ผู้เขียน หัวข้อ: คะโฮเกีย(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1847 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ตอนนี้ผมยืนอยู่ ณ ใจกลางของดินแดน ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่รุ่งเรืองขึ้นระหว่างหมู่ทะเลทรายของเม็กซิโกทางทิศใต้กับมหาสมุทรอาร์กติกทางทิศเหนือ นี่คือเมืองแห่งแรกของอเมริกาและว่ากันว่าเป็นความสำเร็จอันงดงามที่สุดของชนพื้นเมืองอเมริกันหรืออเมริกันอินเดียน

คะโฮเกียหรือหมู่เนินดินมหึมาของเซนต์ลูอิสอาจไม่งดงามเลอเลิศในแง่สถาปัตยกรรม   แต่ด้วยขนาดพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร (ในจำนวนนี้ 8.9 ตารางกิโลเมตรได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ของรัฐ)  สถาน ที่แห่งนี้ไม่เพียงเป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ แต่ยังเปลี่ยนมุมมองของเราเกี่ยวกับชีวิตของชาวอเมริกันอินเดียนในทวีปนี้ ก่อนที่ชาวยุโรปจะเดินทางมาถึง  คะโฮเกียคือจุดสูงสุดและอาจเป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่นักมานุษยวิทยาเรียกว่า วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Missippian Culture)  ซึ่งหมายถึงกลุ่มชุมชนเกษตรกรรมที่ตั้งถิ่นฐานทั่วแถบมิดเวสต์หรือภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ก่อน ปี ค.ศ. 1000 และเจริญสูงสุดในราวศตวรรษที่สิบสาม  ความ คิดที่ว่าชนพื้นเมืองอเมริกันสามารถสร้างชุมชนที่มีความเจริญเทียบเท่ากับ เมืองเมืองหนึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรป   ถึงขนาดที่ว่าเมื่อพวกเขาพบหมู่เนินดินแห่งคะโฮเกีย  ซึ่งรวมถึงเนินใหญ่ที่สุดที่สูงเท่ากับตึกสิบชั้น  สร้างจากดินกว่า 622,970 ลูกบาศก์เมตร  จึง พากันคิดว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ของอารยธรรมอื่น กระทั่งทุกวันนี้ ความคิดเรื่องเมืองที่สร้างโดยชาวอเมริกันอินเดียนยังเป็นสิ่งที่ ชาวอเมริกันทั่วไปไม่ยอมรับ

ตลอดศตวรรษที่สิบเก้าคะโฮเกียเป็นสิ่งที่ถูกลืมเลือนในอเมริกา  และ ก่อนหน้าครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบ แม้แต่มหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐฯ ยังให้ความสนใจต่อคะโฮเกียและแหล่งโบราณคดีอื่นๆในบ้านตนเองอย่างผิวเผิน   พวกเขาเลือกที่จะส่งนักโบราณคดีไปยังกรีซ เม็กซิโก และอียิปต์  เพราะเรื่องราวของอารยธรรมโบราณในประเทศเหล่านั้นช่างไกลตัวและแสนโรแมนติก  กลุ่มคนเพียงหยิบมือที่ทุ่มเทศึกษาคะโฮเกียและหมู่เนินดินใกล้เคียงในเซนต์ลูอิสตะวันออกและเซนต์ลูอิส  ต้องต่อสู้กับการพัฒนาและการไม่เหลียวแลชนิดแทบไม่เห็นทางชนะตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษที่ผ่านมา  หมู่เนินดินสองแห่งที่เพิ่งกล่าวถึงซึ่งจัดว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่สุดในแถบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี ถูกทำลายและสร้างถนนทับ  และแม้ว่ามังค์สเมานด์ (Monks Mound) หรือ “เนินนักบวช” ซึ่งตั้งชื่อตามนักบวชชาวฝรั่งเศสที่เคยอาศัยใต้ร่มเงา จะกลายเป็นอุทยานแห่งรัฐขนาดเล็กเมื่อปี 1925  แต่ก็มักถูกใช้เป็นสนามลากเลื่อนและที่เล่นสนุกของเด็กๆ  ขณะที่พื้นที่ส่วนอื่นๆ ของคะโฮเกียไม่ได้รับความสนใจแม้แต่น้อย  หลายแห่งมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆปลูกทับ  นานๆทีจะมีคนเข้ามาศึกษา จนกระทั่งถึงทศวรรษ 1960

