ผู้เขียน หัวข้อ: ใต้นครปารีส (สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1807 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
รถแท็กซี่แล่นฉิวใน ช่วงเช้าวันเสาร์ ถนนสายใหญ่เงียบสงบ ร้านรวงปิดทำการ กลิ่นขนมปังอบใหม่ๆโชยมาจากร้านเบเกอรี ความเคลื่อนไหววูบวาบตรงสัญญาณไฟจราจรสะดุดตาผม ชายคนหนึ่งสวมชุดกันเปื้อนสีฟ้าโผล่ขึ้นมาจากท่อระบายน้ำบนทางเท้า เขาไว้ผมยาวทรงเดรดล็อกและคาดไฟฉายที่ศีรษะ หญิงสาวคนหนึ่งโผล่ตามออกมา ในมือถือตะเกียง เธอมีขายาวเรียว สวมกางเกงขาสั้น ทั้งสองสวมรองเท้าบู๊ตยาง เนื้อตัวเปื้อนโคลนสีน้ำตาลอ่อนดูราวกับการตกแต่งร่างกายของชนเผ่า ชายคนนั้นดันฝาครอบเหล็กปิดปากท่อไว้ตามเดิม ฉวยมือหญิงสาว แล้วทั้งสองก็พากันวิ่งยิ้มร่าไปตามถนน

กรุง ปารีสมีความผูกพันกับพื้นที่ใต้ดินอย่างลึกซึ้งและพิลึกยิ่งกว่านครอื่นใด แทบทั้งหมด และโลกใต้มหานครแห่งนี้ยังจัดว่ารุ่มรวยที่สุดแห่งหนึ่งด้วย อุโมงค์ยาวหลายพันกิโลเมตรประกอบขึ้นเป็นเครือข่ายทางเดินใต้ดินและท่อระบาย น้ำ ซึ่งเรียกได้ว่าเก่าแก่และหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นหรือไฮไลต์บางส่วนเท่านั้น เพราะใต้นครปารีสเต็มไปด้วยพื้นที่สารพัดชนิด ทั้งคูคลองและอ่างเก็บน้ำ สุสานใต้ดินและห้องนิรภัยของธนาคาร ห้องเก็บไวน์ที่ดัดแปลงเป็นไนต์คลับและห้องแสดงภาพ ที่น่าแปลกที่สุดคือ การ์รีแยร์ (carrière) หรือเหมืองหินปูนเก่าแก่ที่แผ่เป็นโครงข่ายซับซ้อนอยู่ลึกลงไปใต้ย่านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ของมหานครแห่งนี้

โพรง และอุโมงค์เหล่านี้คือเหมืองที่ขุดกันอยู่จนถึงศตวรรษที่สิบเก้าเพื่อนำหิน ขึ้นมาใช้ในการก่อสร้าง ในตอนแรกเหมืองหินอยู่พ้นเขตเมืองออกไป แต่เมื่อนครขยายตัว พื้นที่บางส่วนก็แผ่ขยายไปตั้งอยู่เหนืออุโมงค์โบราณพอดี พัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องหลายชั่วอายุคนและขาดการกำกับดูแล คนงานเหมืองทำงานหลังขดหลังแข็งท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไร้มาตรการรักษาความ ปลอดภัยใดๆ เป็นโลกแห่งแสงจากคบไฟ ฝุ่นตลบ และอุบัติเหตุจากเหมืองถล่ม เมื่อสกัดหินจากบริเวณใดจนหมดแล้ว พวกเขาจะถมเศษหินลงไปแทนหรือทิ้งไปเฉยๆ เหนือผิวดินไม่มีใครใส่ใจเรื่องนี้มากนัก ไม่มีใครตระหนักว่ารากฐานของปารีสได้กลายสภาพไปจนปรุพรุนเพียงใด

