล สัดส่วนปริมาณแอสปาร์แตมที่ใช้ จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.055-0.090 ขึ้นอยู่กับชนิดและยี่ห้อของเครื่องดื่มอัดลม

โทษของแอสปาร์แตม

แม้ว่าแอสปาร์แตมจะเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้เป็นอย่างดี แต่แอสปาร์แตมนั้นได้จากกระบวนการสังเคราะห์ ซึ่งแตกต่างจากน้ำตาลซึ่งได้จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ดังนั้น แอสปาร์แตมจึงเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง การที่จะบริโภคจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัย

ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการขอใช้แอสปาร์แตมครั้งแรกในปี ค.ศ.1974 แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ เนื่องจากพบว่า ส่วนประกอบที่เป็นกรดอะมิโนของแอสปาร์แตมนั้น ทำให้สัตว์ทดลองเกิดภาวะผิดปกติเมื่อบริโภคในปริมาณสูง แต่หลังจากที่ได้มีการขอข้อมูลเพิ่มเติม และพิจารณาใหม่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการอนุญาตให้ใช้แอสปาร์แตมได้ในปี ค.ศ.1981

จากนั้น ในปีเดียวกันแคนาดาได้อนุญาตให้ใช้แอสพาร์แตมในอาหารต่างๆ เช่นกัน และในเวลาต่อมาก็ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการใช้เแอสปาร์แตมอย่างกว้างขวางมากขึ้น ก็มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับผลของการใช้แอสปาร์แตมกันมากขึ้นเช่นกัน รวมทั้งผลการศึกษาที่ออกมาในเชิงคัดค้านการนำแอสปาร์แตมมาใช้ โดยกล่าวว่า แอสปาร์แตมสามารถสลายตัวได้ที่อุณหภูมิห้อง กลายเป็นสารพิษและองค์ประกอบที่เป็นอันตรายอื่นๆ เช่น เมธานอล (methanol) ดีเคพี (DKP หรือ difetopierzine) และสารก่อมะเร็งอื่นๆ

เคยมีการศึกษาในอิตาลีช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000 ที่ระบุว่า โรคมะเร็งที่พบในหนูทดลองมีส่วนเกี่ยวข้องกับสารแอสปาร์แตม

และเมื่อปีที่แล้ว (2565) มีการศึกษาในฝรั่งเศส ที่เก็บข้อมูลของผู้ใหญ่ 100,000 คน พบว่า ผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในบริมาณมาก ซึ่งรวมถึงแอสปาร์แตม มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าผู้ที่บริโภคสารเหล่านี้ในปริมาณที่น้อยกว่า

ล่าสุด 30 มิ.ย. 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง หรือ IARC ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตรียมบรรจุแอสปาร์แตม เข้าในรายการสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในเดือนก.ค.นี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริโภค และผู้ผลิต ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนร่วมกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก รอยเตอร์ / คลังความรู้ SciMath

Thansettakij
30 มิ.ย. 2566

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในวันที่ 14 ก.ค. ที่จะถึงนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมประกาศจัดประเภทสารให้ความหวานแทนน้ำตาล “แอสปาร์แตม” (Aspartame) ให้เป็นสารที่อยู่ในกลุ่ม “เป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็ง” (possible carcinogen) สร้างความตื่นตระหนกและวิตกกังวลให้กับผู้บริโภคสารแทนน้ำตาลชนิดดังกล่าว ซึ่งถือเป็นส่วนผสมหลักในน้ำอัดลมแคลอรีต่ำและเครื่องดื่มน้ำตาล 0% ยี่ห้อต่าง ๆ

แผนการดังกล่าวเป็นผลมาจากการประเมินทบทวนงานวิจัย 1,300 ชิ้น ซึ่งจัดทำขึ้นล่าสุดโดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (IARC) หน่วยงานในสังกัดขององค์การอนามัยโลก

อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือของผลประเมินทบทวนงานวิจัยดังกล่าว รวมทั้งความน่าเชื่อถือของ IARC เองนั้น ที่ผ่านมาถูกตั้งคำถามจากสาธารณชนมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นองค์กรที่ขึ้นชื่อว่ามักสร้างความสับสนในการให้ข่าวสารด้านสุขภาพกับประชาชน รวมทั้งมีระบบการจัดประเภทสารก่อมะเร็งที่คลุมเครือไม่ชัดเจนอีกด้วย

