ผู้เขียน หัวข้อ: สังคมไทย ได้อะไรจาก “เปมิกา”?  (อ่าน 2600 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
สังคมไทย ได้อะไรจาก “เปมิกา”?
« เมื่อ: 26 ตุลาคม 2010, 18:34:15 »
ปัญหา “หมอประกิตเผ่า” ป่วย-ไม่ป่วย /ถูกคุมขังใน รพ.ศรีธัญญาโดยชอบ-ไม่ชอบ จบไปแล้วก็จริง แต่ได้เกิดคดีใหม่ต่อเนื่องตามมา คราวนี้ “เป้า” เปลี่ยนจาก “หมอประกิตเผ่า” ไปอยู่ที่ “เปมิกา” ว่าเป็น “ชู้” หรือไม่? ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีความที่เกิดขึ้นระหว่าง “หมอประกิตเผ่า-ครอบครัว-เปมิกา” ไม่เพียงเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของผู้คนในสังคม แต่ยังเป็นคดีที่นักกฎหมายทั้งมือใหม่-เก่าเฝ้าติดตามและใช้เป็นคดีศึกษา เพราะแทบไม่เคยเกิดเรื่องทำนองนี้มาก่อน มองผิวเผิน นี่อาจเป็นเพียงเรื่องของ “ครอบครัวหนึ่งกับคนภายนอกอีกคนหนึ่ง” แต่ลึกๆ แล้วเรื่องนี้ได้จุดประกายให้หลายฝ่ายเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่กฎหมายสำคัญอย่างน้อย 2 ฉบับ ควรจะออกมาบังคับใช้เสียที
       
กรณี “หมอประกิตเผ่า-ครอบครัว-เปมิกา” เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เมื่อ น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต หรือชื่อเดิม ศิวพร เหลืองเรณูกุล หรือ “อุ๋ย” นิสิตปี 4 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเพื่อนสาวคนสนิทของ นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ เจ้าของสถาบันกวดวิชาชื่อดัง “แอพพลาย ฟิสิกส์” ได้เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.ฐิติเดช อินทรแป้น พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ว่า หมอประกิตเผ่าถูกครอบครัวนำตัวเข้ารักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ทั้งที่หมอฯ ไม่ได้มีอาการทางจิต จึงเกรงว่า อาจเป็นการถูกหลอกเอาตัวไปรักษา เพื่อไม่ให้สามารถดำเนินกิจการโรงเรียนกวดวิชาที่มีรายได้ปีละนับ 100 ล้านบาทต่อไปได้
       
       จากนั้น วันที่ 27 ก.พ. พ.ต.ท.ฐิติเดช และ น.ส.เปมิกา ได้ร้องต่อศาลอาญาให้มีคำสั่งปล่อยตัวหมอประกิตเผ่า โดยอ้างว่า โรงพยาบาลศรีธัญญาควบคุมตัวหมอฯ โดยไม่ชอบ เพราะจากการสอบปากคำพยานหลายปาก ต่างยืนยันว่า หมอประกิตเผ่าไม่ได้มีอาการทางจิตแต่อย่างใด
       
       วันเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดแถลงพร้อมพี่ชายหมอประกิตเผ่า คือ นพ.ประกิตพันธ์ ทมทิตชงค์ โดยยืนยันว่า หมอประกิตเผ่ามีอาการป่วยทางจิต ชนิดหวาดระแวง โดยมีอาการหวาดระแวงและมีความคิดหลงผิด คิดว่าตนเองมีเวทมนตร์ มีอำนาจพิเศษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้ และว่าแพทย์พยายามหาสาเหตุการป่วยของหมอประกิตเผ่า เพราะได้ตรวจพบ “สารเอฟิดรีน” ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในปัสสาวะหมอประกิตเผ่าในปริมาณที่สูงกว่า ที่เคยพบในผู้ป่วยทั่วไปถึง 200 เท่า!
       
