กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: [1] 2 3 ... 10
1
ญาติเปิดศึกแย่งศพกันกลางโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ถึงขั้นถอยรถชนกัน และชกต่อยกันตัว

กล้องหลังรถกู้ภัยบันทึกเหตุการณ์ ที่โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ขณะรถกระบะ สีขาว จอดรับศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว มีญาติๆ ยืนรออยู่รอบรถ จู่ๆ ก็มีรถกระบะ สีดำ ขับเข้ามาจอด ก่อนที่ชายฉกรรจ์ร่างสูงใหญ่จะลงจากรถ และพูดอะไรบางอย่างกับกลุ่มญาติๆ ที่รอรับศพอยู่ จากนั้นชายคนดังกล่าวกลับขึ้นรถแล้วขับออกไป ก่อนจะถอยหลังมาชนรถกระบะ สีขาว อย่างแรง เสียงดังสนั่น ส่วนชายคนขับเปิดประตูรถวิ่งหนีไปตั้งหลัก ท่ามกลางความไม่พอใจของญาติผู้เสียชีวิต ที่ตามไปเอาเรื่อง

เหตุการณ์นี้มีชาวบ้านถ่ายคลิปเอาไว้ด้วย เป็นเหตุการณ์หลังจากรถกระบะ สีดำ ถอยมาชนรถกระบะ สีขาว ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตบนท้ายกระบะกระโดดลงมา ส่วนคนขับรถกระบะ สีดำ พยายามเข้ามาทำร้ายอีกฝั่ง แต่มีคนจับตัวเอาไว้
มีรายงานว่าทั้งสองฝั่งต่างมีความเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต คือ เป็นลูกเมียคนที่ 1 กับเมียคนที่ 2 ขณะที่ญาติฝ่ายเมียคนแรกรับศพไว้บนท้ายกระบะ เพื่อนำกลับไปตั้งศพบำเพ็ญกุศล ลูกเมียคนที่สองก็ขับรถกระบะ สีดำ มาขวาง ไม่ให้รับศพ ขณะนี้ตำรวจได้คุมตัวทั้งสองฝ่ายไปเจรจากันที่ สภ.เมืองนครศรีธรรมราช

Amarin TV News
24พค2567
2
สธ. ร่วม 16 มหาวิทยาลัยผลิตหมอเข้าสู่ระบบสุขภาพ ตั้งเป้า 10 ปี ปั้นแพทย์ปีละ 5 พันคน

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่างสธ. กับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง ประกอบด้วย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น จุฬาฯ ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.พะเยา ม.มหาสารคาม ม.มหิดล ม.วลัยลักษณ์ ม.สงขลานครินทร์ ม.อุบลราชธานีและ สถาบันพระบรมราชชนก

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ. โดยสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ เข้าสู่ระบบและกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง และมีรพ.ของสธ.ที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รองรับการฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 จำนวน 39 แห่ง ผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบแล้ว 13,780 คน ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้ยังคงอยู่ในระบบ 77% การลงนามครั้งนี้เป็นการขยายกรอบความร่วมมือทั้งด้านการศึกษา การผลิตบุคลากรสาธารณสุข การวิจัยเพิ่มมากขึ้น รองรับโยบายรัฐบาลในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และอีกส่วนสำคัญคือรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ( Medical Hub) ซึ่งต้องมีบุคลากรทางการแพทย์รองรับเพิ่มมากขึ้น

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมเรามีแพทย์อยู่ประมาณ 50,000 คน อยู่ในสังกัดสธ. 25,000 คน ที่เหลือ 20-30% อยู่ที่ภาครัฐโดยเฉพาะมหาวิทยารัฐ และหน่วยความมั่นคง อีก 20% อยู่ในภาคเอกชน หากเทียบหลายปีก่อนถือว่าไม่ขาดแคลน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งการผลิตแพทย์ 1 คนสามารถสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้หลายสิบหลายร้อยล้าน ทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ภาพรวมทั้งประเทศโรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 3,500 คน โดยแต่ละปีสธ.ร่วมผลิตในชั้นคลินิกประมาณ 2,000 คน  อย่างไรก็ตามขณะนี้สธ.กำลังจัดทำร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นไกด์ไลน์ในการพัฒนากำลังคน เดิมเรามองแต่บริบทการผลิตบุคลากรสาธารณสุขตอบสนองเฉพาะประชาชนในประเทศ  แต่บริบทใหม่จะต้องตอบสนองบริการทางการแพทย์ที่เป็นคนต่างชาติมากขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์หลายระดับมากขึ้นโดยความร่วมมือกับทุกหน่วย โดยเฉพาะแพทย์ที่ตั้งเป้าช่วง 6-10 ปีจากนี้จะต้องผลิตให้ได้ปีละ 5,000 คน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ รวมถึงรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย


24 พฤษภาคม 2567
มติชน
3
เป็นหนึ่ง พาผู้เสียหาย “ทำนมอักเสบ” เอาผิดคลินิกศัลยกรรมไม่ได้มาตรฐาน ปล่อยคนไม่ใช่หมอมาดูแล-เด็กวิ่งเล่นในห้องผ่าตัด

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลนิธิเป็นหนึ่ง ได้พานางสาวเอ (นามสมมติ) ผู้เสียหายจากคลีนิคศัลยกรรมหน้าอกอักเสบ เข้าร้องเรียนต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ตรวจสอบ ดำเนินการกับคลินิกเอกชนซึ่งเป็นผู้ให้บริการกับนางสาวเอ (นามสมมติ) จนเกิดปัญหาหน้าอกอักเสบ และเมื่อมีการนัดหมายเพื่อรักษากลับให้ผู้ช่วยแพทย์เป็นคนทำให้ จนสุดท้ายเกิดปัญหาแผลอักเสบ ติดเชื้อโดยมีนายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และนายชาตรี พินใย ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นผู้รับมอบ พร้อมทั้งเชิญผู้เสียหายเข้าไปพูดคุย รับฟังปัญหาในห้องรับรอง

นายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า เรื่องนี้ตนจะดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ให้ป่วยถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ การให้บริการด้านความงาม หมอหนึ่งคนต้องดูแลคนไข้ 1 เคส ไม่ใช่หมอหนึ่งคนดูแลคนไข้เป็นสิบๆ เคส เก็บค่าคอร์สราคาแพงๆแต่กลับให้ผู้ช่วยเป็นคนมาดำเนินการ แบบนี้ถือเป็นการเอาเปรียบกันเกินไป พวกนี้เห็นแก่เงินเยอะไป ไม่เห็นแก่ความเป็นมนุษย์เลย เป็นการเอาเปรียบและทำให้ผู้ป่วยได้ความทุกข์ทรมานกลับมาเป็นของแถม เคสนี้ตนคุย กองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุชภาพ (สบส.) เห็นว่าเป็นความผิดชัด จากนี้ต้องมีการลงไปตรวจสอบอย่างชัดเจนอีกครั้ง ว่าผู้ที่ทำหัตถการเป็นแพทย์จริงหรือไม่ สถานบริการได้รับอนุญาตหรือไม่ ใครเป็นเจ้าของคนไข้ ให้การรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ เรื่องนี้มีโทษอาญาแน่นอน

“ดังนั้นผมขอฝากเตือนหมอกระเป๋าเตรียมตัวไว้ให้ดี เราได้เจอกันแน่ๆ คนที่ทำให้สังคมเดือดร้อน ผมไม่ปล่อยไว้ คนที่มาแสดงว่ามีอิทธิ์ฤทธิ์รักษาคนไข้ ก็ให้เตรียมตัวให้ดี” นายกองตรี ธนกฤต กล่าว

นายกองตรี ธนกฤต กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ของฝากเตือนไปยังประชาชน ที่จะเข้ารับบริการ ทางการแพทย์นั้นขอให้ตรวจสอบว่าสถานพยาบาลนั้นได้รับอนุญาตถูกต้อง ตาม พรบสถานพยาบาลหรือไม่ ซึ่งหากเขาไปแล้วภายในคลินิกก็จะมีป้ายบอกว่าบุคคลที่ทำการรักษานั้นจะ ระบุว่าผู้รักษาเป็นแพทย์หรือไม่ ทั้งนี้ขอฝากคลินิกเสริมความงามคลินิกศัลยกรรมทั้งหลายซึ่งเครื่องมือทั้งหลายที่ต้องใช้ คนที่จะใช้ได้จะต้องเป็นแพทย์เท่านั้น หากคนที่ไม่ใช่แม่ไปใช้เครื่องมือเหล่านี้จะถือว่าทำผิดกฎหมาย ตอนนี้จะมีการเข้มงวดในการกวดขันตรวจตราสถานพยาบาลให้มากขึ้นเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนในการเข้ารับบริการ

