ผู้เขียน หัวข้อ: ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ-วิพากษ์-ตอนที่ 8-9-10 (พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา)  (อ่าน 1863 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 8 หมวด 3 กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข

มาตรา 20 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข” โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(1)   เพื่อจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาท
(2)   เพื่อชำระเป็นสินไหมทดแทนตามคำพิพากษามาตรา 34 และมาตรา 35
(3)   เป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนหรือส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายตามแผนงานที่คณะกรรมการอนุมัติ และ
(4)   เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยและการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข
คณะกรรมการอาจจัดสรรเงินจากกองทุนที่ได้รับจากเงินที่สถานพยาบาลจ่ายสมทบและเงินที่รัฐบาลอุดหนุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา 16 และมาตรา 18 และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารของสำนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ตามความจำเป็นได้ แต่ไม่เกินร้อยละสิบต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าว
มาตรา 21 สถานพยาบาลต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่กรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้โดยคำนึงถึงขนาดของสถานพยาบาล จำนวนผู้รับบริการสาธารณสุข ความถี่หรือความรุนแรงของการเกิดความเสียหาย การประชาสัมพันธ์และการแจ้งให้ผู้รับบริการสาธารณสุขทราบเกี่ยวกับสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ การประสานงานเพื่อให้ผู้เสียหายหรือทายาทยื่นคำขอรับเงินค่าเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้ การสนับสนุนการไกล่เกลี่ย และการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข และการพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย
   หากสถานพยาบาลไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนหรือส่งภายหลังระยะเวลาที่กำหนดหรือส่งไม่ครบตามจำนวนที่ต้องส่ง ให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่ส่งหรือส่งภายหลังระยะเวลาที่กำหนดหรือจำนวนเงินที่ส่งขาดไป แล้วแต่กรณี นับแต่วันครบกำหนดส่งจนถึงวันที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน
   การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคสอง เศษของเดือนให้คิดเป็นรายวัน
   สถานพยาบาลใดไม่จ่ายเงินสมทบตามวรรคหนึ่ง หรือไม่เสียเงินเพิ่มตามวรรคสอง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับ และในกรณีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการบังคับ ให้อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อบังคับชำระเงินดังกล่าว ในการนี้ถ้าศาลปกครองเห็นว่าการให้ชำระเงินนั้นชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาและบังคับคดีให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อให้ชำระเงินนั้นได้

วิพากษ์ พ.ร.บ.นี้ต้องการเก็บเงินจากสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งคงจะเป็นจำนวนเงินมากมายมหาศาล เพื่อเอามารอจ่ายชดเชยค่าเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้าย เนื่องจากโรงพยาบาลน่าจะเป็นสถานที่ที่ต้องควบคุมและพัฒนาระบบความปลอดภัยอย่างเต็มที่ตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันความเสียหายของประชาชน ซึ่งตามสถิติมีการร้องขอเงินช่วยเหลือเพียง 0.001% แต่ผู้คิดร่างพ.ร.บ.นี้ จะมาเก็บเงินล่วงหน้าในการ “รอจ่ายค่าเสียหายในจำนวน 0.001%% แต่ไม่คิดที่จะให้สถานพยาบาลพัฒนามาตรฐานเพื่อป้องกันความเสียหาย  และยังจะเอามาจ่ายเพื่อชำระสินไหมทดแทนตามคำสั่งศาลอีก
   เป็นการเก็บเงินของคนส่วนมาก มาไว้จ่ายแทนคนส่วนน้อยที่ทำผิดมาตรฐาน ตามที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพคิดไว้เบื้องต้นว่าจะเก็บเงินผู้ป่วยนอกรายละ 5 บาทต่อครั้ง เก็บผู้ป่วนที่นอนในโรงพยาบาลครั้งละ 85 บาท คงจะได้ปีละหลายพันล้านบาท
   