และนั่นคือจุดที่ประวัติศาสตร์ย้อนรอยตีแสกหน้า  เพราะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะพาดผ่านคะโฮเกียกลับทำให้เมืองโบราณแห่งนี้เป็นที่กล่าวขวัญถึง  โครงการตัดทางหลวงระหว่างรัฐของอดีตประธานาธิบดี ดไวต์ไอเซนฮาวร์  ซึ่งแม้จะเป็นอภิมหาโครงการที่เปลี่ยนโฉมภูมิประเทศของสหรัฐฯ กลับมีการกันงบประมาณไว้สำหรับศึกษาแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในแนวเส้นทาง   นี่ย่อมหมายถึงเงินทุนเพื่อการขุดค้นมากกว่าที่เคยได้รับ  รวมทั้งแผนการชัดเจนว่าจะต้องขุดที่ไหน เมื่อไร และเร็วเพียงใด  เมื่อมีแผนการสร้างทางหลวงสองสายที่จะตัดผ่านกลางเมือง  ได้แก่  ไอ-55/70  ที่ปัจจุบันผ่ากลางจัตุรัสเหนือของคะโฮเกีย และโอบล้อมโดยประกบคู่ไปกับถนนคอลลินส์วิลล์ซึ่งอยู่ห่างออกไปครึ่งกิโลเมตรทางทิศใต้  ทำให้นักโบราณคดีเริ่มลงมือศึกษาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อย่างเป็นระบบ และพวกเขาก็ค้นพบสิ่งที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน

ดูจะเป็นที่แน่ชัดว่า คะโฮเกียไม่ได้เป็นเพียงเนินดินกองมหึมา  หรือสถานที่รวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีกรรมนานๆ ครั้งของชนเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ในแถบนั้น  เพราะเกือบทุกจุดที่ขุดค้น นักโบราณคดีจะพบซากบ้านเรือนที่บ่งชี้ว่าประชากรหลายพันคนเคยตั้งชุมชนที่นี่  และบ้านหลายหลังในจำนวนนี้ก็สร้างขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ  จริงๆแล้วดูเหมือนเมืองทั้งเมืองเฟื่องฟูขึ้นในชั่วข้ามคืนเมื่อราวปี 1050 เป็นปรากฏการณ์ที่ปัจจุบันนักโบราณคดีเรียกว่า  “บิ๊กแบง”  กล่าว คือผู้คนหลั่งไหลมาจากพื้นที่ใกล้เคียง ปลูกบ้านเรือน และเร่งรุดสร้างสาธารณูปโภคให้กับเมืองใหม่ รวมทั้งเนินดินหลายเนินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนยอด  และจัตุรัสขนาดกว้างใหญ่เพื่อใช้เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับการแข่งขันกีฬา ไปจนถึงงานเลี้ยงเฉลิมฉลองของชุมชนและพิธีกรรมทางศาสนา

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนชึ้น เราต้องปีนบันได 156 ขั้นขึ้นสู่ยอดเนินนักบวช  จากยอดตัดของเนินขนาดมหึมาราว 50,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าฐานมหาพีระมิดคูฟูที่ถือว่าใหญ่ที่สุดของอียิปต์  ทำให้รู้สึกได้ถึงหยาดเหงื่อแรงงานที่ใช้ในการก่อสร้าง  และยังเข้าใจเหตุผลที่ต้องก่อเนินนี้ขึ้นมาแต่แรกอีกด้วย  จากบนนี้เรามองเห็นอาณาเขตของคะโฮเกียซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงที่รู้จักกันในชื่อ อเมริกันบอตทอม (American Bottom) ทอดตัวจากเซนต์ลูอิสไปถึงแนวผาชันริมน้ำห่างจากคะโฮเกียไปทางตะวันออก 5 กิโลเมตร  และแผ่ไปสุดสายตาทางทิศเหนือและทิศใต้  หลังจากบัญชาการให้ก่อสร้างสิ่งที่น่าจะกลายเป็นหมุดหมายทางภูมิศาสตร์ที่สูงที่สุดเหนือที่ราบกว้าง 450 ตารางกิโลเมตรแล้ว  หัวหน้าเผ่าหรืออาจจะเป็นนักบวชชั้นสูงก็น่าจะได้ชัยภูมิในมุมสูงสำหรับสอดส่องอาณาจักรของตนในที่สุด

แน่นอนว่า ภาพดังกล่าวได้มาจากข้อสันนิษฐานที่ว่า คะโฮเกียมีผู้ปกครองเพียงหนึ่งเดียว แต่เราไม่รู้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่  เราไม่รู้กระทั่งว่าสถานที่แห่งนี้แท้จริงแล้วมีชื่อว่าอะไร  คะโฮเกียเป็นชื่อที่ยืมมาจากเผ่าที่เคยอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงในศตวรรษที่สิบเจ็ด   หรือจากชื่อที่ชนเผ่าผู้เคยตั้งรกรากที่นี่เรียกขานตนเอง  เมื่อไม่มีภาษาเขียน  สิ่ง ที่พวกเขาทิ้งไว้จึงมีเพียงเบาะแสเล็กน้อยกระจัดกระจายที่ทำให้การศึกษาสภาพ สังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในหลายพื้นที่เป็นเรื่องท้าทาย

