ผู้เขียน หัวข้อ: บทความต้องอ่าน "ระวังปลวกแทะ กองทุนอิสระ"  (อ่าน 4985 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด

ตอนที่ 1
"ขบวนการนักฉวยโอกาส" - อภิชาติ ทองอยู่
"วิกฤติสีขาวกับการเปลี่ยนระบบประเทศ"- นาวิก การเกิด
"เครือข่ายของการเชื่อมโยงองค์กรอิสระ --> เปลี่ยนประเทศไทย" จาก คสน.

ตอนที่ 2
"เป็นความพยายามสร้างอำนาจใหม่ขึ้นมา" -สส.นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ปชป.
"ผมว่าวันนี้ตัวใครตัวมัน" -นพ.วิชัยโชควิวัฒน
"เมื่อเขามาจากกฎหมาย เราก็เอากฎหมายนี่แหละจัดการเขา" -พญ.อรพรรณ์ ดิลกเมธากุล

ตอนที่3
"กองทุนอิสระ" -แก้วสันต์ อติโพธิ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ตอนที่ 1
ขบวนการนักฉวยโอกาส
อภิชาติ ทองอยู่
http://bit.ly/dgPKvV

การทำงานภายใต้แบรนด์ ‘เอ็นจีโอ’ ตั้งแต่ ต้นทศวรรษ 2520 เป็นการทำงานตามอุดมคติ หรืออุดมการณ์ ที่ซึมซับมาจากความเคลื่อนของนักศึกษาปัญญาชนฝ่ายซ้าย ความโดดเด่นของการทำงานเพื่อสังคมยุคนั้น เพราะเบื่อการพล่ามพูดของบรรดาอภิชน ข้าราชการ และนักวิชาการขี้โม้มากเรื่องทั้งหลาย จึงผันตัวเองไปทำงานขลุกอยู่ในหมู่บ้านชนบท ขับเคลื่อนตัวเองแบบนักแสวงหา
เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ความเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายปิดฉากตัวเองลง เกือบสิ้นเชิง ลมหายใจสุดท้ายในการต่อสู้ของกลุ่มปัญญาชนและพรรคคอมมิวนิสต์ไทย มีสัญญาณจะยุติลงตั้งแต่ช่วงปี 2518 เป็นต้นมา ช่วงเวลานั้นเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย
          เอ็นจีโอ จึง กลายเป็นคลื่นใหม่ของการทำงานเพื่อสังคม รับบทบาทการแสวงหาแนวทางการพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่า ความคิดของคนทำงานกลุ่มใหญ่ยังอิงอยู่กับคราบไคลของฝ่ายซ้ายแบบ มาร์กซ์ - เหมา ไม่มากก็น้อย การทำงานของกลุ่ม เอ็นจีโอ ใน ช่วงต้นทศวรรษ 2520 ถึงกลางทศวรรษ 2530 เป็นการทำงานพัฒนาชนบทที่สวนกระแสการพัฒนาของรัฐ ซึ่งมีทิศทางแบบสั่งการ มุ่งขับเคลื่อนสังคมชนบทให้เข้าไปซุกอยู่ใต้ระบบทุนและประชาธิปไตยที่อำพราง อยู่ภายใต้เผด็จการราชการและอภิชนในสังคมไทย
          การทำงานของกลุ่ม เอ็นจีโอ ยุค นั้นได้สร้างบทบาทและการยอมรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงคลี่คลายปัญหาในการทำงานพัฒนาในแบบสั่งการของรัฐ และการทำงานสงเคราะห์แบบมักง่ายของบรรดาอภิชนและชนชั้นสูงทั้งหลาย ให้ค่อยๆ หมดบทบาทลง พร้อมหันมาสู่กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น
          รวมไปถึงกระตุ้นให้กลุ่มวิชาการในสถาบันต่างๆ เข้าร่วมพัฒนาองค์ความรู้ เปิดพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องความต่างทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทาง วัฒนธรรมขึ้น ซึ่งได้นำไปสู่การแตกตัวต่อยอดการทำงานเพื่อสังคมขึ้นอีกหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็ก สตรี สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย ฯลฯ
          อย่างไรก็ตามการพัฒนาองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นนั้นยังไม่สมบูรณ์ ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ความไม่สุกงอมทางความคิด ความอ่อนเยาว์วุฒิภาวะของคนทำงาน ความจำกัดของทุนสนับสนุนการทำงาน และแรงกระแทกของกลุ่มที่เสียประโยชน์ทางสังคมเศรษฐกิจ ฯลฯ
          มูลเหตุหลากหลายเหล่านี้ได้เปิดช่องโหว่ให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่ม เอ็นจีโอ ทำให้มีการแทรกตัวของบรรดา ‘นักฉวยโอกาส’ ซึ่งโดดเข้ามาในกระแสงานที่กำลังเคลื่อนตัวอยู่
          ขณะเดียวกันกระแสการเปลี่ยนแปลงของทุนที่สนับสนุนทุนการทำงาน โดยเฉพาะทุนจากต่างประเทศได้ปรับเปลี่ยนทิศทางจากการให้เปล่าเป็นการสมทบแบบ มีส่วนร่วม
          เหตุปัจจัยโดยรวมนี้ มีผลทำให้เกิดความสับสนแตกแยกในหมู่เอ็นจีโอขึ้น การทำงานเกาะติดหมู่บ้านชนบทต้องสะดุดหยุดลง ขาดความต่อเนื่องไปโดยปริยาย การทำงานแบบเปิดตัวรณรงค์โหมกระแสประเด็นต่างๆ เป็นช่วงๆ กลายเป็นงานที่หาทุนได้ สร้างภาพ สร้างตัวตนได้เหมาะกับกำพืดของการหาอยู่หากินมากกว่า การทำงานที่มุ่งคุณภาพจึงหมดบทบาทลง
          การ เติบโตของการทำงานในทิศทางใหม่กับการหาอยู่หากินแบบใหม่ เปิดทางให้บรรดานักฉวยโอกาสเข้ามาใช้กระแสการทำงานเพื่อสังคมสร้างภาพ สร้างทุนทางสังคมให้ตัวเอง บางคนเปิด ตัวได้ไม่นานก็ได้รับการยอมรับ สร้างทุนทางสังคมได้ต่อเนื่อง! ประดิษฐ์ภาพตัวเองให้เป็นผู้ทรงคุณธรรมบ้าง ผู้รอบรู้ล้ำลึกบ้าง ผู้ยืนหยัดทำงานกับผู้ยากไร้บ้าง ผู้รู้ดีในเรื่องสื่อเรื่องแส่สารพัดเรื่อง จนบางคนสถาปนาตัวเป็นราษฎรอาวุโส ขึ้นชั้นเทพไปนู่นเลยก็ไม่น้อย!
          การไต่เต้าทางลัดเส้นทางนี้ สามารถเชื่อมต่อกับอำนาจการบริหารประเทศได้ไม่ยาก อาศัยใช้กลุ่มคนทำงานในสังคมฐานล่างหนุนเสริม และจัดการวางแผนออกแบบสร้างเรื่อง สร้างองค์กร แล้วเชื่อมต่อกับฝ่ายบริหารเพื่อจัดตั้งล้วงงบรัฐมาใส่องค์กร ขณะเดียวกันก็ปั่นข่าว ทำเรื่องที่ประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นมาให้กลายเป็นเรื่องจำเป็นคอขาดบาดตายของ สังคม
          จากนั้นก็ตั้งองค์กร ตั้งกติกา ตั้งพรรคพวกเข้าไปทำงาน ที่สำคัญคือ ต้องสร้างภาพเป็นผู้ทรงคุณธรรมเพื่อลดภาพเละเทะมูมมามลง จากงานหนึ่งสู่อีกงานหนึ่ง จากองค์กรหนึ่งสู่อีกองค์กรหนึ่ง เรื่อยไป โดยเรียกกันว่าองค์กรอิสระบ้าง กองทุนอิสระบ้าง หรืออะไรก็ได้เพื่อดึงงบหลวงออกมาใช้กัน ที่สำคัญคือต้องใช้กันแบบอิสระ อย่าให้ตรวจสอบได้ง่ายๆ และต้องใช้ชื่อกลุ่มหรือองค์กรที่ดูดีมีคุณธรรม สังคมฟังแล้วน้ำหูน้ำตาไหล มาจนถึงวันนี้ก็ยังเตรียมคลอดกันอีกหลายองค์กร!
          ขบวนการแอ๊บงบทางลัดฝูงนี้ เล่นกันหนักข้อน่าวิตกยิ่ง ประเทศต้องเสียงบก้อนใหญ่ให้เครือข่ายอุปถัมภ์นักแอ๊บจอมฉวยโอกาสไปถลุงกัน มันมือ แถมสร้างความป่วยไข้ฟูมฟายให้สังคมตลอดเวลา เล่นกันอย่างนี้ยังมีหน้าไปมองคนอื่น กลุ่มอื่น ว่าเลวกว่าพวกตัวอีกต่างหาก ถ้าขบวนการที่ทำกันอยู่เป็นเรื่องถูก ดี เป็นความก้าวหน้าของสังคมแล้วล่ะก็ รับรองไม่มีเรื่องอะไรจะสามานย์ไปกว่านี้อีกแล้ว! เชื่อเถอะ
          เชิญเสพ ไทยแลนด์ ฟอรัม ว่าด้วยประเด็น กองทุนอิสระ ได้ตามอัธยาศัยเทอญ

