ผู้เขียน หัวข้อ: แถลงการณ์คัดค้านร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จากผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ  (อ่าน 2087 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
แถลงการณ์คัดค้านร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จากผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ
(อีกหนึ่งฉบับ จากกรรมการกลางสมาพันธ์ฯคนหนึ่ง)

       ร่าง พรบ.ฉบับนี้จะทำให้ผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศมีทัศนคติต่อประชาชนที่มารับบริการเปลี่ยนไป  นั่นคือมองผู้ป่วยเป็นผู้ที่มีโอกาสฟ้องร้องผู้ให้บริการเป็นจำเลยในร่าง พรบ.ฉบับนี้ได้ทุกเมื่อ  แทนที่จะมองผู้ป่วยเป็นบุคคลที่ผู้ให้บริการยินดีเข้าไปช่วยเหลือด้วยความเอื้ออาทรเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ให้บริการมีความหวาดระแวง และระวังตัวตลอดเวลาการทำงานมากเกินผิดปกติ  มีผลให้การรักษาผิดธรรมชาติวิสัยของผู้ให้บริการ  จนผู้ให้บริการเปลี่ยนวิธีดูแลรักษาเกินเลยกว่าปกติ  (จากเดิมซึ่งมีความระมัดระวังอยู่แล้ว) เพื่อปกป้องตนเองไม่ให้ถูกฟ้องร้อง  หรือหลีกเลี่ยงการรักษาผู้ป่วยไปเลยเพราะไม่กล้ารับความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง ผลสุดท้าย ความเสียหายทั้งหมดจะตกอยู่ที่ประชาชนนั่นเอง          

อนึ่งต้องเข้าใจกันว่าผู้ให้บริการจะรักษาดูแลผู้ป่วยได้ดีนั้น นอกจากความรู้ความสามารถแล้วยังต้องมีความเชื่อมั่นในตนเองโดยถูกกดดันให้น้อยที่สุด เมื่อขาดความเชื่อมั่นแล้ว การตัดสินใจรักษาทุกอย่างต้องผิดเพี้ยนอย่างแน่นอน  ดังนั้นถ้าร่างพรบ.ฉบับนี้ผ่านออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายจะมีผลบั่นทอนทำให้ผู้ให้บริการขาดความมั่นใจในสวัสดิภาพการทำงานดังนี้ คือ

1.   คณะกรรมการผู้วินิจฉัยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขไร้ความสามารถในการวินิจฉัย
   เพราะไม่มีตัวแทนผู้มีความรู้ทางการแพทย์จากวิชาชีพโดยตรงเลย คณะกรรมการส่วนใหญ่ไม่มีพื้นฐานความรู้ทางการแพทย์ จึงไม่มีหลักประกันอะไรว่าคณะกรรมการตามร่าง พรบ.ฉบับนี้ถ้ารับรู้ข้อมูลทางการแพทย์แล้ว  จะมีความสามารถเข้าใจได้ลึกซึ้งพอที่จะตัดสินใจได้ว่าเกิดความเสียหายจากการให้บริการหรือไม่ (แม้ไม่ชี้ถูกผิดก็ตาม) การวินิจฉัยเสมือนหนึ่งทำหน้าที่แทนสภาวิชาชีพเสียเองทั้งๆ  ที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ แบบนี้จะมีแพทยสภา,ทันตแพทยสภา,พยาบาลสภาและสภาวิชาชีพทางการแพทย์อื่นๆไปทำไมกัน  ระบบการดูแลมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมจะผิดเพี้ยนไปกันหมดสิ้น  นอกจากนี้การวินิจฉัยชี้ขาดก็ใช้วิธีเอาเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน ซึ่งวิธีการนี้จะใช้ได้ถ้ากรรมการทุกคนมีความรู้ทางการแพทย์เป็นอย่างดี

เพราะโรคบางอย่างซับซ้อน ต้องอาศัยผู้ที่ร่ำเรียนและคลุกคลีทางการแพทย์มานาน จึงสามารถพิจารณาวินิจฉัยได้   ดังนั้นถ้าคณะกรรมการถูกกำหนดเป็นไปตามร่าง พรบ.ฉบับนี้ การตัดสินความเสียหายจะเกิดขึ้นโดยง่าย นั่นคือผู้ให้บริการทุกคนก็มีโอกาสตกเป็นจำเลยของการฟ้องร้องได้ง่ายอีกด้วย อีกทั้งคณะกรรมการชุดนี้สามารถลงโทษผู้ให้บริการที่ฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 46 ให้ ผู้ให้บริการ ถูกจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับได้อีกด้วย   อีกทั้งคำวินิจฉัยความเสียหายที่เกิดจากคณะกรรมการนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิ์ไปกล่าวอ้างในการฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง หรืออาญาได้ต่อไปอีกด้วย และมีความน่าเชื่อถือเพราะประธานคณะกรรมการเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีผลทำให้ผู้ให้บริการตกเป็นจำเลยในคดีแพ่งและอาญาต่อไป

