ผู้เขียน หัวข้อ: "เรื่องต้องห้าม" ของสื่อไทย !  (อ่าน 1045 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9799
    • ดูรายละเอียด
"เรื่องต้องห้าม" ของสื่อไทย !
« เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2012, 18:54:51 »
เรื่องราว "ต้องห้าม" อะไร? ที่หากเลี่ยงได้ สื่อไทยส่วนใหญ่จะไม่เข้าไปแตะต้องเลย

     หนึ่งในเรื่องน่าสนใจของ จุลสารราชดำเนิน ฉบับที่ 24ซึ่งวางแผงไปเมื่อกลางเดือน ต.ค.2555 นี้เอง อยู่ในคอลัมน์ชื่อ “สายข่าวเรื่องเล่า” เขียนโดยผู้ใช้นามแฝงว่า “เด็กหญิงเท้าซ้าย”

     เป็นการเขียนโดยคนในวงการสื่อ เพื่อตอบคำถามผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่าน ผู้ชม หรือผู้ฟัง ว่าเหตุใดข่าวบางข่าวถึงแทบไม่ปรากฏอยู่ในหน้าสื่อ โดยเฉพาะ “สื่อกระแสหลัก” เลยแม้แต่น้อย

     รวมทั้งอาจตอบคำถามนักข่าวภาคสนามไปในตัวด้วยว่า เหตุใดข่าวบางข่าว-บางประเภท ถึงจะเพียรพยายามส่งไปกี่ครั้ง “ออฟฟิสก็ไม่เล่น” สักที

     บทความดังกล่าวมีชื่อว่า “เรื่องต้องห้าม” เป็นข้อมูลที่ทั้่งน่ารู้และน่าสนใจ

     โปรดตามอ่านด้วยใจระทึกได้ ในบรรทัดถัดไป

     .....

     ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่าจากสารพัดสื่อเข้าท่วมชีวิตประจำวันของเรา แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า มีบางเรื่องราว ที่สื่อ...โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไป “แตะต้อง” นอกเหนือ จากที่สอนในตำรานิเทศศาสตร์ ตามทฤษฎี “3R” คือ เชื้อชาติ (Race) ศาสนา (Religion) และราชวงศ์ (Royal)

     ทั้งนี้ สื่อแต่ละค่าย ก็มี “เรื่องต้องห้าม” แตกต่างกันไป บางแห่งก็ออกมาเป็นนโยบายชัดเจน มีการเรียกคนในองค์กรมาพูดคุย ทำความเข้าใจ ตอบข้อซักถาม

     แต่บางแห่งก็ไม่เคยพูดอะไรให้ชัด แต่แสดงออกผ่านพฤติกรรม เช่นมีการ edit ข่าวช่วงดึกๆ ดื่นๆ เมื่อคนทำงานกลับบ้านหมดแล้ว พอนักข่าว-หัวหน้าข่าว-บรรณาธิการตื่นขึ้นมา แล้วเห็นข่าวโดนยกทิ้งหรือถูกตัดออกบางช่วง ก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า เรื่องนี้เล่นไม่ได้ เพราะ “คนข้างบนไม่เอา” เป็นต้น

     ที่ทั่วไปหน่อย น่าจะมีอยู่ 2 เรื่อง

     1.เรื่องหมิ่นประมาท ที่แน่นอนว่าสื่อทุกค่ายจะย้ำให้นักข่าวเขียนอย่างระมัดระวัง แต่ก็มีสื่อยักษ์ใหญ่บางแห่งประกาศชัดเจนว่า ว่าถ้าถูกฟ้องข้อหานี้ให้นักข่าวไปขึ้นศาลด้วย ทำให้คนข่าวภาคสนามค่ายนั้นนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ

     เพราะคดีหมิ่นประมาท เคยมีตัวอย่างการกลั่นแกล้งกัน โดยอดีตข้าราชการระดับสูงรายหนึ่งส่งคนไปฟ้องหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งทั่วประเทศ ทำให้ผู้บริหารสื่อค่ายนั้นต้องขึ้นเหนือล่องใต้เพื่อสู้คดี เรื่องนี้จึงไม่ค่อยคุ้มที่จะเสี่ยง

     และ 2.เรื่องสถาบันเบื้องสูง ที่บางพวกบางกลุ่มชอบโวยวายว่า ทำไมสื่อกระแสหลักไม่กล้านำเสนอ

