ผู้เขียน หัวข้อ: 'นวดนม' ศาสตร์ที่ถูกลืม  (อ่าน 1368 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
'นวดนม' ศาสตร์ที่ถูกลืม
« เมื่อ: 22 กันยายน 2012, 21:34:58 »
สำหรับแม่ที่อยากเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง แล้วมีปัญหานมคัด น้ำนมไม่ไหล ศาสตร์การนวดนม ช่วยปรับสมดุลร่างกายให้แม่ลูกอ่อนได้

คุณแม่หลายคนที่ประสบกับปัญหาน้ำนมไม่ไหล เป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่ บางคนไม่มีน้ำนมไหลออกจากอก ทั้งๆ ที่มีความตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง จำต้องหันไปพึ่งพานมผงอย่างน่าเสียดาย  คุณแม่รายหนึ่งไม่ขอเปิดเผยนาม เล่าว่า คลอดลูกคนแรก ไม่ว่าลูกจะดูดนมยังไง น้ำนมก็ไม่ยอมไหล ไม่รู้เป็นเพราะอะไร ไปปรึกษาคุณหมอ ก็บอกว่าให้ลูกดูดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวน้ำนมก็จะมาเอง

"ตอนนั้นทรมานมากๆ พอดีมีเพื่อนแนะนำว่า เขาเคยใช้บริการของพี่พรนวดนม ได้ผล นวดปุ๊บ น้ำนมไหลปั๊บ พุ่งกระฉูดเลยล่ะ เพื่อนบอกว่าพี่พรเขาดังมากในเว็บพันทิป ก็เลยลองโทรนัดดู...”

เธอเล่าว่า หมอนวดขับรถมาถึงบ้าน บริการแบบเดลิเวอร์รี่ เตรียมอุปกรณ์มาพร้อม ทั้งหม้อหุงข้าวไฟฟ้าสำหรับนึ่งลูกประคบ ผ้ารอง จัดมาเต็มตะกร้า ผู้รับบริการเตรียมแค่ปลั๊กไฟไว้ให้เสียบหม้อหุงข้าวอุ่นลูกประคบเท่านั้น

“เราไม่ต้องเตรียมอะไรเลย แค่มีปลั๊กให้พี่เขาเสียบไฟ นวดประมาณ 2-3 ชั่วโมง น้ำนมก็พุ่งกระฉูดเป็นฝักบัวเลยล่ะ ตื่นเต้นมาก เพิ่งรู้นะว่าน้ำนมของแม่ไม่ได้ไหลเหมือนน้ำก๊อกอย่างที่เราคิด ข้างในมีท่อน้ำนมเยอะมากเหมือนกับฝักบัวที่เราอาบน้ำ นับแต่นั้นลูกก็มีนมกินสบายเลย ก่อนไปทำงานเราปั๊มเก็บใส่ตู้เย็นเก็บไว้ในสต๊อกเพียบ ”

คุณแม่มือหนึ่งยังบอกอีกว่า ตอนนี้มีลูกคนที่สองแล้ว  เวลาที่รู้สึกเจ็บหน้าอก อึดอัด เหมือนนมจะคัด ปั๊มไม่ค่อยออก ต้องโทรศัพท์เรียกใช้บริการ  'พรนวดนม' ให้มาช่วยนวดเปิดท่อน้ำนม เพื่อเปิดทางให้สะดวก ลูกดูดสบายไม่ต้องออกแรงมาก

ส่วนคุณแม่ Working Women อีกรายคลอดลูกชายเองตามธรรมชาติที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง คุณหมอกำชับว่า ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 6 สัปดาห์ อย่าเพิ่ง  ‘อยู่ไฟ’ อย่าเพิ่งทำอะไรทั้งนั้นอยากให้มดลูกเข้าที่เองตามธรรมชาติตามตำราแพทย์แผนปัจจุบัน

“จนกระทั่ง 6 สัปดาห์ผ่านไป รู้สึกว่าน้ำนมไม่ค่อยมีเลย ถึงมีก็ไม่เยอะเท่าที่ควร น้องดอมก็ดูตัวเล็กมาก ไม่ค่อยมีเนื้อ มีหนัง เหมือนเด็กที่มีแค่หนังหุ้มกระดูกรู้สึกกังวลมาก พอปั๊มนมออกมาก็จะเป็นน้ำใสๆ เหมือนน้ำผสมนม ต่อมาก็เริ่มเจ็บนมจี๊ดๆ จนเจ็บระบมไปหมดเลย พอดีเพื่อนเคยใช้บริการพี่พรนวดนมมาก่อน แนะนำก็เลยให้พี่พรมาดู ปรากฏว่าท่อน้ำนมของเรามีไขมันอุดตันเยอะ  พี่พรก็เลยนวดไล่ไขมันออก  แล้วน้ำนมก็ไหลสะดวกขึ้น ทุกวันนี้ปั๊มนมเก็บไว้ทุก 2 ชั่วโมง ได้น้ำนมประมาณ 4 ออนซ์ ถือว่าเป็นปริมาณที่ค่อนข้างโอเค”

