ผู้เขียน หัวข้อ: หญิงชราเกาหลีใต้จำนวนมากต้องเผชิญชีวิตยากลำบากตอนแก่ แม้อยู่ในประเทศมั่งคั่ง  (อ่าน 310 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9773
    • ดูรายละเอียด
"คุณจะเก็บเงินไว้ใช้ตอนบั้นปลายชีวิตได้ยังไง ถ้าต้องอยู่ด้วยรายได้แบบเดือนชนเดือนมาตลอด" คุณยายโช คยอง ซุก วัย 82 ปี ซึ่งเช่าแฟลตห้องเดี่ยวที่ซอมซ่อและแทบจะว่างเปล่าปราศจากข้าวของเครื่องใช้ กล่าวอย่างขมขื่น

แม้เกาหลีใต้จะเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย แต่ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือโออีซีดี (OECD) ซึ่งทำการสำรวจในปี 2016 กลับชี้ว่าประชากรกลุ่มที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเกือบครึ่งหนึ่ง ต้องใช้ชีวิตอย่างยากจนข้นแค้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหญิงชรานั้นถูกความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมเกาหลีกดขี่ซ้ำเติม ทำให้ปัญหาความยากจนเลวร้ายลงไปอีก

มีเงินไม่พอซื้ออาหารใส่ท้อง
แม้จะอายุมากแล้ว แต่คุณยายโชยังมีฐานะค่อนข้างยากจน และอาจต้องเผชิญปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในอนาคต ก่อนหน้านี้คุณยายจ่ายเงินเช่าห้องราคาถูกด้วยตนเองมาตั้งแต่อายุ 70 ปลาย โดยต้องขอร้องให้เจ้าของห้องไม่เก็บเงินมัดจำและค่าประกันห้องล่วงหน้า เพราะลูกสาวคนเดียวก็มีฐานะไม่ดีพอจะช่วยดูแลแม่ได้

เมื่อไม่มีรายได้ทางอื่น นอกจากเงินบำนาญเลี้ยงชีพขั้นพื้นฐาน และเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้จากรัฐบาลเพียงเล็กน้อย ในแต่ละเดือนหลังจากคุณยายจ่ายค่าเช่าห้องและค่าใช้จ่ายประจำอื่น ๆ แล้ว เธอก็แทบไม่มีเงินเหลือพอซื้ออาหารมาประทังชีวิต

อดีตครูต้องตกยากหลังเกษียณอายุ
สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ในอดีตคุณยายโชเคยประกอบอาชีพเป็นครูมานานถึง 10 ปี ในโรงเรียนอนุบาลเอกชนชั้นนำที่ก่อตั้งเป็นแห่งแรกของประเทศ ได้รับเงินค่าจ้างถึง 1 ล้านวอน หรือราว 27,000 บาทต่อเดือน ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น

แต่ในเวลาต่อมา คุณยายโชตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตแบบเดียวกับที่ผู้หญิงเกาหลีส่วนใหญ่นิยมทำกันในยุคนั้น ซึ่งก็คือลาออกจากงาน แต่งงาน และผันตัวมาเป็นแม่บ้านเต็มเวลา ทว่าในอีกไม่กี่ปีให้หลัง เธอกลับต้องหย่าร้างกับสามี ซึ่งแนวโน้มการหย่าร้างของเกาหลีใต้นั้นเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในรอบเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

"ฉันต้องสูญเสียทุกอย่างเมื่อตัดสินใจหย่าอย่างกะทันหัน แม้ต้องไร้ที่ซุกหัวนอน แต่ฉันก็ทำงานหนักและพยายามทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาให้ได้" คุณยายโชกล่าว "การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นไม่ง่าย ฉันหาเงินได้ไม่มากเท่าที่เคยคิดไว้"

เมื่อต้องเลี้ยงลูกและทำงานนอกบ้านไปด้วย คุณยายโชจึงทำได้เพียงแต่งานพาร์ตไทม์แบบไม่เต็มเวลา เช่นงานช่วงเย็นหลังโรงเรียนเลิกที่สถาบันกวดวิชา หรืองานในร้านเครื่องเขียน

