ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 มี.ค.2558  (อ่าน 1247 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9772
    • ดูรายละเอียด
1. ศาลฎีกานักการเมือง รับฟ้องคดี “ยิ่งลักษณ์” ไม่ระงับยับยั้งทุจริตจำนำข้าวแล้ว นัดพิจารณาคดีครั้งแรก 19 พ.ค. เจ้าตัว ยันไม่ผิด!

        เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ประชุมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีไม่ระงับยับยั้งทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายแก่รัฐ 6 แสนล้านบาท หรือไม่ โดยองค์คณะมีคำสั่งว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคำฟ้องถูกต้องตามข้อกำหนด ให้ประทับรับฟ้อง โดยนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 19 พ.ค. เวลา 09.30 น. และให้ส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำฟ้องให้จำเลย โดยให้โจทก์หรือผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานศาลไปส่งภายใน 7 วัน หากไม่พบจำเลยหรือไม่มีผู้รับแทนโดยชอบ ให้ปิดหมาย
      
        ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และทีมทนายไม่ได้เดินทางมาศาลแต่อย่างใด ขณะที่อัยการ นำโดย นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน พร้อมด้วยนายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เปิดแถลงในเวลาต่อมา โดยนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า อัยการโจทก์ได้เตรียมพยานบุคคลไว้ 13 ปาก ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อยืนยันการได้มาซึ่งเอกสารราชการ และประเด็นข้อกฎหมาย รวมถึงพยานเอกสารและพยานวัตถุต่างๆ อีกจำนวนมาก โดยมั่นใจว่าพยานหลักฐานเหล่านี้ เพียงพอที่จะเสนอให้ศาลรับฟังเป็นที่ยุติได้ แต่จะเอาผิดให้ศาลลงโทษได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของศาล นายสุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า วันที่ 19 พ.ค.ที่ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเดินทางมาศาลด้วยตนเอง
      
        ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยยืนยันว่า ขณะทำหน้าที่นายกฯ ตนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามอำนาจหน้าที่ครบถ้วนถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ข้อกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางราชการทุกประการ พร้อมย้ำว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ประชาชนได้มอบความไว้วางใจให้ตนมาดำเนินการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังอ้างด้วยว่า ที่ผ่านมา ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม โดย ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทั้งที่ไม่มีพยานหลักฐานว่าตนทุจริตหรือสมยอมให้ผู้ใดทุจริต ขณะที่อัยการก็เร่งรีบส่งฟ้องทั้งที่ไม่ได้มีการสืบพยานหลักฐานให้เสร็จสิ้นก่อน ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่า ตนไม่ได้ทำผิดใดๆ ทั้งสิ้น และหวังว่าในการพิจารณาคดี ตนจะมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และขอให้มีการพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง เป็นธรรม ปราศจากอคติใดๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังอ้างด้วยว่า ที่ผ่านมามีการเมืองแทรกกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำลายตนมาตลอด จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดวิพากษ์วิจารณ์ หยุดกดดันหรือชี้นำศาล เพื่อให้ความเป็นธรรมกลับคืนสู่สังคมต่อไป
      
        ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดถึงกรณีที่ศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าถือว่าเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอย่างเต็มที่ หลังจากนี้ทีมทนายต้องรอสำนวนคำฟ้องจากศาลฯ ก่อน จึงจะนัดหารือถึงแนวทางการต่อสู้คดี พร้อมยืนยันว่า วันที่ 19 พ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปศาลอย่างแน่นอน
      
        ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ถึงกรณีที่ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งรับฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้แล้ว ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ต้องถามศาล เพราะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ต้องรอให้เขารายงานมาก่อน
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงสั้นๆ ก่อนเดินขึ้นห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า แต่ระหว่างเดินขึ้นบันได พล.อ.ประยุทธ์ ได้หยุดและเด็ดดอกพุดที่เริ่มโรยในกระถางที่วางอยู่เชิงบันได พร้อมกล่าวแบบมีนัยยะว่า "ดอกที่เหี่ยวๆ ต้องเด็ดทิ้งไปบ้าง ต้นไม้เราต้องดูมันทุกวัน ดอกมันเก่าแล้ว อย่าไปสนใจ ดอกไม้นี้เรียกว่าดอกพุด บ้านเราเอาไว้ไหว้พระ ส่วนของฝรั่งเขาก็มีพวกดอกคาร์เนชั่น เอาไว้จีบกัน" จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เด็ดดอกพุดดอกใหม่ที่บานสะพรั่งมาใส่ในกระเป๋าเสื้อด้วย
      
       2. อัยการ ขนสำนวนหลักฐานกว่า 200 ลัง ฟ้อง “บุญทรง” กับพวกรวม 21 ราย คดีระบายข้าวจีทูจีไม่ชอบ เรียกค่าปรับ 3.5 หมื่นล้าน!


        เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เป็นผู้แทนนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เข้ายื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวก รวม 21 ราย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหาย โดยอัยการได้ขนสำนวนเอกสารหลักฐานในคดีจำนวน 205 ลัง 1,628 แฟ้ม กว่า 70,000 หน้า ส่งมอบให้ศาลฯ
      
        ทั้งนี้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2554-22 ก.พ.2556 โดยคำฟ้อง นอกจากขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 21 ราย ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 หรือฮั้วประมูล มาตรา 4, 9, 10,12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต สร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตแล้ว ยังขอให้สั่งปรับจำเลยทั้งหมดเป็นเงิน 35,274,611,007 บาท หรือร้อยละ 50 ตามสัญญาระบายข้าวที่มีการทำผิดสัญญา 4 ฉบับ ด้านศาลฯ ได้รับคำฟ้องไว้ และนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 20 เม.ย. เวลา 10.00 น.
      
        ต่อมา นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฟ้องคดีทุจริตระบายข้าว ได้นำทีมแถลงข่าว ถึงการยื่นฟ้องนายบุญทรงกับพวกรวม 21 รายว่า เป็นอดีตนักการเมือง 3 คน ข้าราชการการเมือง 3 คน บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และว่า เหตุที่ขอให้ศาลสั่งปรับจำเลยทั้งหมดเป็นเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทด้วยนั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการฮั้วประมูล มาตรา 4 ที่กำหนดให้ขอปรับได้ร้อยละ 50 จากมูลค่าตามสัญญา เมื่อคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งตามสัญญาระบายข้าวกว่า 5 ล้านตัน ที่พบว่ามีการทำผิดสัญญา 4 ฉบับ จาก 8 ฉบับ จึงเป็นเงิน 3.5 หมื่นล้านบาทเศษ ส่วนการรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมดประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ที่ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานนั้น หาก ป.ป.ช.สรุปสำนวนส่งมาให้อัยการ ก็จะดำเนินการต่อไป ซึ่งหากจะฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
      
        ด้านนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน กล่าวว่า แม้จำเลยจะไม่ได้เดินทางมาศาลในวันฟ้อง แต่อัยการสามารถยื่นฟ้องได้ตามกฎหมายโดยระบุแหล่งที่อยู่ของจำเลยให้ชัดเจน ส่วนวันที่ 20 เม.ย. ที่ศาลจะมีคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีหรือไม่ จำเลยยังไม่ต้องเดินทางมารายงานตัวต่อศาลก็ได้ แต่หากศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องและนัดวันพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลยเมื่อใด จำเลยทั้งหมดจะต้องเดินทางมาศาลในวันดังกล่าว
      
       3. สหกรณ์ฯ คลองจั่น ถอนฟ้อง “ธรรมกาย-ธัมมชโย” แล้ว หลังยอมคืนเงิน 684 ล้าน ด้าน “วิษณุ” ยัน คดีฉ้อโกง ยอมความไม่ได้!

       ความคืบหน้าคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกว่า 16,000 ล้านบาท โดยมีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ฯ กับพวกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งมีการจ่ายเช็คและโอนเงินสหกรณ์ฯ ออกไปยังกลุ่มต่างๆ ประมาณ 6 กลุ่ม โดย 1 ในนั้นมีกลุ่มวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัด และพระลูกวัดอีกจำนวนหนึ่งเป็นเงินกว่า 814 ล้านบาทนั้น
      
        เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่ศาลจังหวัดธัญบุรี จ.ปทุมธานี นัดพิจารณาคดีที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นโจทก์ฟ้องนายศุภชัย ,วัดพระธรรมกาย และพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 เพื่อเรียกเงินที่ถูกยักยอกคืน โดยฝ่ายสหกรณ์ฯ คลองจั่น มีนางประภัสสร พงศ์พิพัทธ์พิศาล ฝ่ายกฎหมายของสหกรณ์ฯ พร้อมทนายความ เดินทางมาศาล ขณะที่ฝ่ายวัดพระธรรมกาย มีนายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความของวัดฯ เป็นตัวแทนเดินทางมา ทั้งนี้ หลังพิจารณาคดีเสร็จ ศาลได้เรียกโจทก์และจำเลยเข้าห้องไกล่เกลี่ย โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
      
        ต่อมา นางประภัสสร เผยว่า ได้มีการประนีประนอมกันระหว่างสหกรณ์ฯ คลองจั่นกับวัดพระธรรมกายในฐานะจำเลยที่ 2 และ 3 ในจำนวนเงิน 684.78 ล้านบาท โดยแบ่งการชำระเป็น 6 งวด งวดแรกจ่ายมาแล้ว 100 ล้านบาท ส่วนอีก 5 งวด ทางลูกศิษย์วัดพระธรรมกายได้จ่ายเช็คล่วงหน้าไว้แล้ว โดยงวดสุดท้ายจะจ่ายวันที่ 31 ส.ค.นี้ นางประภัสสร บอกด้วยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางสหกรณ์ฯ คลองจั่นจึงไม่ติดใจเอาความวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย และได้มีการถอนฟ้องคดีแพ่งแล้ว รวมทั้งไม่ประสงค์ที่จะฟ้องทางแพ่งและทางอาญาอีก โดยทางสหกรณ์ฯ จะไปยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ต่อไป ส่วนคดีที่เกี่ยวกับนายศุภชัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการต่อ เพื่อเรียกเงินส่วนที่เหลือคืน
      
        ด้านนายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความของวัดพระธรรมกาย กล่าวถึงเงินที่ทางวัดได้รับจากนายศุภชัยว่า ได้รับมาโดยเปิดเผยและสุจริต และนำไปใช้ก่อสร้างศาสนสถานตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคหมดแล้ว ซึ่งตามกฎหมาย วัดไม่สามารถนำเงินของสาธุชนรายอื่นที่มาทำบุญ มาคืนสหกรณ์ฯ ได้ แต่เรื่องนี้หากต่อสู้ในศาลต่อไป จะเสียเวลานาน และสร้างความเสียหายทั้งต่อวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย ตลอดจนสหกรณ์ฯและสมาชิกผู้ฝากเงิน ดังนั้นทางศิษย์วัดพระธรรมกายจึงได้จัดตั้งกองทุนเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือทางสหกรณ์ฯ โดยจะรวบรวมเงิน 684.78 ล้านบาท มอบให้ทางสหกรณ์ฯ เพื่อนำไปเยียวยาและเสริมสภาพคล่องทางการเงินในการฟื้นฟูกิจการต่อไป
      
        จากนั้นช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายฐปณวัชร์ สระสม ทนายที่ปรึกษากฎหมายของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ได้เข้ายื่นหนังสือต่อดีเอสไอ แจ้งว่าไม่ประสงค์ดำเนินคดีแพ่งและอาญาวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยแล้ว หลังมีการไกล่เกลี่ยคืนเงินกว่า 684 ล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ หลังยื่นเสร็จ นายฐปณวัชร์ ได้เดินทางไป ปปง. เพื่อยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์เดียวกัน
      
        ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกดีเอสไอ ยืนยันว่า การยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ไม่ดำเนินคดีวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยของทางสหกรณ์ฯ คลองจั่น ไม่มีผลต่อการสอบสวนดำเนินคดีของดีเอสไอในขณะนี้ เพราะดีเอสไอยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากับพระธัมมชโย เป็นเพียงการออกหมายเรียกเพื่อเข้าให้ปากคำในฐานะพยาน พร้อมยืนยันว่า พระธัมมชโยต้องเข้าให้ปากคำต่อดีเอสไอตามกำหนดนัดในวันที่ 26 มี.ค.นี้ (พระธัมมชโย ขอเลื่อนการเข้าให้ปากคำจากวันที่ 10 มี.ค.เป็นวันที่ 26 มี.ค.โดยอ้างว่ามีปัญหาสุขภาพ)
      
