ผู้เขียน หัวข้อ: แถลงการณ์เรื่องภัยคุกคามตัวใหม่ของวงการแพทย์และสาธารณสุข  (อ่าน 2039 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
แถลงการณ์

เรียน   พี่น้องชาวสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชน
เรื่อง   ภัยคุกคามตัวใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาเล่นงานวงการสาธารณสุขของเราในรูปแบบของ “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....”

ขณะนี้ได้มีร่างกฎหมายฉบับใหม่ชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.......” ซึ่งได้ผ่าน ค.ร.ม.ไปแล้วเมื่อเมษายน 2553 และรอการพิจารณาในสภาผู้แทนฯ ในเดือนสิงหาคมนี้  และจากการที่แพทยสภาร่วมกับสภาวิชาชีพทางสาธารณสุขทุกสาขาจัดสัมมนาใหญ่ถึงผลกระทบของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อ 30 มิถุนายน 2553 และจากการประชุมของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับประเด็นเดียวกันนี้ (1 ก.ค.53) พบว่าเกือบทั้งหมดคัดค้านร่าง กฎหมายฉบับนี้และเสนอให้ถอนร่าง กฎหมายฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนโดยมี ข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลของร่างกฎหมายฉบับนี้โดยสรุปคือ
1) ผู้ที่ผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เห็นได้ชัดว่ามาจากกลุ่มองค์กรเอกชน NGO และเครือข่าย โดยร่วมมือกับกลุ่มแพทย์และบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขทั้งอดีตและปัจจุบันกลุ่มหนึ่ง ผลักดันร่าง กฎหมายนี้เข้า ค.ร.ม. ตั้งแต่ปลายปี 2550 ในรัฐบาลสุรยุทธ์ปลายๆ โดยผู้มีบทบาทสำคัญคือ รมว.กระทรวงสาธารณสุขและเลขาฯ ในขณะนั้น
2) กลุ่มบุคคลที่กล่าวถึงได้พยายามผลักร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยผ่านทางข้าราชการในกระทรวงฯ ที่จะได้รับประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ในการบริหารจัดการกองทุนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจาก กฎหมายฉบับนี้ และยังได้ผลักดันผ่านนักการเมืองกลุ่มหนึ่งโดยยกเอาประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับงบฯ ไทยเข้มแข็งขึ้นมาต่อรอง เพื่อให้ฝ่ายการเมืองยอมนำเสนอต่อ ครม.รวมทั้งทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อยืนยันให้คงสัดส่วนของคณะกรรมการฯ ตามที่ฝ่าย NGO เป็นผู้เสนอมา ทั้งนี้เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการเมืองบางอย่าง
3) ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นฉบับแรกและฉบับเดียวที่บัญญัติให้สิทธิผู้ที่อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการบริการทางสาธารณสุข โดยสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้อย่างกว้างขวางและขาดเหตุผลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ สามารถฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาต่อบุคลากร สถานพยาบาล สถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขาทั้งในภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ อย่างร้อนรนที่สุดเท่าที่เคยมีมาในระบบกฎหมายของไทย
4) เมื่อมาวิเคราะห์ลึกลงไปในรายละเอียดของร่างฯ กฎหมายฉบับนี้แล้วพอสรุปได้ว่า เป็นการจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่ขึ้นมาโดยบังคับเรียกเก็บเงินจากสถานพยาบาล บุคลากรหรือสถาบันในทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศทุกสาขาอาชีพ โดยมีรัฐบาลจ่ายสมทบให้บางส่วน และตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาบริหารจัดการกองทุนนี้ ทั้งนี้จะพิจารณาจ่ายเงินค่าเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนใน 2 ลักษณะคือ เงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย โดยคณะกรรมการฯ และผู้บริหารกองทุนส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้มาจากกลุ่มองค์กรเอกชนและเครือข่ายที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นหลัก โดยไม่มีตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุขสาขาต่างๆ ร่วมอยู่ด้วยเลย ซึ่งคณะกรรมการฯ เหล่านี้จะมีบทบาทในการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขในทุกด้าน รวมทั้งให้มีสิทธิ์ฟ้องร้องบุคลากร สถานพยาบาลหรือสถาบันทางสาธารณสุขทั้งทางแพ่งและอาญาโดยมีอายุความยาวนานถึง 10 ปี ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่พึงพอใจกับจำนวนเงินที่ชดเชยให้ ก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้อีก หากศาลยกฟ้องก็ยังกลับมาขอรับเงินชดเชยได้อีก ซึ่งเปรียบได้กับการนำเงินกองทุนไปแจกจ่ายกันอย่างไร้ขอบเขต
5) ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีบทบัญญัติลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของคณะกรรมการฯ เช่น การไม่เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ มีโทษจำคุก 6 เดือนปรับ 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและยังมีสิทธิ์ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินในกรณีไม่ชำระเงินเข้ากองทุนได้ด้วย
จึงเห็นได้ชัดเจนว่าถ้าปล่อยให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ ออกมามีผลบังคับใช้แล้ว จะก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อบุคลากรและสถาบันในวงการสาธารณสุขทุกๆ สาขาอาชีพเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ กระทบต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานบริการประชาชนผู้บริสุทธิ์ ขาดความมั่นใจและความมั่นคงในการปฏิบัติงาน ไม่รู้ว่าจะถูกฟ้องร้องหรือติดคุกวันไหนจากการปฏิบัติหน้าที่ อันจะมีผลเสียหายต่อประชาชนโดยรวมต่อไป
เราในฐานะผู้ให้บริการฯ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ชาวสาธารณสุขทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะปฏิบัติงานรับใช้ประชาชนอยู่ ณ ที่ใด ต้องรวมตัวและประสานใจเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อแสดงพลังคัดค้านและต่อต้านต่อการคุกคามการประกอบวิชาชีพสาธารณสุข ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 80 (2) อย่างชัดเจนโดยกลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดี ยอมร่วมมือกับกลุ่มบุคคลภายนอกมาทำลายสถาบันตนเองโดยหวังผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการบริหารจัดการกองทุนที่จะเกิดขึ้นตามร่างกฎหมายฉบับนี้   จึงขอให้ผู้ให้บริการฯ ทุกคนร่วมกันลงชื่อเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ฉบับนี้โดยทางเราและตัวแทนจากทุกภาคส่วนจะนำเจตนารมณ์ร่วมของพวกเราในครั้งนี้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อยืนยันการคัดค้านในครั้งนี้อย่างถึงที่สุด

คณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายปฏิรูปการสาธารณสุขไทย (ก.สธ.)
www.thaitrl.org
27 กรกฎาคม 2553

โทร.  083-2495151, 086-5659985, 086-9840098, 081-5651941, 089-4249988