น้องดอม ลูกชายวัย 3 เดือนของเธอมีลำตัวยาวถึง 55 เซนติเมตร ทว่าตัวเล็กผอมแกรนกว่าเด็กที่ดื่มนมผง เนื่องจากตอนแรกที่ลูกได้ดื่มนมแม่ มีแต่น้ำนมใสๆ ลูกคงไม่ค่อยอิ่มท้อง เพราะน้ำนมที่มีคุณภาพข้นๆนั้นเดิมไม่สามารถไหลผ่านท่อที่อุดตันขึ้นมาได้ แถมในนมใสๆ นั้นยังอุดมไปด้วยแลคโตส ทำให้เด็กท้องอืด มีลมในกระเพาะมาก ไม่สบายตัวอีกด้วย พอน้องดอมดื่มนมที่มีคุณภาพ ร่างกายก็เริ่มมีเนื้อมีหนัง อารมณ์ดีขึ้น ขับถ่ายดีมีกากใยเพิ่มขึ้น

“เมื่อมานวดครั้งที่สอง เริ่มดีขึ้น แต่น้ำนมก็ยังไม่พอ เพราะลูกกินเยอะมาก สต๊อกมีอยู่ 60 ออนซ์ ภายในวันสองวันเหลืออยู่ 17 ออนซ์ ช็อคไปเลย หลังจากนั้นเริ่มปั๊มเยอะขึ้น ช่วงนี้ทุกสองชั่วโมงต้องปั๊มนม เวลาขับรถไปทำงานก็ต้องจอดรถปั๊มเลย จะมีถุงแช่แข็ง เก็บไว้ในที่เก็บน้ำแข็ง พอตอนเย็นๆ ก็เอามาแช่ในช่องแช่แข็ง ถ้าเราไปทำงาน ที่บ้านก็เอามาละลายให้เด็กกิน คิดว่าคุณค่าคงไม่ลดลง ซึ่งมันก็น่าจะดีกว่าให้ลูกดูดนมผสม ”

    ‘พร...นวดนม’

ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านแทบทุกภาคจะมีหมอตำแยทำคลอดตามบ้าน เพื่อให้ผู้หญิงหลังคลอดได้อยู่ไฟ แต่ทุกวันนี้ภูมิปัญญาเหล่านี้ค่อยๆ หายไป แต่ยังมีวิชาที่หลงเหลือไว้ คือการนวดนม ภูมิปัญญาโบราณอย่างหนึ่ง

ศรุตยาพร ศิริคุณ วัย 40 กะรัต หรือ ‘พรนวดนม’ ชื่อที่คนในวงการรู้จักเป็นอย่างดี  เล่าว่า อันดับแรกเลย ต้องตรวจอาการก่อน จับตามเส้นน้ำนม ก็จะรู้ว่า มีไขมันอุดตันตรงไหน หากนมแข็งเป็นไต ก็ต้องใช้ลูกประคบอุ่นๆ ค่อยๆ ประคบ แล้วนวดไล่ตามเส้นให้ไขมันที่อุดตันที่หัวนม ลานนม ท่อส่งน้ำนมหลุดออกมาจนหมด เปิดทางสะดวกให้กับน้ำนม

“ถ้ามีไขมันอุดตันเยอะ เวลาน้องดูดนม ก็จะใช้แรงเยอะ บางทีแรงดูดไม่พอ อีกด้านหนึ่งพอนมถูกดูด ก็จะกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมสร้างน้ำนม แต่ไหลออกมาไม่ได้ ก็จะเกิดการอักเสบ เป็นหนอง เพราะระบายออกมาไม่ได้ คุณแม่ก็จะไข้ขึ้น เต้าอักเสบ ต้องไปให้คุณหมอที่โรงพยาบาลเจาะ ทานยาฆ่าเชื้อ ลูกก็จะดื่มนมไม่ได้ พออาการทุเลาแล้ว ก็เป็นหน้าที่เรา ค่อยๆ นวดประคบไล่ไขมัน ถ้าเจอปัญหานี้คงต้องนวดหลายๆ ครั้ง อย่างคุณแม่รายหนึ่ง มาครั้งแรกนมตัน เต้าเจ็บแข็ง น้ำนมไม่ออก  ต้องค่อยๆ นวดไล่ ปัญหานี้อาจจะนวดหลายครั้ง ครั้งแรกเปิดท่อน้ำนม ตอนหลังมานวดกระตุ้นให้น้ำนมไหลง่ายและคล่องขึ้น ลูกของเธอดูดได้สบายขึ้น ปั๊มได้เร็วขึ้น ใช้เวลาปั๊มน้อยลง”   