       ขณะที่พระมนตรี สุตาภาโส เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปฝ่ายอบรมต่างประเทศ วัดพระธรรมกาย และพระครูปลัดวิจารย์ ธีรังกุโร อดีตพระเลขาเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเงินโอนจากนายศุภชัยด้วยกว่า 100 ล้านบาท ได้เข้าให้ปากคำดีเอสไอแล้วเมื่อวันที่ 20 มี.ค. หลังขอเลื่อนการเข้าให้ปากคำมาตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. ทั้งนี้ ก่อนเข้าให้ปากคำ พระครูปลัดวิจารณ์ ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด ขณะที่พระมนตรี ยอมรับว่ารู้จักนายศุภชัยจริง แต่รู้จักในฐานะคนทำบุญทั่วไป ซึ่งนายศุภชัยได้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อร่วมทำบุญเมื่อปี 2552-2553 จำนวนไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ถูกโอนเข้าบัญชีชื่อตนบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้ง 5 ล้านบาท
      
       ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น แจ้งดีเอสไอและ ปปง.ว่าไม่ประสงค์ดำเนินคดีวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยทั้งทางแพ่งและอาญา โดยอธิบายว่า กรณีนี้คดีอาญา ประกอบด้วยข้อหาฉ้อโกงประชาชนและยักยอกเงิน ซึ่งการยักยอกเงินเป็นคดีที่ยอมความกันได้ แต่คดีฉ้อโกงประชาชน ยอมความไม่ได้
      
        ส่วนความคืบหน้าการขอฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนั้น เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาติให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยแต่งตั้งคณะกรรมการชุดปัจจุบันเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟู และจะต้องนำเสนอแผนฟื้นฟูให้เจ้าหนี้ทั้งหมดรับทราบภายใน 90 วัน โดยสามารถขอขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน
      
        สำหรับเหตุผลที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากเห็นว่าการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงของทางสหกรณ์ฯ คลองจั่นจะส่งผลกระทบต่อสมาชิกจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา การให้บริการสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ได้ให้ผลกำไรสูงสุดแก่สมาชิก ประกอบกับมีการสนับสนุนของภาครัฐ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ทางสหกรณ์ฯ จะสามารถปรับโครงสร้างหนี้และกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ
      
       ขณะที่นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีของสหกรณ์ที่จะสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และว่า คณะกรรมการจะเร่งหารือแนวทางการจัดทำแผนฟื้นฟูทันที เพื่อเตรียมรายละเอียดนำเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ภายใน 3 เดือน นายเผด็จ บอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำหนังสือยืนยันกรณีสหกรณ์ฯ คลองจั่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู จะมีการนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติเงินสนับสนุนกิจการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวจะทำให้กิจการของสหกรณ์ฯ ฟื้นฟูได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้สหกรณ์ฯ ยังได้จัดทำแผนเยียวยาสมาชิก โดยเป็นโครงการสินเชื่อระยะสั้น ดอกเบี้ยต่ำ ที่สมาชิกสามารถยื่นคำร้องขอได้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. คาดว่าจะมีการจ่ายเงินเร็วที่สุดก่อนเทศกาลสงกรานต์
      
       ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ป.ป.ง.เผยเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ว่า คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น กับพวก อีก 7,000 ล้านบาท เป็นเวลา 90 วัน โดยนายศุภชัยกับพวกสามารถใช้สิทธิชี้แจงที่มาของทรัพย์ได้ตามขั้นตอน โดยทรัพย์ที่อายัด มีทั้งหุ้น ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ บัญชีเงินฝาก ทองรูปพรรณ ฯลฯ
      
    

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9772
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 มี.ค.2558 (ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 22 มีนาคม 2015, 22:05:55 »
  4. ศาล พิพากษาจำคุก 2 คนร้ายปาบึ้มศาลอาญา ฐานละเมิดศาล คนละ 5 เดือน ด้าน ตร.ออกหมายจับผู้จ้างวาน-ผู้ร่วมขบวนการ 19 คนแล้ว!