แม้ ว่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องคะโฮเกียจะวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์แต่ละความคิด เห็นไปต่างๆนานา แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันอยู่   ทุกคนเห็นตรงกันว่าคะโฮเกียไม่เพียงรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองสามร้อยปีหลังข้าวโพดกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญในท้องถิ่น  แต่ยังดึงดูดผู้คนจากที่ราบลุ่มอเมริกันบอตทอมให้มาอยู่รวมกัน  และทำให้ชุมชนอื่นๆในลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีดูเล็กไปถนัดตาทั้งในแง่ขนาดและขอบเขต  ประเด็นทุ่มเถียงมักวนเวียนอยู่กับคำถามเรื่องจำนวนประชากรในเมือง  การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมีมากน้อยเพียงใด ไปจนถึงรูปแบบการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพล

แนวคิดสุดโต่งด้านหนึ่งวาดภาพว่า  คะโฮเกียเป็น “โรงมหรสพแห่งอำนาจ” หรือจักรวรรดิอันเกรียงไกรที่ครอบงำผู้อื่นและธำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจทางทหาร  แผ่อิทธิพลหยั่งลึกไปทั่วลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี  และอาจเชื่อมโยงถึงอารยธรรมเมโสอเมริกาอื่นๆ เช่น มายา หรือตอลเตก  แต่ความคิดเห็นสุดโต่งอีกด้านหนึ่งกลับชี้ว่า  คะโฮเกียเป็นเพียงเมืองเมืองหนึ่งที่จัดว่าค่อนข้างใหญ่ในวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี  และประชากรมีพรสวรรค์ในการสร้างเนินดินมหึมา  แต่ก็เป็นเรื่องปกติของการถกเถียงทางวิชาการที่ความคิดเห็นซึ่งมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมักอยู่ตรงกลางระหว่างความคิดสุดโต่งทั้งสองด้าน

นอกจากนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเมืองนี้กันแน่  คะ โฮเกียกลายเป็นเมืองร้างไปแล้วตอนที่โคลัมบัสเดินทางมาถึงทวีปอเมริกา อีกทั้งที่ราบน้ำท่วมถึงในบริเวณนี้ รวมทั้งพื้นที่หลักๆในลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีและหุบเขาริมแม่น้ำโอไฮโอก็ร้าง ผู้คนจนได้รับการขนานนามว่า  ดินแดนว่างเปล่า (Vacant Quarter) การล่มสลายของคะโฮเกียอาจเป็นปริศนาข้อใหญ่ที่ท้าทายเสียยิ่งกว่าการก่อเกิดเสียอีก  แต่เบาะแสก็พอจะมีให้เห็นบ้างเล็กน้อย  กล่าวคือเมืองเริ่มฟูเฟื่องในช่วงที่ดินฟ้าอากาศเป็นใจ  และเริ่มหดตัวลงในช่วงที่สภาพอากาศเย็นลง แห้งแล้งมากขึ้น และคาดเดายากขึ้นเรื่อยๆ  สำหรับ ชุมชนเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาผลผลิตอย่างสม่ำเสมอแล้ว เงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนอาจนำมาซึ่งความตึงเครียดไปจนถึง หายนะ

ข้อเท็จจริงที่ว่าระหว่างปี 1175 ถึงปี 1275  ประชากร ของคะโฮเกียสร้างแนวรั้วล้อมรอบพื้นที่หลักของเมืองหลายต่อหลายครั้ง บ่งชี้ว่าความขัดแย้งหรือการคุกคามที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้กลายเป็นส่วน หนึ่งของการดำรงชีวิตในภูมิภาคแถบนี้ไปแล้ว  ซึ่งอาจเป็นเพราะทรัพยากรเริ่มร่อยหรอลง  ยิ่ง ไปกว่านั้น ประชากรที่หนาแน่นย่อมสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การกัดเซาะหน้าดิน มลภาวะ หรือโรคร้าย  ความยากลำบากทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้อาจหนักหนาจนเกินรับมือ และเป็นสาเหตุแห่งการล่มสลายของชุมชนและสังคมโบราณมากมาย

หากจะว่าไปแล้วการที่คะโฮเกียดำรงอยู่เพียง 300 ปี  และเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดอย่างมากไม่เกินครึ่งของช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ  เหมือนที่นักประวัติศาสตร์มักพูดเสมอว่า  “ความล้มเหลวถือเป็นเรื่องปกติสำหรับอารยธรรมมนุษย์  อะไรที่อยู่ยั้งยืนยงต่างหากที่น่าอัศจรรย์”

มีนาคม 2554