ผู้เขียน หัวข้อ: “ฟ้าทะลายโจร”อย่าไปหวังให้ใครยอมรับ ประชาชนพึ่งพาตัวเองเริ่มป่วยให้ใช้เลย  (อ่าน 290 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ออกมาสนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรควบคู่กับยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีภาวะอักเสบ

คำถามสำคัญประการถัดมามีอยู่ว่าเมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสนับสนุนฟ้าทะลายโจรเช่นนี้แล้ว จะทำให้เกิดการใช้ฟาทะลายโจรในผู้ป่วยได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงหรือไม่ และเป็นทางออกของการลดความรุนแรงของโรคได้จริงหรือไม่

คำตอบที่ได้คือ...ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคอีกมาก หากยังมีการกีดกั้นทางวิชาชีพการแพทย์แผนไทยให้มามีส่วนร่วมกับการรักษาโควิด-19

เพราะประการหนึ่งคือ ยาฟาวิพิราเวียร์ หลังจากได้มีการนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้มีการตีพิมพ์ในวารสารยาต้านจุลชีพและคีโมบำบัด Antimicrobial Agents and Chemotherapy ของประชาสังคมอเมริกันเพื่อจุลชีววิทยา (American society for microbiology) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 ยาฟาวิพิาเวียร์ สามารถต้านเชื้อโควิด-19 ในหลอดทดลองได้น้อยมาก

ในทางตรงกันข้ามในอีกประการหนึ่งคือ ฟ้าทะลายโจรซึ่งถูกกีดกันมาตลอด 2563 ว่ายาที่อาจมาช่วยรักษาโควิด-19 ได้ว่าเป็นเฟกนิวส์ จึงต้องถูกไล่ให้ไปดำเนินการพิสูจน์ตามขั้นตอนว่าสามารถที่จะยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ในระหว่างที่มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถึงแม้ว่าสถานภาพของฟ้าทะลายโจรจะอยู่ในฐานะยาสามัญประจำบ้านที่ใช้กับโรคหวัด ไอ เจ็บคอ และลดไข้อยู่แล้วก็ตาม

จนกระทั่งวันที่ 12 เมษายน 2564 วารสาร Natural Products ซึ่งอยู่ภายใต้ประชาสังคมเคมีอเมริกัน American Chemical Society (ACS Publications) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยของคณะนักวิจัยไทย พบว่าการผลการทดลองเนื้อเยื่อปอดของมนุษย์กับเชื้อโควิด-19ในหลอดทดลอง พบว่าฟ้าทะลายโจรและสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ (สารสกัดเดี่ยวซึ่งสกัดมาจากฟ้าทะลายโจร) สามารถลดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งยังบว่าฟ้าทะลายโจรแบรวมๆมีความปลอดภัยต่อเนื้อเยื่ออวัยวะอื่นๆ และปลอดภัยมากกว่าสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ด้วย

สอดคล้องกับการนำเสนอของ นายแพทย์กุลธนิต วนรัตน์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รายงานเมื่อเดือนมกราคม 2564 ในการ “เทียบหน่วยเดียวกัน” ในงานวิจัยของ ดร.สุภาพร ภูมิอมร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ได้รายงานว่าผลการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส (Viral Inactivation Test) ผ่านค่า IC50 (ยิ่งตัวเลขนอ้ยยิ่งแสดงว่ายังยั้งโควิด-19 ได้ดี) พบว่า

“สารสกัดหยาบฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโควิด-19 มากกว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ (สารสกัดเดี่ยวแยกออกมาจากฟ้าทะลายโจร) โดยค่า IC50 ของสารสกัดฟ้าทะลายโจรมีค่า น้อยกว่า 1 ไมโครกรัมต่อมิลลิตร ในขณะที่ค่า IC50 ของสารแอนโดรกราโฟไลด์อยู่ที่ 15.6 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร”

ความหมายแปลเป็นภาษาชาวบ้านคือผลการทดสอบในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดหยาบฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโควิด-19 ได้ดีกว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ถึง 15 เท่าตัว !!!!