       ด้านศาลฯ ได้นัดคู่ความเพื่อไต่สวนครั้งแรกวันที่ 2 มี.ค. โดยวันดังกล่าวศาลได้ใช้วิธีเดินเผชิญสืบเพื่อทราบวิธีการรักษาของโรงพยาบาล ศรีธัญญา รวมทั้งได้พูดคุยกับหมอประกิตเผ่าตามลำพัง พบว่า หมอประกิตเผ่ามีอาการป่วยจริง!
       
       แต่เพื่อความแน่ใจและให้สาธารณชนหายสงสัยว่าหมอประกิตเผ่าป่วยจริง ศาลจึงมีคำสั่งให้ส่งตัวหมอประกิตเผ่าไปตรวจอาการซ้ำอีกครั้งที่สถาบัน กัลยาณราชนครินทร์ ขณะที่โรงพยาบาลศรีธัญญาก็ได้พยายามทำความชัดเจนเรื่องนี้ ด้วยการตั้งคณะกรรมการแพทย์จากหน่วยงานที่เป็นกลาง เพื่อร่วมวินิจฉัยอาการของหมอประกิตเผ่าด้วยอีกทาง ซึ่งก็ได้ผลว่า หมอประกิตเผ่าป่วยจริงเช่นกัน
       
       ด้าน นพ.ประกิตพันธ์ พี่ชายหมอประกิตเผ่า บอก น้องชายเริ่มมีอาการเมื่อเดือน ต.ค.49 โดยสนใจนั่งสมาธิมากขึ้น มีอาการซึม หวาดระแวงเกรงว่าภรรยาจะปองร้าย นอกจากนี้ยังใส่เสื้อเกราะและพกปืนติดตัว 3 กระบอก และว่า เมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา น้องชายได้โอนเงินออกจากบัญชีประมาณ 40 ล้าน โดยยังไม่ทราบปลายทางที่โอน
       
       วันที่ 5 มี.ค. ครอบครัวหมอประกิตเผ่าได้เข้าร้องต่อกองปราบปราม ให้ช่วยสืบสวนว่าสารเอฟีดรีนเข้าไปอยู่ในตัวหมอประกิตเผ่าได้อย่างไร ขณะที่ นพ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต บอก ปกติแล้วร่างกายคนเราไม่สามารถสร้างสารเอฟีดรีนได้เอง ต้องรับเข้าไปอย่างเดียวเท่านั้น และคาดว่า หมอประกิตเผ่าน่าจะได้รับสารดังกล่าวก่อนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลศรีธัญญา 3 วัน เพราะตามหลักแล้ว หากสารเอฟีดรีนเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะขับออกทางปัสสาวะได้หมดภายใน 3 วัน
       
       ด้านศาลอาญาได้นัดไต่สวนคำร้องปล่อยตัวหมอประกิตเผ่าอีกครั้งเมื่อ วันที่ 9 มี.ค. โดยได้มีการไต่สวนคู่ความและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ต.ท.ฐิติเดช อินทรแป้น พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ เบิกความสรุปว่า เหตุที่ตนรับแจ้งความจากน.ส.เปมิกา ทั้งที่คดีนี้เกิดในพื้นที่ จ.นนทบุรี ต้องเป็นอำนาจสอบสวนของ สภ.อ.นนทบุรีว่า “เพราะเห็นว่า น.ส.เปมิกาเป็นประชาชนได้รับความเดือดร้อน และร้องไห้ตลอดเวลา...”
       