วิกฤติสีขาว กับการเปลี่ยนระบบประเทศ
นาวิก การเกิด
http://bit.ly/c5IFVV
 
ในขณะที่ความปรองดอง และการปฏิรูปการเมือง กำลังถูกขับเคลื่อน (เท่าที่ทำได้) โดยที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามผลักภาระ และ ‘จัด’ เป้าหมายให้ฝ่ายที่เรียกได้ว่า มี ‘ต้นทุน’ เป็นผู้ขับเคลื่อน
          ฝ่ายที่เรียกได้ว่ามีต้นทุนทางสังคม ก็กำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น จากผู้ร่วมวิชาชีพ โดยอาศัยจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งระหว่าง หมอกับหมอ เอ็นจีโอและผู้ป่วย โดยมีสมรภูมิหลักอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข และค่อยๆ ขยับขยายพื้นที่การปะทะไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
          ฝ่ายหนึ่งมีเครือข่ายเป็นแพทย์ชนบท และองค์กรเอกชน รวมทั้งมูลนิธิต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นมาโดยไม่แสวงหาผลกำไร
          อีก ฝ่ายเป็นกลุ่มแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มแพทย์พยาบาลที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด รวมไปถึงระดับอนามัยชุมชน
          ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมองหาจุดอ่อนของแต่ละฝ่ายมาโจมตีกันและกัน
          โดยผ่ายแรกนั้นมองว่า ข้อโต้แย้ง หรือการไม่เห็นด้วยกับการขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการ แพทย์ และการชดเชยความเสียหายของประชาชนนั้น เป็นเพราะฝ่ายคัดค้านมีผลประโยชน์แอบแฝง หรือไม่ก็เพราะไม่ต้องการสูญเสียผลประโยชน์ที่มีอยู่ในมือ
          เพราะ หน่วยงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามร่างกฎหมายนั้น จะต้องมีกองทุนที่จะดึงเอาเม็ดเงินส่วนหนึ่งมาจากโรงพยาบาลเหล่านั้น รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน เพื่อไปตั้งเป็นกองทุน และมีคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้อนุมัติการใช้จ่าย
          ขณะที่ฝ่ายคัดค้านกลับมองว่า สิ่งที่ได้รับการผลักดันจากฝ่ายตรงกันข้ามคือการทำลายระบบสาธารณสุขโดยรวม และทำลายระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งแต่เดิมขับเคลื่อนโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่มีระบบการจัดการงบประมาณอิงกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การเบิกจ่ายเงินงบประมาณต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับปัญหาในพื้นที่ ความเหมาะสมที่ใช้จำนวนประชากรเป็นตัวตั้ง และมีการประเมินผลโดยเอาสุขภาวะของประชาชนเป็นหลัก
          ที่สำคัญ ฝ่ายหลังนี้ยืนยันว่าระบบการอนุมัติเม็ดเงินงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างถูกตรวจสอบ โดยยึดเข้ากับประชาชน เพราะมีตัวแทนประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม
          ขณะ เดียวกันก็โจมตีว่า ฝ่ายที่ผลักดันนั้น พยายามจะทำให้ระบบที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้น เหมือนกับองค์กรที่ตั้งขึ้นมาในก่อนหน้านี้ ที่เรียกว่า ‘ตระกูล ส.’ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น สวรส. สปสช. สช. สสส. ที่การอนุมัติเงินงบประมาณใช้ระบบของคณะกรรมการ โหวตเสียงข้างมาก และให้อำนาจเลขาธิการมีอำนาจอนุมัติเม็ดเงินสูงถึง 1 พันล้านบาท
          แต่เมื่อการเรียกร้องคัดค้านไม่เป็นผล เพราะกฎหมายเดิมที่มีอยู่นั้น ให้อำนาจของคณะกรรมการเป็นไปในรูปแบบที่ว่า การฟ้องร้อง การเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการใช้เงิน โดยหน่วยงานที่เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดจะอยู่ที่ใด
          เมื่อต่างฝ่ายต่างเรียกร้อง ต่างฝ่ายต่างมองว่า ตนเองทำเพื่อประชาชน
          ‘วิกฤติสีขาว’ จึงก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ และน่าเชื่อว่า จะบานปลายกระทบต่อภาพรวมของประเทศในไม่ช้านี้
          เพราะ แม้แต่ฝ่ายการเมือง ซึ่งจะเข้าไปกำกับดูแลหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด แต่เอาเข้าจริง เมื่อเผชิญหน้ากับ ‘ตระกูล ส.’ ฝ่ายการเมืองก็ไม่มีหนทางเดินไปในทิศทางอื่น เพราะระบบ ‘คณะกรรมการ’ ที่อิงเสียงข้างมากได้พันธนาการเอาไว้ จนทำให้ ‘เสียงเดียว’ ในที่ประชุมไม่อาจแข็งขืนต่อ 12 เสียง ที่มาจากเครือข่ายอันเข้มแข็งของทางฝ่ายนี้
          ถึงแม้ว่าหากนับเอาตามมือที่มีเพียงแค่ 12 เสียง อาจไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ 30 เสียง แต่ในทางปฏิบัติ นอกเหนือจาก 12 เสียง ก็มีเพียงแต่ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ที่คอยคัดค้าน หรือโต้แย้งความเป็นไปได้ในการใช้งบประมาณโดยผ่านระบบที่เรียกว่า ‘คณะกรรมการ’ ที่ว่า
          ผลที่ออกมาหลายโครงการจึงกลายเป็นความเคลือบแคลงว่า ที่อนุมัติไปนั้น ทำได้มากน้อยเพียงใด ขัดต่อระบบการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินหรือไม่
          และ คำถามที่ยังไม่มีคำตอบก็คือ การอนุมัติโครงการต่างๆ นั้น เกี่ยวกับการเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ ขณะเดียวกัน ใช้ดัชนีตัวไหนมาชี้วัดว่า จะดำเนินการโครงการเหล่านั้นต่อ หรือยกเลิกเพราะล้มเหลวในการเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชน
          ในแง่ของการเมืองนั้น กระแสและมุมมองค่อยๆ ถูกปรับเปลี่ยนทีละน้อย ภาพลักษณ์ของเอ็นจีโอ ที่ไม่แสวงหาผลกำไรกำลังถูก ‘การเมือง’ เขม้นมองว่า มีเบื้องหลังที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นหรือไม่
          ถึง แม้ว่าฝ่ายการเมืองในวันนี้ จะถูกตรึงด้วยหัวขบวนของเอ็นจีโอ ที่เปิดทางให้พึ่งพาอาศัยบารมีเพื่อดับกระแสร้อน และสร้างความปรองดองในบ้านเมือง
          แต่ก็น่าเชื่อว่า เมื่อใดที่กระทรวงสาธารณสุขถูกกลืนไปทั้งหมด ฝ่ายการเมืองเป็นเพียงพระอันดับในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขอย่างเด็ดขาด และกลไกเดียวกันนั้นกำลังจะเบนเป้าไปปรับเปลี่ยนองคาพยพอื่นๆ ที่วางเป้าหมายไว้แต่แรก ไม่ว่าจะเป็นระบบยุติธรรม ระบบการเมือง
          วันนั้นอาจจะเกิดความตระหนักว่า ระบบสาธารณสุขนั้นเป็นระบบที่เอื้อต่อการสร้างเครือข่าย โดยเฉพาะที่เรียกว่า เครือข่ายภาคประชาชน และไม่ใช่เรื่องยากที่จะให้เครือข่ายนี้ขับเคลื่อนไปในทุกทิศทาง แม้กระทั่งประกบ หรือปะทะกับภาคการเมือง หรือกระทั่งระบบราชการทั้งหมด
          ความ สำเร็จของ ‘ตระกูล ส.’ ที่ยึดกุมเม็ดเงินงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขในก่อนหน้านี้ และกำลังรุกคืบเอาส่วนแบ่ง จากราว 500 บาทต่อหัว ที่ได้ส่งไปยังโรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัด ผ่านรูปแบบของจำนวนครั้งในการรักษาพยาบาลเพื่อเข้ากองทุนตามร่างกฎหมายใหม่ จะยิ่งทำให้การบริหารงานโดยกระทรวงสาธารณสุขในรูปแบบเดิมเป็นไปอย่างยาก ลำบากมากยิ่งขึ้น
          ใน เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างถึงประชาชน ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุมีผลของตนเองว่า ที่ทำไปนั้นเพื่อสุขภาพประชาชน เรา-ท่านทั้งหลาย จึงต้องใช้วิจารณญาณในการฟัง อ่าน ว่าสิ่งใดดีที่สุด เหมาะสมที่สุด
          ขณะ เดียวกันภายใต้หลักสากล และหลักการปกครองประเทศ แม้จะมีระบบเสียงข้างมากที่เข้มแข็ง แต่ก็ยังต้องมีระบบตรวจสอบที่ดีไว้รองรับ หาไม่แล้วเรื่องทุกเรื่องไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่ใด ‘วิกฤติ’ ก็จะยังคงเกิดขึ้นในที่นั้น นั่นย่อมหมายความว่า แม้เราจะเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งได้ เราก็จะยังคงเผชิญวิกฤติใหม่กันอยู่ดี