การยุบตัวอย่างรุนแรงครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 1774 เมื่ออุโมงค์ที่ไม่มั่นคงแห่งหนึ่งพังทลายลงมากลืนกินบ้านเรือนและผู้คน บริเวณที่ปัจจุบันคือถนนอาเวอนูดองแฟร์-โรเชอโรทั้งแถบ ตลอดช่วงไม่กี่ปีต่อมามีหลุมยุบเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ส่งผลให้บ้านเรือนพังทลายลงสู่ความมืดมิดเบื้องล่าง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีรับสั่งให้สถาปนิกชื่อ ชาร์ล อักเซล กีโยโม สำรวจ ทำแผนที่ และป้องกันไม่ให้เหมืองยุบ ผู้ตรวจเหมืองหลายคณะค่อยๆเสริมความแข็งแรงของเหมือง และเพื่อให้ทำงานได้สะดวกขึ้น พวกเขาจึงขุดอุโมงค์เชื่อมเครือข่ายที่กระจัดกระจายกันอยู่เข้าด้วยกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อกษัตริย์ทรงตัดสินพระทัยจะย้ายซากศพและปิดสุสานที่แออัดส่งกลิ่นเน่า คลุ้งแห่งหนึ่งของเมือง จึงมีรับสั่งให้กีโยโมย้ายกระดูกไปไว้ที่อื่น เหมืองหินบางแห่งของกรุงปารีสจึงกลายเป็นสุสานใต้ดิน

 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการฝรั่งเศสเสรี (French Resistance) ซึ่ง เป็นกลุ่มใต้ดินที่ต่อต้านการยึดครองของนาซีเยอรมัน ได้มาหลบซ่อนอยู่ในเหมืองเหล่านี้บางแห่ง ขณะที่อีกหลายแห่งก็มีพวกเยอรมันมาสร้างหลุมหลบภัย ปัจจุบันมีกลุ่มลับอีกกลุ่มที่แตกต่างออกไปเที่ยวตระเวนไปตามอุโมงค์เหล่า นี้ เป็นชุมชนที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆและไร้ผู้นำ บางครั้งสมาชิกของกลุ่มอาจใช้เวลาหลายวันหลายคืนอยู่ใต้มหานคร คนพวกนี้เรียกว่า กาตาฟีล (cataphile) หรือผู้ที่หลงรักโลกใต้ดินของปารีส

การเข้าสู่เหมืองใต้ดินเป็นเรื่องผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 1955 พวกกาตาฟีลจึงมักได้แก่คนหนุ่มสาวที่หลบเร้นจากโลกบนดินและกฎเกณฑ์ของโลก นั้น พวกกาตาฟีลรุ่นเก๋าเล่าว่า การใช้ชีวิตในโลกใต้มหานครได้รับความนิยมอย่างมากในทศวรรษ 1970 ถึง 1980 เมื่อวัฒนธรรมพังก์มากระตุกต่อมชอบขบถตามแบบฉบับของชาวปารีสให้แผลงฤทธิ์ ขึ้นมาอีก ในตอนนั้นการลงไปใต้ดินง่ายกว่าตอนนี้มาก เพราะมีช่องทางให้ลงไปได้หลายทาง ณ สถานที่ที่มีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่รู้จัก สาวกกาตาฟีลจะสังสรรค์ จัดการแสดง สร้างผลงานศิลปะ และเสพยาเสพติด ในโลกใต้ดินแห่งนี้ เสรีภาพเป็นใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดจนอาจกลายเป็นอนาธิปไตย

ครั้นถึงปลายทศวรรษ 1980 เทศบาลนครปารีสและเอกชนเจ้าของอสังหาริมทรัพย์พากันปิดทางลงใต้ดินเสียเป็น ส่วนใหญ่ พร้อมๆกับที่หน่วยตำรวจพิเศษเริ่มกวดขันลาดตระเวนอุโมงค์ กระนั้นก็ยังไม่สามารถกวาดล้างพวกกาตาฟีลให้หมดไปได้ หนุ่มสาวคู่ที่ผมเห็นไต่ขึ้นมาจากท่อข้างถนนในเช้าวันนั้นเป็นพวกกาตาฟีล บางทีอาจกำลังคบหาดูใจหรือออกเดตกันอยู่ ผู้ชายบางคนที่ผมเคยไปสำรวจเหมืองด้วยได้พบภรรยาในอนาคตก็ในอุโมงค์เหล่านี้ พวกกาตาฟีลเป็นมัคคุเทศก์ชั้นยอดสำหรับการท่องโลกใต้ดินของปารีส ชาวปารีสส่วนใหญ่แทบไม่ตระหนักว่าโลกใต้ดินนี้กว้างใหญ่เพียงใด แม้ขณะนั่งรถไฟใต้ดินอยู่นั้น พวกเขาอาจกำลังย่ำอยู่บนกระดูกของบรรพบุรุษก็ได้