คำถามคือผลการทดสอบใน “หลอดทดลอง” ในเดือนเดียวกันคือเมษายน 2564 ที่ออกผลตรงกันข้ามกัน คือ ฟ้าทะลายโจรยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ แต่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยับยั้งเชื้อโควิด-19 ไม่ได้ ความจริงในประการนี้ แพทย์แผนปัจจุบันจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

ซึ่งแม้ว่าหลายคนอาจจะวิจารณ์ว่าข้อมูลข้างต้นกระทำในหลอดทดลอง ยังห่างไกลกับการยอมรับการใช้ในมนุษย์ทั้งคู่ แต่มีข้อที่น่าสังเกตคือ โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มีใครจะวิจัยในมนุษย์อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ตอนแรก

เพราะการวิจัยที่สมบูรณ์เกี่ยวกับกลไกการต้านไวรัสได้หรือไม่ ก็ต้องเร่ิมต้นจากการทดสอบในหลอดทดลอง เมื่อการทดสอบในหลอดทดลองประสบความสำเร็จจึงจะมีโอกาสทดสอบต่อไปในสัตว์ทดลองโดยไม่ผิดจริยธรรม และเมื่อการทดสอบในสัตว์ทดลองสำเร็จจึงจะสามารถกำหนดปริมาณยาและขนาดของยาในการทดสอบในมนุษย์เบื้องต้นได้โดยไม่ผิดจริยธรรม และเมื่อทดสอบความปลอดภัยแล้ว จึงจะมีการทดสอบต่อไปในการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเพื่อเปรียบเทียบฤทธิ์ทางยาของสารตัวนั้นโดยตัดตัวแปรเรื่องความเชื่อหรือศรัทธาตัวยานั้นออกไป ใช่หรือไม่

แต่ในขณะที่โรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แพทย์แผนปัจจุบันจะตัดสินใจเลือกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที เพราะคิดว่าเป็นยาที่ต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ (ถึงแม้ในเวลาต่อมาจะพบภายหลังว่าไม่สามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้) แต่การกีดกั้นฟ้าทะลายโจรตั้งแต่แรก ไม่ให้ใช้แม้กระทั่งผู้ป่วยที่เฝ้าดูอาการโดยไม่ได้รับยาอะไรเลยนั้น มาตรฐานการตัดสินใจเลือกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ กับการไม่ให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรตั้งแต่แรกนั้น เป็นอคติและอัตตาทางวิชาชีพหรือไม่

ถึงแม้ เรื่องอดีตไม่ต้องพูดกันเพราะมันก็ผ่านมาแล้วเป็นปี เอาเป็นว่าปี 2564 เรารู้มากขึ้นแล้ว ประเทศไทยควรจะตัดสินใจต่อไปอย่างไร

โดยเฉพาะเมื่อฟ้าทะลายโจรซึ่งประสบความสำเร็จในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 ในหลอดทดลอง ตรงกันข้ามกับยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไม่ประสบความสำเร็จในหลอดทดลอง อะไรควรจะได้ไปต่อหรือหยุดใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ระหว่าง “ฟ้าทะลายโจร” กับ “ยาฟาวิพิราเวียร์”

ขอยกตัวอย่างกับกรณีของ “ยาหมอแสง” ของ นายแสงชัย แหเลิศตระกูล เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่มีประชาชนจำนวนมากนับหมื่นแสนคนต่อวันเข้ารับยาสมุนไพรฟรีเพราะเชื่อว่ารักษาโรคมะเร็งได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้นำสมุนไพรมาวิจัยใน “หลอดทดลอง” แล้วพบว่ายาหมอแสงไม่สามารถฆ่าหรือยับยั้งเซลล์มะเร็ง 7 ชนิดได้ในหลอดทดลอง โดยในเวลานั้นทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกไม่ได้สนใจกลไกอย่างอื่นที่อาจช่วยผู้ป่วยมะเร็งได้ด้วยซ้ำ เช่น การเสริมภูมิคุ้มกัน การต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลชีพฯลฯ เพราะการวัดในหลอดทดลองสนใจกลไกเฉพาะการฆ่าหรือยับยั้งเซลล์มะเร็งใช่หรือไม่