ตอนที่คุณยายอายุ 67 ปี เธอต้องประสบเคราะห์กรรมอีกครั้งเมื่อล้มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมองชนิดร้ายแรง สุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้คุณยายไม่อาจทำงานได้ และกว่าจะฟื้นตัวหายดีในวัย 70 ปีเต็ม คุณยายก็มีเงินเก็บและเงินบำนาญเลี้ยงชีพเหลือน้อยเต็มทีแล้ว

ระบบประกันสังคมที่ไม่เพียงพอ

ระบบประกันสังคมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเกาหลีใต้ หรือระบบบำนาญแห่งชาติ (National Pension) เป็นของใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1988 เท่านั้น โดยเงินบำนาญที่ได้จะคำนวณจากฐานเงินเดือนของแต่ละคน ผู้หญิงที่ลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านอย่างถาวร หรือมีช่วงเวลาที่ว่างงานอยู่หลายปี จะได้เงินบำนาญเลี้ยงชีพน้อยกว่าคนอื่น ๆ มาก

ทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับคนกลุ่มนี้ คือการรับเงินบำนาญเลี้ยงชีพขั้นพื้นฐานแบบคุณยายโช ซึ่งเงินนี้จะจ่ายให้กับคนอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่ในกลุ่มยากจนที่สุด 70% ของกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุดของประเทศ โดยจะได้รับเงินเดือนละ 254,760 วอน หรือราว 7,000 บาท นับว่าน้อยมากสำหรับค่าครองชีพที่สูงลิ่วในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คุณยายโชยังโชคดีที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเพิ่มเติมเป็นค่าที่อยู่อาศัย โดยเธอสามารถนำไปจ่ายเป็นค่ามัดจำและเงินประกันล่วงหน้า สำหรับต่อสัญญาเช่าห้องอีก 2 ปีได้เกือบทั้งหมด เงินช่วยเหลือครั้งล่าสุดนี้ยังช่วยให้คุณยายประหยัดค่าเช่าในระยะยาว โดยต้องควักกระเป๋าจ่ายเองเพียงเดือนละ 60,000 วอน หรือราว 1,700 บาทต่อเดือนเท่านั้น

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แหล่งเงินหลักต่อชีวิตผู้มีรายได้น้อย
จุดตกต่ำที่สุดในชีวิต
ทว่าหญิงชรายากจนหลายคนไม่ได้โชคดีแบบคุณยายโช และต้องลงเอยด้วยการเป็นคนเร่ร่อนข้างถนน เหมือนอย่างคุณป้าอัน อ๊อก รัน วัย 61 ปี เธอบอกว่าการที่ต้องนอนบนพื้นห้องน้ำสาธารณะในสถานีรถไฟกรุงโซลนั้น ถือเป็นจุดตกต่ำที่สุดในชีวิตเลยทีเดียว ผู้หญิงสูงวัยอย่างเธอยังต้องตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งรังแกบนท้องถนน มากกว่ากลุ่มคนไร้บ้านที่เป็นชายหลายเท่าด้วย

ซอ จุง ฮวา หัวหน้าศูนย์สงเคราะห์สตรีไร้บ้านในกรุงโซลบอกว่า องค์กรของเธอได้ช่วยเหลือให้ที่พัก อาหาร และหางานทำให้กับหญิงสูงวัยอย่างป้าอันมานานถึง 17 ปีแล้ว โดยพบว่าบรรดาคนเร่ร่อนในเมืองหลวงที่มีอยู่ราว 3,000 คนนั้น 1 ใน 5 ของจำนวนดังกล่าวเป็นผู้หญิง ส่วนสตรีสูงอายุที่ต้องไร้บ้าน มักมีสาเหตุมาจากครอบครัวแตกแยก

ป้าอันเป็นคนไร้บ้านมานานถึง 20 ปี หลังต้องหนีจากคู่ครองที่ชอบทำร้ายร่างกาย ในตอนนั้นหมอวินิจฉัยว่าเธอมีอาการของโรคจิตเภท แต่ด้วยความช่วยเหลือขอศูนย์สงเคราะห์สตรีไร้บ้าน ป้าอันได้ติดต่อกับครอบครัวอีกครั้ง ทั้งยังได้ฝึกอาชีพใหม่และได้งานทำ จนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเธอเก็บออมเงินได้ถึง 30 ล้านวอน หรือราว 770,000 บาทเลยทีเดียว