ด้านผู้เสียหาย กล่าวว่า รู้จักคลินิกนี้มาจากเพื่อนจึงได้ทำการจองคิวผ่านเพจและจ่ายเงินมัดจำไป เมื่อถึงวันนัดจริงก็ไม่ได้มีการให้พบแพทย์แต่อย่างใด กลับให้ขึ้นเตียงพร้อมผ่าตัดหน้าอกทันที อีกทั้งมีการปล่อยให้เด็กเข้ามาวิ่งเล่นตลอดการผ่าตัด หลังการผ่าตัดผู้เสียหายก็ขอให้มีการใส่สายเดนระบายเลือดและน้ำเหลืองออก และตัดสินใจพักโรงแรมที่ใกล้บริเวณเป็นเวลา 6 วัน เนื่องจากหมอเตือนว่าไม่ให้ขับรถในระยะทางไกล ต่อมาเมื่อนำสายเดนออกก็พบว่ายังมีเลือดและน้ำเหลืองอยู่ จึงตัดสินใจเดินทางไปหาหมออีกครั้ง พบว่ามีการติดเชื้อ ทางคลินิกก็ให้บุคลากรที่ไม่ใช่หมอ เป็นคนมาเอาซิลิโคนออก และทำการล้างทำความสะอาด ก่อนที่จะให้คุณหมอนำซิลิโคนกลับเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีการปิดปากแผล และยังมีเลือดซึมออก พบว่าเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด ล่าสุด ผู้เสียหายยังคงมีอาการปวดเนื่องจากบาดแผลยังถูกเย็บกลับให้ดี วันนี้จึงเดินทางเข้ามาที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร้องให้มีการตรวจสอบมาตรฐานของคลินิก รวมไปถึงให้การช่วยเหลือผู้เสียหายทั้งในเคสนี้และเคสของเพื่อนผู้เสียหายที่มีอาการเช่นเดียวกัน

23 พค 2567
มติชน
4
ประเทศไทยเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”​ (Aged Society) ไปแล้วในปี 2566 ซึ่งข้อมูลอัพเดต ณ สิ้นปี 2566 ไทยมีประชากรสูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 13,064,929 คน คิดเป็นสัดส่วน 20.08% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ตรงตามนิยาม “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”​ ซึ่งหมายถึงมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วน 20% ขึ้นไป

ปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมสูงวัยที่น่ากังวล คือ ผู้สูงวัยจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ตัวคนเดียว หรืออาศัยอยู่ในบ้านที่มีเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างเลี่ยงได้ยากที่พวกเขาจะกลายเป็น “ผู้สูงวัยที่มีความเปราะบาง” ทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม อีกทั้ง มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะมีจุดจบเป็นการ “เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว” ซึ่งตามนิยามคือ เสียชีวิตโดยไม่มีใครรู้ใครเห็นเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนจะมีการพบศพ หรือสำหรับหลาย ๆ คน อาจจะผ่านไปนานเป็นปีหรือหลายปีก็ยังไม่มีใครทราบว่าเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว

ปรากฏการณ์เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไม่มีใครพบเห็น เกิดขึ้นมากในสังคมที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเพราะมีวัฒนธรรมชอบอยู่ตัวคนเดียว หรือเพราะไม่มีครอบครัวหรือมีครอบครัวแต่ถูกคนในครอบครัวทอดทิ้ง

ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในญี่ปุ่นเกิดปรากฏการณ์ผู้สูงอายุเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวปีละจำนวนมากต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่า “โคโดคุชิ” (Kodokushi)

ล่าสุด มีข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น (NPA) พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ในประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ที่อาศัยอยู่เพียงลำพังเสียชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยวจำนวน 17,034 ราย และคาดว่าทั้งปี 2567 นี้ จะมีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพังเสียชีวิตรวม 68,000 ราย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในสัดส่วนที่สูง

เมื่อเห็นข้อมูลของญี่ปุ่นแล้วหันมามองดูประเทศไทยเราเองว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ก็พบว่า สถานการณ์ของไทยเราก็น่าห่วงเช่นกัน เพราะไทยมีประชากรผู้สูงวัยกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอยู่มากกว่า 1.3 ล้านคน

กลุ่มเสี่ยงกลุ่มหลัก คือ “ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง” ณ สิ้นปี 2566 มีจำนวน 1,348,397 คน คิดเป็นสัดส่วน 10.32% ของผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศไทย สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2563 ซึ่งมีสัดส่วน 7.3% ของผู้สูงอายุทั้งหมด

อีกกลุ่มที่เสี่ยง คือ “ผู้สูงอายุที่ดูแลกันเอง” หรืออยู่ในครัวเรือนที่มีเพียงผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสามีกับภรรยา ณ สิ้นปี 2566 มีอยู่จำนวน 610,405 คน คิดเป็นสัดส่วน 4.67% ของผู้สูงอายุทั้งหมด สัดส่วนลดลงจากปี 2563 ที่มีสัดส่วน 5.9%

ในกลุ่ม “ผู้สูงอายุที่ดูแลกันเอง” นี้ หากผู้สูงอายุในบ้านเสียชีวิตไปจนเหลือผู้สูงอายุคนสุดท้ายของบ้าน ผู้สูงอายุที่มีชีวิตอยู่คนสุดท้ายก็เสี่ยงที่จะขยับไปเป็นกลุ่ม “ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง” ดังจะเห็นได้ว่า สัดส่วนผู้สูงอายุที่ดูแลกันเองในปี 2566 ลดลงจากสัดส่วนในปี 2563 การลดลงตรงนี้สะท้อนว่ามีคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตไป ทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า ปลายทางของผู้สูงอายุในกลุ่ม “ผู้สูงอายุที่ดูแลกันเอง” จำนวนหนึ่ง ก็อาจจะเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ถ้านับจำนวนคนที่เสี่ยงในกลุ่มนี้ด้วย ตัวเลขก็น่าจะมากกว่า 1.5 ล้านคน