เช่นเดียวกับ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ที่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 ก็เพราะมีความสนใจในกลไกการยับยั้งหรือฆ่าเชื้อโควิด-19 ด้วยสมมุติฐานในเรื่องที่เชื่อว่ายาฟาวิพิราเวียร์น่าจะสามารถยับยั้งเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ ต่อมานับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2564 งานวิจัยระบุว่าไม่ประสบความสำเร็จในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ ประเทศไทยควรจะใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไปโดยที่ไม่สามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 หรือไม่อย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยาฟาวิพิราเวียร์” มีราคาที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณเม็ดละ 120-150 บาท หากเป็นไปตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นชอบในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 (หลังงานวิจัยพบว่าไม่ประสบผลสำเร็จในการฆ่าเชื้อโควิด-19 ในหลอดทดลอง) ว่าจะซื้อยาฟาวิพิราเวียร์สะสมในคลังยาถึง 3.5 ล้านเม็ด คิดมูลค่าได้ 420 ล้าน-525 ล้านบาทนั้น หากไม่ได้ผลเช่นนี้แล้วประเทศชาติจะยังคงใช้ยานี้ต่อไปด้วยเหตุผลใดก็เรื่องหนึ่ง แต่การที่ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาเพราะคิดว่าสามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้นั้น “เสียโอกาสผู้ป่วย” ที่จะได้รับยาที่สามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าหรือไม่ ยังไม่นับผลข้างเคียงของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้ด้วย

แต่ก็ไม่ได้แปลว่ายาฟ้าทะลายโจรจะไปใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบ หรือไวรัสลงปอดแล้ว เพราะในคัมภีร์ตักกะศิลาว่าด้วยโรคระบาดหรือโรคห่านั้น ยารสขมและเย็นอย่างฟ้าทะลายโจรนั้น เป็นเพียงยาขั้นแรกสำหรับลดการอักเสบที่รุนแรงของผู้ป่วยที่มีไข้เท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อใช้กับผู้ป่วยหนักที่มีาภาวะปอดอักเสบ หรือ มองคร่อ ได้ และถ้าถึงจุดนั้นในการแพทย์แผนไทยก็ย่อมต้องใช้ตำรับยาอื่นๆแล้วให้สอดคล้องกับอาการที่เกิดขึ้น

แต่กระนั้นทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือถึงประธานอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ความตอนหนึ่งว่า

“กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการศึกษานำ “ฟ้าทะลายโจร” มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่มีอาการรุนแรงน้อยโดยพบว่า การให้ยาฟ้าทะลายโจรสามารถลดโอกาสการเกิดปอดอักเสบได้ ร้อยละ 94.3 เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร”

ข้อความดังกล่าวข้างต้นก็เป็นผลมาจากการแถลงข่าวของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ที่พบผลการทดลองว่ายาฟ้าทะลายโจรจะช่วยลดภาวะปอดอักเสบให้น้อยลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2564

เมื่อมาถึงจุดนี้จึงได้ข้อสรุปก่อนเดือนพฤษภาคม 2564 ดังนี้

ประการแรก เดือนมกราคม 2564 นายแพทย์ธนิตกุล วนรัตน์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรายงานถึงผลการทดลองของกรมวิทยาศาสตร์พบว่า ฟ้าทะลายโจรแบบสกัดหยาบให้ผลในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ดีกว่าสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์

ประการที่สอง เดือนเมษายน 2564 ผลการทดสอบในหลอดทดลองพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ไม่ประสบความสำเร็จในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 ในทางตรงกันข้ามยาฟ้าทะลายโจรให้ผลยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ประการที่สาม วันที่ 22 เมษายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงผลการทดสอบฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 พบว่าทำให้ลดอาการปอดอักเสบลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