 และเมื่อดูวรรคท้ายของมาตรา 20  จะเห็นได้ว่าผู้ร่างพ.ร.บ.นี้ หวังจะได้ใช้เงิน 10% ของ กองทุน ฉะนั้นคณะกรรมการก็จะมีสิทธิใช้เงินกองทุนถึงปีละหลายร้อยล้านบาท
  การเก็บเงินจากคลินิกและร้านขายยา จะเก็บเท่ากับโรงพยาบาลหรือไม่ เป็นที่น่าสงสัยว่า คลินิก สถานบริการต่างๆเหล่านี้ จะยินยอมให้เก็บเงินล่วงหน้า โดยไม่ผลักภาระต้นทุนให้ประชาชนหรือไม่? เท่ากับว่าประชาชนต้องจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อเตรียมไว้จ่ายเงินกรณีเกิดความเสียหาย ส่วนโรงพยาบาลของรัฐ ก็คงใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนมาจ่ายแทน
   แต่ในปัจจุบันนี้ งบประมาณที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ “ติดลบ” อยู่หลายโรงพยาบาลแล้ว น่ากลัวว่าโรงพยาบาลรัฐบาล คงจะต้องประหยัด โดยการลดการจ่ายเงิน ค่ายา ค่ารักษาผู้ป่วย รวมทั้งลด เงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ลดจำนวนบุคลากร อีก เป็นแน่ หรือยอมเข้าสู่สถานการณ์ของการล้มละลายแน่นอน
แต่ในส่วนของมาตรา 21 นั้น การบังคับสถานพยาบาลให้ส่งเงินและวิธีการปรับ ไปลอกเลียนแบบมาจากพระราชบัญญัติการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่บังคับเก็บเงินจากภาษีเหล้า บุหรี่ ที่ถือว่าเป็นภาษีบาป  (Sin Tax) เนื่องจากก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
ฉะนั้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการร่างพ.ร.บ.นี้และผู้ผลักดันพ.ร.บ.นี้ มีความคิดว่า สถานพยาบาลนั้นเป็นสถานที่ “ทำบาป” และทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ เหมือนเหล้าและบุหรี่ เช่นเดียวกัน

 อัตราการเก็บเงินสมทบ ก็มีข้อพิจารณากำหนดหลายอย่างมาก คณะกรรมการคงจะปวดหัวน่าดู ในการกำหนดอัตราการเก็บเงินจากแต่ละสถานพยาบาล และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลก็คงจะต้องมีการร้องเรียนหรือฟ้องร้องคณะกรรมการ ในการกำหนดอัตราการเก็บเงินที่ไม่เท่ากัน
และสถานพยาบาลอาจจะไม่ยอมจ่ายเงิน รอให้อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ไปดำเนินการตามกฎหมายเอาเอง
 และพ.ร.บ.นี้ ยังไปก้าวก่ายอำนาจศาลปกครอง ให้มาตัดสินคดีเกี่ยวกับการเงินอีกด้วย
...
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล)ตอนที่ 9 หมวด 3 (ต่อ)กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข   

มาตรา 22 กองทุนประกอบด้วย
(1)เงินที่โอนมาจากเงินตามมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ฝนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(2) เงินที่สถานพยาบาลจ่ายสมทบ
(3) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(4) เงินเพิ่มตามมาตรา 21 วรรคสอง
(5) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้กองทุน
(6) ดอกผลหรือประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
   เงินและทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไม่ต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
ในการเสนอขอรับเงินอุดหนุนตามวรรคหนึ่ง (3 ) ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการจัดทำคำขอต่อคณะรัฐมนตรี

มาตรา 23 ให้สำนักงานเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุนและดำเนินการเบิกจ่ายกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้
   การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการบริหารกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา 24 ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ให้คณะกรรมการเสนองบการเงินและรายการการรับจ่ายเงินของกองทุนในปีที่ล่วงมาซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและรับรองแล้วต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
งบการเงินและรายงานการรับจ่ายเงินดังกล่าว ให้รัฐมนตรีเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ และจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