//////////////////////////



คศน. มีชื่อเต็ม ๆ ว่า 'เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่' เป็นความร่วมมือระหว่างหลายองค์กร เพื่อสานเครือข่ายและสร้างกระบวนการแบบใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพ 'ผู้นำ' แบบใหม่
          โครงการนี้อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เริ่มขึ้นเมื่อปี 2552 หลังจากที่ได้หาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ก็นำมาซึ่งผลสรุปในการขับเคลื่อนกลไก ภายใต้การริเริ่มโดยการสร้างสุขภาวะ จึงได้แผนภูมิว่า หากจะเปลี่ยนประเทศไทยโดยผ่านระบบสาธารณสุขนั้น จะต้องมีส่วนใดบ้างที่จะต้องได้รับการปรับเปลี่ยน
          ดังแผนภูมิ (ทำเมื่อ 24 เมษายน 2553) นั้น ระบุว่า จะต้องจัดการปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพ ระบบสื่อสารมวลชน ระบบการเมืองภาคประชาชน ระบบยุติธรรม และระบบคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึงส่วนย่อยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากเป็นไปตามกำหนด การเปลี่ยนประเทศไทยน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2563 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า


ที่มา : จากเอกสาร คศน. (เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่)
http://www.wasi.or.th/wasi/index.php?page=news&group_=01&code=07&idHot_new=3275
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 พฤศจิกายน 2010, 17:06:52 โดย pradit »

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
Re: บทความต้องอ่าน "ระวังปลวกแทะ กองทุนอิสระ" ตอนที่ ๑
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 21 พฤศจิกายน 2010, 16:59:05 »
ตอนที่ 2/1

"เป็นความพยายามสร้างอำนาจใหม่ขึ้นมา"
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
 http://bit.ly/aUl760

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการสาธารณสุข ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เคยมอง ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ในแง่มุมหนึ่ง แต่ปัจจุบัน มีเรื่องใหญ่กว่านั้น ที่เขาสงสัยว่า นี่คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศในรูปแบบใหม่หรือไม่
          “มาถึงวันนี้ผมก็มาดูว่า ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ก็มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมามีนักการเมือง มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จากนั้น ในปี 2540 ก็เริ่มมีองค์กรอิสระ เข้ามาตรวจสอบนักการเมือง แต่องค์กรอิสระเหล่านั้น ก็ยังยึดโยงกับประชาชน ให้ตัวแทนประชาชนสามารถตรวจสอบได้ แต่พอมาในวันนี้ ผมว่า เอ็นจีโอ เข้ามามีบทบาท มีอำนาจ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เปิดช่องทางนี้ ปัญหาก็คือ เราตรวจสอบเขาไม่ได้ ทั้งที่ผมเป็นตัวแทนจากประชาชน”
          เขายอมรับว่า เริ่มมองเห็นปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเริ่มจากเรื่องราวของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการรักษา ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปดูกฎหมายที่มีลักษณะคล้ายๆ กันในก่อนหน้านี้ ไม่ ว่าจะเป็น สปสช. สช. สบพ. แม้กระทั่ง สสส. ที่ดึงเอาภาษีบาปโยกไปใส่เป็นงบประมาณ โดยไม่ต้องให้ผ่านระบบงบประมาณตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
          “กระทรวง สาธารณสุขในทุกวันนี้แทบไม่เหลืออะไรแล้ว จะบริหารกันอย่างไร ในเมื่องบประมาณไม่มีอยู่ในมือ รัฐมนตรีที่ว่าเป็นประธานบอร์ด ถามว่ามีกี่เสียง ผมคิดว่าทุกวันนี้รัฐมนตรีก็คงจะอึดอัด เมื่อไม่มีงบประมาณบริหาร สภาพก็แทบไม่ต่างกับปลัดกระทรวง”
          นพ.วรงค์ กล่าวว่า สำหรับในแง่การเมืองก็ได้พยายามพูดคุยเพื่อหาจุดลงตัวที่สุด โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการรักษาของแพทย์ แต่เบื้องต้นก็ได้ทักท้วงไปหลายอย่าง เพราะเข้าไปดูกันจริงๆ ก็ต้องแก้ไขกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ
          ที่สำคัญคือ ปัญหาเรื่องการเขียนเป็นภาษากฎหมาย จะเขียนกันอย่างไร อย่างเรื่องจะไปเก็บเงินจากเอกชนให้เข้ามาไว้ในกองทุน เอกชนจะยอมหรือไม่ และการไปหักเงินจากโรงพยาบาลรัฐ ก็ไม่ได้รู้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลรัฐกว่า 191 แห่ง กำลังมีปัญหาทางการเงินอยู่
          “ปัญหาที่น่ากังวลก็คือ คนยังมองไม่เห็นองค์รวมของสุขภาวะ เวลา นี้เอกชนทำธุรกิจเต็มรูปแบบ ทำมากได้มาก เขาก็มีแรงจูงใจจากผลตอบแทน ถ้าจะไปฟ้องเขาก็ทำได้เลย เพราะเขาชาร์จค่ารักษาเตรียมไว้แล้ว แต่ของรัฐมันเป็นระบบสวัสดิการ มันฟรี บุคลากรได้รับเงินเดือนอย่างเดียว ใช้ใจทำงาน ทำมากก็ได้เท่าเดิม ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเขาก็ไม่อยากรักษา เขาก็อาจจะอ้างว่า เครื่องมือเครื่องใช้เก่าชำรุด ซึ่งหลายที่มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผลก็จะตกไปที่คนไข้ การส่งต่อก็จะมีมากขึ้น แต่เมื่อไปเจอกับปัญหาในการรักษา ก็หนีไม่พ้นที่ต้องไปพึ่งเอกชน”
          เขายืนยันว่า ปัญหานี้สุดท้ายแล้วผลกระทบจะตกอยู่กับคนไข้ ที่ไม่ได้ประโยชน์จากอะไร มีแต่เสียกับเสีย
          ถามว่า ความจริงแล้วเงินต่อหัว 2,500 บาท ลงไปถึงโรงพยาบาลเท่าไหร่ นพ.วรงค์ กล่าวว่า สปสช. แตกแยกย่อยเยอะ แล้วมาทำเป็นสำนักงบประมาณประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็ยิ่งเป็นปัญหาเข้าไปอีก เพราะสุดท้ายคนไข้ ชาวบ้านก็ยังลำบาก
          ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้ นพ.วรงค์ ได้บทสรุปว่า สุดท้ายแล้วกระทรวงสาธารณสุขจะถึงจุดย่ำแย่
          “ผม มองว่า ปัญหานี้มันเป็นปัญหาแก่งแย่งอำนาจกันระหว่าง เอ็นจีโอ กับข้าราชการ ที่มันมีกฎหมายเปิดช่องให้ พอเข้ามาเป็นบอร์ด ก็มาโหวตอนุมัติโครงการ อนุมัติเงิน อันนี้ผมมองว่าเป็นความพยายามสร้างอำนาจใหม่ขึ้นมา จากที่เขาเซ็ตกฎหมายกันขึ้นมา แล้วก็เอาเงินไปบริหาร โดยที่กระทรวงหรือระบบตรวจสอบก็ไม่รู้เป็นอย่างไร”