       ขณะที่ น.ส.เปมิกา เบิกความสรุปว่า รู้จักหมอประกิตเผ่าตั้งแต่ 9 ปีก่อน ขณะนั้นเรียนอยู่ชั้น ม.4 และไปเรียนกวดวิชากับหมอประกิตเผ่า และว่า หมอประกิตเผ่าเป็นเพื่อนต่างวัย โดยตนอายุ 24 ปี ส่วนหมอฯ อายุมากกว่า 13 ปี การพบกับหมอประกิตเผ่า จะมีลักษณะเป็นกลุ่ม เพราะกลุ่มตนมีเพื่อนผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 3 คน พร้อมยืนยันไม่เคยพาหมอไปนั่งสมาธิตามที่ทางครอบครัวหมอฯ ระบุ มีแต่ไปเที่ยวพักผ่อน และว่า หมอประกิตเผ่าเริ่มพูดถึงปัญหาในครอบครัวให้ฟังบ่อยๆ เมื่อปลายปี 49 โดยบอกว่า ต้องการหย่ากับภรรยา กระทั่งวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนและเพื่อนๆ ได้ไปทำรายงานและค้างที่คอนโดฯ ของหมอประกิตเผ่าย่านศาลายา พอเช้าวันที่ 19 ก.พ. หมอฯ ได้ออกจากคอนโดฯ โดยบอก จะไปหย่ากับภรรยาที่ อ.พุทธมณฑล ในเวลา 10.00น.พร้อมบอกให้ตนและเพื่อนอยู่รอ ตอนเย็นจะกลับมา แต่แล้วก็หายไป กระทั่งเช้าวันที่ 20 ก.พ.ได้รับโทรศัพท์จากหมอฯ ว่า ขณะนี้อยู่ที่อาคารประสาทวิทยา รพ.ศรีธัญญา และว่า พี่ชายเป็นคนพาไปอยู่ที่นั่น ส่วนภรรยาไม่ได้เดินทางไปหย่า เพราะเสียชีวิต และสงสัยว่า เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต หมอประกิตเผ่าจึงบอกให้ตนช่วยตรวจสอบว่า ภรรยาเสียชีวิตจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงให้พาตำรวจมารับตัวหมอฯ ออกจากโรงพยาบาล ตนจึงได้ไปแจ้งความที่ สน.บางซื่อให้ช่วยตรวจสอบ
       
       ด้าน นพ.ประกิตพันธ์ พี่ชายหมอประกิตเผ่า เบิกความสรุปว่า น้องชายเริ่มไม่เหมือนเดิมกับภรรยาเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และบอกว่า จะเลิกกับภรรยา เพราะถูกทำคุณไสยเสกตะปูเข้าท้องจนอาเจียนออกมาเป็นเลือด กระทั่งวันที่ 16-17 ก.พ. น้องชายได้โทรมาอีก โดยบอกว่า หายใจไม่ออก ซึ่งตนกลัวว่าน้องชายจะเสียชีวิต จึงถามว่า ทำอย่างไรจะไปพบได้ น้องชายก็บอกว่า ให้พาภรรยาไปหย่าที่ว่าการ อ.พุทธมณฑล วันที่ 19 ก.พ.เวลา 10.00น. ตนจึงได้ประสานตำรวจ 191 ที่รู้จักกันให้ประสานไปยังผู้กำกับการ สภ.อ.พุทธมณฑล เพื่อลงบันทึกประจำวันในการนำตัวน้องชายไปรักษาที่ รพ.ศรีธัญญา โดยตอนที่พบน้องชาย ได้พบปืน 3 กระบอกในรถของน้องชายด้วย และตอนที่นำน้องชายขึ้นรถเพื่อไป รพ.ศรีธัญญา เมื่อน้องชายไม่เห็นภรรยา แต่เห็นตำรวจหลายนาย จึงเข้าใจเองว่า กำลังตกเป็นผู้ต้องหาทำร้ายหรือฆาตกรรมภรรยา โดยน้องชายได้พูดตลอดทางว่า ไม่ได้เป็นคนฆ่าใคร!
       
       ขณะที่นางอลิสา ภรรยาหมอประกิตเผ่า เบิกความสรุปว่า แต่งงานกับหมอฯ เมื่อปี 37 ปัจจุบันมีบุตร 2 คน และว่า ก่อนหน้านี้หมอฯ เป็นคนที่รักครอบครัว มีความรับผิดชอบและมีวินัยมาก แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็นคนเครียดง่ายและเกรี้ยวกราดไม่มีเหตุผล หมอฯ ยังเคยบอกด้วยว่า เคยไปเชียงใหม่กับ น.ส.ศิวพร(เปมิกา) และเพื่อนชายคนหนึ่ง เพื่อทดสอบความสามารถการนั่งสมาธิขั้นสูงของ น.ส.เปมิกา ส่วนเรื่องหย่าและการป่วยของหมอประกิตเผ่า ตนเพิ่งมาทราบจากมารดาและพี่ชายของหมอฯ เมื่อวันที่ 23 ก.พ.เพราะตนเดินทางไปประเทศสหรัฐฯ มาประมาณ 10 วัน เนื่องจากทุกข์ใจและเครียดกับพฤติกรรมของหมอประกิตเผ่าที่เปลี่ยนแปลงไปใน ช่วง 2-3 เดือนมานี้...
       
