ผู้เขียน หัวข้อ: อนาคตหลักประกันสุขภาพไทยในเวทีโลก พิสูจน์ฝีมือรัฐบาล - คสช.  (อ่าน 633 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
22 ก.ย.- 15 ต.ค. 58 นี้ จะมีการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 70 ขึ้น ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับกันดีว่า การเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติระยะหลังของไทยนั้น นโยบายหนึ่งที่ไทยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติอย่างมาก คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทั้งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ต่างยกย่องว่า เป็นต้นแบบประเทศกำลังพัฒนาที่สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้ ที่สำคัญ สถานการณ์ของไทยในช่วงที่กำลังเริ่มต้นระบบ เพิ่งพ้นจากวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ได้ไม่นาน แม้กระทั่งธนาคารโลกยังทักท้วงว่า เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ถึงขั้นระบุว่าความพยายามนั้นจะไม่สัมฤทธิ์ผล
       
       แต่จากความสำเร็จ ก็ทำให้ นพ.จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบัน ถึงกับเอ่ยเรื่องนี้ในปาฐกถาเมื่อครั้งรับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลที่ประเทศไทยเมื่อต้นปี 2557 ว่า “มีเรื่องสำคัญที่ผมต้องแจ้งให้ทราบว่า ไทยได้ริเริ่มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าท่ามกลางข้อทักท้วงจากธนาคารโลกถึงความกังวลเรื่องความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง แต่วันนี้ได้พิสูจน์ว่า ไทยได้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนไทยทุกคนอย่างถ้วนหน้า และวันนี้โลกก็ได้เรียนรู้ความสำเร็จจากไทยเป็นต้นแบบ” ที่สำคัญ ยังสามารถดำเนินการได้ดี ภายใต้งบประมาณที่จำกัด คำว่าดีในที่นี้คืออัตราการเข้าถึงบริการของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น และตัวชี้วัดด้านสุขภาพก็ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัตราตายของทารกแรกเกิด
       
       ล่าสุด ผลจากการดำเนินการป้องกันโรคเมอร์สได้สำเร็จ แม้จะพบผู้ป่วยในไทย แต่ก็สามารถค้นหาได้เร็ว และตัดวงจรการระบาดไทย พญ.มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 58 แสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์โรคเมอร์สของประเทศ ความสำเร็จครั้งนี้สะท้อนถึงความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของประเทศ ระบบหลักประกันสุขภาพที่เอื้อต่อการควบคุมโรคได้สำเร็จ และระบุว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการลงทุนสุขภาพดีด้วยต้นทุนต่ำ แม้ว่าขณะนี้มีกว่า 70 ประเทศ ที่ดำเนินการ แต่ไทยดำเนินการได้สำเร็จโดยมีค่าใช้จ่ายสุขภาพในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ
       
       ขณะที่ ศ.อมรรตยะ เสน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็ได้กล่าวถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ในโอกาสที่ได้มาเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 58 ว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ถือเป็นความสำเร็จอย่างงดงามของไทยที่หลายประเทศทำตาม ซึ่งไทยเป็นตัวอย่างที่ว่าไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวยมาก ก็สามารถจัดหาระบบสุขภาพถ้วนหน้าได้ ผลสำเร็จของหลักประกันสุขภาพไทยได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องความยากจนลงจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงตัวชี้วัดสุขภาพของประชากรก็ดีขึ้นและลดความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนรวยกับคนจน
       
       และในช่วงที่ผ่านมา ข่าวที่น่าสนใจที่ปรากฎทางสื่อ คือ การที่ กรรมาธิการสาธารณสุขจากประเทศเยอรมนี นามีเบีย และ ติมอร์-เลสเต ศึกษาดูงานการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ช่วงวันที่ 22 - 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ประเด็นที่แต่ละประเทศให้ความสนใจเรื่องหลักประกันสุขภาพของไทยนั้น มีความแตกต่างกัน เยอรมนี ในฐานประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากชื่นชมกับความสำเร็จ ยังได้บอกโจทย์ที่ท้าทายว่า ไทยควรจะต้องวางแผนเกี่ยวกับอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไรบ้าง
       