ในปัจจุบัน IARC จำแนกสารต่าง ๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่ม 1 สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (carcinogenic) เช่นยาสูบ,แร่ใยหินแอสเบสตอส (asbestos), ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป
กลุ่ม 2A สารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably carcinogenic) เช่นสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเสต (glyphosate)
กลุ่ม 2B สารที่มีความเป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ (possible carcinogenic)
กลุ่ม 3 ไม่สามารถจำแนกได้
ในครั้งนี้ IARC เตรียมจัดให้แอสปาร์แตมอยู่ในกลุ่ม 2B ซึ่งหมายถึงมีหลักฐานยืนยันจำนวนจำกัดจากผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยพบการก่อมะเร็งในมนุษย์หรือสัตว์ทดลองเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าเป็นหลักฐานที่ไม่หนักแน่นพอและไม่อาจใช้สรุปได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็งอย่างแน่นอนหรือไม่

สิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม 2B เช่นเดียวกัน ยังได้แก่น้ำมันดีเซล, นิกเกิล, แป้งทัลคัมที่ตกค้างบริเวณฝีเย็บของสตรี, ว่านหางจระเข้, ผักดองหลากชนิดของชาวเอเชีย, รวมทั้งคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าก่อมะเร็งจริงหรือไม่

ศาสตราจารย์ เควิน แม็กคอนเวย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Open University ของสหราชอาณาจักร บอกกับบีบีซีว่า “การจัดประเภทสารก่อมะเร็งของ IARC ไม่ได้บอกอะไรเราเลยเกี่ยวกับอัตราความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งจากการบริโภคแอสปาร์แตม”

“การจัดประเภทนี้บอกเราเพียงว่า มีหลักฐานยืนยันหนักแน่นแค่ไหน ที่บ่งชี้ว่าแอสปาร์แตมอาจเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง” ศ. แม็กคอนเวย์กล่าว “การที่มันถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม 2B แสดงว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้อยู่น้อยมากในประเด็นนี้ ไม่อย่างนั้นแอสปาร์แตมน่าจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม 1 หรือ 2A ไปแล้ว”

ทุกวันนี้แอสปาร์แตมเป็นส่วนผสมหลักในอาหารและเครื่องดื่มที่วางจำหน่ายในท้องตลาดถึง 6,000 ชนิด การเตรียมประกาศให้แอสปาร์แตมอยู่ในกลุ่มสารที่เป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็ง จึงสร้างความปั่นป่วนโกลาหลอย่างมากให้กับแวดวงอุตสาหกรรมอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยยังมองว่า แผนการของ IARC เป็นการสร้างความตื่นตระหนกโดยใช่เหตุ

แม้ช่วงปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา WHO ได้แถลงว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่มีประโยชน์ต่อการลดน้ำหนักและการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แต่คำแนะนำล่าสุดขององค์การอนามัยโลกเองยังคงยืนยันว่า คนทั่วไปสามารถบริโภคแอสปาร์แตมได้โดยปลอดภัย หากไม่ได้รับเข้าร่างกายในปริมาณมากผิดปกติ โดยคนที่มีน้ำหนักตัว 68 กิโลกรัม สามารถบริโภคแอสปาร์แตมได้ในปริมาณเท่ากับที่ผสมในน้ำอัดลม 13 กระป๋องต่อวัน

ด้านคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมระหว่าง WHO กับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (JECFA) ซึ่งเตรียมจะประกาศคำตัดสินเรื่องแอสปาร์แตมก่อมะเร็งหรือไม่ในวันที่ 14 ก.ค. นี้เช่นกัน ยังคงให้คำแนะนำว่าคนทั่วไปสามารถบริโภคสารแทนน้ำตาลชนิดนี้ได้โดยปลอดภัย ในปริมาณไม่เกิน 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งหมายความว่าผู้ที่หนัก 75 กิโลกรัม สามารถบริโภคแอสปาร์แตมได้มากถึง 2,730 มิลลิกรัมต่อวันเลยทีเดียว

BBC News ไทย
14 ก.ค.2566