       หลังไต่สวนพยานทั้งหมดแล้ว ในที่สุด ศาลอาญา ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ให้ยกคำร้องของ น.ส.เปมิกา ที่ต้องการให้โรงพยาบาลศรีธัญญาปล่อยตัวหมอประกิตเผ่า โดยศาล พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หมอประกิตเผ่าป่วยเป็นโรคอารมณ์แปรปรวนและมีอาการทางจิตร่วมด้วย ซึ่งมีอาการรุนแรง อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่นได้ จึงมีความจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ จนกว่าอาการจะทุเลาลงและไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น
       
       หลังรู้ผลศาลเพียง 1 วัน นางอลิสา ภรรยาหมอประกิตเผ่าได้ส่งทนายฟ้อง น.ส.เปมิกาต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ฐานแสดงตนต่อสาธารณชนว่ามีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวกับสามีตน เรียกค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงและทุกข์ทรมาณจิตใจ 27 ล้าน นอกจากนี้ยังเตรียมฟ้องคดีแพ่ง ฐานละเมิด เพื่อเรียกค่าเสียหายต่อศาลแพ่งต่อไป
       
       แม้เรื่องราวของ”หมอประกิตเผ่า-ครอบครัว-เปมิกา”จะดูเหมือนจบลงแล้ว ว่า หมอฯ ป่วยมีอาการทางจิตจริง และทางโรงพยาบาลศรีธัญญาได้รับไว้รักษาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และหมอฯ ควรได้รับการรักษาต่อไป แต่สำหรับคดีที่สืบเนื่องจากกรณีนี้ ระหว่างภรรยาและเพื่อนสาวคนสนิทของหมอประกิตเผ่า เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น รวมถึงคดีที่อยู่ในมือกองปราบฯ ที่ต้องสอบสวนว่า “สารเอฟีดรีน”เข้าไปอยู่ในตัวหมอประกิตเผ่าได้อย่างไร โดยได้นัดสอบปากคำ น.ส.เปมิกาวันที่ 15 มี.ค.นี้ หลังจากได้สอบปากคำบุคคลในครอบครัวหมอประกิตเผ่าไปแล้ว
       
       ไม่ว่าที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงทั้งหมดและคดีที่เกี่ยวเนื่องจะจบลงอย่างไรในวันข้างหน้า แต่ ณ ขณะนี้น่าจะพูดได้ว่า กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาที่ไม่เพียงได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวาง แต่ยังจุดประกายความคิดที่น่าสนใจให้คนในสังคมและหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
       
       สัญชัย เมฆฤทธิไกร กรรมการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มองว่า กรณีหมอประกิตเผ่า-ครอบครัว-เปมิกา สะท้อนว่า สิทธิของครอบครัวควรจะได้รับการรับรองโดยกฎหมายได้แล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกล่วงละเมิดโดยบุคคลภายนอก
       