2.  ผู้รับบริการทางสาธารณสุขมีโอกาสฟ้องร้องความเสียหายได้ตลอดเวลาไม่จำกัด
เพราะตามมาตรา 25 ของร่าง พรบ.ฉบับนี้ ยึดเอาตามความรับรู้ความเสียหายของผู้รับบริการ (ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะรับรู้เมื่อไหร่) มีอายุความจากนั้นถึง 10 ปี เนื่องจากนับตามแต่ใจของผู้เสียหาย แม้เขียนกำหนดเวลา ก็เท่ากับสามารถฟ้องร้องได้ตลอดชีพนั่นเอง ทำให้ผู้ให้บริการกังวลตลอด เพราะไม่รู้ว่าจะถูกฟ้องร้องเมื่อใด กระทบไปถึงการเก็บเวชระเบียน ไม่สามารถทำลายได้ (จากกำหนดเดิม 5 ปี ให้ทำลายได้) ต้องเก็บเป็นหลักฐานตลอดชีพของผู้มารับบริการ หรือดีไม่ดี ต้องตลอดชีพของทายาทผู้เสียหายด้วย (เผื่อให้ทายาทรับรู้ความเสียหายภายหลัง) เป็นแบบนี้แล้วจะวุ่นวายเพียงใด โปรดคิดดู

3. ร่าง พรบ.ฉบับนี้สนับสนุนให้ฟ้องร้องขอชดเชยความเสียหายไม่สิ้นสุด ไม่มีการประนีประนอมจริง ตามที่อ้าง
   เพราะแม้มาตรา 33 ระบุว่ามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหลังผู้เสียหายตกลงยินยอมรับเงินชดเชยไปแล้ว         แต่กลับมีมาตรา 37 เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายฟ้องร้องซ้ำได้ แม้ทำสัญญากันไปแล้วก็ตาม เท่ากับยินยอม ให้ผู้เสียหายฉีกสัญญาประนีประนอมได้เอง เท่ากับขัดหลักเจตนาและความศักดิ์สิทธิ์ของสัญญาตามกฎหมายที่ดี      เท่ากับปิดโอกาสทุกทางไม่ให้ผู้ให้บริการพ้นภาระปัญหา    เท่ากับไม่เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการเลย

4.  ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้สนับสนุนให้ฟ้องร้องต่อศาลกับผู้ให้บริการ
   เพราะตามมาตรา 34 ผู้เสียหายได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว  แต่ไม่พอใจในเงินชดเชยที่ได้  แล้วนำเรื่องไปฟ้องต่อศาล แม้ผลศาลยกฟ้องให้ผู้ให้บริการพ้นผิด  ผู้เสียหายก็ยังมีโอกาสกลับไปขอรับเงินชดเชยจากคณะกรรมการของร่าง พ.ร.บ. นี้ได้อีก    เพราะข้อความเขียนว่า “คณะกรรมการอาจพิจารณาจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายหรือไม่ก็ได้”  แสดงว่ายังเปิดช่องโอกาสให้อีก    เท่ากับส่งเสริมให้ฟ้องศาล    เพราะแพ้คดีก็ยังอาจมารับชดเชยได้อีก

               จากเหตุผล 4 ประการนี้  ผู้ให้บริการรู้สึกเสียใจและขอคัดค้าน เพราะร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้บีบผู้ให้บริการเสมือนหนึ่งต้องยอมอุทิศตนเป็นจำเลย เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับค่าชดเชยโดยง่าย ในขณะที่เครือข่ายผู้เสียหายฯหลีกเลี่ยงคำอธิบายข้อสงสัยเหล่านี้  และใช้วิธีนำผู้เสียหายมาแสดงตัวประท้วง ใช้สภาพความน่าเวทนาของผู้เสียหายที่ผ่านมาเรียกร้องความสงสารจากสังคม ให้สนับสนุนผ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เพื่อเบี่ยงเบนให้สังคมไม่สนใจข้อกฎหมายที่มีปัญหาข้างต้น  เท่ากับเครือข่ายใช้ผู้เสียหายที่มีสภาพทุกขเวทนามาเป็นเครื่องมือหลอกลวงประชาชน แทนที่จะใช้เหตุผลดูข้อกฎหมายที่มีปัญหา  เท่ากับตอกย้ำให้ผู้เสียหายที่มาประท้วงถูกลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวสังคมซึ่งเครือข่ายที่ดีไม่ควรทำแบบนี้  

             ผู้ให้บริการทุกคนทั่วประเทศขอยืนยันว่า  พวกเรามีความยินดีที่มีร่างพ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ แต่ต้องไม่มีข้อกฎหมายที่มีปัญหาที่กล่าวข้างต้นเพราะไม่เป็นธรรม จึงต้องขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มาพิจารณาให้เป็นธรรมทุกฝ่ายจึงจะเกิดประโยชน์ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้
ดังนั้น พวกเรายังอยากรักษาความรู้สึกเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์เหมือนเจตนารมณ์เดิม  แทนที่ต้องมาหวาดระแวงผู้มารับบริการตามที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องการ  พวกเราจึงต้องร่วมกันต่อสู้ให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ให้ถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไป  

“ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ     ทำลายระบบการรักษา   เสียหายต่อประชาชน  โปรดถอนออกจากสภาผู้แทนฯ”
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 กรกฎาคม 2010, 00:47:45 โดย pradit »