แต่พอวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธาณสุข ได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูและรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ที่เกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ และฟ้าทะลายโจรในส่วนของ “คำแนะนำอื่นๆ” ความว่า

“1....ฟาวิพิราเวียร์ ช่วยลดปริมาณไวรัสได้ดี ดังนั้นควรให้ยาเร็วก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการหนัก และพิจารณาให้ผู้ป่วยที่มีอาการมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคร่วมควรให้ยาเร็วที่สุด”

ทั้งๆ ที่งานวิจัยระบุตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2564 แล้ว่ายาฟาวิพิราเวียร์ไม่ประสบความสำเร็จในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ในหลอดทดลอง แต่เอกสารดังกล่าวกลับปฏิบัติตรงกันข้ามกับยาฟ้าทะลายโจรความว่า

“11. ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงผลของการรักษาอื่นๆ เช่น การใช้ฟ้าทะลายโจร หรือ ivermectin หรือ combination regimen อื่นๆ รวมทั้ง convalescent plasma การใช้รักษาเหล่านี้ ยังไม่เป็นแนวทางมาตรฐาน การใช้ให้เป็นไปตามวิจารณญาณของแพทย์”

ดังนั้นคงจะให้คำตอบได้แล้วว่าที่ประชาชนถามว่าทำไมไม่รายงานผลการใช้ฟ้าทะลายโจรให้มากกว่าจำนวนที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้วิจัยไปแล้ว 309 คน คำตอบก็คือเมื่อผู้ป่วยพบการติดเชื้อโควิด-19 แล้วจะต้องอยู่ภายใต้กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยไม่สามารถเข้าถึงป่วยป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้เลย

ถึงวันนี้คงจะได้เห็นการเลือกปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐานระหว่างยาฟาวิพิราเวียร์กับฟ้าทะลายโจรอย่างชัดเจน ดังนั้นถ้าใครป่วยแล้วพบการติดเชื้อโควิด-19 อาจไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร และไม่มีโอกาสจะได้พบเพื่อรักษากับแพทย์แผนไทย แต่กลับได้รับยาฟาวิพิราเวียร์แทน

ตรงกันข้ามกับประเทศจีนที่ให้สมุนไพรจีนและการแพทย์แผนจีนต้องบูรณาการกับการแพทย์แผนปัจจุบันด้วยเจตจำนงทางการเมืองที่ต้องการพึ่งพาตัวเองและอยู่รอดให้ได้ทั้งระหว่างและหลังโรคโควิด-19 จนยาแผนจีนได้ส่งออกเป็นสินค้าออกนอกประเทศตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันแล้ว

ดังนั้นการสนับสนุนฟ้าทะลายโจรของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไร้มาตรการรูปธรรม ไม่มีนโยบายการปลูกฟ้าทะลายโจร ไม่มีการทลายกฎหมายเพื่อเพิ่มบทบาทของการแพทย์แผนไทยให้สามารถเข้ามาบูรณาการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ทั้งๆที่อำนาจในเวลานี้รวมศูนย์การตัดสินใจและโยกย้ายข้าราชการอยู่ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว

ดังนั้นหากผู้ป่วยโควิด-1 9 คิดจะใช้ฟ้าทะลายโจรมีข้อแนะนำให้พกติดตัวไปก่อนเข้าโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามและรีบใช้ทันทีตั้งแต่อาการเริ่มแรก

และหากผู้ที่ป่วยแต่ไม่แน่ใจว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ไม่ว่าอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีไข้ ปวดศีรษะ ถ้าไม่ไปตรวจเชื้อโควิด-19 ก็ขอให้รีบใช้ฟ้าทะลายโจรไปให้โดยเร็วตั้งแต่อาการเริ่มแรก

ถ้ามาตรฐานทางการแพทย์ของไทยยังมีวิธีคิดแบบ 2 มาตรฐานและจิตใจคับแคบเช่นนี้ ประชาชนต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศ่าสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

28 พ.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์