ผู้เขียน หัวข้อ: “หมอพลรัตน์” คว้า “นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ” พบเกณฑ์วินิจฉัยโรคแทรกซ้อน  (อ่าน 519 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
 “หมอพลรัตน์” ผอ.รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน คว้ารางวัล “นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ” เผยเป็นผู้ค้นพบ ผู้ป่วยมาลาเรียที่มีดีซ่าน จะมีโรคแทรกซ้อนอื่นเสมอ จนเป็นเกณฑ์ตรวจวินิจฉัยทั่วโลก พร้อมร่วมพัฒนายารักษามาลาเรียป้องกันดื้อยา
       
       วันนี้ (10 มี.ค.) นพ.สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 10 มี.ค. ตรงกับวันคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครบรอบ 75 ปี จึงได้มีการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2560 โดยคัดเลือกผู้สร้าง หรือริเริ่มงาน และอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีผลงานที่มีประโยชน์ต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย และเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างให้แก่บุคคลในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์และบุคคลทั่วไป ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว คือ ศ.ดร.นพ.พลรัตน์ วิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อุทิศตนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในงานวิจัยโรคมาลาเรีย โดยเฉพาะผลการวิจัยโรคแทรกซ้อนในมาลาเรียชนิดรุนแรง และการพัฒนายาสูตรผสมที่มีผลต่อการรักษาและการป้องกัน อันเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในประเทศไทยและทั่วโลก
       
       นพ.สถาพร กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวใช้เวลายาวนานกว่า 20 ปี โดยศึกษาวิจัยโรคมาลาเรีย ทั้งทางด้านพยาธิกำเนิด พยาธิสภาพ พยาธิสรีรวิทยาของโรคมาลาเรีย ตลอดจนการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียที่ดื้อยา โดยผลงานวิจัยกรณีโรคแทรกซ้อนในมาลาเรีย คือ ค้นพบว่าผู้ป่วยมาลาเรียที่มีดีซ่าน มักพบร่วมกับภาวะแทรกซ้อนของมาลาเรียอื่นๆ เช่น ไตวาย น้ำท่วมปอด ช็อก ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยมาลาเรียที่มีดีซ่าน จะต้องหาว่ามีภาวะแทรกซ้อนของมาลาเรียอย่างอื่นร่วมด้วยเสมอ ซึ่งองค์การอนามัยโลกถือว่าการพบดีซ่านเป็นเกณฑ์อันหนึ่งของมาลาเรียรุนแรง
       
       “ส่วนการค้นคว้าสูตรยารักษามาลาเรียเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดการดื้อยา ได้รายงานประสิทธิภาพที่ดียิ่งของยาอาทีซูเนท ร่วมกับยาเมโฟลควิน ในการรักษาผู้ป่วยฟัลซิปารัมมาลาเรียอันเป็นรายงานแรกของโลกตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้ป่วยมาลาเรีย และผู้ป่วยมาลาเรียที่เสียชีวิตทั่วโลกและในประเทศไทยลดลงมากอย่างเห็นได้ชัด และสามารถป้องกันการดื้อยาได้ดี นอกจากนี้ ยังร่วมพัฒนายารักษาโรคมาลาเรียรุนแรง ตลอดจนร่วมจัดทำหนังสือวิชาการแนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยมาลาเรีย ในประเทศไทย พ.ศ. 2557 โดยนิพนธ์ร่วมกับสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหนังสือเล่มนี้สำหรับแพทย์และอายุรแพทย์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมาลาเรียทั่วประเทศไทย” นพ.สถาพร กล่าวและว่า ผลการศึกษาวิจัยของ ศ.ดร.นพ.พลรัตน์ มีผลต่อความเข้าใจโรคมาลาเรียรุนแรงและไม่รุนแรงมากขึ้น มีผลต่อการรักษาและการควบคุมการระบาดของมาลาเรียทั่วโลกและประเทศไทย สามารถลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากมาลาเรียลงได้มาก เป็นคุณูปการแก่วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาธารณสุขของโลกและของประเทศไทย


โดย MGR Online       10 มีนาคม 2560