ผู้เขียน หัวข้อ: มหกรรมสัตว์อพยพ-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3068 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
การอพยพของฝูงสัตว์ เป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่และมีแบบแผนกว่าการเคลื่อนที่ของฝูงสัตว์ธรรมดาๆ เป็นการเดินทางรวมกลุ่มซึ่งให้รางวัลตอบแทนที่รอคอยมายาวนาน  แสดงให้เห็นถึงการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้ากับความมุ่งมั่นอันยิ่งใหญ่ราวมหากาพย์  ซึ่ง กำหนดไว้ในสัญชาตญาณที่สืบทอดกันมา ฮิวจ์ ดิงเกิล นักชีววิทยาผู้พยายามเข้าใจแก่นแท้ของการอพยพ ระบุคุณลักษณะสำคัญห้าประการของการอพยพทุกรูปแบบ ซึ่งอาจมีมากน้อยแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละกลุ่ม นั่นคือ  (1) เป็นการเคลื่อนที่ที่กินเวลายาวนานซึ่งนำพาฝูงสัตว์ออกไปนอกถิ่นอาศัยอัน คุ้นเคย (2) มีแนวโน้มการเดินทางเป็นเส้นตรงไม่ซอกแซกคดเคี้ยว  (3) เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมพิเศษอย่างการเตรียมพร้อม  (เช่น  กินอาหารมากกว่าปกติ)   และ  (4)  การเดินทางไปถึงจุดหมาย      ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยการจัดสรรพลังงานเป็นพิเศษ และอีกประการหนึ่งคือ (5) สัตว์อพยพจะรักษาความตื่นตัวอันแรงกล้าเพื่อภารกิจยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งช่วยให้มันไม่วอกแวกไปกับสิ่งยั่วยวนต่างๆ และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคนานัปการที่อาจทำให้สัตว์อื่นๆถอดใจล่าถอยเอาง่ายๆ

            ตัวอย่างเช่น นกนางนวลแกลบอาร์กติกที่เดินทางจากกลุ่มเกาะเตียร์ราเดลฟวยโกในอเมริกาใต้ไปยังอะแลสกา จะไม่ไยดีกับปลาเฮร์ริงหอมหวนที่นักดูนกบนเรือหยิบยื่นให้ในอ่าวมอนเทเรย์  พวกมันมักทนต่อสิ่งเย้ายวนต่างๆได้ดี  เพราะในขณะนั้นมันถูกขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั่นเอง นั่นคือการหาสถานที่ เวลา และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พวกมันสามารถฟักไข่และเลี้ยงลูกน้อยได้สำเร็จ

            แต่กระบวนการดังกล่าวมีความซับซ้อนและหลากหลาย   อีกทั้งนักชีววิทยาแต่ละคนมีคำอธิบายแตกต่างกันไป ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาศึกษาสัตว์ชนิดใด  โจเอล เบอร์เกอร์ ผู้ศึกษาพรองฮอร์นและสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆในอเมริกา ชอบคำจำกัดความที่เรียบง่ายว่า  “เป็นการย้ายออกจากบ้านตามฤดูกาลไปสู่บ้านอีกแห่งหนึ่งและย้ายกลับมาอีกครั้ง”  โดยทั่วไปแล้ว  เหตุผลของการย้ายกลับไปกลับมาตามฤดูกาลก็เพื่อเสาะหาทรัพยากรที่ไม่อาจหาได้ตลอดปีในพื้นที่เดียว  ทว่าการเคลื่อนที่ตามแนวดิ่งในแต่ละวันของแพลงก์ตอนสัตว์ในมหาสมุทร ซึ่งเคลื่อนที่สู่ท้องน้ำเบื้องบนยามค่ำคืนเพื่อหาอาหาร  และกลับลงสู่เบื้องล่างในช่วงกลางวันเพื่อหลบหนีสัตว์นักล่า ก็อาจจัดว่าเป็นการอพยพเช่นเดียวกัน  รวม ทั้งการเคลื่อนที่ของเพลี้ยอ่อนที่เมื่อจัดการใบอ่อนของต้นไม้ต้นหนึ่งจน เกลี้ยงแล้ว ลูกหลานของมันจะบินไปยังต้นไม้ต้นอื่น โดยไม่มีเพลี้ยตัวใดย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นอีกเลย