มีข้อมูลเชิงสถิติเผยให้เห็นว่า ผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยตามลำพังคนเดียว และผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังกับคู่สมรสเท่านั้น มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

งานวิจัยเรื่อง “การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือนซึ่งมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลายในสังคมไทย เพื่อประเมินความเข้มแข็งและความต้องการสนับสนุนของครัวเรือน” จัดทำโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ในปี 2513 ผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยตามลำพังคนเดียวมีสัดส่วน 3.7% ของผู้สูงอายุทั้งหมด ในขณะที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพังกับคู่สมรสเท่านั้นมีสัดส่วน 6.3% ต่อมาในปี 2550 สัดส่วนเพิ่มเป็น 8.4% และ 10.8% ตามลำดับ พอมาถึงปี 2560 สัดส่วนเพิ่มขึ้นไปเป็น 16.3% และ 20.8% ตามลำดับ

ข้อมูลจากรายงานยังเผยให้เห็นด้วยว่า ผู้สูงอายุในเขตเมืองอาศัยอยู่คนเดียวมากกว่าผู้สูงอายุในเขตชนบท ส่วนภูมิภาคที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวหรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพังกับคู่สมรสโดยไม่มีลูกหลานอยู่ด้วยมากที่สุด คือ ภาคเหนือ

ทั้งนี้ แม้ว่าการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไม่มีผู้พบเห็นจะเป็นภาพที่ชวนหดหู่ใจมากก็ตาม แต่สำหรับตัวผู้สูงอายุเอง ทั้งที่อาศัยอยู่ตามลำพังและที่มีเพียงคู่สมรสหรือพี่น้องที่เป็นผู้สูงอายุดูแลกันเองนั้น การดำรงชีพระหว่างทางที่พวกเขามีชีวิตอยู่นั้นน่าห่วงยิ่งกว่าการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เพราะระหว่างที่มีชีวิตอยู่ พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากทั้งด้านร่างกายและเศรษฐกิจ เนื่องจากสมรรถภาพร่างกายเสื่อมถอยไปตามวัย ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันและดูแลปรนนิบัติตนเองได้เหมือนตอนอายุน้อย อีกทั้ง ความสามารถในการหารายได้ก็เสื่อมถอยไปด้วย และเมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา ก็จะกลายเป็นทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาทางการเงินไปพร้อมกัน

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังคนเดียวหรืออาศัยอยู่เฉพาะกับผู้สูงอายุด้วยกันนั้นต้องการการดูแลทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ซึ่งหากประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ทั้งหมดนี้ได้ดีพอ ก็น่าจะคาดหวังได้ว่าผู้สูงอายุในไทยคงไม่ถูกปล่อยให้ “ตายอย่างโดดเดี่ยว” เป็นจำนวนมากนัก แต่คำถามคือ ไทยจะตอบโจทย์ที่ว่านี้ได้สำเร็จหรือไม่ ?

(ญี่ปุ่นพบผู้สูงวัยตายอย่างโดดเดี่ยวกว่า 17,000 ราย ใน 3 เดือนแรกของปี 2024)

https://www.prachachat.net
22พค2567
5
คติธรรม
เนื่องในวันวิสาขบูชา
๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๗

