ผู้เขียน หัวข้อ: พบผู้ป่วยเมอร์สรายที่ 2 ในไทย เป็นชายชาวโอมาน สธ.นำเข้าห้องแยกโรค ติดตามผู้สัมผั  (อ่าน 566 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
 พบผู้ป่วยโรคเมอร์สรายที่ 2 ในไทย สธ. เผยเป็นชายชาวโอมานอายุ 71 ปี ทำตัวเหมือนนักท่องเที่ยว แต่ตั้งใจมารักษาเมอร์สที่ไทย โดยไม่ประสานส่งตัวระหว่างประเทศ ไม่แจ้งสายการบิน ระบุ นำเข้าห้องแยกโรค สถาบันบำราศฯ แล้ว เพื่อเฝ้าระวังการแพร่เชื้อ พร้อมติดตามผู้สัมผัสโรค 37 คน เป็นคนไทย 13 คน จวกสายกการบินหละหลวม มั่นใจไม่ระบาดในชุมชน
       
       วันนี้ (24 ม.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศนราดูร นพ.ธนากฤต จินตวร รอง ผอ.ด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมกันแถลงข่าว “ตรวจพบผู้ป่วยเข้าข่ายโรคเมอร์ส หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางในประเทศไทยรายที่ 2”
       
       นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายชาวโอมาน อายุ 71 ปี เดินทางมาพร้อมกับลูกชาย 1 คน  เข้ามาประเทศไทยวันที่ 22 ม.ค. 2559  เมื่อมาถึงสนามบินไม่พบอาการไข้ ทำให้การตรวจสอบจากเครื่องเทอร์โมสแกนค่อนข้างลำบาก ทั้งนี้ ผู้ป่วยได้โดยสารรถแท็กซี่เพื่อมาเช็กอินที่โรงแรม แต่ไม่ได้เข้าพักก็เดินทางต่อมายังโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ทันที ในเวลา 01.30 น. ของวันที่ 23 ม.ค. จากการตรวจสอบของโรงพยาบาล พบว่า ผู้ป่วยมีอาการป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในประเทศโอมานแล้ว 1 สัปดาห์ โดยมีอาการเบาหวานร่วมด้วย แต่ไม่รอผลการตรวจยืนยันก็ออกเดินทางมายังประเทศไทยทันที เนื่องจากเชื่อมั่นในมาตรฐานการรักษาโรคของประเทศไทย โดยไม่ได้แจ้งประสานงานผ่านระบบส่งต่อระหว่างประเทศและสายการบินให้ทราบก่อนว่าตัวเองป่วย โรงพยาบาลจึงได้นำตัวเข้าสู่ห้องแยกโรค และทำการตรวจเลือดครั้งแรกให้ผลเป็นลบ แต่ไม่นิ่งนอนใจจึงได้แจ้งมาที่กรมควบคุมโรค และตรวจซ้ำอีกครั้งพบผลเป็นบวก  ทางสถาบันบำราศนราดูร จึงได้รับตัวมาไว้ที่ห้องแยกโรคของสถาบันบำราศนราดูรเวลา 18.00 น. วันที่ 23  ม.ค.
       
       “อาการล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 มกราคม อาการทรงตัว มีภาวะปอดติดเชื้อต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สามารถรับประทานอาหารได้ และพูดคุยได้ แต่ยังต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ขอประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะมั่นใจว่า ผู้ป่วยเมอร์สรายที่ 2 ของไทยครั้งนี้จะไม่มีการแพร่เชื้อไปยังชุมชน เพราะเราสามารถควบคุมได้แล้ว” นพ.ปิยะสกล กล่าวและว่า ส่วนผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยรายอื่น ๆ จำเป็นต้องติดตาม เพื่อเฝ้าระวังด้วย โดยระยะในการเฝ้าระวังจะอยู่ที่ 14 วันหลังจากสัมผัสผู้ป่วย หากพ้นระยะติดต่อโรคก็ถือว่าปลอดภัย สำหรับผู้สัมผัสโรคที่มีความเสี่ยงสูงมีจำนวน 37 คน เป็นคนไทย 13 คน คือ เจ้าหน้าที่โรงแรม 1 คน คนขับแท็กซี่ 1 คน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 11 คน ส่วนลูกชายของผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงได้ให้อยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร เพื่อติดตามอาการแล้วเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ผู้สัมผัสโรคจะเป็นผู้โดยสารเครื่องบิน นับจากผู้ป่วยนั่งแถวหน้าและแถวหลังไป 2 แถว มีจำนวน 23 คน  แต่ถือว่าโชคดีที่ผู้ป่วยนั่งริมหน้าต่าง โอกาสแพร่เชื้อจึงแคบลง ส่วนผู้โดยสาร และเจ้าหน้าที่บนเครื่องบิน ที่เสี่ยงไม่สูง ไม่ต้องกักตัวไว้
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยทราบก่อนหรือไม่ว่าป่วยด้วยโรคเมอร์ส นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า  ผู้ป่วยทราบ  แต่ไม่ได้แจ้งอะไรกับกัปตันหรือลูกเรือเลย แต่เดินทางเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยต้องการมารักษาที่ไทย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงน่าห่วง สิ่งสำคัญคือไทยจากที่มีระบบเข้มงวดเฝ้าระวังโรคอยู่แล้ว ก็ต้องยิ่งเฝ้าระวังมากขึ้นอีก
       
       นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า ไทยมีบทเรียนจากครั้งที่แล้ว ซึ่งครั้งนี้เราตรวจจับรวดเร็ว และผู้สัมผัสโรคลดลง และขอให้อย่าตื่นตระหนก การแถลงเพื่อให้รับทราบว่าควบคุมได้ ซึ่งเชื้อไม่สามารถออกมาในชุมชนได้  ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกคน ไม่ได้แพร่โรค และไม่ใช่ผู้ป่วย จึงขอให้อย่าตื่นตระหนกมาก
       
       ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า ครั้งนี้เบาใจกว่าคราวที่แล้ว คราวที่แล้วเป็นรายแรกยังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ครั้งนี้ตรวจจับได้ทันที และทราบโรคเป็นอย่างดี ทำให้ทราบว่ามีใครสัมผัสกับคนไข้คนนี้ได้บ้าง ซึ่งก็จะช่วยให้เราควบคุมโรคได้เร็ว ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกลัว แต่คอยตามข่าวว่า กระทรวงได้ดำเนินการไปอย่างไร เพื่อปฏิบัติตัวได้ถูกต้องก็เพียงพอ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยตั้งใจเดินทางเข้ามารับการรักษาที่ประเทศไทยโดยตรง โดยไม่ได้มีการแจ้งประเทศต้นทางเพื่อเข้าสู่ระบบการรับส่งต่อระหว่างประเทศ ถือว่าน่าเป็นห่วง การที่สนามบิน และสายการบินปล่อยให้ผู้โดยสารรายนี้เดินทางออกนอกประเทศได้ถือเป็นความหละหลวมมาก ต่อจากนี้จะต้องมีการประสานแจ้งไปยังสารการบินดังกล่าวเพื่อให้เข้มงวดในระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อให้มากขึ้นตามกฎของสายการบิน และได้มีการแจ้งไปยังประเทศโอมานด้วยเพื่อให้ติดตามผู้สัมผัสโรคภายในประเทศของตัวเอง โชคดีที่ระบบป้องกันโรคภายในของไทยมีความเข้มแข็ง ไม่มีปัญหาจึงสามารถตรวจจับได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเครื่องโมแสกนที่สนามบิน นั้นมีปัญหาไม่สามารถตรวจจับคนที่ไม่มีไข้ได้จึงมี 3 มาตรการในการควบคุม คัดครอง คือ 1. บนเครื่องบิน 2. ด่านตรวจคนเข้าเมือง  และ 3. ชุมชน
       
       ด้าน นพ.ธนกฤต กล่าวว่า ปกติโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จะมีระบบประสานงาน ส่งต่อผู้ป่วยระหว่างประเทศอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยรายล่าสุด ไม่ได้มีการประสานงานมาก่อน แต่เดินเข้ามารับการรักษาเลย แต่เนื่องจากผู้ป่วยเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ จึงได้แยกผู้ป่วยออกมาออกมาอยู่ในห้องแยกโรคก่อน ไม่ให้เข้าไปอยู่ปะปนกับผู้รายอื่น ๆ มีการตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการของโรรงพยาบาลซึ่งให้ผลเป็นลบ แต่เพราะอาการป่วยเข้าได้กับตัวโรค จึงไม่ได้ให้ออกจากห้องแยกโรค ขณะเดียวกัน ก็ได้ส่งเลือดไปตรวจซ้ำที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนได้รับการยืนยันว่าป่วยเป็นโรคเมอร์สจริง
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกของไทย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 เป็นชายชาวโอมานอายุ 75 ปี ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว เกิดการติดเชื้อก่อนเดินทางเข้ามาประเทศไทยพร้อมครอบครัว เพื่อพักผ่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าแล้วทำให้ต้องอยู่ในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข จนร่างกายปลอดเชื้อ เช่นเดียวกับญาติซึ่งต้องเข้าห้องแยกโรคเช่นเดียวกัน ส่วนผู้มีความเสี่ยงสัมผัสโรค อาทิ ผู้ร่วมเดินทางบนเที่ยวบินเดียวกันกับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่โรงแรมที่ผู้ป่วยไปพัก คนขับรถแท็กซี่ที่รับผู้ป่วยขึ้นโดยสารก็ต้องเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังจนพ้นระยะของโรค กระทั่งเมื่อวันที่ กระทระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประกาศว่านั้นประเทศไทยพื้นที่ปลอดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา

โดย MGR Online    24 มกราคม 2559