ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จักแพทย์ผู้ค้นพบ “ล้างมือ” ลดเสี่ยงติดเชื้อ ทำไมล้างมือเป็นสิ่งแสดงชนชั้น  (อ่าน 30 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดแพร่กระจายทั่วโลก คำแนะนำเรื่อง ล้างมือ บ่อย ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะปฏิบัติอยู่เสมอเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ เมื่อลองย้อนดูประวัติศาสตร์ก่อนที่การล้างมือจะกลายมาเป็นเรื่องสำคัญอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างเช่นทุกวันนี้ ความจำเป็นและประโยชน์ของการล้างมือ เคยเป็นประเด็นที่ถูกโต้เถียงกันอย่างมากสำหรับวงการแพทย์

กว่าที่การล้างมือจะเป็นที่ยอมรับก็ใช้เวลาในการพิสูจน์อยู่ไม่น้อย หากย้อนเวลากลับไปในอดีต จะพบว่า “การล้างมือ” เคยเป็นพิธีกรรมที่ผู้คนในยุคกลางยึดถือปฏิบัติ รวมถึงยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแสดงสถานะทางชนชั้นอีกด้วย

ผู้คนจำนวนไม่น้อยในยุคกลางได้รับการปลูกฝังและให้ความสำคัญเรื่องมารยาทและความสะอาดบนโต๊ะอาหาร เห็นได้จากภาพวาดในยุคกลางที่มักจะแสดงให้เห็นเหยือกน้ำ อ่างน้ำ และผ้าสำหรับเช็ดมืออยู่เสมอ

สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนรู้จักระเบียบมารยาท อย่างไรก็ตาม เดิมทีแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อสุขอนามัยที่ดีเป็นอันดับแรก เนื่องจากมันเริ่มต้นมาจากเรื่องของมารยาทและความสุภาพเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเป็นพิธีปฏิบัติที่แสดงถึงฐานะและอำนาจของแต่ละบุคคล

บทความของ Sarah Durn ในเว็บไซต์ของ National Geographic ที่อธิบายเรื่องชนชั้นสูงในยุคกลางใช้การล้างมือเป็นสัญญะในการแสดงสถานะทางอำนาจ Sarah เล่าถึงมารยาทและข้อปฏิบัติบนโต๊ะอาหารไว้ว่า ในยุคกลาง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจำพวกมีด ช้อน และส้อม เป็นของหายาก ผู้คนทั่วไปส่วนใหญ่มักรับประทานอาหารด้วยมือ

การล้างสิ่งสกปรกในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงยังเป็นการแสดงความสุภาพ และความเคารพต่อผู้อื่น ดังข้อความที่ปรากฏใน Les Contenances de Table ซึ่งเขียนเกี่ยวกับมารยาทบนโต๊ะอาหารในศตวรรษที่ 13 ไว้ว่า “จงดูแลนิ้วและเล็บของคุณให้สะอาดเป็นอย่างดี”

ในบทความนี้ยังอ้างถึง Amanda Mikolic ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ประจำฝ่ายศิลปะยุคกลางแห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะคลีฟแลนด์ (Cleveland) ในรัฐโอไฮโอ ซึ่งเธออธิบายเกี่ยวกับพิธีปฏิบัติก่อนรับประทานอาหารสำหรับชนชั้นสูงไว้ว่า ในบรรดาขุนนางหรือเหล่านักบวชจะมีการล้างหน้าเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากการล้างมือ
หากเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ พิธีปฏิบัติจะยิ่งซับซ้อนและประณีตมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาอย่างละเอียด เพื่อแสดงถึงอำนาจและสถานะทางชนชั้นระหว่างบุคคลในยุคกลาง

โดยเฉพาะสำหรับบรรดาแขกของกษัตริย์ในยุคกลาง พวกเขาจะได้รับการต้อนรับด้วยบทเพลงอันไพเราะจากเหล่านักดนตรี จากนั้น พวกเขาจะถูกนำไปยังในห้องน้ำที่ประกอบไปด้วย “อ่างน้ำอันหรูหรา … ผ้าขนหนูสีขาวสะอาด และน้ำปรุงกลิ่นหอม” โดยแขกผู้มาเยือนจะทำความสะอาดมือของตน และที่สำคัญต้องคอยระวังไม่ให้ผ้าขนหนูสกปรก