     เหตุผลง่ายๆ คือนอกจากทฤษฎี 3R ข้างต้น โครงสร้างอำนาจเมืองไทยยังไม่เปิดให้พูดเรื่องนี้อย่างอิสระ สื่อส่วนใหญ่จึงมักเสนอข่าวเรื่องนี้แบบเพลย์เซฟ เช่น ถ้ามีกลุ่มคนออกมาเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็จะเสนอข่าวในเชิงปรากฏการณ์เท่านั้น ว่ามีคนมาเรียกร้องเรื่องนี้ๆ นะ แต่จะไม่ลงลึกรายละเอียด

     สาเหตุน่ะหรือ? ก็เช่นเดียวกับเรื่องคดีหมิ่นประมาท เรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้ "ไม่คุ้มค่าที่จะลองเสี่ยง"

     อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องต้องห้าม ก็ยังมี “บุคคลต้องห้าม” ซึ่งแต่ละองค์กรจะลิสต์ของตัวเอง บางแห่งไม่ให้เล่นข่าวบุคคลที่เป็นคู่ความฟ้องร้องกันอยู่ หลายๆ แห่งห้ามเสนอข่าวถึงบางคนบางกลุ่มในแง่ร้าย เพราะเป็นเครือญาติกัน เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ สนิทสนมกับผู้บริหารองค์กร ผู้ใหญ่ชื่นชอบส่วนตัว ฯลฯ หยุมหยิม-หยุบหยิบไปหมด จนทำให้นักข่าวบางสำนักแทบจะ “ตรวจสอบผู้มีอำนาจ” ไม่ได้เลย

     เรื่องพวกนี้เพิ่งมาบูมเอาช่วงหลัง ถ้าเป็นแฟนประจำของสื่อค่ายๆ นั้น ก็จะพอเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเป็นคนอ่านขาจรก็ลองจับสังเกตดูดีๆ จะพบความไม่สมเหตุสมผลในการเสนอข่าวบางข่าว อาทิ ทุกฉบับเล่นทำไมฉบับนี้ไม่เล่น เป็นต้น

     และนอกจากการเสนอข่าวที่มีทั้ง “เรื่อง-บุคคล” ต้องห้าม ในยุคที่เครือข่ายสังคมออนไลน์เบ่งบาน ผ่านโปรแกรมอาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ จนนักข่าวหลายคนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ในหลายๆ วัตถุประสงค์ อาทิ ไว้ติดต่อกับคนรู้จัก ไว้ประชาสัมพันธ์ผลงาน ไว้ประสานงานกับแหล่งข่าว ไว้ติดตามข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ

     แต่ปรากฏว่า ไม่นานมานี้ “สิ่งต้องห้าม” กลับลามเข้าไปถึงโลกโซเชียลมีเดีย บางสำนักข่าวแอบมอบหมายทีมงานเฉพาะให้ช่วยตรวจสอบ

     แต่บางองค์กรก็เล่นวิธีให้เพื่อนร่วมงานจับผิดกันเอง

     วิธีการดังกล่าว ราวกับหลุดมาจากนิยายอมตะเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์

     โดยจะมีคนคอย “ส่อง” พฤติกรรมกระจอกข่าว “ในโลกเสมือนจริง” หากมีพฤติกรรมซึ่งผู้บริหารองค์กรไม่ปลื้ม เช่น เขียนถึงชื่อคนบางคนที่บิ๊กบอสไม่ชอบขี้หน้า วิจารณ์นโยบายองค์กรในทางไม่เห็นด้วย ฯลฯ

     ก็จะผลกระทบ “ในโลกความจริง” ตามมา... เบาหน่อยก็อาจจะแค่เรียกมาอบรม หรือเชิญเข้าห้องเย็น แต่หนักหน่อยก็อาจใช้สารพัดวิธีกดดันให้ต้องแยกทางจากกัน ซึ่งเคยมีตัวอย่างในหลายๆ กรณี

     เรื่องราวข้างต้นล้วนเกิดขึ้นจริง และเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สื่อ “สะท้อนภาพ” สังคมได้ไม่คมชัด อย่างที่ควรจะเป็น


วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2012 เวลา 22:26 น.เขียนโดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
http://www.isranews.org