ดิถีวิสาขบูชา คล้ายดิถีประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เวียนมาบรรจบอีก
คำรบหนึ่ง ควรที่พุทธบริษัททั้งหลาย จักได้พร้อมเพรียงกันบำเพ็ญบุญกิริยา กระทำสักการบูชาพระรัตนตรัยเป็นกรณีพิเศษ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงถึงพร้อมด้วยพระบริสุทธิคุณ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง และทรงถึง
พร้อมด้วยพระมหากรุณาคุณ สั่งสอนเวไนยสัตว์ให้บรรลุถึงสุขประโยชน์ ตามควรแก่ธัมมานุธัมมปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ก็ด้วย
พระปัญญาคุณ จึงควรที่สาธุชนทั้งหลาย จักได้มุ่งมั่นเจริญ "ไตรสิกขา" ตามรอยพระบาทของพระบรมศาสดา
เพื่อความสมบูรณ์พร้อมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา บนวิถีแห่งอริยมรรค ขอจงอย่าประมาทมัวเมา เผลอปล่อยเวลา
ในชีวิตให้ล่วงผ่านไปเปล่าดาย โดยปราศจากการอบรมเจริญไตรสิกขา หากแต่ควรตระหนักไว้เสมอว่าชีวิตมนุษย์
เป็นของน้อย มรณภัยอาจมาถึงได้ทุกขณะ ไม่จำกัดเฉพาะแต่เมื่อถึงวัยแก่เฆ่าแต่เท่านั้น ถ้าปล่อยขณะให้ผ่านไป
โดยปราศจากศีล สมาธิ และปัญญา ชีวิตนี้ก็นับว่าไร้ค่า น่าเสียดาย เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตาย หรือการเจริญ
"มรณัสสติ" จึงนับเป็นมงคล เป็นเหตุนำมาซึ่งความเจริญ มิใช่เรื่องน่าหดหู่เศร้าหมอง หากแต่เป็นเครื่องช่วยระงับ
ความโลภ ความโกรธ และความหลงให้สงบลง ทั้งยังช่วยปลุกเร้าจิตใจให้เบิกบานหาญกล้าที่จะบำเพ็ญคุณความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อบุคคลรู้จักปล่อยวางจากการยึดถือสิ่งทั้งปวงว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา บุคคลนั้นย่อมประสบสันติในใจตนเอง และย่อมแผ่ขยายอานุภาพ ไปเกื้อกูลสันติภาพในครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติได้ต่อไป

ดิถีวิสาขบูชาปีนี้ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ตั้งปณิธานให้แน่วแน่ ในอันที่จะพัฒนาตนเองตามหลัก
ไตรสิกขา ให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเปิดโอกาสให้สันติสุขที่แท้จริง มาสถิตในจิตใจตน
และในสังคม สมด้วยพระพุทธานุศาสนีที่ว่า "กาลทั้งหลาย ย่อมล่วงไป ราตรีทั้งหลาย ย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย
ย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด"


จิริ ติฏธตุ สทฺธมโม ธมฺเม โหนตุ สคารวา. ขอพระสัทธรรมจงดำรงคงมั่นอยู่ตลอดกาลนาน และขอสาธุชน
ทั้งหลาย จงมีความเคารพในพระธรรมนั้น เทอญ.

(สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
6
“หมอธีระวัฒน์” แฉองค์การอนามัยโลกพยายามควบคุมทุกอย่างในการตัดสินภาวะฉุกเฉิน แล้วกำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกทำตามโดยเคร่งครัด ไม่สามารถทำเองคิดเองได้ ย้อนถามจุดยืนประเทศไทย ฝรั่งว่ายังไงต้องว่าตามหรือไม่ ยกตัวอย่างผลกระทบจากวัคซีนโควิดที่อ้างว่ามีน้อยมาก แต่สถาบันที่ไม่มีอคติกลับรายงานตรงกันข้าม

วันนี้(22 พ.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ว่า ประเด็นขององค์การอนามัยโลกและยึดโยงลงเกี่ยวข้องกับประเทศไทยในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วลากมาปัจจุบันและที่คนไทยจะเจออะไรในอนาคต

โดยที่องค์การจะทำการควบคุมทุกอย่าง ในการตัดสินภาวะฉุกเฉินและสามารถกำหนดให้ประเทศภาคีต้องปฏิบัติตามทั้งในด้านยา ผลิตภัณฑ์ ชนิดของวัคซีน และทั้งหลายทั้งปวงโดยเคร่งครัด บิดพริ้วไม่ได้ ไม่สามารถคิดเองทำเองได้โดยเด็ดขาด และสามารถปิดกั้นข้อมูลที่ไม่สอดคล้องได้อย่างสมบูรณ์ทั้งโลกเป็นเรียลไทม์

ไทยก็เป็นประเทศหนึ่งในภาคีเครือข่าย เนื้อหา บทกำหนดใหม่นั้น มีการตกแต่งต่อเติม อ่านแล้วงงงวย สรุปคือ ถ้ายอมตามก็เป็นไปตามนั้น และองค์กรถ้าทำผิดพลาดจะไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งฟังดูคุ้นๆ ให้ประเทศรับผิดชอบกันเอง

ควรหรือไม่ควรที่จะมีการถามจุดยืนของประเทศไทย หรือจะทำอย่างที่ทำมาตลอด ฝรั่งว่าดีถึงจะทำ ถ้าคำแนะนำอะไรของฝรั่งถือว่าดีที่สุด สมาคมราชวิทยาลัยต่างประเทศ ว่าอย่างไรต้องทำตาม ไม่มีใครเคยฉุกคิดว่า ข้อมูลที่ปรากฏผลที่ประมวลมีการตั้งใจที่จะตัดข้อมูลบางส่วนทิ้งที่ทำให้สถิติออกมาดูดีหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้