       “กรณีนี้สะท้อนให้สังคมได้ตระหนักว่า สิทธิของครอบครัวควรจะได้รับการพูดถึงและรับรองอย่างกว้างขวาง และโดยกฎหมาย พอดีช่วงที่ผ่านมา ผมไปยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัว ก็มีการพูดถึงสิทธิครอบครัวที่ควรจะให้ชัดเจนในรูปธรรม สถานภาพของสิทธิครอบครัวว่า สังคมจะต้องยอมรับว่าสิทธิครอบครัวควรจะอยู่เหนือสิทธิปัจเจกบุคคลในบริบท ของเรื่องครอบครัว เช่น กรณีของเปมิกาจะเห็นชัดว่า เป็นการที่บุคคลภายนอกไปก้าวก่ายไปล่วงละเมิดไปยังสิทธิของครอบครัวของหมอ ประกิตเผ่า ซึ่งในครอบครัวของหมอประกิตเผ่าก็มี 2 ชั้น มีครอบครัวขยายครอบครัวเดิม ก็คือ พ่อ-แม่ พี่ และหมอประกิตเผ่า กับครอบครัวของหมอประกิตเผ่าเอง คือ ภรรยาและลูก 2 คน ในกรณีนี้แม่ของหมอประกิตเผ่าย่อมมีสิทธิที่จะปกป้องลูกชาย แม้จะบรรลุนิติภาวะแล้ว และมีครอบครัวแยกไปแล้ว กับบุคคลภายนอกได้ แต่จริงๆ แล้วสิทธิของคุณแม่ที่ใช้ จะไม่สามารถล่วงละเมิดเข้าไปในสิทธิส่วนบุคคลส่วนครอบครัวเฉพาะของหมอประกิต เผ่ากับภรรยาได้ เพราะฉะนั้นกรณีนี้คนที่ผมคิดว่ามีสิทธิมากที่สุดคือภรรยาหมอประกิตเผ่าที่ จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทั้งมวลจากการล่วงละเมิดในสิทธิครอบครัวของเขาจาก บุคคลภายนอก เพราะกรณีนี้ เปมิกาโดยสถานภาพทางสังคม ยังไม่มีสิทธิใดใดเลยที่จะก้าวล่วงเข้ามาในชีวิตครอบครัวหรือสิทธิครอบครัว ของหมอประกิตเผ่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ สิทธิของครอบครัวในการที่จะปกป้องสิทธิของครอบครัวกับการปกป้องสมาชิกในครอบ ครัว เป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่สังคมควรจะตระหนักและกฎหมายควรจะรับรอง”
       
       สำหรับ พ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัวนั้น นายสัญชัย เผยว่า ขณะนี้ได้มีการเสนอรัฐบาลไปแล้ว และจะมีการทำประชาพิจารณ์ในเร็วๆ นี้
       
       ด้าน ดร.สุธีรา วิจิตรานนท์ นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา มองว่า ขณะนี้ข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้นยังไม่ปรากฏทั้งหมด น่าจะต้องรอฟังข้อเท็จจริงจากปากหมอประกิตเผ่าเมื่อหายดีแล้วด้วย ตอนนี้คงยังสรุปว่าเป็นความผิดของ น.ส.เปมิกาฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะยังไม่สามารถทราบได้ว่า น.ส.เปมิกาแจ้งความด้วยความหวังดี เพราะไม่ทราบว่า หมอประกิตเผ่าป่วยจริงๆ หรือด้วยเหตุผลอื่น ซึ่งเป็นไปได้ทั้งนั้น
       
       “เขาเป็นคนธรรมดา และหลายๆ คนที่เป็นคนธรรมดา หมายความว่าไม่ได้เป็นหมอ มอง(หมอประกิตเผ่า)ก็อาจจะไม่ทราบว่าไม่สบาย เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นส่วนที่ไม่รู้จะเอาผิดได้ยังไง ถ้าเรามองแล้วเราไม่ได้คิดว่าไม่สบาย นอกจากเราจะเป็นคนทำให้เป็นคนที่ไม่สบาย สมมตินะ พิสูจน์ได้ว่าเราเป็นคนทำ แล้วเราก็มาทำว่าไม่รู้เรื่อง นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าสมมติว่า ไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนในอะไรตรงนั้นที่ทำให้ผิดปกติ อันนี้เราก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็ยากในการที่จะรู้เหมือนกับที่คุณแม่ของหมอบอกว่า รู้ว่าไม่สบาย หรือสมาชิกในครอบครัวของคุณหมอรู้ว่าไม่สบาย ก็อาจจะมีความใกล้ชิดแตกต่างกัน ไม่ทราบเหมือนกัน แต่คุณเปมิกาก็อาจจะไม่ทราบก็ได้ และจริงๆ ถ้าเขาไม่พูดขึ้นมา หรือเงียบหายไปอะไรต่างๆ ถ้าเขาเงียบอยู่เฉยๆ เราก็คงไม่รู้เรื่องนี้ ถ้าสมมติว่ามีความจริงใจเป็นห่วงคุณหมอ และไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่ายกย่องเหมือนกัน คือถ้ารู้ว่าคนที่รู้จักจะเกิดอันตรายหรืออะไร แล้วจะให้เราเงียบอยู่ สมมติในแง่นั้นนะ ถ้ามารู้ทีหลังแล้วก็มันมีอะไรที่เกิดขึ้นในทางที่เราไม่ได้คาด แหม! ถ้ามาบอกคนอื่นซะ มันก็จบ มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ค่อยง่ายเลย”
       