ผมว่าวันนี้ตัวใครตัวมัน
นพ.วิชัย โชควิวัฒน
http://bit.ly/9SFeC4
นพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และรองประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท ยอมรับว่า จากกรณี ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างแพทย์ด้วยกัน จนถึงวันนี้อาจเรียกได้กว่า ‘ตัวใครตัวมัน’
          สิ่งที่แพทย์อีก ฝ่ายใช้คำว่า ‘ตรวจสอบ’ แต่ในแง่มุมของ นพ.วิชัย นั้นเห็นว่า นี่คือความพยายามบิดเบือน ที่บางครั้งก็เรียกได้ว่าเป็นการโกหก
          “เขาโจมตีว่าเป็นการใช้เงินเยอะ แต่จริงๆ มันเป็นการคาดคะเน เพราะถ้าไปดูกฎหมาย มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแล้ว มันใช้เงินไม่เยอะหรอก เขาบอกว่าให้หักจากเงินกองทุนไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ แล้ว 6-7 ปีที่ผ่านมา ก็ใช้ไปแค่ 0.15 เปอร์เซ็นต์ ทีนี้กฎหมายฉบับนี้มันต่างจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ เพราะมันมีค่าชดเชยเพิ่มขึ้นไปอีก 2 เท่าของค่าชดเชยเบื้องต้น มันก็เพิ่มขึ้นมา แต่ก็ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ อยู่ดี”
          นพ.วิชัย ให้ข้อมูลว่า ที่มาของเงินก้อนนี้ มาจาก 3 แหล่งสำคัญ คือ
          1. ได้จากมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ
          2. จากการที่รัฐบาลจ่ายเงินสมทบ
          3. เก็บจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน
          “อย่างของมาตรา 41 เวลากองทุนนี้ได้มา ก็ส่งให้โรงพยาบาลไม่หมด เขาก็หักส่วนนี้ไป ก็ไม่เห็นใครเดือดร้อน แต่พวกเขา (หมอที่ค้าน) ก็ไปกระพือกัน ประเด็นก็คือ เขาไม่ได้อ่านกฎหมาย แล้วก็ไปบอกว่า จะทำให้เกิดการฟ้องร้องหมอมากขึ้น ความจริงไม่มีมาตราไหนเลยที่ระบุไว้อย่างนั้น ผมเป็นคนถามเองว่า มีในมาตราไหน เขาก็ตอบไม่ได้ แต่พอออกไปพูดก็พูดเรื่องนี้ มันเป็นการโกหก เรียกยังไงดีล่ะ ผมว่ามันเป็นการโกหกอย่างหน้าด้านๆ เลย”
          สำหรับข้อครหาเกี่ยวกับการใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบที่ร่างกฎหมายใหม่ หรือกระทั่งในส่วนของ สปสช. หรือ สช. เอง ก็ถูกครหาว่า ไม่เป็นไปตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่กลับใช้อำนาจของคณะกรรมการเป็นผู้อนุมัติโครงการ
          นพ.วิชัย ในฐานะ กรรมการ สปสช. กล่าวสวนทันทีว่า เรื่องนี้ก็เป็นการโกหก เพราะ สปสช. นั้นเอาเงินมารวมกันไว้ที่ส่วนกลาง จากนั้น สปสช. จังหวัด ก็จะทำเรื่องเสนอเข้ามา ใครเดือดร้อนก็มาร้องเรียน คณะกรรมการจะเป็นผู้ตัดสินว่า ให้หรือไม่ให้
          เขากล่าวว่า ย้อนกลับไป 6 ปี มีคนไข้ใช้บริการสาธารณสุข 900 ล้านกว่าครั้ง หมอให้รับไว้ในโรงพยาบาล 28 ล้านกว่าราย มีคนมาร้องเรียนเรื่องค่าเสียหาย 3,200 ราย จ่ายเงินชดเชยไป 2,700 ราย เท่านั้น
          แต่เมื่อถามว่า ถ้าจ่ายจำนวนน้อยขนาดนี้ เหตุใดถึงจำเป็นต้องตั้งกองทุน นพ.วิชัย ชี้แจงว่า เพราะการจ่ายจะต้องเพิ่มขึ้น และการตั้งกองทุนนั้น เป็นการตอบโจทย์ที่ถูกต้อง มากกว่าจะไปรอพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐบาล
          “เรื่อง คณะกรรมการที่ดูแลเงินกองทุนนี่ก็เหมือนกัน กฎหมายเขาเขียนไว้ว่าใช้งบบริหารไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณทั้งหมด ก็ไปโจมตีกันว่า เดี๋ยวก็จะทำงบหรือเรียกเก็บเงินเยอะๆ เพื่อจะได้มีงบบริหารเยอะๆ อันนี้ก็โกหก มันจะเป็นไปได้อย่างไร
          “คณะกรรมการได้กันแค่เบี้ยประชุม อย่าง สปสช. งบแสนกว่าล้าน ใช้จริงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เราใช้กันตามความเป็นจริง แล้วก็ยังมีสำนักงบประมาณคอยติดตามตรวจสอบ ไม่ใช่ใช้กันตามใจชอบ แล้วอีกอย่าง โครงการทุกโครงการ กระทรวงสาธารณสุขเป็นฝ่ายควบคุมดูแล ขนาดสำนักงาน สปสช. ก็ยังอยู่ที่กระทรวงเลย ในกฎหมายก็ระบุไว้อย่างนั้น มีรัฐมนตรีเป็นประธาน มันชัดเจนอยู่แล้ว เราไม่ได้หลุดออกไปอย่างสิ้นเชิง”
          ถามว่ามาถึงจุดนี้ เรามีจุดลงตัว เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้ตรงไหน อย่างไร นพ.วิชัย กล่าวว่า
          “ผมว่าวันนี้ ตัวใครตัวมัน คนที่ออกมาต่อต้าน เขากลัวเสียผลประโยชน์ ถามว่าประโยชน์ตรงไหน ก็ตรงที่เขาต้องหักเงินจากโรงพยาบาลมาจ่ายเข้ากองทุนนั่นแหละ เขาไม่อยากจ่าย เขาอยากให้รัฐจ่ายทั้งหมด มีข้อเขียนของหมอฝั่งโน้นเขาเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า เขาต้องการให้รัฐจ่ายทั้งหมด เขาล่อนจ้อนเลย”
          นพ.วิชัย ย้ำด้วยว่า การจัดการเรื่องสุขภาพประชาชน ด้วยการดึงเม็ดเงินออกมาบริหารนี้ไม่ได้เป็นการดึงเอาความสามารถของกระทรวง สาธารณสุขออกไป เพราะทั้งหมดยังขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขเหมือนเดิม
          ส่วนเรื่องประชาพิจารณ์ นพ.วิชัย กล่าวว่าเป็นเพียงการหาเหตุมาเตะถ่วง เพื่อไม่ให้ร่างกฎหมายเข้าสภา เพราะการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำกันมานาน มีถึง 6 ร่าง ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาไปแล้ว จนรัฐบาลเอาไปยำรวมกันเป็นร่างของรัฐบาล เรื่องหลักการไม่ต้องมาพูดถึง มีแค่เรื่องจำนวน และที่มาของคณะกรรมการ ก็ต้องไปแปรญัตติกันในระดับกรรมาธิการ
          “นี่ มันจงใจเตะถ่วง ไม่คิดถึงคนเดือดร้อน ไปทำบาปทำกรรมกับเขา เพราะคดีฟ้องร้องหมอมันยืดเยื้อ บางคดี 7-8 ปี แล้วเวลาสู้ เขาไม่ได้สู้กับหมอคนเดียว เขาสู้กับแพทยสภา สู้กับกระทรวงทั้งกระทรวง” นพ.วิชัย กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------


pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
Re: บทความต้องอ่าน "ระวังปลวกแทะ กองทุนอิสระ" ตอนที่ ๑
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 21 พฤศจิกายน 2010, 16:59:45 »
ตอนที่2/2

เมื่อเขามาจากกฎหมาย เราก็เอากฎหมายนั่นแหละจัดการเขา
พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล
http://bit.ly/cGxqU2

เอ่ยชื่อ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล หัว หน้าคณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายสาธารณสุข 2553 ในคณะกรรมการศึกษาและพัฒนางานสาธารณสุขในแวดวงกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หมอหรือพยาบาล ต่างก็รู้จักมักคุ้น โดยเฉพาะหมอ ต่างก็เป็นที่รู้จักกันดี ทั้งหมอฝ่ายเอ็นจีโอ และหมอฝ่ายที่ยืนเคียงข้างโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ
          เพราะ พญ.อรพรรณ์ คือ หัวเรี่ยวหัวแรงของฝ่ายต่อต้านร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุข
          ขณะ เดียวกัน พญ.อรพรรณ์ ก็ปลุกให้ผู้คนในแวดวงสาธารณสุขมองเห็นถึงความจำเป็นของการตรวจสอบหน่วยงาน ที่งอกมาใหม่ และดูดเอางบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขไปอยู่ใต้อำนาจ ภายใต้ชื่อตระกูล ส. ทั้งหลาย
          พญ.อรพรรณ์ กล่าวกับไทยแลนด์ฟอรัม ว่า “ในระบอบประชาธิปไตย ทุกองค์กร ทุกหน่วยงานจะต้องได้รับการตรวจสอบ”
 

การตรวจสอบหน่วยงานตระกูล ส. ทั้งหลาย เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ
          ดิฉันทำเรื่องนี้มากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็เฝ้าดูการทำงานของเขามาตลอด แล้วก็คิดว่า มันไม่ใช่แล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่า อยากให้ยุบรวม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งหมด เพื่อให้รวบรวมงบประมาณมาไว้เพื่อรักษาคนไข้กันจริงๆ หรือเอาภารกิจต่างๆ เช่น การบริการด้านสุขภาพที่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้อยู่แล้วอย่างเป็นระบบ ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรอื่นมาทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างก็ได้

