ผู้เขียน หัวข้อ: สมานรอยแผลทุ่งสังหาร-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1830 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
อากี รา ใช้นิ้วปัดเศษดินอย่างเบามือ เผยให้เห็นกับระเบิดสีเขียวเข้มที่ฝังลึกลงไปราว 5 เซนติเมตรใต้ถนนลูกรังที่มีต้นไม้ขึ้นรกเรื้อ กับระเบิดลูกนี้ถูกพวกเขมรแดงฝังไว้เมื่อราว 15 ปีมาแล้วบนทางเกวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีกับระเบิดหนาแน่นที่สุดในประเทศที่มีกับระเบิดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อากี รา รู้จักกลไกการทำงานของกับระเบิดเกือบทุกชนิด ย้อนหลังไปในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ขณะอายุได้เพียง 5 ขวบ พวกเขมรแดงพรากเขาไปจากพ่อแม่และพาเข้าป่าพร้อมกับเด็กกำพร้าคนอื่นๆ

ในเวลานั้น พล พต ผู้นำเขมรแดง นำพาประเทศไปสู่กลียุค ทั้งปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน ธนาคาร และวัดวาอาราม จับครูและนักธุรกิจไปฆ่าทิ้ง รวมทั้งบังคับ กะเกณฑ์ชาวเมืองหลายล้านคนให้ไปอยู่ตามค่ายกักกันแรงงานและไร่นา มือเล็กๆของเด็กอย่างอากี รา ถือเป็นเครื่องมือที่มีค่ายิ่ง เขาถูกฝึกให้วางกับระเบิด ปลดชนวนและถอดชิ้นส่วนระเบิดของฝ่ายศัตรู แล้วนำสารทีเอ็นทีที่ได้กลับมาใช้ใหม่ หลายปีต่อมา หลังกองทัพเวียดนามรุกรานกัมพูชา อากี รา ถูกบังคับให้เป็นทหารในกองทัพเวียดนาม และต่อสู้กับฝ่ายเขมรแดง ในที่สุดเมื่อกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเข้ามาในกัมพูชาเมื่อปี 1992 ถึงตอนนั้น อากี รา ใช้ชีวิตรอนแรมอยู่ในป่ามาร่วม 15 ปีแล้ว เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดให้องค์การสหประชาชาติ และหลังจากกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติถอนออกไปในอีกสองปีต่อมา พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ยังมีกับระเบิดหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ชาวไร่ชาวนาที่พยายามกลับมาเพาะปลูกบนที่ดินเดิมของตนเองถูกกับระเบิดเสียชีวิตไปก็มาก

ตลอดระยะเวลา 15 ปีนับจากนั้น อากี รา ปลดชนวนกับระเบิดแทนการเก็บกู้ และทำลาย (เช่นที่ทำกันในปัจจุบัน) โดยไม่ได้ค่าจ้างแม้สักแดง เขาใช้เพียงมีดและไม้กอบกู้ประเทศกลับคืนมาทีละตารางเมตร เท่าที่นับได้ อากี รา บอกว่า เขาน่าจะปลดชนวนกับระเบิดได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ลูกแล้ว ในช่วงที่เพลิงสงครามโหมไหม้ไปทั่วกัมพูชาระหว่างปี 1970 ถึงปี 1998 ทุกฝ่ายต่างงัดกับระเบิดมาใช้เข่นฆ่ากัน รวมๆแล้วจึงมีกับระเบิดมากกว่า 30 ชนิด ส่วนใหญ่ทำในจีน รัสเซีย หรือไม่ก็เวียดนาม มีเพียงไม่กี่ชนิดที่ทำในสหรัฐฯ

แม้กับระเบิดจะถือเป็นอาวุธสงคราม แต่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากกระสุนปืนและลูกระเบิดในสองลักษณะ คือ ข้อแรก มันถูกออกแบบมาเพื่อทำให้แขนขาพิการมากกว่ามุ่งเอาชีวิต เพราะทหารที่บาดเจ็บต้องให้ทหารอีกสองสามนายเข้ามาช่วย ซึ่งเท่ากับเป็นการลดทอนกำลังฝ่ายข้าศึก ข้อสอง ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุด คือ แม้สงครามจะยุติลงแล้ว แต่กับระเบิดยังฝังอยู่ในดิน และพร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ ทั่วโลกมีผู้ตกเป็นเหยื่อกับระเบิดที่เป็นทหารเพียงร้อยละ 25 ส่วนที่เหลือเป็นพลเรือน แม้จะมีประวัติศาสตร์อันน่าสะพรึงกลัว แต่ปัจจุบันกัมพูชาได้กลายเป็นแบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศหนึ่งสามารถฟื้นตัวจากความโหดเหี้ยมอำมหิตของกับระเบิดได้อย่างไร ที่นี่ไม่เพียงมีโครงการเก็บกู้และทำลายกับระเบิดมากกว่า สิบโครงการ แต่ยังมีการให้การศึกษาเรื่องความเสี่ยงจากกับระเบิด ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้รอดชีวิตจากกับระเบิด จำนวนผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากกับระเบิดทั้งชายหญิงและเด็ก อาวุธที่หลงเหลือจากสงครามและระเบิดแสวงเครื่องลดลง จากที่เคยสูงถึง 4,320 คนในปี 1996 เหลือเพียง 286 คนในปี 2010 ผู้รอดชีวิตจะได้รับความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลและการฝึกอาชีพ เด็กนักเรียนทุกคนได้รับการสอนให้รู้จักอันตรายของวัตถุระเบิด

