ผู้เขียน หัวข้อ: ย้อนดูกรุงเทพฯ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้เวลาหรือยังที่จะเปลี่ยน "ผังเมือง" เสียที  (อ่าน 1363 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
วันก่อนได้มีโอกาสไปดูละครเวที "เรื่องสี่แผ่นดิน เดอะ มิวสิคัล" วรรณคดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้นึกถึง "กรุงเทพมหานคร" ในวันนี้...ที่กำลังประสบภาวะวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ และคนไทยทั้งประเทศกำลังตั้งหน้าตั้งตารอลุ้นกันอยู่ว่า มวลน้ำปริมาณมหาศาลคาดว่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเข้าถล่มพื้นที่กรุงเทพฯหรือไม่

มีอยู่ประมาณ 2-3 ฉากในละครเรื่องนี้ ที่สะท้อนให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อนนั้น มีความผูกพันอยู่กับน้ำอย่างมาก หากจะไปไหนมาไหนมักจะใช้เรือเป็นพาหนะ ด้วยเหตุนี้บ้านเรือน เรือแพ และที่อยู่อาศัยจึงมักปลูกหรือจอดอยู่ริมคู คลอง และแม่น้ำ ซึ่งในเขตพระนคร หรือที่เรารู้จักในชื่อกรุงเทพฯ ปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น เพราะนอกจากจะสะดวกสบายในการคมนาคมขนส่งแล้ว ยังสามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคได้ด้วย แต่ในปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นในอดีต หรือหากจะมีบ้างก็เพียงเล็กน้อย พอมีให้เห็นประปรายในเขตเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เท่านั้น

หลายคนอาจสงสัยว่า...เหตุใดเมื่อเกิดอุทกภัยในจังหวัดตอนเหนือและตอนกลางของประเทศแล้ว กรุงเทพฯจะต้องได้รับผลกระทบอาจจะมากบ้าง น้อยบ้างตามไปด้วย แต่เมื่อดูจากสภาพที่ตั้งของประเทศแล้ว ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีฝนตกชุกและปริมาณฝนมาก มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน โดยพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีเนื้อที่ประมาณ 160,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ ส่วนกรุงเทพฯตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อมีฝนตกทางตอนเหนือน้ำจะไหลลงจากที่สูงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านกรุงเทพฯ ออกสู่อ่าวไทย ขณะเดียวกันกรุงเทพฯก็ยังได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเลด้วย ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมถึงกรณีมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ น้ำทุ่ง และระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีทุกปัจจัยมาบรรจบหรือเกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน คิดดูกันเล่นๆ ว่า สภาพของกรุงเทพฯจะเป็นอย่างไร

กรุงเทพฯตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีห้วย หนอง คลอง บึง และที่ว่างจำนวนมาก ประชาชนใช้น้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และเพื่อประกอบอาชีพ ไม่ค่อยมีปัญหาน้ำท่วม หรือแม้ในบางปีจะมีปัญหาน้ำท่วมบ้าง แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังสามารถอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข มีการสำรวจพื้นที่พบว่า ในกรุงเทพฯมีคลองทั้งสิ้น 1,161 คลอง ความยาวรวม 2,272 กิโลเมตร มีคู ลำราง ลำกระโดง จำนวน 521 แห่ง ความยาว 331 กิโลเมตร ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับรับมือกับวิกฤตน้ำได้ แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ใช่เพราะกรุงเทพฯมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการขยายเมือง มีการก่อสร้างอาคาร ตึกสูง ที่อยู่อาศัย และสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จำนวนมาก จนล้ำเกินระบบการพัฒนาผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน นักวิชาการจากหลายสำนักมีความคิดเห็นตรงกันว่า สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ได้รุกล้ำและขวางทางน้ำ ทำให้การระบายน้ำในพื้นที่เป็นไปอย่างมีข้อจำกัด

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) บอกว่า ปัจจุบัน กทม.มีระบบการบริหารน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะได้มีการพัฒนาระบบและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2526 ประกอบด้วยการสร้างแนวคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริในด้านตะวันออก การสร้างแนวคันกั้นน้ำ 77 กิโลเมตร และจะสร้างเพิ่มอีก 7 กิโลเมตร ตลอดทั้ง 2 ฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ มีระบบระบายน้ำที่ฝั่งพระนครสามารถระบายน้ำได้ 7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนฝั่งธนบุรีระบายน้ำได้ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

แถมยังมีท่อระบายน้ำขนาดต่างๆ ยาวรวมกัน 6,404 กิโลเมตร คู คลอง ลำราง ลำกระโดง รวม 1,682 แห่ง ความยาวรวมกัน 2,604 กิโลเมตร มีสถานีสูบน้ำ 158 แห่ง ประตูระบายน้ำ 214 แห่ง ในปี 2551 มีการเพิ่มบึงรับน้ำไว้อีก 21 แห่ง ซึ่งระบบสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมดเป็นเครื่องมือของระบบระบายน้ำที่สำคัญ สามารถระบายน้ำได้มากถึง 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กทม.มีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมเป็นของตัวเอง เทียบเท่ากับ "หัวใจ" และ "มันสมอง" ของ กทม.ที่มีสำนักการระบายน้ำ (สนน.) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการ แต่วันนี้...กรุงเทพฯ ก็ยังเผชิญวิกฤตน้ำอยู่ดี

ถึงเวลาหรือยังที่ "ผังเมืองกรุงเทพฯ" จะเปลี่ยนแปลงเสียที!

มติชนรายวัน ฉบับวันที่30ต.ค.2554 หน้า 5