        ความคืบหน้าคดีคนร้ายปาระเบิด RGD-5 ใส่ศาลอาญา ถนนรัชดา เมื่อคืนวันที่ 7 มี.ค. โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคนร้ายได้ทันควัน คือ นายมหาหิน ขุนทอง คนขี่รถจักรยานยนต์ และนายยุทธนา เย็นภิญโญ คนทำหน้าที่ปาระเบิด จากนั้นมีการสอบขยายผล จนนำไปสู่การออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการเพิ่มเติม ประกอบด้วย น.ส.ณัฏฐ์พัชร์ อ่อนมิ่ง ภรรยานายมหาหิน ,น.ส.ธัชพรรณ ปกครอง ภรรยานายยุทธนา ,นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ,นายวิชัย หรือตั้ม อยู่สุข ,นายณเรศ อินทรโสภา เจ้าของร้านนมสดใน จ.ขอนแก่น สถานที่ประชุมวางแผน และรับค่าจ้าง 20,000 บาท ,นางสุภาพร มิตรอารักษ์ หรือเดียร์ ผู้จ้างวานทางไลน์ ,นายวิระศักดิ์ โตวังจร หรือ “ใหญ่ พัทยา” ผู้จัดหาอาวุธ ,นายชาญวิทย์ จริยานุกูล ,นายนรภัทร เหลือผล หรือบาส ,นายมนูญ ชัยชนะ หรือเอนก ซานฟราน ผู้จ้างวานและผู้ต้องหากระทำผิดมาตรา 112 ,นางวาสนา บุษดี ,นายเจษฎาพงษ์ วัฒนพรชัยสิริ รวม 14 ราย ซึ่งบางส่วนจับกุมได้แล้ว บางส่วนยังหลบหนี ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังคงสอบขยายผลเพิ่มเติมนั้น
       
       เมื่อวันที่ 17 มี.ค. เจ้าหน้าที่ทหารกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 ได้คุมตัวผู้เกี่ยวข้องกับการปาระเบิดใส่ศาลอาญาส่งให้ตำรวจเพิ่มเติม 3 ราย คือ นางวาสนา บุษดี ,นายณเรศ อินทรโสภา และ น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน โดยก่อนหน้าทหารจะนำตัวทั้งสามมาส่งมอบให้ตำรวจดำเนินคดี นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช.ซึ่งสังกัดกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาระบุว่า น.ส.ณัฏฐธิดา หรือแหวน ซึ่งเป็นพยาบาลอาสาสมัคร และพยานปากเอกในคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ถูกทหารนำตัวไปจากบ้านที่ จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. โดยไม่ทราบว่านำตัวไปไหนและด้วยเหตุผลใด
       
        ด้านตำรวจ หลังรับมอบตัวและสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสามแล้ว ได้ดำเนินคดีนายณเรศ ข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนนางวาสนาและ น.ส.ณัฏฐธิดา ดำเนินคดีข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันจ้างวานให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานพยายามฆ่า
       
        ต่อมา พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำทีมตำรวจแถลงข่าว โดย พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 แจกแจงพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ต้องหาคดีปาระเบิดใส่ศาลอาญาว่า คนร้ายมีการดำเนินการ 2 ครั้ง ครั้งแรกจ้างวานเมื่อเดือน ก.พ. กลุ่มที่จ้างวานเป็นชุดเดียวกัน คือ นายมนูญ ชัยชนะ หรือเอนก ซานฟราน โอนเงินล็อตแรก โดยประสานกับนางสุภาพร หรือเดียร์ พบการโอนเงินให้นายวสุ เอี่ยมละออ 50,000 บาท นายวสุโอนเงินให้นางวาสนาเมื่อวันที่ 3 ก.พ.จำนวน 47,000 บาท มี น.ส.ณัฏฐธิดาที่รู้จักกันเป็นคนหาบุคคลที่จะลงมือวางระเบิด คือนายสุรพล เอี่ยมสุวรรณ
       
       ซึ่งนายสุรพลให้การว่า สามารถที่จะวางระเบิดได้ 5 จุด ได้แก่ กรมทหารราบที่ 11 สวนลุมพินี ทางลงรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีจตุจักร ศาลอาญา และลานจอดรถโรงแรมสยามเคมปินสกี้ โดยตกลงเงินจุดละ 10,000 บาท แต่หลังจากโอนเงินให้ล่วงหน้า 15,000 บาทแล้ว นายสุรพลไม่สามารถก่อเหตุได้ตามที่ตกลงไว้ ซึ่งถือว่าความผิดฐานจ้างวานเรื่องก่อการร้าย เป็นความผิดสำเร็จแล้วในครั้งแรก
       