นอกจากนี้แล้ว ผู้หญิงจะต้อง ล้างมือ มาก่อนที่จะมาถึง เพื่อให้แน่ใจว่า “เมื่อเอาผ้าขาวมาเช็ดมือ จะไม่มีเศษดินหรือคราบสกปรก [เปื้อนผ้าขาว] ซึ่งเป็นการพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของสุภาพสตรี”

จากนั้น เมื่อบรรดาแขกของกษัตริย์ได้เข้าไปนั่งในห้องโถงใหญ่เรียบร้อยแล้ว กษัตริย์จึงจะเข้าไป โดยบรรดาแขกผู้มาเยือนจะลุกขึ้นยืน ขณะที่กษัตริย์กำลังล้างทำความสะอาดพระหัตถ์ และเมื่อกษัตริย์ล้างพระหัตถ์เป็นที่เรียบร้อย ทุกคนจึงจะนั่งลง

สถานะทางอำนาจและชนชั้นที่ถูกแสดงออกผ่านพิธีปฏิบัตินี้ ยังควบคู่ไปกับข้าวของเครื่องใช้อันหรูหรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกันสำหรับชนชั้นสูงไม่ว่าจะเป็น สบู่ หรือ ภาชนะสำหรับ ล้างมือ

ในยุคกลาง เรียกได้ว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากสบู่ประเภทที่ผลิตจากไขมันของสัตว์ที่นิยมเมื่อศตวรรษก่อน ๆ มาเป็น สบู่อเลปโป (Aleppo) ซึ่งถือว่าเป็นของที่มีราคาและดูมีคลาสสำหรับผู้คนในยุคกลาง

อเลปโป เป็นสบู่ที่ผลิตจากน้ำมันมะกอกและน้ำมันลอเรล ซึ่งถูกนำเข้ามายังยุโรปโดยชาวแซ็กซอน และจากนั้นไม่นาน ผู้คนทั่วยุโรปจึงเริ่มคิดค้นวิธีการทำสบู่อเลปโปด้วยสูตรของตนเอง โดยใช้น้ำมันมะกอกที่มีอยู่ตามท้องถิ่นของตน

นอกจากสบู่อเลปโปที่ดูดีมีคลาสแล้ว ความมั่งคั่งของเหล่าชนชั้นสูงยังถูกแสดงออกผ่านภาชนะที่หรูหราในครัวเรือน เช่น Aquamaniles (เหยือกน้ำ) และ Lavabos (ลักษณะคล้ายกาน้ำที่ถูกแขวนไว้) ภาชนะเหล่านี้จะบรรจุน้ำปรุงกลิ่นหอมที่ใช้สำหรับล้างมือไว้ และคนรับใช้จะมีหน้าที่เทน้ำปรุงกลิ่นหอมลงฝ่าบนมือของผู้รับประทานอาหาร

ภาชนะเหล่านี้มีล้ำค่ามากจน Jeanne d’Évreux ราชินีแห่งฝรั่งเศสและพระชายาของพระเจ้าชาร์ลที่ 4 ทรงนำ Aquamaniles มาใช้เป็นเครื่องประดับบนโต๊ะอาหารอันทรงคุณค่าของพระองค์

ประเพณีเหล่านี้อยู่คู่กับชาวยุโรปเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 18 เมื่อช้อนและส้อมเริ่มมีบทบาทบนโต๊ะอาหารมากขึ้น การล้างมือจึงเริ่มเป็นสิ่งไม่จำเป็น และจึงหลุดออกจากพิธีปฏิบัติบนโต๊ะอาหารในที่สุด โดย Mikolic ได้กล่าวว่า

“พิธีกรรมเกี่ยวกับการล้างมือเริ่มจางหายไปเมื่อเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร [ช้อน ส้อม ฯลฯ] เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และแต่ละครัวเรือนเริ่มมีเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับบรรดาแขกเหรื่อ”

รวมถึง “เมื่อคุณสามารถรับประทานอาหารได้ในขณะที่ยังสวมถุงมืออยู่” Mikolic กล่าว

นอกจากนี้ ในศตวรรษที่ 18 ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับการล้างมือ จากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงพิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับมายาทและความสุภาพ จนเมื่อเกิดการตั้งข้อสันนิษฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับการล้างมือโดย Ignaz Semmelweis นายแพทย์ชาวฮังการีประจำโรงพยาบาล Vienna General Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแพทย์ขนาดใหญ่ มีแบ่งแผนกตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกเป็นสองวอร์ด คือ วอร์ดแรกสำหรับแพทย์และนักเรียน และอีกวอร์ดหนึ่งสำหรับพยาบาลผดุงครรภ์

Semmelweis ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตหลังคลอดของมารดาในวอร์ดสำหรับแพทย์และนักเรียนที่สูงถึง 98.4 ต่อ 1,000 ซึ่งเกิดจากไข้หลังคลอด

Semmelweis พยายามตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตหลังคลอดและพิสูจน์ข้อสันนิษฐานต่าง ๆ จนในปีค.ศ. 1847 Jakob Kolletschka เพื่อนร่วมงานของ Semmelweis ก็ทำให้เขาพบข้อมูลสำคัญ เมื่อ Kolletschka ได้กรีดนิ้วของเขาบนมีดผ่าตัดระหว่างการชันสูตรพลิกศพ และเกิดการติดเชื้อที่ทำให้เขาเสียชีวิต

Semmelweis สงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อประเภทเดียวกันนี้ในแผนกสูติกรรมของแพทย์หรือไม่

แม้ว่าข้อสันนิษฐานของ Semmelweis จะยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่การปฏิบัติต่อทฤษฎีของเขานั้นค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่เข้าท่าแล้ว เขาเริ่มสั่งให้แพทย์ในวอร์ดล้างมือด้วยปูนคลอรีนทุกครั้งหลังจากการชันสูตรพลิกศพ

จนในที่สุด ระหว่างปี ค.ศ. 1848 ถึง 1859 อัตราการเสียชีวิตของมารดาในวอร์ดสำหรับแพทย์ก็ลดลง เหลือระดับเดียวกับวอร์ดพยาบาลผดุงครรภ์ แต่ถึงแม้ว่า Semmelweis จะพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนในวงการแพทย์ยอมรับในข้อปฏิบัติของเขา แต่ก็ใช่ว่าทุกคนทำตามข้อปฏิบัตินี้ง่าย ๆ ข้อปฏิบัติของเขาถูกปฏิเสธและไม่เป็นที่ยอมรับตลอดในช่วงชีวิตของเขา

กระนั้นก็ตาม Semmelweis ไม่ใช่คนเดียวที่พยายามต่อสู้เพื่อข้อเสนอนี้ ยังมีนายแพทย์ชาวอเมริกัน โอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ (Oliver Wendell Holmes) ซึ่งได้ตีพิมพ์บทความไว้ในในปี ค.ศ. 1843 โดยเสนอว่า มือที่ไม่สะอาดเป็นสาเหตุให้เกิดไข้หลังคลอดได้ แม้แต่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) พยาบาลชาวอังกฤษซึ่งถือเป็นผู้ก่อตั้งการพยาบาลสมัยใหม่ ยังได้เขียนไว้ในหนังสือ Notes on Nursing ที่เผยแพร่ในปีค.ศ. 1860 ว่า “พยาบาลทุกคนควรหมั่นล้างมืออยู่เป็นประจำในระหว่างวัน”

ถึงที่สุดแล้ว วงการแพทย์ก็ยังไม่สามารถเข้าใจในประโยชน์และความสำคัญของการล้างมือได้จริง ๆ จนกระทั่งมีการตีความทฤษฎีที่เกี่ยวกับเชื้อโรคและแบคทีเรีย ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องการติดเชื้อจากจุลินทรีย์ที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา

ทฤษฎีดังกล่าวได้รับการยอมรับและเป็นที่ประจักษ์ เมื่อโจเซฟ ลิสเตอร์ (Joseph Lister) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ สามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลดลงเป็นอย่างมาก โดยการผลักดันให้ศัลยแพทย์หมั่นล้างมือและฆ่าเชื้อเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้กับผู้ป่วย การล้างมือจึงกลายเป็นเรื่องของสุขอนามัยที่จำเป็นต่อสุขภาพจากนั้นมาจนถึงทุกวันนี้

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564
เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม

2 มีค 2567