ผู้เขียน หัวข้อ: การประท้วง การปฏิรูประบบบำนาญในฝรั่งเศส  (อ่าน 95 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
การประท้วงการปฏิรูประบบบำนาญในฝรั่งเศสตั้งแต่มกราคม ปีนี้จนถึงปัจจุบันมีหลายอย่างที่น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจนักการเมืองช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ที่คุยว่าจะให้สวัสดิการโน่นนี่นั่น ที่ว่าจะให้ประชาชน (ไม่นับสัญญาว่าจะให้ สัญญาว่าจะทำอีกหลากหลาย) เพราะระบบสวัสดิการไม่ใช่สิ่งที่จะให้กันส่งเดช ต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวด้วย เมื่อถึงวันที่เงินไม่พอเกิดวิกฤตการคลังจะไม่มีให้ก็ยากเพราะประชาชนไม่ยอม บ้านเมืองก็วุ่นวาย ประการต่อมาคือการบังคับใช้นโยบายของรัฐบาลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เหมือนกับการละเลงขนมเบื้องด้วยปาก ยกเว้นจะกะล่อนในช่วงหาเสียงโดยวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ช่างชาวบ้าน หรือไว้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าสมัยต่อสมัย

การประท้วงและสไตรก์ทั่วประเทศที่ฝรั่งเศสขณะนี้เนื่องจากรัฐบาลต้องการปฏิรูประบบบำนาญโดยขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ 8 แห่งของฝรั่งเศส จึงนัดหยุดงานประท้วงครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2566 และปลุกระดมให้ประชาชนออกมาร่วมประท้วงด้วย จึงมีผู้คนจำนวนมากออกมาร่วมในปารีสและเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

ผู้ประท้วงมีทั้งพนักงานรัฐ คนขับรถไฟ พนักงานโรงกลั่นน้ำมัน ครู และแรงงานภาคอื่นๆ รวมทั้งนักศึกษาก็เอากับเขาด้วยทั้งที่ไม่มีผลกระทบจากการขยายอายุเกษียณ จำนวนผู้ประท้วงขณะนั้นประมาณกว่าล้านคน โดยอยู่ในกรุงปารีส 8 แสนคน

ทำให้การจราจรติดขัด ถนนหลายสายโดยเฉพาะในปารีสเป็นอัมพาต โรงเรียนและสถานที่รัฐหลายแห่งต้องปิดชั่วคราว ระบบการขนส่งสาธารณะถูกกระทบอย่างหนัก รถไฟใต้ดินและบนดินหยุดให้บริการในหลายเส้นทาง การจราจรทางอากาศถูกกระทบ ประมาณร้อยละ 30 ของสายการบินที่สนามบินปารีสออร์ลีหยุดชะงัก โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 2 แห่งถูกปิด ท้องถนนก็เต็มไปด้วยขยะเพราะพนักงานเก็บขยะสไตรก์และผู้ประท้วงก็ทิ้งขยะเต็มถนน

มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจควบคุมฝูงชน ผู้ชุมนุมบางส่วนจุดไฟเผาสถานที่รัฐและถังขยะ ทุบทำลายอาคารห้างร้าน และสาธารณูปโภค เจ้าหน้าที่มีการยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม นับเป็นเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงครั้งเลวร้ายสุดในรอบหลายปีในฝรั่งเศส

เมื่อการประท้วงครั้งแรกไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล สหภาพแรงงานจึงนัดหยุดงานอีกและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นครั้งที่ 12 เมื่อ 13 เมษายน 2566 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Council) จะตัดสินว่าการปฏิรูประบบบำนาญชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เมื่อ 14 เมษายน

ผลคือ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาลถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ปฏิเสธข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้านที่ขอให้ทำประชามติเรื่องการปฏิรูประบบบำนาญ

ทันทีที่ศาลอ่านคำตัดสินผู้ประท้วงที่รอฟังผลอยู่หน้าศาลากลางก็โห่ประท้วง จำนวนหนึ่งก็เดินประท้วงไปในตัวเมืองและขยายไปเมืองต่างๆ เช่น มาร์กเซย์ ตูลูส ลียง และแรนส์ มีการเผาไฟหลายแห่ง ตำรวจมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วง

พรรคฝ่ายค้านและสหภาพแรงงานประกาศว่าจะไม่หยุดเคลื่อนไหว จะไม่ร่วมประชุมกับประธานาธิบดีมาครงในวันอังคารที่ 18 เมษายนตามที่นายมาครงเชิญ และสหภาพแรงงานจะประท้วงใหญ่ในวันแรงงาน ที่ 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