การอ่านวารสารในปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนที่ผลออกมาดีอย่างผิดธรรมชาติ หรือเลวอย่างไม่น่าเป็นไปได้ จำเป็นต้องหาข้อมูลรอบด้าน totality of evidence สิ่งที่เห็นรอบตัว

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทย โดยทางการแถลงทุกสื่อเมื่อไม่นานมานี้ กุมภาพันธ์ 2567 ประกาศว่า มีคนได้รับผลกระทบของวัคซีนโควิดอย่างรุนแรงทั้งประเทศ และเสียชีวิตมีจำนวนห้ารายเท่านั้น ดังนั้นอัตราส่วนคือหนึ่งต่อ 1,000,000 คน และข้อร้องเรียนอื่นๆ นั้น เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน

รายงานในวารสารโดยจากคณะกรรมการพิจารณาผลข้างเคียงของวัคซีนในประเทศไทย บอกว่าวัคซีนปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ มีผลข้างเคียง“น้อยมาก” และ“ไม่รุนแรง” ในขณะที่สถาบันในประเทศไทยที่ไม่มีอคติทับซ้อนกลับรายงานตรงข้าม

ประชาชนพยายามที่จะบอกว่าได้มีคำร้องไปแล้วครอบครัวมีคนตายไปแล้วแต่ไม่เข้าเกณฑ์ถูกปัดตกมากมาย หรือที่มีการชดเชย โดย สปสช.ไปแล้วก็จะมีการสรุปว่าเป็นตัวเลขที่บรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น ยังไม่ได้พิสูจน์เกี่ยวข้องกับวัคซีน

22 พ.ค. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

7
นิตยสาร Newsweek ร่วมมือกับ Statista  ประกาศผล 30 อันดับโรงพยาบาลดีที่สุดในไทย ประจำปี 2567

นิตยสาร Newsweek ร่วมมือกับ Statista จัดอันดับโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2024 (World’s Best Hoapitals 2024) จาก 30 ประเทศทั่วโลก รวมโรงพยาบาล 2,400 แห่ง เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.newsweek.com โดยเกณฑ์การให้คะแนนพิจารณาจาก 4 แหล่ง ได้แก่

1.สำรวจออนไลน์ของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มากกว่า 85,000 ราย

2.ข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

3.ตัวชี้วัดคุณภาพต่างๆ ของโรงพยาบาล เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย ความปลอดภัยของผู้ป่วย และอัตราส่วนผู้ป่วย/แพทย์ หรือพยาบาลต่อผู้ป่วย

4.การสำรวจของ Statista ที่ใช้วัดผลลัพธ์ด้านการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย ได้แก่ Patient Reported Outcome Measures (PROMs) ซึ่งมีการสำรวจข้อมูลในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2655

10 อันดับ โรงพยาบาลดีที่สุดในโลกปี 2567

1.เมโยคลินิก เมืองรอเชสเทอร์ รัฐมินนิโซทา สหรัฐอเมริกา

2.คลีฟแลนด์คลินิก รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา

3.โรงพยาบาลโทรอนโท เจเนอรัล แคนาดา

4.โรงพยาบาลจอห์นฮอปกินส์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา

5.โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

6.โรงพยาบาลชาริเต้ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

7.โรงพยาบาลแคโรลินสกา กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน

8.โรงพยาบาลปีเต-แซลแปตริแยร์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส

9.โรงพยาบาลชีบา เมดิคัล เซ็นเตอร์ อิสราเอล

10.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซูริค สวติตเซอร์แลนด์

30 อันดับโรงพยาบาลดีที่สุดในไทยปี 2567

1.โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ (สกอร์ 93.00%)

2.โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (สกอร์ 87.34%)

3.โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท (สกอร์ 84.15%)

4.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (สกอร์ 83.92%)

5.โรงพยาบาลรามาธิบดี (สกอร์ 83.72%)

6.โรงพยาบาลเมดพาร์ค (สกอร์ 76.54%)

7.โรงพยาบาลกรุงเทพ (สกอร์ 75.32%)

8.โรงพยาบาลธนบุรี (สกอร์ 71.90%)

9.โรงพยาบาลพระราม 9 (สกอร์ 71.79%)

10.โรงพยาบาลราชวิถี (สกอร์ 71.77%)

11.โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน (สกอร์ 71.76%)

12.โรงพยาบาลกรุงเทพ อินเตอร์เนชันแนล (สกอร์ 71.75%)

13.โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชันแนล (สกอร์ 71.74%)

14.โรงพยาบาลยันฮี (สกอร์ 71.73%)

15.โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ (สกอร์ 71.72%)

16.โรงพยาบาลวชิรพยาบาล (สกอร์ 71.71%)

17.โรงพยาบาลรามคำแหง (สกอร์ 71.70%)

18.โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (สกอร์ 71.69%)

19.โรงพยาบาลพญาไท 1 (สกอร์ 71.68%)

