ผู้เขียน หัวข้อ: กรมสุขภาพจิตอึ้ง! วัยเรียนเครียดสะสม ฆ่าตัวตายปีละ170คน  (อ่าน 1705 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

กรมสุขภาพจิต เผย คนไทยยุคใหม่ น่าห่วง เสี่ยงฆ่าตัวตาย ชี้สถิติปี 54 เพิ่มจาก 5.9 เป็น 6.03 คนต่อแสนประชากร ตะลึงวัยรุ่นฆ่าตัวเฉลี่ย 170 คนต่อปี ภาคอีสานครองแชมป์ โดยเฉพาะในกลุ่มกำลังเรียน พบสถิติผูกคอตายมากสุด แนะปรึกษาคนรอบข้างระบายความเครียด...

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.  นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของสังคมไทย โดยแต่ละปีจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 3,500 คน และจากตัวเลขล่าสุดในปี 2554 มีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายถึง 3,873 คน คิดเป็นอัตรา 6.03 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่อัตรา 5.9 ต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้ ในปี 2554 เมื่อวิเคราะห์สถิติในแต่ละกลุ่มช่วงอายุ พบว่า วัยรุ่นไทยเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความห่วงใยเป็นพิเศษ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องเผชิญปัญหาชีวิตและต้องปรับตัวในหลายๆ ด้าน ทั้งประสบการณ์ชีวิตยังไม่มากนัก อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้

นอกจากนี้ ในปี 2550 – 2554 พบว่า ประเทศไทยมีวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 852 คน หรือ เฉลี่ย 170 คนต่อปี โดยปี 2554 พบว่า วัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 15-19 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ อยู่ที่ 3.43 ต่อประชากรแสนคน วัยรุ่นชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าวัยรุ่นหญิงเป็น 3 เท่า โดยที่วัยรุ่นหญิงจะพยายามทำร้ายตนเองมากกว่าวัยรุ่นชายเป็น 3 เท่า และที่น่าสนใจ คือ ร้อยละ 51.1 ของวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายนั้นอยู่ในช่วงระหว่างศึกษา ร้อยละ 25.1 ไม่ได้เรียนต่อในชั้นมัธยมและประกอบอาชีพรับจ้าง/เกษตรกรรม

สำหรับวิธีการใช้ในการฆ่าตัวตาย พบว่า เป็นวิธีการเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ คือ การผูกคอตาย มากถึงร้อยละ 75.29 รองลงมา คือ การกินยาฆ่าแมลง ร้อยละ 16.47 รูปแบบของการฆ่าตัวตายจะเป็นลักษณะกะทันหันเมื่อต้องประสบภาวะวิกฤติมากกว่า มาจากปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่แล้ว เช่น ปัญหาการเรียน สัมพันธภาพ และร้อยละ 16.8 เคยมีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนจังหวัดที่มีวัยรุ่นฆ่าตัวตายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี เชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ ตามลำดับ ขณะที่ วัยรุ่นกรุงเทพมหานคร ฆ่าตัวตาย คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด อีกทั้งไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเป็นเทศกาลสอบ GAT และ PAT ตลอดจนการสอบตรงของแต่ละคณะและสาขาต่างๆ จึงเป็นช่วงที่กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่ จะต้องเคร่งเครียดไปกับการเตรียมตัวอ่าน หนังสือและติวข้อสอบ ดังนั้นการผ่อนคลาย และการพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวลดน้อยลง อาจเกิดความเครียดสะสม ไม่สามารถจัดการกับความเครียดในตนเองได้

"อาจพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้า ซึ่งหากไม่สามารถหันหน้าไปปรึกษาใครได้ ไม่มีใครเข้าใจและรับฟัง มองไม่เห็นทางออกของปัญหา อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง ไร้คุณค่าในตนเอง มีความคิดฆ่าตัวตาย ประกอบกับ หากเคยพบเห็นข่าวการฆ่าตัวตายอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองหรือคนรอบข้างจะต้องให้ความช่วยเหลือวัยรุ่น ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ด้วยการเป็นที่ปรึกษา รับฟัง เข้าใจและให้กำลังใจ ตลอดจนคอยสังเกตอาการของภาวะซึมเศร้า หรือ สัญญาณเตือนล่วงหน้าของการฆ่าตัวตาย เช่น การเขียนจดหมาย หรือ โทรศัพท์เพื่อเป็นการสั่งลา "

อย่างไรก็ตาม ได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก กรมสุขภาพจิตจึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกขึ้น ณ ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 6 ก.ย. 2555 ภายใต้แนวคิด คนไทยยุคใหม่ กำลังใจเกินร้อย ด้วยหวังสร้างความตระหนักให้คนไทยทุกคนเห็นความสำคัญของปัญหาการฆ่าตัวตาย ใส่ใจที่จะดูแลสุขภาพจิตตนเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะวัยรุ่น ที่ครอบครัวและเพื่อนสนิท ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งหากให้ความเข้าใจและเป็นกำลังใจให้กันอยู่เสมอ หากไม่สบายใจ วิตกกังวลหรือเครียด ควรหาเพื่อนปรึกษาพูดคุยระบาย ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ใกล้บ้าน ตลอดจน สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากพบว่าตนเองอยู่ในภาวะเครียดรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ หรือขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