       นายโธมัส สตริทเซิล (Mr.Thomas Stritzl) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี และกรรมาธิการด้านสาธารณสุข รัฐสภาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวว่า ไทยประสบความสำเร็จในการจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนได้ครอบคลุมในงบประมาณจำกัด โจทย์ท้าทาย คือ จะจัดระบบสุขภาพอย่างไรให้รองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตข้างหน้า เนื่องจากเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลกต่างก็เผชิญกับปัญหาประชากรผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ประชากรในวัยทำงานกลับลดลง และสิ่งที่ไทยและเยอรมันจะต้องหาคำตอบให้ได้ในเรื่องสุขภาพ คือ จะจัดระบบสุขภาพให้มีความทันสมัยและยุติธรรม ซึ่งต้องเท่าเทียม และ ครอบคลุม อย่างมีคุณภาพได้อย่างไร ในขณะที่มีงบประมาณจำกัด
       
       ขณะที่ นามิเบีย และติมอร์-เลสเต ในฐานประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งที่สนใจคือ การเรียนรู้จากไทยเป็นต้นแบบ เพื่อนำไปปรับใช้ในประเทศ
       
       ดร.ซิตาเลนิ ซี. เฮอร์แมน สมาชิกคณะกรรมาธิการประกันสังคมแห่งสาธารณรัฐนามิเบีย เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการด้านหลักประกันสุขภาพให้ประชาชน และประสบความสำเร็จในการใช้งบประมาณไม่มากนัก แต่สามารถให้บริการด้านสุขภาพกับประชาชนทั้งประเทศ มีการบริหารจัดการชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย รวมไปถึงผู้ที่ต้องได้รับดูแลเป็นพิเศษ เช่น คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แม้จะมีความแตกต่างของกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาล 3 กองทุน แต่ก็มีระบบบริหารจัดการที่ทำให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่แทบไม่แตกต่างกัน และยังมีการควบคุมคุณภาพด้วยการมีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งคณะศึกษาดูงานจะได้นำแนวทางการดำเนินงานของไทยไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศในอนาคต
       
       ด้าน นายเวอร์จิลิว ดา คอสตา ฮอร์ไน ประธานคณะกรรมาธิการเอฟ รัฐสภาติมอร์-เลสเต ระบุว่า การดูงานในครั้งนี้ เพื่อจะได้นำประสบการณ์การดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยไปปรับใช้เพื่อให้ประชาชนชาวติมอร์-เลสเต ได้เข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และบริการของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
       
       จากทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับหลักประกันสุขภาพไทยในเวทีโลก นั่นคือ เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ทำให้เรามีปัญหาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เป็นหน้าเป็นตาพอให้รัฐบาลนำไปพูดกับนานาชาติได้ คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อปี 2557 ที่ผ่าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้ยกเอาความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้คนไทยเข้าถึงการรักษาได้อย่างเสมอหน้า เป็นภารกิจหนึ่งของรัฐบาลเพื่อบรรลุเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
       
       ดังนั้น การประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. นี้ น่าสนใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยกความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในด้านใดมากล่าวในเวทีโลก ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ในเวทีโลกชื่นชม แต่ภายในประเทศมีความขัดแย้งและเห็นต่างกับเรื่องนี้อยู่มาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับสังคมที่ต้องมีการอภิปราย ถกเถียง แลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีที่สุด
       
       แต่ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือ จะใช้จังหวะที่โลกให้การยอมรับและยกย่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับภาพลักษณ์ของประเทศอย่างไร สิ่งสำคัญที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะให้ความสนใจ คือการเป็นผู้นำการปฏิรูประบบสาธารณสุขยกสอง ที่เน้นเรื่องของความเท่าเทียม และเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน หากทำได้จริง ก็จะเป็นผลงานของรัฐบาลที่นำเสนอในเวทีโลกได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร

น.ส.ณัฐกานต์ กิจประสงค์
       กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 สิงหาคม 2558