ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและประธาน วิปรัฐบาล. 2 ก.ค. 53.‏  (อ่าน 1811 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
เรียนคุณกรณ์ จาติกวณิชและทีมงาน ที่นับถือ

 เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขส่วนใหญ่ ได้ทราบว่า คณะรัฐมนตรี และผู้ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ได้ยื่นร่างพ.ร.บ.นี้ถึง 6 ร่าง เพื่อรอเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร โดยมิได้ผ่านความรับรู้และเห็นชอบ ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข(ประชาพิจารณ์ จากผู้มีแต่ส่วนเสียอย่างเดียว ไม่มีส่วนได้เลย)
ดิฉันและกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพหลายคน ได้พยายามทักท้วง โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ประธานวิปรัฐบาล และแม้แต่ส่งผู้แทนจากสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งติดต่อรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (คุณอัญชลี วาณิช เทพบุตร) เพื่อขอเวลาเข้าชี้แจงกับนายกฯถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากพ.ร.บ.นี้ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ว่าจะเปิดโอกาสให้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อใด
แม้แต่สภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข จะขอเข้าพบนายกฯ ก็ยังถูกปฏิเสธว่ายังไม่ว่าง

จึงขอร้องเรียนมายังคุณกรณ์ในฐานะเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลนี้ และทีมงานพรรคประชาาธิปัตย์ ให้ดำเนินการใดๆก็ได้ เพื่อถอนร่างพ.ร.บ.ทั้งหมด ออกจากระเบียบวาระการประชุมสภาฯก่อน แล้วนำมาพิจารณาใหม่ ว่าควรจะมีพ.ร.บ.นี้อยู่อีกหรือไม่

ถึงแม้ว่า ถ้าไม่มีพ.ร.บ.นี้ ประชาชนสามารถขอรับการช่วยเหลือ หรือชดเชยได้จาก พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และหรือร้องเรียนไปยังผู้บริหารโรงพยาบาลทุกแห่งได้โดยตรงอยู่แล้ว

สรุปว่าพ.ร.บ.นี้ทั้ง 6 ร่าง มีความไม่เหมาะสมคล้ายคลึงกันดังนี้
1. เลือกกรรมการมาจากผู้ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ มาตัดสินมาตรฐานการแพทย์ ว่าถูกหรือผิดมาตรฐาน โดยไม่อาศัยความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาวิชาชีพ จะทำให้มาตรฐานการรักษาของแพทย์เสียหาย
เปรียบเหมือนเอากรรมการตัดสินฟุตบอลจากลานวัด มาตัดสินฟุตบอลโลก
หรือเอากรรมการตัดสินมวยวัด มาตัดสินมวยสากลชิงแชมป์โลก

เป็นการตัดสินจากความถูกใจ ไม่ใช่ความถูกต้อง แล้วผู้ปฏิบัติงานที่ทำตามมาตรฐานวิชาชีพ จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80(2) ได้หรือไม่?

2. พ.ร.บ.นี้ มา over rule การตัดสินตามมาตรฐานวิชาชีพ ของแพทยสภาและสภาวิชาชีพอื่นๆ
ผิดหลักการของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ที่จะออกกฎหมายใหม่มาซ้อนทับอำนาจของกฎหมายเดิม ที่มีคุณค่าและมาตรฐานที่ดีอยู่แล้ว

3.พ.ร.บ.นี้จะเก็บเงินจากโรงพยาบาล คลีนิก ร้านขายยา ทุกแห่ง เพื่อเอามารอจ่ายเงินจากการบริการสาธารณสุข
ถ้าเป็นโรงพยาบาลของรัฐบาล ก็คงต้องของบประมาณเพิ่มจากเงินภาษีของประชาชนแน่นอน ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน ก็คงต้องขึ้นราคาค่าบริการกับประชาชนนั่นเอง

 ปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลรัฐบาลที่ต้องรับภาระผู้ป่วยฟรีจากโครงการบัตรทอง ก็ได้เงินงบประมาณขาดดุลอยู่แล้ว เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ที่ให้จ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุข แต่เอาเงินไปบริหารจัดการเอง ในขณะที่เงินไปถึงโรงพยาบาลไม่ครบตามจำนวนที่ขอมาจากสำนักงบประมาณ
ถ้าต้องมาเก็บเงินโรงพยาบาลตามที่เขียนไว้ในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯอีก รัฐบาลก็คงต้องแบกภาระจ่ายเงินเข้ากองทุน เอามาให้คณะกรรมการตามพ.ร.บ.นี้ใช้จ่ายเกินจำเป็น

ประชาชนก็จะเสียประโยชน์ จากการที่จะได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานที่ทันยุค เหมือนประชาชนในประเทศอื่น
เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐบาลคงไม่มีเงินมาซื้อยาดีๆ ซื้อเวชภัณฑ์และสร้างตึกหรือพัฒนา เทคโนโลยีให้ทันสมัย และระบบการแพทย์/สาธารณสุขไทยคงถอยหลังเข้าคลอง

นอกจากนั้น คนดีๆ ก็คงไม่อยากมารักษา หรือช่วยชีวิตประชาชน เพราะถ้าผู้ป่วยตาย ก็จะต้องถูกร้องเรียน ฟ้องร้อง ถูกลงโทษจากกรรมการในพ.ร.บ.นี้ ถูกลงโทษจากกรมกรในสภาวิชาชีพ ถูกลงโทษไล่เบี้ย ถูกลงโทษจากศาลแพ่ง/ศาลอาญา

รายละเอียดต่างๆท่านหาดูได้จาก
http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=doctorroom;action=display;num=1278062756
และเอกสารที่แนบมาพร้อมจดหมายนี้

หวังว่าท่านคงจะเข้าใจถึงความเสียหายที่จะเกิดตามมา ถ้าพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากผู้รับบริการสาธารณสุข
พ.ศ. .... ได้ตราออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ และขอให้ท่านและคณะรัฐบาลได้พิเคราะห์ให้ถ่องแท้ ก่อนจะดำเนินการต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม 5144
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง (Citizens Rights Watch, Thailand)
ที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์
ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย
ประธานอนุกรรมการจริยธรรมชุด 15 แพทยสภา
อนุกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา
พลเมืองอาวุโส (senior citizen)