ผู้เขียน หัวข้อ: สตรีผู้กุมความลับ-(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1821 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ภาพวาดของบีอันกา สฟอร์ซา ไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก ตอนที่เปิดตัวสู่โลกศิลปะเมื่อวันที่ 30 มกราคม ปี 1998 ในสายตาของผู้ร่วมงานประมูลของบริษัทคริสตีส์ในมหานครนิวยอร์ก  เธอเป็นเพียงใบหน้าอันแช่มช้อยในกรอบรูป ไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเธอ หรือชื่อของจิตรกรผู้รังสรรค์ผลงานชิ้นนี้ แค็ตตาล็อกการประมูลให้รายละเอียดว่า รูปคนเหมือน (portrait) สีชอล์กผสมหมึกบนกระดาษหนังเป็นของศิลปินชาวเยอรมันในต้นศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เคต แกนซ์ ผู้ค้างานศิลปะชาวนิวยอร์ก ประมูลภาพนี้ไปด้วยราคา 21,850 ดอลลาร์สหรัฐ

                กระทั่งเกือบสิบปีต่อมา   เมื่อปีเตอร์ ซิลเวอร์แมน นักสะสมงานศิลปะ    เห็นรูปเหมือนของบีอันกาในแกลเลอรีของแกนซ์และตัดสินใจซื้อ เขาคิดว่าภาพดังกล่าวอาจมาจากสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (ราวศตวรรษที่สิบสี่ถึงสิบเจ็ด) แกนซ์เองคิดว่า เลโอนาร์โด ดา วินชี น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินผู้นี้ ท้ายที่สุด ซิลเวอร์แมนจึงเริ่มสงสัยว่า แล้วถ้าผลงานชิ้นนี้เป็นฝีมือของ ดา วินชี เองเล่า

                หากนับถึงตอนที่ซิลเวอร์แมนซื้อภาพนี้ เวลาก็ล่วงเลยมากว่า 75 ปีแล้วนับตั้งแต่การระบุภาพวาดของศิลปินเอกผู้นี้ครั้งล่าสุด ไม่มีบันทึกใดระบุว่า จิตรกรผู้สร้างสรรค์ผลงาน “โมนาลิซา” เคยวาดภาพลงบนกระดาษหนัง ทั้งยังไม่มีใครเคยเห็นภาพสำเนาและภาพร่างมาก่อน หากภาพนี้เป็นผลงานของดา วินชี จริง แล้วมันหายไปอยู่ที่ใดมาเป็นเวลาถึง 500 ปี

ซิลเวอร์แมนส่งภาพดิจิทัลของบีอันกาทางอีเมลไปให้มาร์ติน เคมป์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับดา วินชี   ผู้โด่งดัง   “ความมีชีวิตชีวาอันน่าประหลาด” บนใบหน้าของหญิงสาว ถึงกับทำให้เคมป์อยากเข้าไปดูใกล้ๆ เขาเดินทางไปซูริกที่ซึ่งซิลเวอร์แมนเก็บภาพเขียนไว้ในห้องนิรภัย ภาพดังกล่าวมีขนาด 330 x 239 มิลลิเมตร เคมป์เล่าว่า “พอเห็นเท่านั้นแหละครับ ผมมือไม้สั่นเลยครับ รู้สึกว่ามันต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ”