สาเหตุหลักของการสไตรก์และการประท้วงดังกล่าวแล้วการประท้วงครั้งนี้เพื่อต่อต้านการปฏิรูประบบบำนาญที่ประธานาธิบดีมาครงจะบังคับใช้

หลักๆ คือการขยายอายุเกษียณ (เพื่อรับบำนาญ) จาก 62 ปี เป็น 64 ปี แต่รายละเอียดของการปฏิรูประบบบำนาญมีมากกว่านี้ อาทิ ระบบบำนาญของฝรั่งเศสแยก 42 ระบบย่อยสำหรับภาครัฐและประชาชนโดยมีอายุเกษียณและสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน นายมาครงต้องการสร้างระบบที่เป็นแบบเดียวกัน

กรณีการขยายอายุเกษียณ รัฐบาลไม่ได้ปรับทันทีจาก 62 ปี เป็น 64 ปี แต่จะค่อยๆ ขยายไปทีละ 3 เดือน ต่อปี คือในปีแรก (2567) ขยายเป็นเกษียณที่ 62 ปี 3 เดือน ปีถัดไปขยายไปที่ 62 ปี 6 เดือน ดังนั้นกว่าจะขยายเป็น 64 ปี ก็จะใช้เวลาถึง 8 ปี ที่น่าสนใจคือการศึกษาของ OECD พบว่า ที่จริง ปัจจุบันคนฝรั่งเศสเพียงร้อยละ 36 จะเกษียณที่อายุ 62 และร้อยละ 36 เกษียณที่อายุแก่กว่านั้นเมื่อจ่ายเงินสมทบครบถ้วน โดยรวมๆ คนงานฝรั่งเศสจะเกษียณจริงประมาณ อายุ 64.5 ปี อยู่แล้ว

ก็น่างง สำหรับการประท้วงและสไตรก์พอสมควร

ทำไมต้องขยายอายุเกษียณ

สาเหตุที่ต้องขยายอายุเกษียณเพราะฝรั่งเศสเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้วทำให้รัฐมีภาระเงินบำนาญสูงและระบบบำนาญขาดเสถียรภาพอย่างรุนแรง (จะติดลบ 13.5 พันล้านยูโร หรือ 5 แสนล้านบาทในปี 2573)

ปัจจุบันฝรั่งเศสมีประชากรอายุ 65 ขึ้นไปถึง 14.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 22 ของประชากร 68 ล้านคน (นับฝรั่งเศสโพ้นทะเล 3.3 ล้านคนด้วย) จึงจัดว่าเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด

เมื่อพิจารณาอายุขัยเฉลี่ยของประชากรฝรั่งเศสเฉลี่ย 83 ปี จะเห็นได้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสต้องจ่ายบำนาญแก่ผู้สูงอายุกว่า 15 ล้านคนเป็นเวลาถึง 21 ปี อันเป็นภาระหนักของรัฐบาลและแรงงานปัจจุบันและในอนาคตเพราะในภาวะสังคมสูงอายุแรงงานมีจำนวนลดลงทุกปี ในขณะที่ใน ปี 2565 ฝรั่งเศสมีหนี้สาธารณะถึง ร้อยละ 113 ของ GDP

บำนาญในฝรั่งเศสค่อนข้างสูง ในปี 2563 มีผู้รับบำนาญ 16.4 ล้านคน รับบำนาญเฉลี่ยสุทธิ (หลังหักภาษี ร้อยละ 7) เดือนละ 1,400 ยูโรต่อคน (5.2 หมื่นบาท (1 ยูโร = 37 บาท) ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำสุทธิเดือนละ 5 หมื่นบาท) หรือปีละ 6.2 แสนบาทต่อคน คูณด้วย 16.4 ล้านคน ตกปีละ 100 กว่าล้านบาท

ปัจจุบันฝรั่งเศสต้องจ่ายเงินบำนาญราวร้อยละ 14 ของ GDP ซึ่งสูงที่สุดในโลก

การขยายอายุเกษียณหมายถึงการที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบนานขึ้น (อีก 2 ปี) การปฏิรูปบำนาญจะช่วยให้รัฐได้เงินสมทบเพิ่มปีละ 17.7 พันล้านยูโร (6.5 ล้านล้านบาท)

แต่สหภาพฯโต้ว่ารัฐบาลสามารถหาเงินจากแหล่งอื่นได้ เช่น การเก็บภาษีจากคนรวยให้หนักยิ่งขึ้น

คนฝรั่งเศสเกษียณเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เช่น เบลเยียมเกษียณ 65 ปี เยอรมนี อังกฤษ สเปน และอเมริกา 66 ปี อิตาลีและเนเธอร์แลนด์ 67 ปี ประเทศยุโรปกลุ่มนี้ (ไม่นับอเมริกา) ประชาชนอายุขัยเฉลี่ยเกิน 80 ปีทั้งสิ้น