20.โรงพยาบาลพญาไท 2 (สกอร์ 71.66%)

21.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น (สกอร์ 71.61%)

22.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สกอร์ 71.60%)

23.โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (สกอร์ 71.50%)

24.โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก (สกอร์ 70.80%)

25.โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ (สกอร์ 70.76%)

26.โรงพยาบาลซีจีเอช พหลโยธิน (สกอร์ 70.17%)

27.โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ สงขลา (สกอร์ 70.16%)

28.โรงพยาบาลศิครินทร์ (สกอร์ 70.14%)

29.สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ (สกอร์ 70.08%)

30.โรงพยาบาลสงขลา (สกอร์ 70.00%)

Amarin TV News
21พค2567
8
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สารวัตใหญ่ ตร.ท่องเที่ยวภูเก็ต ยืนยันเด็กหญิงชาวอิสราเอล อายุ 5 ขวบ ตกลงจากรถตุ๊กตุ๊กเอง พ่อแม่ไม่ติดใจเอาความ เข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุ พร้อมให้การช่วยเหลือเต็มที่

จากกรณีที่เกิดเหตุเด็กน้อยชาวอิสราเอล อายุ 5 ขวบ เกิดอุบัติเหตุตกลงมาจากรถตุ๊กตุ๊ก บนถนนทวีวงศ์ ถนนเลียบหาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา เสียชีวิตขณะที่พ่อแม่พามาท่องเที่ยวที่ จ.ภูเก็ต

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (18 พ.ค.) พ.ต.ท.เอกชัย ศิริ สวญ.ส.ทท.1 กก.2 บก.ทท.3 กล่าวว่า หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวว่าเด็กหญิงคนดังกล่าวถูกรถที่ขับตามหลังมาเหยียบซ้ำนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ป่าตอง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวภูเก็ต ได้มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ และใกล้เคียงแล้ว ปรากฏว่า ไม่พบรถที่ตามหลังมาเหยียบซ้ำแต่อย่างใด

จากการสอบถามพ่อแม่เด็ก กล่าวว่า ตนพร้อมครอบครัวได้นั่งรถตุ๊กตุ๊กมาเที่ยว พอมาถึงที่เกิดเหตุปรากฏว่า ผู้เสียชีวิตได้พลัดตกทางหน้าต่างรถด้านขวาแล้วกระแทกพื้นถนน จึงรีบลงไปอุ้มแล้วให้รถตุ๊กตุ๊กนำส่งโรงพยาบาลป่าตอง และพ่อแม่ผู้เสียชีวิต เข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุ และไม่ได้ติดใจสาเหตุการเสียชีวิตแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเพทย์แจ้งว่า เป็นการได้รับการกระทบกระเทือนทางศีรษะอย่างรุนแรง จนทำให้เสียชีวิต ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวภูเก็ตได้ประสานให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ญาติ และรายงานเหตุเบื้องต้นให้กงสุลทราบ

18 พ.ค. 2567 ผู้จัดการออนไลน์
9
กรมราชทัณฑ์ยันแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้การรักษาและช่วยชีวิต"บุ้ง ทะลุวัง" ตามมาตรฐานวิชาชีพ หลังถูกพาดพิงใส่ท่อช่วยหายใจผิดวิธี ขอให้รอผลชันสูตรที่เชื่อถือได้จาก รพ.ธรรมศาสตร์ฯ

วันนี้ (19 พ.ค.) กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสาร โดยระบุว่า "ตามที่ทนายฤษฏางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนกล่าวพาดพิงถึงทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำการรักษาและการช่วยชีวิต น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง อย่างผิดวิธีจึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ น.ส.เนติพร เสียชีวิต นั้น

จากกรณีดังกล่าว กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจงกระบวนการรักษา และการช่วยชีวิต น.ส.เนติพร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ว่าทีมบุคลากรทางการแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ช่วยชีวิต น.ส.เนติพร ในภาวะวิกฤตตามมาตรฐานการรักษาพยาบาล โดยมีแพทย์ดำเนินการใส่ท่อช่วยหายใจ ได้นวดหัวใจ พร้อมให้ยากระตุ้นหัวใจ ยากระตุ้นความดันโลหิตตามมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง และทีมบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงเวลา จนส่งตัวผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังคงให้การดูแลรักษาผู้ต้องขังทุกรายตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ล้วนแล้วแต่ได้มาตรฐานถูกต้องทุกประการ ตลอดจนกระบวนการการรักษาที่เป็นไปตามหลักวิชาชีพ ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ขอให้ติดตามข้อมูลทางการแพทย์และผลการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมเกียรติ เพื่อเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ต่อไป สำหรับประวัติการรักษาพยาบาลของ น.ส.เนติพร ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เตรียมพร้อมให้ญาติหรือทนายความที่ได้รับมอบอำนาจมารับเอกสารในวันเปิดทำการ"

