ผู้เขียน หัวข้อ: พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ"รัฐบาลซีมาร์ค"คงไม่คลอด!  (อ่าน 1342 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
สภาเปิด!!! ทันทีที่เปิดการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยสามัญ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ทำเอากลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...นั่งไม่ติด

ด้วยประกาศิตของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี ฉายา "ซีมาร์คโลชั่น" ผู้นำ "รัฐบาลรอดฉุกเฉิน" ครั้งไปร่วมงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ ย้ำชัด "ผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ในสมัยประชุมสภานี้" หลังจาก ถูกดอง มาตั้งแต่การประชุมสมัยที่ผ่านมา

 ความร้อนฉ่าของความขัดแย้ง ยกใหม่ เริ่มขึ้นเมื่อแพทย์ 3 คน ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อศาลปกครอง ด้วยเห็นว่ากระบวนยกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 79 เรื่อง องค์ประชุม มาตรา 82 เรื่องการลงมติของที่ประชุมที่ให้ถือเสียงข้างมาก และมาตรา 83 เรื่อง รายงานการประชุมต้องมีรายงานเป็นหนังสือถ้ามีความเห็นแย้งให้บันทึกความเห็น แย้งพร้อมทั้งเหตุผลไว้ในรายงานการประชุม รวมถึง ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามแนวทางปฏิบัติ 10 ประการที่กำหนดอยู่ในคู่มือแบบการร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 30 และมาตรา 80 (2)

 นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ขยายความว่า ในจำนวนบัญญัติ 10 ประการ ข้อที่เห็นเด่นชัดที่สุดว่าผู้ยกร่างดำเนินการไม่ถูกต้องครบถ้วน คือ ข้อ 3 และ 4 ความจำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้น เพื่อให้การทำภารกิจนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่และความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องยกร่างพ.ร.บ.ขึ้นใหม่ แต่สามารถปรับปรุง แก้ไข มาตร า41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ชดเชยเบื้องต้นกับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาพยาบาลที่ได้รับความเสียหาย

 ที่สำคัญที่สุด! ข้อ 10 การรับฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่นและผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการมีกฎหมาย นั้นแล้วหรือไม่ นพ.โชติศักดิ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ บุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่ไม่มีใครทราบเรื่องมาก่อน มิหนำซ้ำ จากการสอบถามตัวแทนแพทย์ที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการยกร่างพ.ร.บ.ได้รับคำตอบ ว่า ไม่มีผู้แทนจากสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุขอื่นเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ทั้งที่กฎหมายจะมีผลบังคับครอบคลุมวิชาชีพเหล่านั้นด้วย

 แท้ที่จริงเรื่องการทำประชาพิจารณ์ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ ได้รับความเสียหายฯ ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาในสมัยที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล บอก ให้ สธ.กลับมาทำประชาพิจารณ์ ผ่านกว่า 1 เดือน ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม

 แม้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.จะลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและรวบรวมความเห็นต่อร่างพ.ร.บ. โดยให้ผู้ตรวจราชการสธ.ทุกเขต ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจและรวบรวมความเห็นของบุคลากรในสังกัดเกี่ยวกับ 12 ประเด็นของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ตามข้อสรุปคณะกรรมการสมานฉันท์ในระบบสาธารณสุข แต่กลีบ ถูกตี จากสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ว่า ไม่ถือเป็นการทำประชาพิจารณ์ เพราะไม่ได้สอบถามความเห็นผู้ปฏิบัติงานที่สังกัดหน่วยงานอื่น และข้อสรุป 12 ประเด็นไม่ใช่ความเห็นร่วมของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่แท้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ถึง สธ.จะนำเสนอผลความเห็นของคณะกรรมการติดตามฯ ไปยังวิปรัฐบาลก็คงไม่ได้รับการยอมรับ

 แต่หากให้มีการแก้ไข ปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ตาม 12 ประเด็น ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประเด็นที่ 2 ระบุถึงการแก้ไขหลักการให้สอดคล้องกับชื่อที่จะให้มุ่งเน้นการคุ้มครองทั้ง ผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข ซึ่ง ผู้รู้ ให้ความเห็นว่า การแก้ไขหลักการของกฎหมาย ก็เป็นเหมือนต้องกลับไปยกร่างพ.ร.บ.ใหม่ เช่นนี้แล้วสภาจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้อย่างไร

 ถ้าวิปรัฐบาล กลืนน้ำลายตัวเอง หักดิบ หยิบยกร่างพ.ร.บ.ขึ้นมาให้สภาพิจารณา โดยไม่รอผลประชาพิจารณ์ หากลองหยั่งเสียงบรรดาส.ส.ดูเหมือนจะยังกั๊กทีท่า ทว่า เบื้องลึกในพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคไม่ค่อยเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ด้วยยังมีความขัดแย้งอยู่มาก ซีกของฝ่ายค้านยิ่งชัดเจน เพราะ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย เคยออกความเห็นว่า ควรมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้อย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องเพิ่มมากขึ้น

 และฟันธงได้ว่า ถึงสภาจะผ่านร่างพ.ร.บ.วาระแรก จนมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม จะต้องมีตัวแทนจากฝ่ายแพทย์และฝ่ายผู้ป่วยที่ต่างเป็นผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับ ตัวเองเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนที่เท่ากันแน่นอน เมื่อนั้นย่อมยากที่จะให้ได้มติร่วม เพราะขนาด นอกเวที ทั้ง 2 ฝ่ายยังเถียงกันชนิดยากจะยอม

 เหนืออื่นใด ดูจาก ทรงรัฐบาล ที่รัฐมนตรีหลายกระทรวงเริ่มขึ้นป้ายโชว์ผลงานตัวเอง ประหนึ่งเป็นการหาเสียงล่วงหน้า และทีท่าของนายกรัฐมนตรี ย้ำชัดมาตลอดว่า หากกติกาบ้านเมืองเรียบร้อยพร้อมที่ยุบสภา ซึ่งขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา วาระ 2 เรียบร้อยแล้ว

 เป็นไปได้เช่นกัน ที่จะมีการ ยุบสภา! ก่อนที่ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....จะถูกยกขึ้นมาพิจารณา

 ด้วยนานาเหตุผลจึงน่าเชื่อได้ว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ คงจะไม่คลอดและมีผลบังคับใช้ในสมัยรัฐบาลนี้ เว้นแต่เกมจะพลิก

 ไม่ว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลออกมาบังคับใช้หรือไม่ อย่างไร และเมื่อไหร่ สิ่งที่แพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขควรปฏิบัติทันที คือ การน้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีรับสั่งผ่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล “ให้อ่อนน้อม ถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าไปดูถูกใคร”


คมชัดลึก
28 มกราคม 2554