หมายความว่า สปสช. เป็นหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่นี้หมดเลยหรือครับ
          จริงๆ เงินเดิมเคยมี แต่อยู่ดีๆ ก็เอาไปให้คนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการชุดหนึ่งไปจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งที่เราเองก็รู้อยู่แล้วว่า อะไรมันจำเป็นที่จะต้องจัดซื้อหรือไม่ ในระดับพื้นที่ ก็มีการบริหารจัดการกันว่าอะไรที่มันจำเป็น เพราะเขาแบ่งเป็นระดับการบริหาร โดยเอาจำนวนประชากรเป็นตัวตั้ง เช่น อนามัยชุมชน ก็จะมีอะไรที่ทำได้ อะไรที่มันเกินกำลัง ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีระบบรองรับ อย่างโรงพยาบาลจังหวัด ก็จะมีฐานะเป็นพี่เลี้ยง
          มันไม่ใช่อย่างทุกวันนี้ ที่ทุกคนทำหน้าที่เป็นผู้ขายบริการ โดยมี สปสช. เป็นผู้ซื้อ ก็คือเมื่อมีผู้ใช้บริการแล้ว สปสช. ก็จะตามไปจ่าย ผลคืออะไร ก็คือ โรงพยาบาลศูนย์จะแบกภาระหนัก เพราะโรงพยาบาลระดับล่างลงไปเขาไม่ไหว เขาก็ส่งผ่านไปโรงพยาบาลศูนย์เลย
          ที่ผ่านมาเราได้ชื่อว่า มีระบบส่งต่อผู้ป่วยที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำในเอเชีย แต่ทุกวันนี้มันพังไปแล้ว เพราะเจอกับเรื่องแบบนี้ ไม่ได้ใช้ระบบให้บริการไปตามลำดับขั้น คุณรู้ไหมสมัยนั้นใช้เงินในการให้บริการที่เรียกว่าเป็นระบบแบบนั้น 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ตอนนี้ 1.2 แสนล้านบาท แต่ทำให้ระบบมันพัง
          ตระกูล ส. ทั้งหลายทำให้เป็นปัญหา นั่นเป็นเพราะเขาจบมาไม่นาน ส่วนใหญ่อยู่ที่สำนักนโยบายและแผน เขาต่างจากพวกเราที่เลือกเดินในสายการให้บริการ เพื่อเข้าถึงคนไข้ให้มากที่สุด ย้อนกลับไป 20-30 ปีเขาเป็นผู้บริหารระดับกลาง ก็เลยมีข้ออ้างผลการวิจัยจากที่นั่นที่นี่ว่า ระบบเดิมไม่ดี หน่วยงานไม่ดี คนไม่ดี
          สุดท้ายก็บอกว่า จะต้องมีหน่วยงานพิเศษ ให้มีเงิน มีกฎหมายคุมเป็นการเฉพาะ ให้มีคณะกรรมการ แต่ขึ้นกับรัฐมนตรี มีเลขาธิการ เขาก็เขียนให้คณะกรรมการมาจากคนหลากหลายสาขา ให้ดูเหมือนมีคนดี แต่คุณรู้ไหมคนพวกนั้นไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก

ถ้าตรงนั้นคือจุดเริ่มต้น แล้วเริ่มขับเคลื่อนกันอย่างไรครับ
          ราวปี 2500 ก็มี พ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ออกมา จากนั้นปี 2535 ก็ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธาน แล้วก็มีคณะกรรมการคนอื่นๆ อีก มีผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจกันว่า ผู้ทรงคุณวุฒิก็คือพวกเขา

กฎหมายไม่ได้ระบุว่าให้มีเลือกตั้งหรือสรรหาก่อนหรือครับ
          ส่วนใหญ่ได้มาจากการแต่งตั้ง ผลก็คือ การให้บริการเดิม เงินเดิม ที่เป็นไปตามแผนงาน หรือตามโครงการ แต่ที่ใหม่นี่ก็คือ ได้เงินมาใช้ในรูปแบบคณะกรรมการ จ่ายเงินโดยการยกมือ ก็เงินที่ได้จากภาษีของพวกเรานี่แหละ
          จากระบบเดิม คือ จะต้องยื่นเรื่องเสนอแบบการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกฯ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ระบบเดิมมันจะมีระดับหรือขนาด มูลค่าโครงการ ว่าอันนี้ใครรับผิดชอบอนุมัติ แต่ของเขา ใช้รูปของคณะกรรมการอนุมัติ ถ้าคณะกรรมการอนุมัติโครงการใดแล้ว ก็ให้อำนาจของเลขาธิการไปดำเนินการ เช่น กรณี เอดส์ให้อำนาจเลขาธิการสามารถจัดซื้อได้เลย วงเงิน 1 พันล้านบาท ระดับเลขาธิการมีอำนาจอนุมัติวงเงินขนาดนี้ เหลือเชื่อไหม

ทำไมถึงให้อำนาจมากมายขนาดนั้น เพื่อความคล่องตัวหรือเพื่ออะไร
          ก็เป็นเรื่องของแต่ละยุค พอเราไปเห็นแทบจะเป็นลม ว่าเขาทำกันขนาดนี้ได้อย่างไร ก็เอาเรื่องนี้ไปปรึกษา ส.ส. เขาก็บอกว่า ถ้าอย่างนี้ต้องแก้ไขกฎหมาย คือมันไม่ใช่เงินของพวกเขา ต้องมีระบบที่ตรวจสอบได้ เพราะเป็นเงินภาษีของประชาชน
          ดิฉันก็ได้ยินมานะว่า มัน มีการตั้งบริษัทเป็นนอมินีรับงานกันไป อันนี้ก็เป็นข่าวที่ลือกันมา ว่าเขาค้าขายกันเอง แต่มันตรงกับที่คนพวกนี้ทำไมถึงชอบพูดเรื่องเงินกันจัง ส่วน หนึ่งเพราะเคยอยู่สำนักนโยบายฯ ก็เลยรู้ว่าจะทำแผนอย่างไร แล้วจะเอาเงินจากไหน ก็เลยมาเขียนกฎหมายให้เป็นแบบนี้ คือเขาศึกษามาก่อนจนรู้ช่องทางการถ่ายโอนเงิน
          ที่นี้พอมาถึงการอนุมัติ ก็จะต้องเสนอโครงการเข้าไป อย่าง สสส. ก็รณรงค์โครงการนั้นโครงการนี้ เงินก็ออกง่าย ยิ่งผ่านมูลนิธิก็ยิ่งง่ายได้เป็นก้อน เช่น ให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มันก็ง่ายแต่ไม่ใช่แค่แสนหรือสองแสนนะ มันออกทีหลายๆ ล้าน
          มีอยู่โครงการหนึ่งที่เขาอนุมัติกัน ชื่อโครงการให้ความรู้ด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมกับผู้ประกอบการ 30 ล้านบาท ทั้งที่กฎหมายแรงงานเขาก็กำหนดให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ที่จะต้องให้ความรู้ เรื่องนี้กับพนักงานของตนเองอยู่แล้ว...ฉะนั้นในทางปฏิบัติจริง งบจึงถูกดึงออกไปทั้งที่ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
          คนที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้เขาข้องใจ เพราะโครงการที่ให้ความรู้แก่พนักงานไม่ได้ แต่กับผู้ประกอบการกลับได้ แต่พอไปดูเราก็รู้ว่า คนขอโครงการกับคนอนุมัติโครงการมันคนในกลุ่มเดียวกัน เช่น สสส. อนุมัติให้มูลนิธิแพทย์ชนบท แล้วมูลนิธิฯ ก็สนับสนุนชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งชมรมก็ไม่ได้มีกฎระเบียบอะไรที่เข้มแข็งในการตรวจสอบการใช้เงิน
          แต่กรณี โครงการไทยเข้มแข็ง ทั้งที่ยังไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น ชมรมแพทย์ชนบท ก็ร้องขอให้มีการตรวจสอบ ตั้งกรรมการสอบ ก็เอาคนจากเขานั่นแหละ จากมูลนิธิ จากตระกูล ส. ทั้งหลายนั่นแหละมาตรวจสอบ สุดท้ายก็ไม่มี แต่ในตอนนั้น มันเหมือนกับการทำให้กระทรวงสาธารณสุขอ่อนแอ ที่เขาคุยกันภายใน เรื่องนี้จริงๆ มันเป็นเรื่องของการตั้งปลัดกระทรวงที่ คุณวิทยา (แก้วภราดัย) ไม่เอาตามเขา ส่วนจะเป็นใครก็ไปสืบเอาเอง

