ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อสภาพอากาศวิปริต(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1377 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดขั้วมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เคย  เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2010 ฝนตกหนักในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พื้นที่หลายส่วนของแนชวิลล์วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 34 เซนติเมตร มากกว่าสถิติสูงสุดเมื่อปี 1979 คือ 16.75 เซนติเมตรถึงสองเท่า  หนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น ฝนห่าใหญ่ทิ้งน้ำฝนวัดปริมาณได้ถึง 28 เซนติเมตรใส่เมืองรีอูดีจาเนรูภายใน 24 ชั่วโมง ก่อให้เกิดโคลนถล่มคร่าชีวิตผู้คนหลายร้อยคน ราวสามเดือนหลังอุทกภัยในแนชวิลล์  ฝนตกหนักทำลายสถิติในปากีสถานทำให้เกิดอุทกภัยที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนกว่า 20 ล้านคน และเมื่อปลายปี 2011 น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเมืองไทยส่งผลให้โรงงานหลายร้อยแห่งใกล้กรุงเทพฯจมอยู่ใต้บาดาล จนเกิดปัญหาขาดแคลนฮาร์ดไดรฟ์คอมพิวเตอร์ไปทั่วโลก

            ไม่ใช่แค่ฝนตกหนักเท่านั้นที่เป็นข่าว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมายังเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงในภูมิภาคต่างๆ อาทิ รัฐเทกซัส ออสเตรเลีย และรัสเซีย เช่นเดียวกับแอฟริกาตะวันออกซึ่งผู้คนหลายหมื่นต้องใช้ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัย ขณะที่คลื่นความร้อนอันตรายโจมตียุโรป และพายุทอร์นาโดจำนวนมากมายเป็นประวัติการณ์ก็พัดกระหน่ำพื้นที่หลายรัฐของสหรัฐฯ ความสูญเสียจากปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากสภาพอากาศทั่วโลกในปี 2011 พุ่งสูงถึงราว 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงกว่าปีก่อนหน้าราวร้อยละ 25

            เกิดอะไรขึ้นกันแน่ เหตุการณ์สุดขั้วเหล่านี้คือสัญญาณอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในโลกอันเกิดจากฝีมือมนุษย์ หรือเพียงแค่เรากำลังเผชิญกับช่วงเวลาเคราะห์ซ้ำกรรมซัดตามธรรมชาติเท่านั้น

            คำตอบสั้นๆก็คือ อาจจะทั้งสองอย่าง พลังสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดหายนะครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือวัฏจักรภูมิอากาศตามธรรมชาติโดยเฉพาะเอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) สองปรากฏการณ์แปรปรวนในมหาสมุทรแปซิฟิกแถบศูนย์สูตรที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก ในช่วงเอลนีโญ แอ่งกระแสน้ำอุ่นขนาดใหญ่ซึ่งปกติอยู่บริเวณกลางมหาสมุทรแปซิฟิกจะแผ่ขยายไปทางตะวันออกจนถึงอเมริกาใต้ ครั้นถึงช่วงลานีญา กระแสน้ำอุ่นดังกล่าวจะหดตัวและถอยร่นกลับสู่มหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตก ความร้อนและไอน้ำจากกระแสน้ำอุ่นดังกล่าวก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงจนแผ่อิทธิพลจากเขตร้อนไปยังกระแสลมกรดที่พัดผ่านช่วงละติจูดกลางหรือเขตอบอุ่น ขณะที่แอ่งกระแสน้ำอุ่นหดและขยายตัวตามแนวเส้นศูนย์สูตรนั้น เส้นทางเคลื่อนที่ของกระแสลมกรดก็พลอยขึ้นๆลงๆระหว่างเหนือกับใต้ ส่งผลให้พายุที่เกิดในทวีปต่างๆเปลี่ยนเส้นทางไป เอลนีโญมีแนวโน้มจะทำให้เกิดพายุใหญ่ทางใต้ของสหรัฐฯและเปรู ขณะส่งภัยแล้งและไฟป่าไปยังออสเตรเลีย ส่วนลานีญาทำให้ฝนตกหนักจนน้ำท่วมออสเตรเลียและส่งภัยแล้งไปยังพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯและรัฐเทกซัส รวมถึงภูมิภาคอันห่างไกลกว่านั้นเช่นแอฟริกาตะวันออก