วิพากษ์ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41นั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีงบประมาณ 1% ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แต่เนื่องจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ให้สิทธิการบริการสาธารณสุขฟรีแก่ประชาชนเพียง 47 ล้านคนเท่านั้น ทำให้เกิดความกังขาว่า รัฐบาลเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
   คือก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข ทำไมจึงให้สวัสดิการแก่ประชาชนเพียง 47 ล้านคน
  และเมือเกิดความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ก็ให้ความช่วยเหลือเพียง 47 ล้านคน
   ส่วนประชาชนที่เหลืออีกจาก 47 ล้านคนนั้น ทำไมจึงไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือตามมาตรา 41 โดยกลุ่มผู้ประกันตนอีกประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ที่ “ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐบาล” ในการที่ต้องจ่ายเงินของตนเอง 5% ของเงินค่าจ้าง โดยจ่ายสมทบเท่าๆกับนายจ้าง และรัฐบาลจ่ายเพียง 2.75 % เข้าสู่กองทุนประกันสังคม ผู้ประกันตนเหล่านี้จึงจะได้รับบริการสาธารณสุข และบริการนี้ก็ไม่ครอบคลุมกว้างขวางเท่ากับบริการในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ
  การกำหนดเช่นนี้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสิทธิการรับบริการสุขภาพและผู้ประกันตน ยังไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเมื่อเกิดความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เหมือนกลุ่มประชาชนอีก 47 ล้านคน
  ส่วนบรรดาข้าราชการและครอบครัวนั้น ยอมเสียสิทธิในการได้รับเงินเดือนสูงเหมือนกับการทำงานในภาคเอกชน จึงมีสิทธิได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่มีความครอบคลุมน้อยกว่าสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเมื่อเกิดความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข รัฐบาลก็ไม่ได้ให้การช่วยเหลือ เหมือนประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพเช่นเดียวกัน
  ในเรื่องนี้นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกมาบอกว่าไม่สามารถขยายความครอบคลุมมาถึงประชาชนกลุ่มอื่นได้ เพราะผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
   จึงเกิดคำถามว่า  แล้วทำไมจึงไม่คิดแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ขยายความครอบคลุมไปถึงประชาชนทุกคน ในการที่จะได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม และได้รับการช่วยเหลือเมื่อเกิดความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเช่นเดียวกันด้วย
ทั้งนี้รัฐบาลก็ได้ยื่นแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ่วงเข้าไปกับการเสนอพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฯ แต่แก้เฉพาะการยุติบทบาทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในมาตรา 41 และให้โอนเงินมาให้คณะกรรมการในพระราชบัญญัตินี้แทน
   รัฐบาลก็ควรจะแก้ไขในมาตราอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม (เหมือนที่รัฐบาลอ้างว่าอยากจะทำอยู่ในขณะนี้)
   อนึ่ง ประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรา 41 นี้ ร้องว่าเงินที่ได้รับน้อยเกินไป ไม่พอที่จะเลี้ยงชีวิตได้ในระยะเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่
  สปสช.ก็ควรเพิ่มอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากระบบบริการสาธารณสุขให้มากขึ้น เพราปัจจุบันจ่ายเงินสูงสุดเพียงรายละ200.000 บาท(สองแสนบาท)เท่านั้น ในขณะที่เงินในกองทุนตามมาตรา 41 ก็ยังมีเหลืออยู่อีกมาก
จากสถิติการจ่ายเงินพบว่าจ่ายไปเพียงปีละไม่ถึง 100 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนนี้มีเงินปีละแปดร้อยล้านบาทและเพิ่มขึ้นถึงปีละมากกว่าหนึ่งพันล้านบาทแล้ว
 และในมาตรา 22 (3) ก็ไม่ได้กำหนดว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบอีกเท่าไร
จำนวนเงินที่คาดว่ามีมากตามเงินงบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวใน พ.ร.บ.หลักประกั นสุขภาพแห่งชาตินี้เอง และเงินที่จะเรียกเก็บจากสถานพยาบาลอีกมาก
 
จึงอาจจะทำให้ผู้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับ บริการสาธารณสุข ที่จะมาเป็นผู้ควบคุมสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ ฝันหวานว่าจะมีเงินผ่านมาให้"บริหาร"ปีละหลายร้อยล้านบาท หรือหลายพันล้านบาท
 