ในมุมการเมือง

ประธานาธิบดีมาครงมีความตั้งใจจะปฏิรูประบบบำนาญให้สำเร็จก่อนจะหมดวาระครั้งที่ 2 ในปี 2570 แต่การเลือกตั้งเมื่อเมษายน 2565 พรรคของเขาไม่ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่โดยได้มาเพียง 245 คนในขณะที่ถ้าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากจะต้องมีผู้แทน 289 คน จากผู้แทนทั้งหมด 577 คน จึงยากที่รัฐบาลจะเอากฎหมายใดๆ ผ่านสภาเพราะเสี่ยงต่อการถูกคว่ำเว้นแต่จะสามารถดึงพรรคอื่นมาร่วมเป็นรัฐบาลผสมแต่ก็ยากเพราะฝ่ายตรงข้ามมีจำนวนเสียงสูสีและสามารถเคลื่อนไหวได้เช่นกัน ปัจจุบัน รัฐบาลนายมาครงยังเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย การผ่านกฎหมายแต่ละฉบับต้องเจรจากับพรรคอื่นๆ แบบครั้งต่อครั้ง

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา 49.3 ให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายได้โดยไม่ต้องให้ ส.ส.โหวต ซึ่งนายเอดัวร์ ฟีลิป นายกรัฐมนตรีคนก่อนของนายมาครงพยายามนำมาใช้เมื่อปี 2563 เพื่อผ่านกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญ แต่ล้มเหลวเพราะเกิดวิกฤตโควิด-19 และมีการสไตรก์ทั่วประเทศที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส แต่เมื่อ 10 มกราคม 2566 นางเอลิซาเบธ บอร์น นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็จำเป็นต้องใช้ มาตรา 49.3 เพื่อผ่านกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญเพราะเชื่อว่าไม่ผ่านสภาผู้แทนทั้งๆ ที่ร่างกฎหมายผ่านวุฒิสภาแล้ว ทำให้สภาผู้แทนไม่พอใจต่อวิธีการช่องด่วนดังกล่าว (เพราะปกติมาตรา 49.3 ใช้สำหรับการออกกฎหมายงบประมาณเพื่อกันรัฐบาลล่ม ไม่ควรใช้กับกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญ)

ที่จริง รัฐบาลฝรั่งเศสชุดก่อนๆ เคยพยายามปฏิรูประบบบำนาญ เพราะปัญหาการคลังในด้านนี้เกิดมานานแล้วและนับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อาทิ เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ในปี 2538 ก็มีการประท้วงทั่วประเทศมาแล้วในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีฌัก ชีรัก เนื่องจากนายกรัฐมนตรีอาแลง ฌูว์เป ได้เสนอแผนการปฏิรูประบบบำนาญเพื่อตัดงบประมาณสวัสดิการเพื่อลดปัญหางบประมาณขาดดุล ทำให้มีการประท้วงทั่วประเทศทำให้ระบบการขนส่งเป็นอัมพาตไป 3 สัปดาห์ รัฐบาลต้องถอย และเมื่อปี 2563 รัฐบาลนายมาครงก็ใช้มาตรา 49.3 ผลักดันการปฏิรูประบบบำนาญทำให้มีการประท้วงนานที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

การใช้มาตรา 49.3 เลี่ยงการลงคะแนนในสภาผู้แทนฯนั้น ส.ส. (ฝ่ายค้าน) สามารถลงมติไม่ไว้วางใจได้ ซึ่งถ้าฝ่ายค้านชนะ รัฐบาลก็ต้องถูกยุบเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเคยมีการลงมติไม่ไว้วางใจมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จเพราะคะแนนฝ่ายค้านที่ลงมติไม่ถึงครึ่ง

และแม้จะใช้มาตรา 49.3 เสนอการปฏิรูประบบบำนาญผ่านสภาได้ ก็ยังมีอีกหนึ่งด่านคือ ศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบว่ากระบวนการนำกฎหมายผ่านสภาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลได้ตัดสินให้ไฟเขียวแล้วเมื่อ 14 เมษายน และเมื่อ 17 เมษายน นายมาครงออกมาแถลงชี้แจงทำความเข้าใจอีกว่าการขยายอายุเกษียณ จาก 62 ปีเป็น 64 ปีนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยไม่ให้ระบบบำนาญฝรั่งเศสต้องล่มสลาย

กระนั้นก็ตาม สหภาพแรงงานก็ยังยืนกรานว่าจะประท้วงใหญ่ในวันแรงงานที่จะถึงนี้

มติชน 
28เมย2566