ที่ผ่านมา “ทุ่งกับระเบิด” หลักๆได้รับการสำรวจและทำแผนที่เอาไว้ ปัจจุบันกำลังได้รับการเก็บกู้ทำลายอย่างเป็นระบบ ที่นี่มีแม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์กับระเบิดแห่งกัมพูชา (Cambodia Landmine Museum) ซึ่งจัดตั้งโดยอากี รา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่นอกเมืองเสียมเรียบ ภายในจัดแสดงกับระเบิดและอาวุธนานาชนิดที่เขาเป็นผู้ปลดชนวน ทั่วโลกมีกับระเบิดหลายล้านลูกฝังอยู่ในเกือบ 80 ประเทศ จากแองโกลาถึงอัฟกานิสถาน และจากเวียดนามถึงซิมบับเว หรือคิดเป็นหนึ่งในสามของประเทศทั่วโลก หลายประเทศกำลังดำเนินรอยตามกัมพูชา เมื่อปี 2002 มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือพิการจากกับระเบิดหรือระเบิดชนิดอื่นทั่วโลกเกือบ 12,000 ราย ทว่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จำนวนผู้เสียชีวิตและพิการในปีหนึ่งๆลดลงจนต่ำกว่า 4,200 ราย

สถานการณ์ที่ดีขึ้นมากนี้เป็นผลโดยตรงจากสนธิสัญญาต่อต้านกับระเบิด (Mine Ban Treaty) ซึ่งลงนาม ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี 1997 ข้อตกลงระหว่างประเทศนี้ไม่เพียงห้ามการใช้ ผลิต หรือถ่ายโอนกับระเบิด แต่ยังเรียกร้องให้รัฐภาคีถือเป็นพันธกิจที่จะต้องทำลายกับระเบิดในครอบครอง ปัจจุบันสนธิสัญญานี้ (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สนธิสัญญาออตตาวา) มีรัฐภาคี 157 ประเทศ รวมทั้งอัฟกานิสถาน ไลบีเรีย นิการากัว และรวันดา แต่มีอยู่ 39 ประเทศปฏิเสธการเข้าร่วม ซึ่งรวมถึงจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่ผู้คนเท่านั้นที่เป็นเหยื่อของกับระเบิด เศรษฐกิจของประเทศก็พลอยย่ำแย่ไปด้วย ชาวกัมพูชากว่าร้อยละ 60 เป็นชาวไร่ชาวนา พวกเขาทำนาไม่ได้ถ้าทุ่งนายังมีกับระเบิดฝังอยู่ เมื่อทำนาไม่ได้ก็ไม่มีรายได้มาเลี้ยงดูเจือจานครอบครัว นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศซึ่งประสบปัญหาแบบเดียวกันต้องดิ้นรนต่อสู้อีกยาวนาน แม้สงครามและความขัดแย้งจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม “ปัญหาการปนเปื้อนกับระเบิดกับความยากจนเกี่ยวข้องกันอย่างเห็นได้ชัดครับ” เจมี แฟรงกลิน จากองค์กรที่ปรึกษาด้านกับระเบิดหรือเอ็มเอจี (Mines Advisory Group: MAG) ให้ทรรศนะ เอ็มเอจีเป็นหน่วยปฏิบัติการเก็บกู้และทำลายกับระเบิดที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในกัมพูชา ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เอ็มเอจีได้เก็บกู้และทำลายกับระเบิดในพื้นที่เป้าหมายไปรวมแล้วหลายสิบตารางกิโลเมตร รวมทั้งที่หมู่บ้านเปรยโประในภาคกลางของกัมพูชาที่ซึ่งผืนนาสี่เหลี่ยมเขียวขจีสะท้อนแสงระยิบระยับเห็นไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตา เอ็มเอจีเก็บกู้กับระเบิดในพื้นที่รอบๆหมู่บ้านเปรยโประในช่วงปี 1994 ถึง 1995 โดยสามารถทำลายกับระเบิดสังหารบุคคล 379 ลูก และสรรพาวุธที่ยังไม่ระเบิดอีก 32 ลูก เมื่อหมู่บ้านและนาข้าวอย่างเปรยโประปลอดจากกับระเบิด เศรษฐกิจของกัมพูชาก็ดีวันดีคืน ในปี 1999 ซึ่งเป็นปีแรกที่ชาวกัมพูชาได้สัมผัสกับสันติภาพหลังความขัดแย้งยาวนานสิ้นสุดลง กัมพูชามีรายได้มวลรวมประชาชาติ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้ต่อบุคคลต่อปี 820 ดอลลาร์สหรัฐ อีก 11 ปีให้หลังคือปี 2010 ที่ผ่านมา รายได้มวลรวมประชาชาติเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเป็น 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าไปอยู่ที่ 2,040 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา การเก็บกู้และทำลายกับระเบิดทำได้ราว 700 ตารางกิโลเมตร แต่ยังมีพื้นที่ปนเปื้อนกับระเบิดเหลืออยู่อีกราว 650 ตารางกิโลเมตร หากพิจารณาจากความก้าวหน้าในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ปีละ 60 - 80 ตารางกิโลเมตร นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลาอีกสิบปีเพื่อกวาดล้างกับระเบิดและระเบิดชนิดอื่นๆให้หมดไปจากกัมพูชา

กุมภาพันธ์