ผู้เขียน หัวข้อ: หนีตายจากมหันตภัยนิวเคลียร์-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1839 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
บางทีสิ่งที่บีบคั้นหัวใจเราที่สุดเกี่ยวกับเมืองนะมิเอะ ก็คือทุกสิ่งดูเหมือนดำเนินไปตามปกติ ทุ่งหญ้ายังคงเขียวชอุ่ม แม่น้ำทะกะเซะและอุเกะโดะที่ไหลเอื่อยๆ สะท้อนแสงแดดเป็นประกายระยับ ร้านตัดผม สถานีรถไฟ และร้านอาหารดูเหมือนพร้อมเปิดให้บริการ ช่างเป็นโลกที่แตกต่างจากหายนะและภาพแห่งการทำลายล้างที่เกิดขึ้นกับเมืองต่างๆซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือตามแนวชายฝั่ง ในจังหวัดมิยะกิและอิวะเตะ นาฬิกาที่ถูกซัดเข้าฝั่งหยุดอยู่ที่เวลาประมาณ 15.15 น. ซึ่งเป็นเวลาที่คลื่นยักษ์สึนามิกลืนกินเมืองทั้งเมือง แต่ที่เมืองประมงเล็กๆอย่างนะมิเอะ นาฬิกายังคงทำหน้าที่ของมันต่อไป นะมิเอะเป็นหนึ่งในห้าเมืองเล็ก สองเมืองใหญ่ และสองหมู่บ้านที่บางส่วนหรือทั้งหมดตั้งอยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะดะอีชิ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้เป็นเขตอันตรายห้ามเข้า เมืองแห่งนี้กลายเป็นเมืองร้างไม่ต่างจากเมืองอื่นๆที่อยู่ในเขตหวงห้ามทางนิวเคลียร์ ชาวเมือง 7,500 คนจากทั้งหมด 21,000 คนต้องระหกระเหินไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ส่วนอีก 13,500 คนต้องพำนักอยู่ในที่พักชั่วคราวรอบๆฟุกุชิมะ พวกเขาคือ “ผู้ลี้ภัยนิวเคลียร์” ในจำนวนกว่า 70,000 คน

จุดจบของเมืองนะมิเอะเริ่มต้นขึ้นในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม เมืองนะมิเอะตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะดะอีชิ หลังทราบข่าวอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าชาวเมืองต่างพากันขับรถขึ้นไปยังที่สูง การมุ่งหน้าขึ้นเขาคือสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของชาวญี่ปุ่น ซึ่งหล่อหลอมจากการใช้ชีวิตอยู่กับภัยธรรมชาติอย่างสึนามิมาหลายร้อยปี แต่ในกรณีนี้กลับเป็นกลยุทธ์ที่นำไปสู่หายนะ ชาวบ้านซึ่งหนีขึ้นที่สูงต่างได้รับฝุ่นกัมมันตรังสีที่ปลิวมากับอากาศ พวกเขาเบียดเสียดกันอยู่ในเพิงพักพร้อมเสบียงอาหารน้อยนิดกระทั่งถึงวันที่ 15 หลังเกิดระเบิดขึ้นอีกครั้งที่โรงไฟฟ้า พวกเขาพากันหนีตายไปยังเมืองนิฮนมะสึซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตก “เมืองที่ถูกลืม” คือ คำจำกัดความที่นิตยสารยอดนิยมอย่าง บุงเงชุนจู (Bungei Shunju) ฉบับเดือนกรกฎาคมกล่าวถึงเมืองนะมิเอะ ซึ่งไม่เคยได้รับคำสั่งจากทางการให้อพยพ แม้แต่ในขณะที่โรงไฟฟ้าโรงที่ 1 และ 3 เกิดระเบิดจากก๊าซไฮโดรเจน และปล่อยอนุภาคที่เป็นพิษไปทั่วจังหวัดฟุกุชิมะ “เราไม่ได้ถูกลืมหรอกครับ เราถูกละเลยต่างหาก” นะกะ ชิมิซุ รองนายกเทศมนตรี กล่าวยอมรับ มีเพียงไม่กี่ครั้งที่ชาวบ้านซึ่งสวมชุดและหน้ากากป้องกันรังสีสีขาวได้นั่งรถบัสเข้าไปในเขตหวงห้ามเพื่อเก็บข้าวของมีค่าหรือตรวจตราความเรียบร้อยที่บ้านของตน การเดินทางกินเวลาเพียงสั้นๆราวสองถึงสามชั่วโมงเพื่อจำกัดโอกาสในการสัมผัสรังสีให้น้อยที่สุด จุงโกะและยุกีชิ ชิมิซุ สองสามีภรรยาซึ่งอาศัยอยู่กับครอบครัวของลูกชาย รวมถึงหลานชายวัยสองขวบ รู้สึกอาลัยอาวรณ์อย่างเห็นได้ชัดขณะเดินไปรอบบ้านของพวกเขาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ยุกีชิ วัย 62 ปี ใช้เทปกาวติดตามขอบหน้าต่างอย่างสิ้นหวังพลางทอดสายตามองสวนของเขา ซึ่งบัดนี้รกเรื้อไปด้วยวัชพืช ส่วนจุงโกะ วัย 59 ปี ปัดแท่นบูชาบรรพบุรุษและเก็บรวบรวมข้าวของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ได้รับอนุญาตให้นำออกนอกบริเวณได้ ทั้งภาพถ่าย ยาสมุนไพรจีน และกิโมโนของลูกสาว เธอทิ้งป้ายวิญญาณบรรพบุรุษไว้ “เดี๋ยวจะไม่มีใครปกป้องบ้านเราค่ะ” เธอบอก ไม่กี่กิโลเมตรไปตามทางหลวงสาย 6 ขณะที่อาทิตย์ยามเย็นสาดแสงอุ่นอาบไล้ตัวเมือง ลมทะเลเยียบเย็นโชยมาปะทะชุดป้องกันรังสีของเรา ชั่วขณะหนึ่งเราถึงกับลืมไปว่า เครื่องตรวจวัดรังสีบอกระดับสูงกว่าภาวะปกติราว 600 เท่า ยุกีชิ ชิมิซุ ซึ่งเคยปลูกข้าวและทำงานก่อสร้าง ได้แต่รำพึงรำพันขณะทอดสายตาสำรวจเมืองเล็กๆน่ารักอันเป็นบ้านเกิด แต่ตอนนี้กลับไร้ชีวิตชีวา เขาเอ่ยปากว่า “อยู่ที่นี่จะไม่ปลอดภัยอย่างเค้าว่าจริงๆหรือครับ”

กุมภาพันธ์