            บรรยากาศและมหาสมุทรเป็นของไหลที่สับสนอลหม่าน และยังมีความผันผวนอื่นๆที่ส่งอิทธิพลต่อสภาพลมฟ้าอากาศในสถานที่และเวลาหนึ่งๆ กระนั้น มหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนกลับส่งผลกระทบมากเป็นพิเศษ เนื่องจากส่งความร้อนและไอน้ำปริมาณมหาศาลขึ้นสู่บรรยากาศ ปรากฏการณ์เอลนีโญหรือลานีญาแบบสุดขั้วจึง “เปิดเวที” หรือทำให้สภาพการณ์ต่างสุกงอมสำหรับปรากฏการณ์ธรรมชาติวิปริตที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก

            แต่ลำพังวัฏจักรธรรมชาติเพียงอย่างเดียวไม่สามารถอธิบายภัยพิบัติรุนแรงขั้นทำลายสถิติหลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้ได้ โลกอุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ความชื้นในบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างมาก การติดตามและเฝ้าสังเกตการณ์สภาพอากาศตลอดหลายสิบปีบ่งชี้ว่า การสะสมตัวตลอดระยะเวลาอันยาวนานของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศได้กักเก็บความร้อนและทำให้พื้นดิน มหาสมุทร และบรรยากาศร้อนขึ้น ถึงแม้บางแห่งโดยเฉพาะมหาสมุทรอาร์กติกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าที่อื่นๆ แต่อุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวโลกสูงขึ้นราวครึ่งองศาเซลเซียสในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา เมื่อปี 2010 อุณหภูมิสูงถึง 14.51 องศาเซลเซียสเท่ากับสถิติสูงสุดเมื่อปี 2005

            พอถึงสิ้นศตวรรษนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้น 1.5 ถึง 4.5 องศาเซลเซียส ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณคาร์บอนที่เราปล่อยจากปัจจุบันถึงตอนนั้น นักวิทยาศาสตร์คาดว่าสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เส้นทางการไหลเวียนโดยทั่วไปของลมและฝนจะขยับไปทางขั้วโลกทั้งสอง ในลักษณาการเดียวกับที่พืชและสัตว์บางชนิดกำลังทำอยู่เพื่อหลบหนี (หรือใช้ประโยชน์จาก) สภาพอากาศที่อุ่นขึ้น นักภูมิอากาศวิทยารายงานว่า แนวฝนเขตร้อน (tropical rain belt) แผ่ขยายกว้างขึ้นแล้ว พื้นที่แห้งแล้งกึ่งโซนร้อนกำลังแผ่ไปทางขั้วโลกมากขึ้นและเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ เช่น ตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ทางใต้ของออสเตรเลีย และยุโรปใต้ ทำให้ภูมิภาคเหล่านี้มีโอกาสเกิดภัยแล้งรุนแรงและยาวนานขึ้น ถัดจากภูมิภาคกึ่งโซนร้อนขึ้นไปเป็นช่วงละติจูดกลาง ซึ่งรวมถึง 48 รัฐตอนล่างหรือในภาคพื้นทวีปของสหรัฐฯ เส้นทางพายุกำลังเคลื่อนสู่ขั้วโลกเช่นกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มระยะยาวนอกเหนือจากการผันผวนตามฤดูกาลในแต่ละปีของลานีญาหรือเอลนีโญ