       ส่วนการจ้างวานครั้งที่สอง นายเอนก-นางสุภาพร และนางวาสนา ได้เปลี่ยนตัวผู้ลงมือก่อเหตุใหม่ โดยประสานไปทางนายวิระศักดิ์ หรือใหญ่ พัทยา ให้จัดหาระเบิดและปืน นำไปให้นายมหาหินและนายยุทธนาก่อเหตุ โดยก่อเหตุได้ 1 จุดที่ศาลอาญาเมื่อคืนวันที่ 7 มี.ค. ซึ่งเห็นได้ว่า การวางแผนก่อเหตุทั้ง 2 ครั้งทำกันเป็นขบวนการ มีการวางแผนใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน รวมทั้งจะระเบิดทั่วประเทศ 100 จุด “น.ส.ณัฏฐธิดาอยู่ในเรื่องของการโอนเงินเข้าไป ซึ่ง น.ส.ณัฏฐธิดารู้จักกับนายสุรพล จากนั้นก็แนะนายสุรพลให้รู้จักกับคนในกลุ่ม”
       
       หลังสอบปากคำ ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสามไปขอศาลทหารฝากขัง ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนาย นปช.ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว น.ส.ณัฏฐธิดา และนางวาสนา แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากคดีมีความร้ายแรง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
       
       สำหรับ น.ส.ณัฏฐธิดานั้น นอกจากโดนข้อหาร่วมกันก่อการร้ายแล้ว ยังถูกทหารแจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นสถาบันด้วย เนื่องจากเมื่อวันที่ 8 มี.ค. น.ส.ณัฏฐธิดา ได้นำข้อความที่มีผู้โพสต์ในไลน์ “กลุ่มไทยภาคี” ที่เป็นข้อความหมิ่นเบื้องสูง ไปโพสต์ต่อในกลุ่ม “DNP แอนด์เพื่อนแม้ว” ซึ่งกลุ่มไลน์ดังกล่าวมีนางสุภาพร หรือเดียร์ ร่วมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังนำข้อความดังกล่าวไปโพสต์ลงในกลุ่มไลน์ “GERRARD” ด้วย
       
       วันต่อมา(18 มี.ค.) ทหารจากกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 ได้นำตัวผู้ต้องหาที่ครบกำหนดควบคุมตัว 7 วันตามกฎอัยการศึกมาส่งมอบให้ตำรวจเพิ่มเติมอีก 2 ราย คือนายเจษฎาพงษ์ วัฒนพรชัยสิริ และนางสุภาพร มิตรอารักษ์ หรือเดียร์ จากนั้นตำรวจได้สอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสอง โดยมี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมสอบด้วย โดยตำรวจระบุว่า นางสุภาพร ถือเป็นกลุ่มทุนสำคัญในประเทศ ขณะที่นายเอนก ซานฟราน เป็นกลุ่มทุนสำคัญต่างประเทศที่สนับสนุนเงินในการก่อเหตุ นอกจากนี้นางสุภาพรยังเป็นมีประวัติเป็นระดับแกนนำในกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ วันเดียวกันตำรวจได้นำตัวนางสุภาพร นายมหาหิน และนายยุทธนา ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพที่ จ.มุกดาหาร ก่อนนำตัวนางสุภาพรและนายเจษฎาพงษ์ไปขอศาลฝากขังในเวลาต่อมา
       
       ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ทหารจากกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 ได้นำตัวผู้ต้องหามาส่งมอบให้ตำรวจเพิ่มอีก 3 ราย คือ นายวสุ เอี่ยมละออ ,นายสุรพล เอี่ยมสุวรรณ และนายสมชัย อภินันท์ถาวร หลังสอบปากคำ ตำรวจได้แจ้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันจ้างวานใช้ ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพกพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันควร
       
       ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ขณะนี้ได้ออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการแล้ว 19 ราย ตามจับได้แล้ว 16 ราย ยังเหลืออีก 3 ราย คือ นายมนูญ ชัยชนะ หรืออเนก ซานฟราน ,นายวิระศักดิ์ โตวังจร หรือใหญ่ พัทยา และนายธนาวุฒิ อภินันท์ถาวร โดยในส่วนของนายมนูญ หรือเอนก ซานฟราน นั้น ตำรวจอยู่ระหว่างประสานงานกับตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพล เพื่อขอทราบว่าหลบหนีอยู่เมืองใดประเทศใด ก่อนส่งหมายแดงให้ประเทศนั้นเพื่อส่งตัวกลับมาตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะได้ตัวนายเอนก ซานฟราน เพราะข้อหาก่อการร้ายถือเป็นข้อหาสากลที่ประเทศสมาชิกในสนธิสัญญาฯ มีข้อหานี้อยู่ทั้งสิ้น
       