เงินอุดหนุนเพื่อที่อยู่อาศัยจากรัฐบาล ยังทำให้ป้าอันได้เช่าห้องส่วนตัวในที่สุด เธอบอกว่า "ฉันมีความสุขมาก ได้ตกแต่งห้องอย่างที่ตัวเองชอบ ฉันเพิ่งจะซื้อชุดนอนใหม่เมื่อไม่กี่วันก่อน ตอนนี้ได้เข้านอนและหลับไปอย่างสงบสุขเสียที"

ยิ่งอายุยืน รายได้ยิ่งลดต่ำ
ผู้หญิงเกาหลีใต้มีแนวโน้มจะมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ชาย แต่กลับมีโอกาสทางการงานอาชีพน้อยกว่ากันมาก ทำให้ต้องเผชิญความยากลำบากในวัยชรา

วู แจ ยอง ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยการเกษียณอายุของเกาหลีใต้บอกว่า "ผู้หญิงเกาหลีใต้มีแนวโน้มจะอายุยืนกว่าผู้ชายถึง 10 ปี แต่กลับต้องดิ้นรนดูแลตนเองหลังสามีตายจากไป นั่นเป็นเพราะพวกเธอต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก ทั้งไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงานมากเท่าผู้ชายด้วย จึงมักจะลาออกจากงานเสียก่อนถึงวัยเกษียณอายุ"

แม้ทุกวันนี้ปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้ว แต่ยังคงมีผู้หญิงเกาหลีใต้เพียง 56% ที่มีงานทำ โดยพวกเธอได้รับค่าแรงเพียง 63% ของเงินเดือนพนักงานชายโดยเฉลี่ย

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่า สัดส่วนระหว่างชายและหญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ได้รับเงินบำนาญเลี้ยงชีพในปี 2019 นั้นแตกต่างกันอย่างมาก โดยมีหญิงสูงวัยเพียง 35.9% ของทั้งหมดที่ได้รับเงินดังกล่าว ในขณะที่ชายสูงวัยได้รับเงินส่วนนี้กันมากถึง 71%

ความเปลี่ยนแปลงในสังคมสมัยใหม่
"ผู้หญิงวัยกลางคน โดยเฉพาะที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ได้รับเงินเลี้ยงชีพจากระบบบำนาญแห่งชาติน้อยมาก" วู แจ ยอง กล่าว

"ทัศนคติและค่านิยมที่กำลังเปลี่ยนไปในสังคมเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อปัญหานี้ด้วย เราไม่เคยนึกถึงเรื่องเงินบำนาญเลี้ยงชีพมาก่อน เพราะลูกหลานมักถูกคาดหวังให้เลี้ยงดูคนแก่ในครอบครัว คนรุ่นเก่าที่ยังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้ แทบไม่เคยคิดเรื่องการอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกตอนแก่"

ผลสำรวจของสถาบันสุขภาพและกิจการสังคมเกาหลีใต้เมื่อสองปีก่อนชี้ว่า มีคนหนุ่มสาวเพียง 23 % เท่านั้น ที่เห็นว่าลูกควรจะต้องรับภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่ชรา แต่มีคนรุ่นใหม่ถึง 41% ที่เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของพวกเขา

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย รวมทั้งความคิดของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไป ทำให้หญิงสูงวัยต้องเสี่ยงตกที่นั่งลำบากมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งการตอบสนองของภาครัฐและสังคมต่อปัญหานี้ รวมทั้งการปรับตัวรับมือกับปัญหาในวงกว้าง เช่นการที่สังคมผู้สูงอายุของเกาหลีใต้ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในเอเชีย จะเป็นตัวชี้ชะตาของเหล่าคนชราในประเทศนี้ต่อไป

6กพ2564
https://www.bbc.com/thai/international-55956196