       ส่วนกรณีที่ภรรยาหมอประกิตเผ่าฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.เปมิกา ฐานแสดงตนต่อสาธารณชนทำนองชู้สาวกับสามีตนนั้น ดร.สุธีรา บอกว่า ยังติดใจเรื่องนี้อยู่เหมือนกันว่า จะใช้อะไรเป็นมาตรวัดถึงการเป็น”ชู้” เพราะกฎหมายเดิมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ไม่มีความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายที่เป็นชู้อยู่แล้ว
       
       "อันหนึ่งที่ยังติดใจอยู่ การที่ฟ้อง (น.ส.เปมิกา)ถูกฟ้องว่าเป็นชู้ ไม่ทราบว่าใช้อะไรเป็นเครื่องวัด แต่เท่าที่เราได้ยินจากหนังสือพิมพ์หรืออ่านข่าว คือคุณเปมิกาก็อาจจะรู้จักกับคุณหมอ และมีความสัมพันธ์เราไม่ทราบ แต่ก็มีเพื่อนอยู่อีกเวลาที่ไปอยู่ที่คอนโดฯ หรืออะไรเท่าที่ข่าวออกมา ก็มีคนอื่นอยู่ด้วย แต่ไม่แน่ใจว่า ถ้าจะฟ้องในฐานที่เป็นชู้อย่างนี้ เอาอะไรมาวัด ถ้าสมมติว่ามีหลักฐานหรืออะไรก็ตาม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะจริงๆ แล้วตามกฎหมายไทย เราก็ไม่ค่อยให้เกียรติผู้หญิง คือผู้หญิงกับผู้ชายตามกฎหมายมีสิทธิแตกต่างกัน ผู้ชายจะถือว่ามีชู้ก็ต่อเมื่อยกย่องหญิงอื่นต่อสาธารณะในฐานะภรรยา ถึงเรียกว่า ชายมีชู้ แต่เวลาที่ใครจะบอกว่าผู้หญิงมีชู้เนี่ย อาจจะเป็นเพียงแต่ไปทานข้าวด้วยกัน แค่นี้ก็ถือว่าความรู้สึกของคนว่า เป็นชู้ก็ได้ ซึ่งกฎหมายอันนี้ เราองค์กรผู้หญิงต่างๆ ก็ได้พยายามที่จะให้มีการพิจารณากลับในเรื่องนี้ ให้มองเหมือนๆ กันเพราะมันหลายครั้ง ถ้าผู้หญิงที่ออกมามีบทบาทนอกบ้านด้วย การที่เขาอาจจะอยู่ หมายความว่าจะไปประชุม ไปทานอาหารอะไรต่างๆ มันคงไม่ได้เป็นเหตุที่จะบอกว่า เป็นชู้ สถานการณ์ทางกฎหมายขณะนี้ กฎหมายไม่ได้ให้ความเสมอภาคในการมอง อย่างที่ว่าเนี่ย ถ้าผู้ชายทำอะไรขนาดนี้ ไปอยู่บ้านผู้หญิงทุกวันเสาร์ วันพุธ ใครๆ ก็รู้ แต่ไม่เคยเอาผู้หญิงคนนี้ออกงาน เขาก็ไม่ถือว่าเป็นชู้”
       
       ขณะที่ นพ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า การที่ น.ส.เปมิกา สามารถฟ้องศาลให้โรงพยาบาลศรีธัญญาปล่อยตัวหมอประกิตเผ่าได้ เป็นเพราะมาตรา 90 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งเพิ่งบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว เปิดช่องให้มีการร้องศาลเพื่อให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยไม่ถูกต้องตาม กฎหมายได้ โดยมีการตีความครอบคลุมมาถึงการควบคุมตัวคนไข้ไว้รักษาในโรงพยาบาลด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดการร้องแบบกรณี น.ส.เปมิกา จึงทำให้แพทย์และผู้เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวคนไข้ ต้องหนาวๆ ร้อนอยู่ตลอดเวลา เพราะหากพลาดนิดเดียว ก็จะโดนข้อหาคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ดังนั้นน่าจะถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยควรจะมี พ.ร.บ.สุขภาพจิตเหมือนที่นานาประเทศมีได้แล้ว
       