       สำหรับคดีปาระเบิดใส่ศาลอาญานี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาคดีแรกในส่วนของนายมหาหิน คนขี่จักรยานยนต์ และนายยุทธนา คนปาระเบิด ฐานละเมิดอำนาจศาลแล้ว เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายภายในศาล และสร้างความตระหนกตกใจแก่ประชาชน พิพากษาจำคุกทั้งสองคนๆ ละ 5 เดือน ไม่รอลงอาญา
       
       5. อัยการ ส่งฟ้อง 11 ผู้ต้องหายักยอกเงิน สจล. 1,600 ล้านแล้ว ประสาน ตร.ออกหมายจับอีก 3 ที่ยังหลบหนี!


        ความคืบหน้าคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กว่า 1,600 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 มี.ค. พนักงานอัยการคดีอาญา 11 (อัยการจังหวัดมีนบุรี) ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์, น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผอ.ส่วนกลางคลัง สจล. , นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์, น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์, นายสมบัติ โสประดิษฐ์, นางระดม มัทธุจัด, นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการ, นายภาดา บัวขาว, นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล. , นายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดี สจล. และนายศรุต ราชบุรี อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สจล. เป็นจำเลยที่ 1-11 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์, ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม, ร่วมกันปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอม, เป็นพนักงานร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือผู้อื่นโดยทุจริต, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ร่วมกันฟอกเงิน และอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 264, 265, 266, 268, 335, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4, 8, 11 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3, 5, 7, 10 และ 60
       
        ทั้งนี้ คำฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 55 น.ส.อำพร ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการส่วนการคลัง สจล. ได้ทำบันทึกถึงนายสมศักดิ์ คูหาสวรรค์เวช ผู้ช่วยอธิการบดี ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี (ในขณะนั้น) ขอถอนเงินของ สจล.จากบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขา สจล.รวม 4 บัญชี เป็นเงิน 510 ล้านบาท เพื่อนำไปฝากบัญชีประเภทฝากประจำที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ที่นายทรงกลดเป็นผู้จัดการในขณะนั้น โดยอ้างว่าจะได้ผลประโยชน์สูงกว่าเดิม ซึ่งอธิการบดีขณะนั้นได้ลงนามอนุมัติ กระทั่งวันที่ 26 มิ.ย. 55 น.ส.อำพร ได้นำเงินดังกล่าวไปฝากเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ โดยให้ น.ส.อำพร นายถวิล นายสรรพสิทธิ์ และ น.ส.ระวิวรรณ นักวิชาการการเงินและบัญชี เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินในบัญชีดังกล่าวได้
       
        ต่อมา 19 ก.ค. 2555 - 12 พ.ย.2555 น.ส.อำพร และนายถวิล ได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และมีจำเลยที่ 1, จำเลยที่ 3-8 และจำเลยที่ 10 - 11 ร่วมกันให้ความช่วยเหลือสนับสนุน น.ส.อำพร และนายถวิล ลักทรัพย์เอาเงินของ สจล. ไปหลายครั้งหลายหน โดยนายถวิล รู้เห็นและยินยอมให้นายสรรพสิทธิ์ ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเงินได้ร่วมกับ น.ส.อำพร ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ไป นอกจากนี้จำเลยยังร่วมกันฟอกเงินด้วยการนำเงินของ สจล.จำนวนกว่า 303 ล้านบาท โอนกลับเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา สจล. เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน เพื่อไม่ต้องให้รับโทษหรือรับโทษน้อยลงด้วย โดยศาลประทับรับฟ้อง พร้อมนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 23 มี.ค. เวลา 13.00 น.
       
        สำหรับผู้ต้องหาอีก 3 คนที่ยังหลบหนี ประกอบด้วย นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด, นายสมพงษ์ สหพรอุดมการ และ นายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ซึ่งทางอัยการจะประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ขอศาลออกหมายจับและติดตามจับกุมตัวมาฟ้องศาลต่อไป



ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 มีนาคม 2558