ด้านคุณแม่ ยอมรับว่า นวดนมครั้งแรก เจ็บมาก เพราะนมคัดอยู่แล้ว เจ็บสุดๆ จนน้ำตาไหล  ต้องมองหน้าลูก เพื่อเป็นกำลังใจ หลังจากนั้นนวดครั้งที่สอง รู้สึกดีขึ้นไม่ค่อยเจ็บเหมือนครั้งแรก พอนวดแล้วน้ำนมไหลดีขึ้นก็รู้สึกดีใจมาก

หมอนวดนมเล่าต่อว่า สมัยก่อนหมอตำแยพอทำคลอดเสร็จ ก็จะเปิดท่อน้ำนมให้คุณแม่ ลูกสามารถดูดนมได้เลย

สมัยนี้คนนิยมไปคลอดที่โรงพยาบาล บางครั้งเด็กคลอดแล้ว คุณหมอก็ให้นมผสมดูดไปก่อน ต่อมน้ำนมก็เลยไม่โดนกระตุ้น เพราะโดยธรรมชาติแล้ว พอเด็กออกจากท้องแม่ ต่อมน้ำนมก็จะโดนกระตุ้นทันที บางคนยังไม่ทันคลอด น้ำนมก็พุ่งกระฉูด เพราะการคลอดตามธรรมชาติหรือผ่าตัดไม่มีผลต่อการไหลและการผลิตของน้ำนม

“เรื่องของน้ำนม ไม่เกี่ยวกับเต้าเล็กหรือเต้าใหญ่ เพราะตามธรรมชาติ แม่ทุกคนจะต้องมีน้ำนมให้ลูกดื่มอย่างเพียงพอ แต่ศาสตร์นวดนมปัจจุบันถูกลืมไปแล้ว ยุคสมัยมันขาดช่วงไป มีช่วงหนึ่งคนไม่ค่อยเห็นความสำคัญของนมแม่ คนไปคลอดที่โรงพยาบาล พอลูกดูดนม น้ำนมไม่ออกก็ให้ดูดนมผสมไปเลย ต่อมน้ำนมในตัวแม่ก็เลยเลิกผลิต เพราะไม่มีการกระตุ้น”

พรนวดนม  ทำหน้าที่นวดนมเดลิเวอร์รี่มาตลอด 10 ปี โดยมีความรู้พื้นฐานจากคุณยาย ซึ่งเป็นหมอตำแยจังหวัดพะเยา ตอนหลังพรไปศึกษาเรื่องอยู่ไฟเพิ่มเติม เผื่อนำมาใช้กับตัวเอง และคนใกล้ตัว

“พอนวดให้คนใกล้ตัว ก็ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ บอกกันปากต่อปาก จนตอนนี้นวดนมวันละ  2-3 ราย พอลูกค้าโทรศัพท์มานัด เราก็ขับรถไปหา  ไปให้บริการถึงบ้าน เพราะแม่ลูกอ่อนเขามาหาเราไม่ได้ มันลำบาก เราเข้าใจ บางทีมีคนต่างจังหวัดมารับบริการถึงที่ ก็ไปที่บ้านญาติเขาบ้าง ไปเปิดโรงแรมนวดกันก็มี ไม่เคยนับเลยว่านวดมาแล้วกี่ราย ถ้าจำไม่ผิดน่าจะนวดมาแล้วเป็นพันๆเต้า ”

ปัจจุบันพรมอบวิชานวดนมให้กับทายาททั้งสอง คือลูกสาววัย 19 ปี และ 15 ปี หวังว่าจะให้เป็นผู้สืบทอดศาสตร์นี้ต่อไป เธอเล่าขั้นตอนการรักษาอันดับแรก ต้องจับเต้าตรวจดูว่ามีปัญหาตรงไหน บางรายเต้าอักเสบ ไข้ขึ้น ต้องระวัง จากนั้นค่อยๆไล่นวดตามท่อนม

"หากรู้ตำแหน่ง แก้ไขถูกจุด เปิดทางให้น้ำนมไหลสะดวก ถือว่าภาระกิจประสบความสำเร็จ แต่ถ้าคุณแม่เป็นหนองอักเสบ ต้องระวังเป็นพิเศษ ควรนวดวันเว้นวัน ประกอบกับการไปรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น ดูดหนอง ทานยาฆ่าเชื้อ หากปล่อยให้ท่อน้ำนมอุดตันไปนานๆ น้ำนมจะหยุดผลิตโดยอัตโนมัติ"  พรนวดนม ว่าอย่างนั้น