       “นานาอารยประเทศที่เจริญแล้ว ก็จะมีกฎหมายสุขภาพจิต หรือ พ.ร.บ.สุขภาพจิต เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับกรณีที่มีคนไข้บางคนมีอาการมาก และวิเคราะห์ดูแล้วน่าจะเป็นอันตรายต่อตนเองหรือคนรอบข้าง เราก็จะแนะนำเขาว่าให้เขารักษาในโรงพยาบาล แต่คนไข้จำนวนหนึ่งก็จะไม่รู้ตัว และจะไม่ยินยอมเข้ารับการรักษา เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย ต่างประเทศจะมีกฎหมายบังคับรักษาให้อยู่ในสถานพยาบาลชั่วคราวจนกระทั่งความ เป็นอันตรายนั้นลดลง แล้วก็จะไปสู่การรักษาแบบสมัครใจต่อไป พ.ร.บ.สุขภาพจิตในประเทศไทยก็จะทำประเด็นนี้ เพื่อไปใช้ในกรณีคล้ายๆ แบบนี้ เพราะตอนนี้ที่ศาลพิพากษามาว่า โรงพยาบาลศรีธัญญาทำไม่ผิดกฎหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าทำถูกนะ เพียงแต่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่ท่านตีความว่าไม่ผิดเฉยๆ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกระบวนการบังคับรักษา คงจะหนาวๆ ร้อนๆ อยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าพลาดนิดเดียว ก็จะโดนข้อหาคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้”
       
       สำหรับร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิตนี้ นพ.อภิชัย บอกว่า ได้ร่างมาหลายรอบและหลายสิบปีแล้ว มีการทำประชาพิจารณ์หลายครั้งกระทั่งปัจจุบันมั่นใจได้ว่า มีความสมบูรณ์ โดยได้เสนอให้รัฐมนตรีสาธารณสุข นพ.มงคล ณ สงขลา พิจารณา และปรับแก้เรียบร้อยแล้ว โดยรัฐมนตรีจะพยายามนำร่างกฎหมายนี้เข้าอภิปรายในที่ประชุมกรรมาธิการสาธารณ สุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติวันศุกร์ที่ 16 มี.ค.นี้ และนำเข้าที่ประชุม ครม.วันอังคารที่ 20 มี.ค.
       
       ส่วนกรณีที่ตำรวจกองปราบฯ อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนว่า สารเอฟีดรีนเข้าไปอยู่ในร่างกายหมอประกิตเผ่าได้อย่างไรนั้น นพ.อภิชัยบอกว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว เพราะเรื่องเกี่ยวกับสารเอฟีดรีนค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ดังนั้นการทราบที่มา-ที่ไปของสารตัวนี้จะช่วยป้องกันปัญหาได้มาก
       