            ตัวแปรที่คาดเดาได้ยากที่สุดตัวหนึ่งของสภาพอากาศโลกในอนาคต คือมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งสูญเสียน้ำแข็งทะเลช่วงฤดูร้อนไปแล้วถึงร้อยละ 40 นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา อุณหภูมิในฤดูใบไม้ร่วงของส่วนที่กลายเป็นทะเลเปิดในปัจจุบันสูงขึ้น 2 ถึง 5 องศาเซลเซียส เนื่องจากห้วงน้ำสีเข้มดูดซับแสงอาทิตย์ซึ่งครั้งหนึ่งน้ำแข็งเคยสะท้อนกลับสู่บรรยากาศ  หลักฐานใหม่ชี้ว่า อุณหภูมิโลกที่อุ่นขึ้นกำลังทำให้กระแสลมกรดในขั้วโลกเปลี่ยนไปโดยเบี่ยงเส้นทางการเคลื่อนตัวไปในแนวเหนือ-ใต้มากขึ้นอย่างช้าๆ นี่อาจช่วยอธิบายว่า เพราะเหตุใดฤดูหนาวปีที่แล้วภูมิภาคอเมริกาเหนือจึงค่อนข้างอบอุ่น ขณะที่ในยุโรปหนาวจัด กระแสลมกรดที่ขยับขึ้นเหนือมากกว่าปกตินำอากาศอุ่นเข้าสู่แคนาดา และเมื่อขยับลงใต้มากกว่าปกติเข้าไปในยุโรป มันก็นำลมหนาวกับหิมะไปสู่ภูมิภาคนั้นด้วย เนื่องจากเส้นทางของกระแสลมกรดเบี่ยงเบนไปมาทุกปี สภาพอากาศอันแปรปรวนสุดขั้วจึงอาจเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน

            ภัยจากสภาพอากาศสุดขั้วบางอย่างมีความเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนอย่างค่อนข้างชัดเจน ยิ่งบรรยากาศอบอุ่นขึ้นเท่าไร โอกาสที่จะเกิดคลื่นความร้อนทำลายสถิติก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เมื่อปี 2010 ทั่วโลกมีอยู่ถึง 19 ประเทศที่รายงานว่า อากาศร้อนทำลายสถิติที่เคยบันทึกไว้ในแต่ละประเทศ

            เมื่อความชื้นในบรรยากาศสูงขึ้น ปริมาณฝนก็มากขึ้นตามไปด้วย เจอรัลด์ มีห์ล นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ บอกว่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาในสหรัฐฯ “เราได้รับฝนจากพายุลูกหนึ่งๆในปัจจุบันมากกว่าที่เคยได้เมื่อเทียบกับ 30 หรือ 40 ปีก่อนครับ” เขาเสริมว่า ภาวะโลกร้อนทำให้โอกาสของการเกิดสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มสูงขึ้น

            มูลค่าความเสียหายที่เพิ่มขึ้นและความถี่ในการเกิดภัยธรรมชาติ เป็นความผิดของสภาพอากาศเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ภัยพิบัติเหล่านี้ยังเพิ่มขึ้นเพราะมีคนเข้าไปอยู่ในเส้นทางอันตรายมากขึ้นด้วย ในรัฐเทกซัส แอริโซนา และแคลิฟอร์เนีย การตั้งชุมชนในพื้นที่ที่เคยเป็นผืนป่าทำให้ทรัพย์สินสุ่มเสี่ยงต่อไฟป่า เช่นเดียวกับการพัฒนาที่ดินในรัฐริมชายฝั่งอย่างฟลอริดา นอร์ทแคโรไลนา และแมริแลนด์ ก็เปิดโอกาสให้บ้านตากอากาศและโรงแรมที่พักถูกเฮอร์ริเคนและพายุอื่นๆ เล่นงานได้ ขณะเดียวกัน การเติบโตอย่างรวดเร็วของมหานครในประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชียและแอฟริกาก็ทำให้ผู้คนหลายล้านเสี่ยงต่อคลื่นความร้อนและอุทกภัยมากขึ้น

            เจย์ กัลเลดจ์ นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์แก้ไขปัญหาภูมิอากาศและพลังงาน เปรียบเปรยว่า ภัยพิบัติจากสภาพอากาศก็เหมือนกับอาการหัวใจวาย “เวลาหมอแนะนำวิธีป้องกันอาการหัวใจวาย หมอคงไม่พูดว่า คุณต้องออกกำลังกายนะครับ แต่สูบบุหรี่ต่อไปได้ตามสบาย” วิธีที่ฉลาดในการรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วก็คือ การพุ่งเป้าจัดการกับปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนทานต่อภัยแล้ง การสร้างอาคารที่รับมือน้ำท่วมและลมแรงได้ การบังคับใช้นโยบายที่ไม่สนับสนุนให้คนสร้างอาคารบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยง และแน่นอนว่าต้องรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

กันยายน 2555