ศาสตร์การนวดนม จึงไม่ใช่ว่าใครๆ ก็นวดได้ ต้องมีเคล็ดลับในการนวด ซึ่งเป็นศาสตร์โบราณ

    เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว เป็นโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ที่มีพระประสงค์ให้ประชาชนมีครอบครัวที่อบอุ่น โดยเริ่มจากสุขภาพอนามัยแม่ลูก ด้วยการเสริมสร้างความรักและความผูกพันในครอบครัวให้แม่มีเวลาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังคำขวัญพระราชทาน  “นมแม่คือหยดแรกของสายใยรักแห่งครอบครัว” ได้เก็บสถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า มีปริมาณมากขึ้นประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ปี 2554 มีการเลี้ยงด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์

ห็นได้ว่า มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในอำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงใหม่ จ.ขอนแก่น และจ.มหาสารคาม

ปัจจุบันจึงมีการสนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะเด็กจะได้ทั้งความอบอุ่นและภูมิต้านทานโรค พญ.ศิวาพร สวัสดิวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยตื่นตัวมากขึ้น เห็นความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในช่วง 6 เดือนแรกในการเลี้ยงลูกสำคัญมาก หลังจากนั้นอีก 2 ปี ยังคงให้ลูกดื่มนมแม่ผสมกับอาหารเสริม เช่น กล้วยบด

"ตอนนี้เรียกได้ว่ากระแสรณรงค์ดื่มนมแม่ ไม่ได้มีแค่ในบ้านเรา ทั่วโลกก็มีการตื่นตัว ยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกาสมัยก่อนส่งเสริมให้ดื่มนมกระป๋อง นมแพะ นมวัว ยังไงก็สู้นมแม่ไม่ได้ เพราะเด็กบางคนแพ้โปรตีนจากนมวัว นมแพะ ยังไงก็ถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม เพราะลำไส้เด็กจะอ่อน และบอบบางมาก ในขณะที่เด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ดื่มนมแม่แล้วแข็งแรง ไม่เป็นหวัด น้ำมูกไหล เป็นผื่นหรือท้องเสีย"

ส่วนแพทย์หญิงยุพยงค์ แห่งเชาวนิช เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วงว่า แม่ในปัจจุบันนี้ยังมีความเข้าใจผิดคิดว่า ตนเองไม่มีนมเพียงพอให้ลูกดื่ม กังวลว่าลูกจะอิ่มจริงหรือเปล่า ยังไม่เข้าใจเทคนิคการเลี้ยงลูก เช่น อุ้มไม่ถูกต้อง เวลาให้นมลูก จึงมีปัญหาลูกดูดนมไม่เต็มที่

"คุณแม่มือใหม่บางคนขาดทักษะ ยอมรับว่าคนโบราณเวลามีลูกจะมีคนช่วยเลี้ยง มีทั้งแม่ ยาย และย่า ล้วนแต่เป็นผู้มีประสบการณ์ ปัจจุบันสังคมไทยเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว บางคนก็ไม่ได้เลี้ยงเอง เพราะต้องทำงาน ได้อยู่กับลูกเต็มที่ 1-2 เดือน แล้วก็ส่งไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดช่วยเลี้ยง เป็นห่วงตรงนี้มากกว่า ส่วนเรื่องนมแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะมีไม่พอเลี้ยงลูก ธรรมชาติให้มา สำหรับคนที่คลอดลูกที่โรงพยาบาล ก็ต้องทำความเข้าใจในการเลี้ยงลูก "

แพทย์หญิงยุพยงค์ ทิ้งท้ายว่าคุณแม่ทั้งหลายสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ในเวปไซต์ สายใยรักนมแม่คาเฟ่ จะมีคุณแม่อาสามาช่วยกันตอบคำถามทุกปัญหา

"ตั้งแต่พระองค์หญิงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น  ตอนนี้โครงการ ตำบลนมแม่ ขยายไป 100 ตำบลแล้ว ส่วนเรื่องที่ยังเป็นห่วงอยู่ก็คือ คุณแม่ที่ทำงาน แล้วทิ้งลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงที่ต่างจังหวัด จะไม่ค่อยมีความผูกพันระหว่างแม่ลูก ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา อย่างเช่น ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม ก็จะมีน้า อา หรือญาติๆ มาฝากท้องให้ นั่นแสดงว่า เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ทางแก้ไขน่าจะเป็นการสร้างงานในต่างจังหวัดให้มากขึ้น"

โดย : พิมพ์พัดชา กาคำ
กรุงเทพธุรกิจ  20 กันยายน 2555