ที่ได้ทำให้นพ.ไพจิต วราชิตกล่าวกับกลุ่มผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขว่า "อยากได้" เอามา "บริหาร"เอง
 
เพราะหวังว่า นอกจากกองทุนจะได้มาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลแล้ว จะมีเงินเพิ่มมาอีกมากมายมหาศาลจากการ "เรียกเก็บ" จากสถานพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ที่จะออกระเบียบการ เรียกเก็บเงินต่อไป
โดยผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของ การเขียนร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่คำนึงถึงว่า ประชาชนเสี่ยงต่อ "ความเสียหายเพราะอะไร" 
 
 และไม่คำนึงถึงว่าบุคลากรที่ต้องทำงานตรวจรักษาประชาชน จะมีความเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน/ฟ้องร้องอย่างไร? 
 
และตนเอง ในฐานะปลัดกระทรวงควรแก้ไขอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน และบุคลากรสาธารณสุขทั่วไป ให้สมกับที่เป็นปลัดกระทรวง เป็นผู้บริหารสูงสุดในกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายข้าราชการประจำ  แต่ปลัดกระทรวงมีแต่จะทำทุกวิถีทาง เพื่อจะหาทางเข้ามา  "บริหารเงินกองทุน"  ตามพระราชบัญญัตินี้  โดยการพยายามผลักดันให้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... เข้าสภาให้ได้ 
  แม้จะบิดเบือนความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ของกระทรวงสธ. ก็ทำมาแล้ว  โดยไม่สนใจในการพัฒนาระบบมาตรฐานและความปลอดภัยของโรงพยาบาลเลย
...
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 10 หมวด 4 การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย

มาตรา 25 ผู้เสียหายอาจยื่นคำขอรับเงินค่าเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้ต่อสำนักงานหรือหน่วยงานหรือองค์กรที่สำนักงานกำหนด ภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ให้บริการสาธารณสุขซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย
   ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ชีวิต เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเองได้ บิดามารดา คู่สมรส ทายาท หรือผู้อนุบาล หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งได้
   การยื่นคำขอตามมาตรานี้จะกระทำด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ทั้งนี้ ตามวิธีการ รูปแบบ และรายละเอียดที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ

วิพากษ์ การกำหนดในวรรคหนึ่งเป็นการขยายอายุความทางแพ่ง และการต้องรู้ตัวผู้ทำให้เกิดความเสียหาย จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ถูกร้องเรียน/ฟ้องร้องมากขึ้น

ส่วนการกำหนดว่า ให้ผู้เสียหายสามารถทำหนังสือมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดยื่นคำขอรับเงินค่าเสียหายแทนได้ จะทำให้มีบุคคลบางพวก มาคอยเสนอทำคำขอเงินชดเชยอยู่ใต้ถุนโรงพยาบาลอย่างแน่นอน  เพราะคงมีคนที่อยากจะได้ส่วนแบ่ง “เงินค่าช่วยเหลือและชดเชย”  มาอย่างง่ายๆ เพียงไปคอยช่วย “ผู้ป่วยและญาติ” เขียน “คำขอรับเงินค่าเสียหาย” โดยมีส่วนแบ่งหลังจากได้รับเงินแล้ว
จะมีการร้องเรียนเพิ่มขึ้น ไม่มีทางที่จะลดลงได้เลย

มาตรา 26 เมื่อมีการยื่นคำขอตามมาตรา 25 ภายในอายุความทางแพ่งในมูลละเมิดอันเนื่องมาจากการให้บริการสาธารณสุขแล้ว ให้อายุความนั้นสะดุดหยุดอยู่ ไม่นับในระหว่างนั้นจนกว่าการพิจารณาคำขอเงินชดเชยนั้นจะถึงที่สุดหรือมีการยุติการพิจารณาคำขอตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง

วิพากษ์ การกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ หมายความว่า เมื่อประชาชนต้องการไปฟ้องศาล ก็สามารถเริ่มนับอายุความใหม่ทันที เป็นการทำให้อายุความในการร้องขอเงินช่วยเหลือและชดเชยมากขึ้น

มาตรา 27 ให้สำนักงานหรือหน่วยงานหรือองค์กรที่สำนักงานกำหนดแล้วแต่กรณี ส่งคำขอตามมาตรา 25 ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ และให้คณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นวินิจฉัยคำขอให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ หากคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นเห็นว่าเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 5 และไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 6 ให้วินิจฉัยจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาท
   ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ด้วย หากการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ขยายดังกล่าว ให้ถือว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นวินิจฉัยจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาท
   คำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่วินิจฉัยจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้เป็นที่สุด   

วิพากษ์ คณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่น่าจะมีความรู้ทางการแพทย์พอที่จะสามารถตัดสินว่า ความเสียหายของประชาชนนั้นไม่อยู่ในมาตรา 6 จึงเห็นว่า การตัดสินของคณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่น่าจะถูกต้องเหมาะสมและไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคลากรทางการแพทย์หรือสถานพยาบาล
  ถือว่าบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.นี้
  ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ ถ้าคณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่สามารถจะวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด กลับหมายความว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นมีคำวินิจฉัยให้จ่ายเงิน ซึ่งเป็นความลำเอียงของผู้ร่างพ.ร.บ.นี้โดยแท้จริง แทนที่จะลงโทษคณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่ไม่สามารถทำงานให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด กลับจ่ายเงินเลยโดยไม่สนใจการวินิจฉัยของคะกรรมการ
  แสดงว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่การทำงานของตนเอง ในการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือ แสดงว่า ไม่ต้องมีคณะอนุกรรมการชุดนี้ก็ได้ ใครยื่นคำขอมาก็ส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาประเมินเงินชดเชยได้เลย เพื่อจ่ายเงินให้แก่ผู้ยื่นคำร้องขอเงินทุกคน

มาตรา 28 หากคณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นมีคำวินิจฉัยไม่รับคำขอ ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยเร็ว ในการนี้ ผู้ยื่นคำขออาจเสนอข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ก็ได้
ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องอุทธรณ์ ถ้ายังพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวัน
   เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์รับคำขอ ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณากำหนดเงินช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

วิพากษ์ แต่ในมาตรานี้ การวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น อาจไม่สำคัญอะไร  ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะถ้าคณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นวินิจฉัยว่าไม่ต้องจ่ายเงินตามคำขอ ก็จะต้องส่งคำขอไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาต่อทันที เท่ากับว่าความเห็นของ คณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่มีความสำคัญอะไร และไม่อาจเชื่อถือได้ ในกรณีที่ไม่อนุมัติการช่วยเหลือ
ในมาตรานี้ ยังให้อำนาจคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณากำหนดจำนวนเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยไม่ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการประเมินเงินชดเชยดำเนินการต่อเลย
และเป็นที่น่าสังเกตว่า กำหนดไว้ในมาตรา 27และ28 ว่า คำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ถือเป็นที่สุด
ดังนั้น ถ้าบุคลากรทางการแพทย์หรือสถานพยาบาลไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรม การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และ/หรือ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ จะมีช่องทางเดียวเท่านั้นที่จะคัดค้านการวินิจฉัยเหล่านี้ โดยการนำคดีไปฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งของทั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะเพิกถอนคำสั่งนี้ได้
  จึงเห็นได้ว่า การร้องเรียน และฟ้องร้องต่างๆ ไม่มีทางที่จะลดลงได้ตามการอ้างไว้ในหลักการและเหตุผลที่จะต้องตราพระราชบัญญัตินี้แต่ประการใด
  จึงเห็นได้ว่า การร้องเรียนและฟ้องร้องต่างๆ ไม่มีทางที่จะลดลงได้ตามการอ้างไว้ในหลักการและเหตุผลที่จะต้องตราพระราชบัญญัตินี้แต่ประการใด
...................................................................................................