9 พ.ค. 2567  ทีมข่าวอาชญากรรม
https://mgronline.com/crime/detail/9670000043070

10
ทนายกฤษฎางค์ แถลงชี้แจงสาเหตุ “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เพราะมีการใส่ท่อช่วยหายใจในหลอดอาหาร แทนที่จะใส่หลอดลม

จากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร หรือบุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ซึ่งอดอาหารประท้วง หลังถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งมีอาการวิกฤตหัวใจหยุดเต้น จึงต้องส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี โดยแพทย์ได้ปั๊มหัวใจยื้อชีวิต (CPR) แต่ไม่เป็นผลก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

ความคืบหน้าล่าสุดวันนี้ (18 พ.ค.) ที่ วัดสุทธาโภชน์ ลาดกระบัง นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่า สาเหตุที่ น.ส.เนติพรเสียชีวิตก่อนถึงมือแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยหลังการเสียชีวิต ญาติไม่ได้รับรายงานการรักษา แต่เท่าที่ดูอาการของ น.ส.เนติพร 5 วันย้อนหลัง พอบ่งชี้ได้ถึงมาตรฐานการรักษาพยาบาล รวมทั้งได้ขอภาพเคลื่อนไหวกล้องวงจรปิด ซึ่ง รมว.และอธิบดี ยืนยันว่า มี และได้ตรวจสอบภาพแล้ว ก่อนนำไปแถลงให้สื่อมวลชนรับทราบ แต่กลับไม่ได้มอบให้กับทนายความ โดยอ้างกฎกระทรวง แม้พี่สาวของน.ส.เนติพร จะมอบให้ทนายความไปขอวงจรปิด ก็ไม่สามารถทำได้ ต้องให้คุณพ่อ หรือคุณแม่ ไปรับเอง ซึ่งเรื่องนี้ย้อนแย้งกับการนำข้อมูลภาพวงจรปิดไปแถลงให้สื่อฟังหลายครั้ง โดยไม่ได้ขออนุญาตครอบครัวผู้ตายด้วยซ้ำ

ทนายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า ประเด็นหลักคือรายงานการรักษาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่ส่งมาให้ ระบุว่า น.ส.เนติพร มาถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เวลา 09.30 น. ซึ่งไม่หายใจและไม่มีสัญญาณชีพ วัดค่าลมหายใจเป็นศูนย์ และที่สําคัญมีการตรวจพบว่า การรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก่อนมาถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ นั้น มีการทําที่ผิดพลาด คือใส่ท่อช่วยหายใจผิดตําแหน่ง โดยใส่ในหลอดอาหารแทนที่จะใส่ในหลอดลม เพื่อนําออกซิเจนเข้าไปช่วยในการหายใจ ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยืนยันว่านี่คือหนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่ทําให้บุ้งเสียชีวิต และมีเรื่องที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือแพทย์พบสารบางอย่าง ซึ่งตนยังไม่ขอเปิดเผยตอนนี้ รอผลวิเคราะห์แยกแยะอย่างเอียดก่อน และเพราะเหตุนี้หรือไม่ทางราชทัณฑ์จึงไม่ยอมส่งรายการการรักษาของ น.ส.เนติพร

ทั้งนี้ตนไม่อยากบอกว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ห่วย แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทําให้เกิดข้อกังขาหลายอย่างและถือเป็นเรื่องที่ใหญ่ เพราะ น.ส.เนติพรเสียชีวิตภายใต้การควบคุมของราชทัณฑ์ ส่วนใครจะเป็นผู้รับผิดชอบนั้นตนไม่ทราบ นอกจากนี้แพทย์ตรวจพบว่า มีค่าบางอย่างที่พุ่งสูงผิดปกติ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ขอให้แพทย์ตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะตนไม่ต้องการใส่ร้ายใคร แต่อยากบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจว่า ทํากันถึงขนาดนี้เลยหรือ

ทนายกฤษฎางค์ กล่าวทิ้งท้ายถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่า อย่าหลอกลวงให้ “ตะวัน”เซ็นเอกสารใดๆ หรือให้การใดๆ เพราะเด็กยังอยู่ในอาการเสียใจและอาการอ่อนแรงเป็นอย่างมาก และที่สําคัญ “ตะวัน” ถือเป็นพยาน ดังนั้นอยากให้ครอบครัวและเพื่อนช่วยกันดูแลความปลอดภัยให้ดี เพราะไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นกับตะวันหรือไม่ แต่เชื่อว่าตอนนี้อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ปลอดภัยแน่นอน

18 พ.ค. 2567  ทีมข่าวอาชญากรรม
https://mgronline.com/crime/detail/9670000042991
หน้า: [1] 2 3 ... 10