       “ผมคิดว่าเหมาะสมแล้วที่ทางตำรวจสืบเสาะเรื่องเอฟีดรีนต่อไป เพราะโดยปกติเอฟีดรีนจะมีในร่างกายคนไม่ได้ มีน้อย มีปานกลาง มีมาก ก็ถือว่ามี เรื่องนี้ใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ในต่างประเทศเขารู้จักเรื่องนี้เป็นอย่างดี ถ้าเกิดเราเห็นช่องทางการเคลื่อนไหวของเอฟีดรีน เราจะป้องกันปัญหาได้หลายอย่าง เพราะในต่างประเทศเอฟีดรีนสร้างปัญหาหลายประการ ซึ่งมีลักษณะบางอย่างคล้ายๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ทุกคนไม่ได้คิดถึงมัน และไม่ได้ตรวจ เพราะฉะนั้นจึงมีกรณีนักกีฬาที่หนุ่มๆ อายุไม่มาก ร่างกายแข็งแรงดี อยู่ดีดีก็หัวใจวายตาย เราก็เห็นว่า มีคุณค่าต่อการติดตามเรื่องนี้ สำหรับเรื่องสาเหตุ(การป่วยของหมอประกิตเผ่า) ศาลเคยพูดในศาลว่า ศาลเชื่อว่าเอฟีดรีนอาจจะเป็นตัวการหรือตัวกระตุ้น คือมีบทบาทแน่ แต่มีบทบาทเป็นสาเหตุโดยตรงหรือเป็นตัวกระตุ้นร่วมที่อาจจะซ่อนอยู่ในตัว ซึ่งไม่มีวันจะโผล่ถ้าไม่มีตัวกระตุ้นอย่างแรง ในวงการ(แพทย์)เรารู้ดีว่า ตัวกระตุ้นอย่างแรงก็คือ ยาบ้า เอฟีดรีนนี่ก็เป็นสารตั้งต้นยาบ้า แม้กระทั่งเหล้าก็เป็นตัวกระตุ้นโรคที่ซ่อนเร้น ไม่ใช่มันจะเกิด คนบางคนมีอะไรซ่อนเร้นไว้ แล้วก็จะไม่มีโอกาสเป็นเลย ยกเว้นมีสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ เพราะฉะนั้นแม้กระทั่งคาเฟอีน คาเฟอีนที่กินแล้วนอนไม่หลับ ถ้ากินเยอะๆ ในการให้การของครอบครัวของอาจารย์(ประกิตเผ่า) เขาบอกว่า อาจารย์นอนวันละ 2 ชม.นะ ตอนหลังๆ เนี่ย แสดงว่ามีการทำให้ตื่นตัวนอนไม่หลับ ทีนี้ไม่ว่าจะตื่นเพราะอะไรก็ตาม การนอนไม่หลับเนี่ย ประชาชนควรจะทราบว่า เป็นเหตุของการทำให้เกิดระแวงได้ ไม่ว่านอนไม่หลับจากโรค นอนไม่หลับจากการกินคาเฟอีน นอนไม่หลับจากการกินเอฟีดรีน หรือนอนไม่หลับจากการกินยาบ้า ญาติพี่น้องควรจะรู้ว่า ต้องรีบแก้ปัญหา ใครก็ตามนอนน้อยแบบนี้เนี่ย ไม่วันนี้ พรุ่งนี้ ก็อาทิตย์หน้าจะเกิดอาการหวาดระแวง”
       
       ส่วนกรณีที่สภาทนายความ แนะให้ทางครอบครัวหมอประกิตเผ่าร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้เป็น”บุคคลไร้ความ สามารถ” และขอเป็นผู้อนุบาลทำนิติกรรมแทนนั้น นพ.อภิชัย ให้ข้อคิดว่า ปกติแล้ว การฟ้องให้ผู้ใดเป็นบุคคลไร้ความสามารถ มักจะฟ้องในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเรื้อรังยาวนาน หรือไม่มีทางรักษาหาย แต่สำหรับอาการป่วยของหมอประกิตเผ่า ไม่มีแพทย์กลุ่มใดคิดว่า คุณหมอฯ จะป่วยเรื้อรังยาวนานหรือจะไม่หาย แพทย์ทุกคนเชื่อมั่นว่าหมอประกิตเผ่าจะหายแน่ ส่วนจะหายแล้วไม่เป็นอีกเลย หรือหายแล้วเป็นอีก หรือเป็นๆ หายๆ นั้น ยังเป็นเรื่องทางวิชาการที่ต้องติดตามต่อไป
       
       ดังนั้น ณ ขณะนี้คงยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องให้หมอประกิตเผ่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าทางครอบครัวคิดว่า ธุรกิจสถาบันกวดวิชาของครอบครัวอยู่ได้ด้วยความสามารถของหมอประกิตเผ่าเป็นหลัก ก็ยิ่งไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำให้คุณหมอฯ กลายเป็นคนไร้ความสามารถไปในตอนนี้!!
       
       อมรรัตน์ ล้อถิรธร.....รายงาน


ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 มีนาคม 2550