พวก กาตาฟีลบางคนลงไปใต้ดินเพียงบางโอกาส และไม่ออกนอกเส้นทางที่รู้จักกันดี ส่วนพวก “ฮาร์ดคอร์” หรือกาตาฟีลตัวเอ้จะลงไปบ่อยกว่าและไปไกลกว่านั้น ผมพบมัคคุเทศก์ของผม เป็นหนุ่มผมดำสองคนสวมชุดกันเปื้อนสีฟ้า กำลังนั่งเอกเขนกอยู่กลางแดดบนม้านั่งในสวนสาธารณะในย่านเงียบสงบแห่งหนึ่ง ข้างกายมีถังออกซิเจนและอุปกรณ์ดำน้ำอื่นๆวางอยู่ บรรดาแม่ๆที่พาลูกนั่งรถเข็นผ่านมามองชายทั้งสองด้วยสายตาระแวง

โด มีนีกเป็นช่างซ่อม ส่วน “โยปี” คนนี้ยอมบอกแต่ชื่อเล่นที่เรียกกันในกลุ่มกาตาฟีล เป็นนักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ มีลูกแล้วสองคน และเป็นนักดำน้ำในถ้ำผู้เจนจัด เรามุ่งหน้าไปยังใต้สะพานที่ซึ่งอากาศเย็นพัดโชยออกมาจากทางเข้าลับ

พื้นที่ ใต้ดินส่วนใหญ่มีการทำแผนที่ไว้หมดแล้ว แผนที่รุ่นแรกๆที่ละเอียดซับซ้อนของกีโยโมได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยหลาย ต่อหลายครั้ง ส่วนพวกกาตาฟีลก็ทำแผนที่ขึ้นเอง บางคนเช่นโยปีถึงกับทุ่มเทความพยายามให้กับพื้นที่ตกสำรวจ เราลุยน้ำผ่านอุโมงค์หลายแห่งกว่าจะพบจุดหมายปลายทางของโยปี นั่นคือ “หลุมดำ” หลุมหนึ่ง

โยปีตรวจสอบหัวจ่ายออกซิเจน หน้ากากดำน้ำ และสายรัด จากนั้นก็สวมหมวกนิรภัย เปิดสวิตช์ไฟฉายคาดศีรษะสองดวง แล้วจึงหย่อนตัวลงไป  สอง สามนาทีให้หลังเขาก็โผล่ขึ้นมา หลุมนี้ลึกแค่ราว 5 เมตรเท่านั้น ไม่มีอะไรอยู่ก้นหลุม แต่อย่างน้อยตอนนี้เขาก็สามารถปรับปรุงแผนที่ที่ทำขึ้นเองได้แล้ว

เรา ใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงท่องไปตามสุสานใต้ดินที่เต็มไปด้วยกระดูกผุพัง และห้องแสดงภาพจิตรกรรมฝาผนังสีสันสดใสขนาดมโหฬาร โยปีพาเราไปยังห้องห้องหนึ่งที่ไม่ปรากฏในแผนที่ใดเลย เขากับพวกเพื่อนๆใช้เวลาหลายต่อหลายปีขนปูนซีเมนต์เข้ามาและจัดเรียงก้อนหิน ปูนเพื่อทำเป็นม้านั่ง โต๊ะ และแท่นนอน ห้องนี้สะดวกสบายและสะอาดสะอ้าน มีช่องเว้าเจาะเข้าไปในผนังสำหรับใช้ปักเทียน หินสีน้ำตาลอ่อนสะท้อนแสงเรืองรองแลดูอุ่นตา ผมถามโยปีว่าอะไรดึงดูดให้เขาอยากลงมาใต้ดิน

“ไม่ มีเจ้านาย ไม่มีใครมาบงการชีวิตครับ” เขาว่า “หลายคนลงมาข้างล่างนี่เพื่อสังสรรค์ บ้างก็ลงมาวาดภาพ บ้างลงมาทุบทำลาย สร้างสรรค์ หรือสำรวจ ที่นี่เราทำอะไรก็ได้ตามต้องการ เราไม่มีกฎเกณฑ์ แต่ข้างบนนั่น...”
เขาผายมือเชื้อเชิญพลางส่งยิ้ม จุดบุหรี่แล้วพูดต่อ “เราพูดกันว่า ‘ถ้าอยากมีความสุข ก็ต้องคอยซ่อนตัวเอาไว้ อย่าให้ใครเห็น’”

 กุมภาพันธ์ 2554