ไม่ต่างจากสงครามกำลังปะทุในกระทรวงสาธารณสุข?
          ใช่ ...เป้าหมายของเขาก็คือ ทำให้คนอ่อนแอ แต่ให้มวลชนภายนอกชื่นชมว่า เขาเป็นคนดี เขาจะมีเครือข่าย ลงลึกถึงชุมชน ก็ได้ไปคนละนิดหน่อย เช่น สร้างเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน ก็ได้มาล้านสองล้าน รวมทั้งอาจจะโยนเศษเงินให้สื่อเพื่อทำเคสสตัดดี้ มีนะ สื่อดังซะด้วย ได้เคสติดตามผู้ป่วย กรณีเดียว 5 หมื่นบาท พอได้เงินจากเขาก็ต้องเชียร์เขา ประชาชนกลุ่มนั้นก็จะออกมาปกป้องเขา

ถึงตรงนี้คุณหมอคิดจะรื้อแล้วใช่ไหม
          รื้อได้สิ (เสียงสูง) ก็ในเมื่อเขามาจากกฎหมาย เราก็เอากฎหมายนั่นแหละจัดการเขา เราจะแก้ที่กฎหมาย เราจะทำความจริงให้กระจ่าง เราจะประกาศให้คนที่ได้รับผลกระทบแจ้งมาที่เว็บไซต์เรา (www.thaiclinic.com) แล้วเราก็จะรวบรวมนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทำการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 3 กุมภา เราก็ไปยื่นให้ ปปช. ตรวจสอบในเรื่องของการใช้เงินที่รั่วไหล
          ของ สปสช. เราทำมากกว่านั้น เราส่งเรื่องฟ้องศาลปกครองด้วย นี่ คือวิธีการทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งก็คือการตรวจสอบ ถึงแม้ว่า ศาลปกครองไม่รับฟ้อง หาว่าเราไม่ใช่ผู้เสียหาย ทั้งที่เงินนั้นเป็นเงินภาษี แต่เราก็อุทธรณ์ไป

แล้วจะทำอย่างไรต่อละครับ ถ้าที่สุดแล้วศาลปกครองไม่รับ
          เราก็เอาไปฟ้องประชาชน เรายื่นศาลประมาณปลายปี 2552 อยากให้มีการตรวจสอบเช่นเดิม เราเชื่อว่าเขาไม่มีอำนาจ คำสั่งอนุมัติงบประมาณผิดกฎหมาย

ปกติมันต้องแบบไหนครับ การจัดซื้อจัดจ้าง
          ก็ต้องเอา 2,500 บาทต่อหัวส่งไปให้ ปกติการจัดซื้อก็ต้องไปดูว่า ตรงนั้นมีประชากรเท่าไหร่ มีปัญหาอะไร ขาดอะไร ซ่อมอะไร ไม่ใช่ไปสั่งซื้อให้เขาแบบเหมารวมคิดว่าเขาควรจะได้ เราจึงเห็นว่า ที่ สปสช. ทำนั้นไม่มีอำนาจในการใช้เงิน สอง ในส่วนของการใช้อำนาจก็เกินระบบบริการราชการแผ่นดิน
          สาม การทำโครงการพิเศษ คือโครงการแนวดิ่ง ที่รวบเงินไว้กับตัวเอง 2,500 ต่อหัว เกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เอามาเก็บไว้ที่ตัวเอง แต่จ่ายให้โรงพยาบาลน้อยมาก ประมาณ 500 บาทต่อหัวส่งไปเป็นผู้ป่วยนอก แต่เงินส่วนอื่น จะจ่ายให้ทีหลัง คือ ทำงานก่อนแล้วส่งบิลไปเก็บเงิน แต่ที่เป็นปัญหาสำหรับโรงพยาบาลก็คือ ส่งบิลไปเบิกแล้วได้ไม่ครบ
          อย่างเวลาผ่าตัดไส้ติ่ง บาง ทีมันมีอาการแทรก โรงพยาบาลเขาสรุปมา 5 หมื่นบาท แต่เขาก็อาจจะจ่ายแค่ 5 พันบาท เขาบอกว่าแต่ละกรณีเขามีราคากลาง มีคณะกรรมการพิจารณา โรงพยาบาลก็ติดลบ ผลจากตรงนี้ก็คือ ไม่มีเงินซื้อยา โรงพยาบาลก็ล่มจม ไม่มีค่ายา ไม่มีค่าเวรพยาบาล อยู่ในภาวะวิกฤติ
          เราพยายามเสนอให้ผู้ที่มีอำนาจแก้ไข แต่ก็ไม่ทำ จนทำให้ตอนนี้ โรงพยาบาลกว่า 300 แห่ง จากทั้งหมด 800 กว่าแห่ง ไม่มีงบค่ายา ไม่มีเงินจ่ายค่าเวรพยาบาล ทุกวันนี้แพทย์ทำงานโดยการเสียสละ
          ดิฉันถึงศรัทธาหมอตามโรงพยาบาลต่างจังหวัดมากที่ไม่ลาออกไป แต่ปัญหาก็คือ มันมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์มากขึ้น เพราะ มันมีส่วนเสริมขึ้นมาอีก ก็คือการส่งเสริมให้ฟ้องหมอ มูลนิธิฯ มีทนายความกว่า 40 คนพร้อมให้บริการคนไข้ทำเรื่องนี้ มันครบวงจร ทำเหมือนจะให้ภาครัฐล่มสลาย ให้ประชาชนไม่มีที่พึ่ง เพื่อสุดท้ายจะหันไปหา คือ ภาษาเขา เขาเรียกว่า ‘สถานการณ์สุกงอม’ พวกเขาก็จะได้เข้ามาบริหารเต็มตัว

งบประมาณที่อยู่ในมือตระกูล ส. ตอนนี้ประมาณเท่าไหร่ครับ
          เกิน กว่าแสนล้าน อยู่ในมือเขา รวมกับ สสส. อีกหลายพันล้าน งบ สช. งบ สวรส. ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน ถ้านับกันจริง ก็น่าจะอยู่ที่ 1.2-1.3 แสนล้าน แต่หน่วยงานที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งโรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลสังกัด กทม. สังกัดมหาวิทยาลัย รวมแล้วยังน้อยกว่าเยอะ


เรื่องการจ่ายค่ารักษาพยาบาลจาก สปสช. ที่กำหนดค่าบริการตามราคากลาง มีผลกระทบอะไรอีก
          มันกระทบอยู่แล้ว อย่างการวางแผนเพื่อพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล มันวางแผน หรือคาดการณ์อะไรไม่ได้เลย ในเมื่อไม่รู้ว่า ที่สุดแล้วผลประกอบการจะออกมาเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนมันกำหนดได้ เพราะงบที่ลงไปมันค่อนข้างชัด เพราะมันกำหนดจากอัตราการเจริญเติบโตของประชากร งบลงไปโดยตรงบริหารจัดการได้ ประเมินผลและตรวจสอบได้ชัดเจน เสียหายตรงไหนก็รู้
          แต่ ตอนนี้สถานีอนามัยได้งบไป 16 บาทต่อหัว นี่ข้อมูลจาก อสม. นะ ตอนนี้ อสม. ขอให้รัฐบาลเข้าไปจัดการกับ สปสช. ได้แล้ว แต่เราก็รู้ว่า เขาจะเอาผลวิจัยจาก สวรส. มาอ้างว่าคนพึงใจจะให้มีต่อระบบประกันสุขภาพแห่งชาติมาก ก็ไปแปลงว่า เห็นโครงการศึกษาวิจัยนานาชาติ อันนี้ถ้าใครไม่รู้ ก็ไม่รู้หรอกว่า โครงการที่ว่ามันอยู่ภายใต้ สวรส. เขาไปเอางบจากต่างประเทศมาได้ ข้อมูลก็บอกว่านานาชาติชื่นชม ทั้งที่มาจาก สวรส. ก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาไม่สำรวจแบบเอาตัวชี้วัดจริง คือ ‘ภาวะสุขภาพประชาชน’ แต่ไปสำรวจเอาความพอใจของประชาชน
          ภาวะสุขภาพประชาชนนั้นเราพบว่าต่ำลง เด็กทารกอายุต่ำกว่า 28 วันยังมีอัตราการตายสูง บาง โรคก็ไม่มีระบบการป้องกันรักษา เช่น สารพิษ มลพิษ ในน้ำในอากาศ เพราะอะไร ก็เพราะโรคพวกนี้เขาไม่ทำ เพราะมันราคาถูก แต่จะไปเน้นซื้อน้ำยาล้างไต เพราะมันเป็นล็อตใหญ่

น้ำยาล้างไตราคาเท่าไหร่ครับ ในการซื้อแต่ละครั้ง
          ไม่ทราบ แต่มันต้องใช้ต่อเนื่อง แต่ถามว่าผู้ป่วยไต ต้องได้รับการดูแลไหม ก็ต้องได้รับการดูแล แต่เมื่อมีงบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งหมอ พยาบาล ที่มีความรู้ มีศักยภาพพอ ก็ไม่ได้ทำ กลับมีเอกชนมาช้อนเอาโครงการนี้ไปทำแทน