อาการตื่นเต้นจนตัวสั่นนั้นกระตุ้นให้เคมป์ออกสืบหาความจริง เขาได้รับความช่วยเหลือจากปาสกาล กอตต์ จากบริษัทลูมีแยร์เทคโนโลยีที่กรุงปารีส ในการนำเทคนิคสแกนภาพหลายช่วงคลื่นความละเอียดสูง (high-resolution multispectral scan) มาใช้วิเคราะห์การลงสีแต่ละชั้นของภาพวาด ยิ่งเคมป์ได้เพ่งมองชิ้นงานมากเท่าใด เขาก็ยิ่งเห็นสิ่งที่คิดว่าเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงฝีมือของดา วินชี มากขึ้นเท่านั้น ตั้งแต่เรือนผมที่รวบอยู่ในเชือกถักประดับผม การไล่โทนสีที่สวยงาม ไปจนถึงลายเส้นที่คมชัด ส่วนที่แรเงายังแสดงให้เห็นถึงการตวัดฝีแปรงด้วยมือซ้ายอันเป็นเอกลักษณ์ของดา วินชี อีกทั้งการแสดงออกทางสีหน้าที่แม้จะดูเรียบเฉย แต่ก็ดูเหมือนกำลังครุ่นคิด ราวกับจะสื่อถึงขนบที่ดา วินชี ยึดถือ กล่าวคือ รูปคนเหมือนควรเผยให้เห็น “ความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจ”

เคมป์ยังต้องการข้อพิสูจน์ด้วยว่า รูปคนเหมือนดังกล่าววาดขึ้นในช่วงชีวิตของดา วินชี (ค.ศ. 1452 - 1519) และรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ของภาพนี้สอดคล้องกับชีวประวัติของศิลปินนามอุโฆษผู้นี้ กระดาษหนังที่ใช้วาดได้รับการตรวจหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสี และพบว่ามีอายุอยู่ในช่วงระหว่างปี 1440 ถึง 1650 ขณะที่การค้นคว้าเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายเผยว่า สตรีผู้เป็นแบบให้รูปคนเหมือนนี้มาจากกลุ่มชนชั้นสูงในราชสำนักมิลานช่วงทศวรรษ 1490 ดา วินชี ซึ่งอาศัยอยู่ในมิลานขณะนั้น ได้รับค่าตอบแทนในการวาดรูปคนเหมือนให้ชนชั้นสูงด้วย รอยเย็บที่ขอบภาพด้านซ้ายบ่งบอกว่าถูกตัดออกมาจากหนังสือ ซึ่งอาจเป็นหนังสือที่ระลึกงานสมรสของราชนิกุล

การสืบเสาะหาข้อมูลของเคมป์นำเขาไปสู่ชื่อของบีอันกา สฟอร์ซา ธิดานอกสมรสของดุ๊กแห่งมิลาน ในปี 1496 เธอสมรสกับกาเลอัซโซ ซันเซเวรีโน ผู้บัญชาการทหารของมิลานและผู้อุปถัมภ์คนหนึ่งของดา วินชี ขณะเป็นแบบเธอมีอายุ 13 หรือ 14 ปี แต่น่าเศร้าที่เธอเสียชีวิตลงในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ซึ่งน่าจะมาจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก เคมป์ตั้งชื่อให้ภาพเขียนภาพนี้ว่า “เจ้าหญิงผู้เลอโฉม” (La Bella Principessa)

ต่อมาเขายังได้รับข้อความจาก ดี. อาร์. เอดเวิร์ด ไรต์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา ไรต์แนะนำเคมป์ว่า  จิกซอว์หรือตัวต่อชิ้นสำคัญที่เขามองหาอาจอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติโปแลนด์ในกรุงวอร์ซอ ในหนังสือที่ชื่อ สฟอร์เซียด (Sforziad) ไรต์อธิบายว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ระลึกอันหรูหราในงานสมรสของบีอันกา สฟอร์ซา

เคมป์และกอตต์เดินทางไปยังวอร์ซอด้วยทุนสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก การถ่ายภาพระยะใกล้หรือแมโครของกอตต์เผยว่า กระดาษหน้าหนึ่งถูกตัดออกจากหนังสือ ซฟอร์เซียด ซึ่งเป็นหน้าที่ควรจะมีรูปคนเหมือนแทรกอยู่ ช่วงเวลาสำคัญมาถึงเมื่อพวกเขาสอดสำเนาภาพเหมือนของบีอันกาเข้าไปในหนังสือ ปรากฏว่าเข้ากันพอดิบพอดี สำหรับเคมป์แล้ว นี่คือหลักฐานชิ้นสุดท้ายที่เขาต้องการ

มีนาคม 2555