            ดิง เกิล นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการผู้ศึกษาแมลง เสนอคำนิยามซึ่งซับซ้อนกว่าของเบอร์เกอร์ โดยอ้างถึงลักษณะเด่นห้าประการข้างต้น (ความไม่ย่อท้อ การเดินทางเป็นเส้นตรง ความมุ่งมั่นไม่วอกแวก พฤติกรรมพิเศษในการเตรียมตัวก่อนออกเดินทางและหลังจากไปถึงจุดหมาย และการสะสมพลังงาน)   ที่จำแนกการอพยพออกจากรูปแบบ การเคลื่อนที่อื่นๆ เช่น ตัวเพลี้ยจะมีความรู้สึกไวต่อแสงสีน้ำเงิน (จากท้องฟ้า) เมื่อถึงเวลาเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหญ่  และไวต่อแสงสีเหลือง (ที่สะท้อนจากใบไม้อ่อน) เมื่อได้เวลาเหมาะในการร่อนลง  นกจะขุนตัวเองให้อ้วนพีโดยกินอาหารปริมาณมากล่วงหน้าก่อนการบินอพยพเป็นระยะทางไกล  ดิง เกิลบอกว่านิยามของเขามุ่งเน้นไปที่คุณลักษณะร่วมกันระหว่างปรากฏการณ์การ อพยพของวิลเดอบีสต์และนกกระเรียนแซนด์ฮิลล์กับปรากฏการณ์การอพยพของเพลี้ย อ่อน ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจว่า      วิวัฒนาการที่เกิดจากการคัดสรรตามธรรมชาติทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร

ในโลกธรรมชาติ  ความหลากหลายทางชีวภาพมีความหมายมากกว่าแค่จำนวนชนิดพันธุ์  เพราะยังมีความหลากหลายของระบบนิเวศ พฤติกรรม และกระบวนการต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ความรุ่มรวยและความงดงาม  ความเข้มแข็งและความยืดหยุ่น ตลอดจนความเชื่อมโยงสอดประสานของชุมชนสิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลก  การ สูญเสียการอพยพทางไกลของสัตว์บางชนิดอาจทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างน่าสลด โจเอล เบอร์เกอร์ชี้ให้เห็นประเด็นนี้โดยอ้างอิงถึงการอพยพของสัตว์ชนิดต่างๆทั่ว โลก และสัตว์ใกล้บ้านชนิดหนึ่ง นั่นคือพรองฮอร์น (Antilocapra americana) ซึ่งเป็นสัตว์กีบเพียงชนิดเดียวที่เป็นสัตว์ประจำถิ่นของทวีปอเมริกาเหนือ

            พรองฮอร์นมีฝีเท้าเร็วจัดและยังเดินทางได้ไกลอีกด้วย พรองฮอร์นแห่งอุทยานแกรนด์ทีทอนขึ้นชื่อเรื่อง  การไม่เปลี่ยนเส้นทางอพยพ  และความแม่นยำในการกำหนดขอบเขตการอพยพให้อยู่ในพื้นที่สำคัญสามแห่ง ได้แก่ แทรปเปอร์สพอยนต์ (Trappers Point)  เรดฮิลส์ (Red Hills) และฟันเนล (Funnel) ทั้งนี้หากพรองฮอร์นไม่สามารถเดินทางผ่านเส้นทางคอขวดแต่ละเส้นในสามเส้นนี้ระหว่างการอพยพในฤดูใบไม้ผลิได้   พวกมันก็จะไปไม่ถึงทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ในฤดูร้อนของอุทยานแห่งชาติแกรนด์ทีทอน  และถ้าพวกมันไม่อาจผ่านไปได้อีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วง เพื่อหนีลงใต้สู่ที่ราบซึ่งสายลมพัดกระหน่ำ  พวกมันก็อาจต้องจบชีวิตลงขณะพยายามเอาชนะฤดูหนาวในบริเวณเมืองแจ็กสันโฮล  หรือไม่ก็ต้องติดอยู่กลางหิมะลึกในสันเขาที่เป็นพรมแดน

            ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์อย่างเบอร์เกอร์ พร้อมด้วยนักชีววิทยาบางคน และผู้จัดการที่ดิน    ในการกำกับดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติและหน่วยงานอื่นๆ  กำลังทำงานเพื่อปกป้องพฤติกรรมการอพยพ  ไม่ใช่แค่เพียงบรรดาสัตว์ต่างๆและถิ่นอาศัยของพวกมันเท่านั้น  หน่วยงานป่าแห่งชาติบริดเจอร์-ทีทอนยอมรับว่า  เส้นทางอพยพของพรองฮอร์นในอุทยานแห่งชาติแกรนด์ทีทอนเป็นเส้นทางอพยพเส้นแรกที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลกลาง  ทว่าทั้งกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติไม่อาจควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ดินของเอกชนบริเวณคอขวด  หรือ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานบริหารจัดการที่ดินซึ่งอยู่ในบริเวณที่มีการ ขุดเจาะก๊าซทางตอนใต้ของเมืองไพน์เดล และสำหรับสัตว์อพยพอื่นบางชนิด อุปสรรคต่างๆนับว่ายุ่งยากกว่านั้น ยิ่งระยะในการเดินทางกินพื้นที่กว้างขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีขอบเขตอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น มีแนวชายแดนมากขึ้น และมีอันตรายต่างๆตามเส้นทางมากขึ้นไปด้วย

ลองนึกดูว่า ถ้าคุณเป็นนกกระเรียนแซนด์ฮิลล์เล็ก (Grus canadensis canadensis) ที่ออกเดินทางอพยพในช่วงฤดูใบไม้ผลิจากภาคตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐเทกซัส  คุณ อาจต้องบินข้ามรอยต่อของรัฐนิวเม็กซิโกและโอคลาโฮมา ผ่านแคนซัส เนแบรสกา เซาท์ดาโคตา นอร์ทดาโคตา (ซึ่งเกือบทั้งหมดอนุญาตให้ล่านกกระเรียนแซนด์ฮิลล์ได้) ต่อจากนั้นก็บินผ่านชายแดนประเทศแคนาดาสู่รัฐซัสแคตเชวัน  หักมุมไปทางตะวันตกเฉียงเหนือข้ามรัฐแอลเบอร์ตาและบริติชโคลัมเบีย      และดินแดนยูคอน  แล้วผ่านรัฐอะแลสกาอันกว้างใหญ่  และในที่สุดก็ข้ามช่องแคบเบริงสู่ดินแดนแห่งการจับคู่ผสมพันธุ์ในฤดูร้อนทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย  นี่เป็นการเดินทางอันยาวไกลถึง 8,000 กิโลเมตร  ความจำเป็นที่จะต้องหยุดพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งเพื่อเติมพลังให้ตัวเองอาจทำให้คุณต้องแวะที่แม่น้ำแพลตในเนแบรสกา  ถ้า เป็นเช่นนั้นคุณก็จะมีเพื่อนเพราะมีนกกระเรียนแซนด์ฮิลล์ที่มุ่งขึ้นเหนือ ประมาณ 500,000 ตัวที่แวะพักระหว่างทาง ณ ที่เดียวกันนี้ทุกปี

            ผมเฝ้ามองนกกระเรียนบินลงสู่พื้นดินเมื่อเย็นวันก่อน  เมื่อพวกมันบินผ่านแสงสนธยากลับมาเกาะยังที่ตื้นใต้น้ำเพื่อพักผ่อนตอนกลางคืน  แต่ ผมรู้สึกว่าการบินออกเดินทางของพวกมันดูลึกซึ้งกว่า คงเป็นเพราะนกกระเรียนที่บินขึ้นสู่ท้องฟ้าในตอนรุ่งอรุณมุ่งหน้าไปอย่างมี จุดประสงค์  มิใช่แค่การกลับบ้านมาพักผ่อนเท่านั้น มันจะเพิ่มน้ำหนักตัวเพื่อการเดินทางระยะไกลอีกครั้ง  เป็น การเดินทางที่จะนำพวกมันไปสู่ที่ปลอดภัยและอุดมสมบูรณ์เพื่อออกลูกออกหลาน ความพยายามอันน่ามหัศจรรย์และความต้านทานต่อสิ่งเย้ายวนใจของพวกมัน จะก่อให้เกิดนกกระเรียนแซนด์ฮิลล์ฝูงใหม่  เป็นการขยายและชุบชีวิตให้เผ่าพันธุ์
                สิ่งที่ผมเห็นโผบินขึ้นเหนือแม่น้ำแพลต  คือ ภาพแห่งปัญญาและความมุ่งมั่นแห่งวิวัฒนาการ หากว่ามนุษย์เราสามารถเพิ่มพูนสติปัญญา และรวบรวมความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวได้ทัดเทียมกับสหายร่วมโลกแล้ว  บางทีเราอาจยินยอมให้พวกมันเดินทางนานขึ้นอีกสักนิดก็เป็นได้

พฤศจิกายน 2553