เท่าที่ฟังคุณหมอมานี่ ตกลง ตระกูล ส. ทั้งหลายมีอะไรดีบ้างไหม
          ไม่รู้สินะ เรายังไม่เคยเจอ มันต้องเข้าใจนะว่า สุขภาพของประชาชนทุกวันนี้ไม่ได้ดี แต่ เขาก็จะคุยว่า ผ่าตัดฟรี หัวใจฟรี ล้างไตฟรี แต่ตรงนี้มันก็ทำให้ความรับผิดชอบตนเองเบื้องต้นมันลดลง เพราะประชาชนรู้ว่าอะไรๆ ก็ฟรี ก็เลยแห่มารักษาพยาบาลจนมากเกินไป เพราะไม่ต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย ก็เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปหมด โอ เค...เข้าถึงบริการได้เร็ว แต่อดีตก็ทำได้ ไม่มีสตางค์ก็เข้าได้ เพระการสำรวจประชากรมีการรับรองอยู่ว่าใครมีใครจน แต่มันไม่มีหน่วยพิเศษไปให้การบริการ เพราะไปทีก็ได้งบ

อันนี้สังกัด สปสช. ด้วยหรือเปล่า
          สัมพันธ์กันอย่างไม่รู้ แต่เป็นเครือข่ายเดียวกัน คือได้เงินพิเศษ ก็เลย เกิดยูนิตพิเศษเต็มไปหมด แล้วทีนี้มันจะไปสร้างปัญหาให้กับ โรงพยาบาลในพื้นที่ เพราะการรักษามันจะมีการติดตามผล คนรักษาคนหนึ่ง คนตามผลอีกคน มันก็มั่วไปหมด อันนี้ สปสช. เป็นคนกำหนดว่า ทำไมต้องทำ หมอเองก็ทำเพราะมันได้เงินเพิ่ม
          8 ปีตั้งแต่มี สปสช. งบประมาณเพิ่ม แต่หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขตกต่ำ ภาวะสุขภาพของคนลดลง โครงการชวนเชื่อ เกิดขึ้นทุกวัน

ไหนว่าเขาทำงานแบบเชิงรุก?
          รุกของเขาก็คือ โครงการพิเศษ แต่ มันล้าหลัง ใช้เงินมาก ทั้งที่เชิงรุกก็คือ ให้คนไม่ป่วย แต่นี่กลับเปิดทางใช้งบอย่างมหาศาล ซึ่งไม่น่าจะเรียกว่ารุก น่าจะเรียกว่าล่ามากกว่า เขาพูดโฆษณาทุกวัน แต่วัดผลไม่ได้ อย่าง สสส. ให้เงินไปรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ 10 ปี ใช้เงินไปน่าจะเกิน 2 หมื่นล้าน แต่ผลออกมามีคนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น อันนี้มันต้องยุบแล้ว
          จาก การตรวจสอบการใช้เงิน เช่น วิ่งรณรงค์ จัดเวที ทั่วไปเพียงเล็กน้อย แต่เงินส่วนใหญ่เอาไปประชุม สัมมนา จัดตั้งคนมาเป็นเครือข่ายตนเอง และก็น่าเชื่อว่าเอามาเคลื่อนไหวทางการเมือง ในรูปแบบต่างๆ ก็เลยมี คำถามว่าใช้เงินตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เงินเดือนก็กำหนดกันเองแบบสูงๆ ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินเดือน 2-5 แสนบาท แต่เขาก็อ้างว่าองค์กรอื่นก็สูงทั้งนั้น เพราะดูแลเงินจำนวนมาก
          มี เรื่องหนึ่งที่ดิฉันขอบคุณเขามาก คือ เรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วย นั่นแหละ เพราะตัวกฎหมายมันชัดเจนมาก มันเปลือยตัวตนของพวกเขา ที่พยายามจะดึงเม็ดเงินไปรวมไว้ ด้วยการที่ให้ตั้งกองทุน แล้วก็ออกระเบียบคล้ายๆ กับที่ผ่านมา ดิฉันก็พยายามหาดูว่าใครเป็นต้นเรื่อง สุดท้ายก็เจอ ก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่ที่เจอมากกว่านั้นก็คือ วันที่ 22 มิถุนา 2553 หมอประเวศ พูดเรื่องปรองดองกับการปฏิรูป ที่ว่าเป็นคนละเรื่องนั่นแหละ
--------------------------------------------------------------------------------------------

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
Re: บทความต้องอ่าน "ระวังปลวกแทะ กองทุนอิสระ"
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 21 พฤศจิกายน 2010, 17:04:05 »
ตอนที่ 3
กองทุนอิสระ
แก้วสันต์ อติโพธิ
http://bit.ly/ch1k18
ครับ... ‘กองทุนอิสระ’ ที่เป็นโฟกัสของเราในฉบับนี้ ก็คือกองทุนจากเงินสาธารณะที่อยู่ในการครอบงำของบรรดาเอ็นจีโอซุ้มต่างๆ เท่านั้น จะไม่รวมถึงกองทุนอิสระที่ใช้กันในราชการอิสระอื่น เช่นกองทุนค่าโครงข่ายโทรศัพท์หลายหมื่นล้านของ กทช. ที่แม้จะมีปัญหาความรั่วไหลเหมือนกัน แต่ก็ขอแยกไว้ไม่พูดถึงเนื่องจากไม่มีลักษณะผลักดันขยายตัวเหมือนกองทุนเอ็น จีโอทั้งหลาย
          กองทุนอย่างนี้ มีปัญหาต้องชำแหละแก้ไขกันอย่างไรนั้น ผมก็ขอนำเสนอในทำนอง ปุจฉา–วิสัชนา เช่นเคย กล่าวคือ
 
ถาม กองทุนอิสระของเอ็นจีโอมีลักษณะอย่างไร?
ตอบ ก่อนอื่น ต้องมีเงินหลวงไหลมากองรวมกันก่อน แล้วก็มีระบบบริหารที่เป็นอิสระจากราชการ จนอิสระทั้งระเบียบ ทั้งการอนุมัติ ตรวจสอบ จะมีคณะกรรมการแล้วก็เลขาฯใหญ่สั่งจ่ายเงินได้คนเดียว ระดับเดียว  วันเดียวได้เป็นสิบล้านร้อยล้าน นี่คือความเป็นกองทุนอิสระ

ถาม แล้วความเป็นเอ็นจีโออยู่ที่ตรงไหน
ตอบ อยู่ ที่การเข้าไปกลุ้มรุม ได้ตำแหน่ง ได้งานทำ ได้สัญญาจ้างกันอย่างง่ายดาย โดยมีเอเยนต์เข้าไปยึดกุมอยู่ในแกนขององค์กรนั้นๆ ได้อย่างเป็นหลักเป็นฐาน อาจมีพันธมิตรจากมหาวิทยาลัย หรือข้าราชการโดยตำแหน่ง มาร่วมเอื้อประโยชน์และแบ่งประโยชน์อยู่ด้วย

ถาม อาหารประจำวันมีอะไรบ้าง
ตอบ เมนู หลักก็คืองานศึกษาวิจัยต่างๆ นี่แหละคุณเอ๋ย ที่ให้ซุ้มเอ็นจีโอของตนรับสัญญาตรง จากกองทุนก็มี หรือให้มหาวิทยาลัยรับสัญญาไป แล้วเอาไปส่งช่วงต่อให้เอ็นจีโอทำ โดยมหาวิทยาลัยหักหัวคิวก็มี

ถาม แล้วทำงานวิจัยนี่มันผิดตรงไหน
ตอบ ต้อง เริ่มตรงงานที่มอบหมายให้ทำก่อนว่า เรายอมเอาเงินหลวงมากองไว้ให้ทำอะไร อย่างภาษีบาปที่ให้ สสส. ต่อท่อดูดเข้ามาป็นกองทุนอิสระปีละ 2 พันล้านบาทนั้น กองไว้ให้ทำอะไร ก็เริ่มกันจากที่ว่า จะยับยั้งการทำลายสุขภาพของคนไทยด้วยเหล้าและบุหรี่ หรือสิ่งเสพติดทั้งปวงให้ได้ นี่คืองานของคุณ ที่ต้องคิดต้องวางเป็นยุทธศาสตร์ เป็นโครงการหลักๆ ก่อน แล้วจึงมีงานวิจัยอันจำเป็น เป็นแผนงานหนึ่งในนั้น อย่างนี้จึงจะเป็นงานวิจัยที่มีที่มาที่ไป ไม่ใช่ขอให้แจกกันตามอำเภอใจว่าเรื่องนั้นก็ดี เรื่องนี้ก็ใช้ได้ แบ่งกันเป็นก้อนเป็นซุ้มไปบริหารกันเลย

ถาม คราวท่าน ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ท่านไปดูแล สสส. ก็พบปัญหาอย่างนี้ใช่ไหม
ตอบ ใช่ ครับ ผมสืบค้นแล้ว ปีนั้นงบวิจัยถูกแบ่งเป็นก้อนละ 200 ล้าน และจำกัดตัวอนุมัติโครงการเป็นก้อนๆ มีกรรมการนั่งรับสัญญาด้วยตนเองเลย อย่างนี้อาจารย์ปุระชัย ท่านจะไปยอมได้อย่างไร ผมเคยอ่านรายงานของ สสส. ก็เห็นวิจัยกันเปะปะไปหมด ไปเรื่องจิตวิญญาณไปโน่นเลยก็มี

ถาม เงินภาษีสรรพสามิตนี่ ยังถูกดูดไปที่ทีวีไทย ทีวีอิสระด้วยใช่ไหม?
ตอบ นั่น ก็ต่อท่อดูดจากกรมไปปีละเป็นพันๆ ล้านเลยเช่นกันครับ เอ็นจีโอเข้าไปเต็มหมด ตอนสรรหากรรมการ สรรหาสภาผู้ชมอะไรนี่ มีแต่โผเอ็นจีโอล็อคคนไว้ทั้งนั้น อย่ามาเถียง ผมได้โผไว้ดูเล่นหลายใบทีเดียว เงินก้อนทีวีไทยนี่ก็ถือเป็นกองทุนอิสระ ที่อยู่ในการครอบงำของเอ็นจีโอเช่นกัน ลองตรวจกันให้ลึกว่าใครเป็นคนรับงานรับเงินจริงๆ จะเจอซุ้มเอ็นจีโอเป็นรังปลวกเลย

ถาม เงินพวกนี้ สตง. ได้เข้ามาตรวจไหม
ตอบ ก็ ตรวจทางบัญชีเท่านั้นครับ ส่วนตัวสัญญาตามโครงการต่างๆ นานานั้น ก็สุ่มตรวจบ้างว่ารัดกุมไหม   แต่การตรวจลึกลงไปว่าเป็นงานที่ควรทำหรือเปล่า เปะปะ สูญเปล่า ดังที่เรียกว่าตรวจประเมินผลงานเลยนั้น สตง. ตรวจไม่ได้ ถ้าตรวจกันจริงๆ อย่างกองทุนประกันสุขภาพนี่เละแน่นอน

ถาม นั่นก็เป็นกองทุนอิสระในซุ้มเอ็นจีโอเหมือนกันหรือครับ
ตอบ เป็น แหล่งหากินหนึ่งทีเดียว รัฐบาลตัดเงินงบประมาณมาให้โรงพยาบาลในโครงการ 30 บาท โดยให้สำนักงานประกันสุขภาพรับบริหารเงินเท่านั้น แต่สำนักงานกลับกันเงินไปทำงานสาธารณสุขอื่นๆ ซ้ำซ้อนกับของกระทรวงสาธารณสุข จนเงินเหลือไม่พอจ่ายให้โรงพยาบาลเป็นร้อยแห่ง อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
          ถ้าตรวจการใช้เงินลึกลงไปว่าใช้นอกเรื่องนอกหน้าที่ด้วย อย่างนี้ก็เสร็จแน่ๆ ถ้าลากออกมาว่าเงินที่ใช้นอกลู่นอกทางนี้ มีใครได้ไปบ้าง คุณจะเจอซุ้มปลวกเอ็นจีโอด้านสาธารณสุขอีกแน่นอน

ถาม เห็นเขาว่าจะตั้งกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขอีกนี่ครับ
ตอบ นั่นก็ อีก เงินจะเป็นพันๆ ล้านต่อปี บังคับเก็บจากทุกโรงพยาบาล ทุกคลินิก ทุกร้านขายยาเลย เงินเหลือก็ไม่ต้องคืน เอาไปทำโน่นทำนี่ จ้างกันเองทำกันเองสนุกมือแน่นอน ผู้เสียหายอะไรนั่นแค่ได้ใบบุญบ้างเท่านั้น

ถาม ล่าสุดก็มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมอีกนะครับ
ตอบ เอ็น จีโอเข้าไปเต็มเลย มีอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย 2 คน ได้เงินประเดิมก่อน 30 ล้านบาท ออกแบบโลโก้สำนักงานเสร็จแล้ว กำลังจะตัดสูทองค์กร เสร็จแล้วก็จะกันเงินไปดูงานต่างประเทศ นี่ก็กำลังคิดโครงการสัญจรต่างๆ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนเนื้องานตรวจรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลายสิบฉบับ ให้เสร็จใน 60 วันนั้น จะทำกันได้ไหม ด้วยแหล่งความสามารถใด อันนี้ยังไม่วางแผนกันเป็นเรื่องเป็นราวเลย
          อิสระที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แล้วเงินเต็มมือด้วย จะเละอีกหนึ่งองค์กรแน่นอน นี่ผมก็รอดูองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอีกองค์กรหนึ่ง

ถาม มาอีกองค์กรแล้วหรือครับ
ตอบ เขาจับมือกันเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และนี่ก็กำลังร่างกฎหมายกันอยู่ ถ้างานไม่ชัดและเงินมากอีก ก็เละแน่ๆ ปลวกรุมเต็มอีกตามเคย

ถาม ฟังดูแล้วกองทุนอิสระ องค์กรอิสระพวกนี้ ควรต้องทบทวนแก้ไขอย่างไรบ้าง?
ตอบ ต้อง ทบทวนหมดเลยครับว่า จะให้ทำงานอะไรกันแน่ ต้องออกมาให้ชัดเจนที่สุดก่อน อย่างองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมนี่เลิกไปเลย แก้ผิดจุดที่ให้มาตรวจซ้อนตรวจแบบนี้ แก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเลย ให้เอกชนเจ้าของโครงการวางเงินค่าจ้างผู้ชำนาญการ วิเคราะห์ ให้ไว้กับราชการ แล้วราชการก็เลือกบริษัทผู้ชำนาญมาทำรายงานเสนอให้รัฐพิจารณาเลย ทำอย่างนี้ก็จะได้รายงานที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ตั้งแต่แรกแล้ว

ถาม แล้วองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคล่ะครับ
ตอบ ต้อง ให้งานอย่างจำกัดชัดเจน คือ รายงานข้อมูลผู้บริโภคต่อสาธารณะเท่านั้นอย่าให้ไปขี่คอตรวจสอบ อย. เขาให้มีเงินสนับสนุนเฉพาะงานวิจัยคุณภาพสินค้าเป็นเรื่องๆ เท่านั้น

ถาม ทีวีไทยล่ะครับ
ตอบ อังกฤษ ต้นตำรับ บีบีซี เขาทำทีวีใหม่ๆ ด้วยกลไกใหม่แล้ว คือ ใช้วิธีว่าจ้างบริษัทเอกชน มีกรรมการคุมเป้าหมายและคุณภาพ พร้อมราคาทุนชัดเจน ประเมินผลโดยตรงจากผู้ชม ถ้าผ่านเกณฑ์ก็จะเพิ่มเงินให้เป็นทำนองโบนัสรายชิ้นงาน วิธีนี้น่าสนใจมาก ซุ้มปลวกหายไปเลยแน่นอน

ถาม ส่วน สสส. นี่ทำอย่างไรดี
ตอบ ผม ว่าต้องตัดท่อที่ดูดภาษีออกไปโดยอัตโนมัติทิ้ง เอาเนื้องานมาว่ากันเป็นปีๆ แล้วเหมาเงินเป็นก้อนไปทำ ได้เงินไปแล้วต้องจ้างวานเองโดยตรง ห้ามตัดงานให้มหาวิทยาลัยไปจ้างใครต่ออีกที แก้อย่างนี้งานถึงจะมาก่อนเงิน และเงินจะไปที่งานจริงๆ

ถาม ความรั่วไหลในงานสำนักงานประกันสุขภาพล่ะครับ
ตอบ มัน รั่วไหลไปยังงานที่ไม่ใช่หน้าที่ รัฐมนตรีสาธารณสุขมีอำนาจมีหน้าที่ตรวจสอบสั่งแก้ไข สั่งระงับได้อยู่แล้ว โรงพยาบาลเขาขาดสภาพคล่อง ร้องกันเป็นร้อยแห่งทำไมไม่ทำผมก็ไม่ทราบ เห็นแต่หน้าบนคัทเอาท์โฆษณาอยู่ทุกวัน


          เสียภาษีแล้วไม่ได้งาน รัฐก็ไม่ได้เรื่อง เอ็นจีโอก็ไม่ได้ความ อย่างนี้แย่ (ชิบหาย) ชัดๆ

acbotty1414

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
Re: บทความต้องอ่าน "ระวังปลวกแทะ กองทุนอิสระ"
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 07 พฤษภาคม 2012, 16:45:06 »
น่าสนใจนะครับๆ

leemlab

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
Re: บทความต้องอ่าน "ระวังปลวกแทะ กองทุนอิสระ"
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 24 พฤษภาคม 2012, 15:10:26 »
ขอบคุนคับ  กำจัดมันให้สิ้นซาก