กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
11
อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก แจงกรณี "อดีตนายกแพทยสภา" ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอชะลอการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อส่งลงประจำ รพ.สต. ในระยะเวลา 10 ปี ย้ำไม่ได้ผลิตแค่ "แพทย์" แต่มีวิชาชีพอื่นในทีมสุขภาพ รวม 9 วิชาชีพ หวังให้คนกลับไปทำงานในระบบปฐมภูมิ ตอบโจทย์การกระจายกำลังคนในพื้นที่ขาดแคลน

วันนี้ 21 เมษายน 2567 ศ.พิเศษ ดร. นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวถึงกรณีอดีตนายกแพทยสภา ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นจากปกติ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ โครงการ 37,234.48 ล้านบาท โดยอ้างอิงผลสำรวจว่าปัจจุบันมีจำนวนแพทย์เพียงพอ แต่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และกังวลว่าการผลิตเพิ่มขึ้นจะทำให้คุณภาพด้อยลง โดยเสนอให้เพิ่มแรงจูงใจลดการลาออกของแพทย์ภาครัฐ ว่า มติ ครม.ดังกล่าวไม่ได้เฉพาะการผลิตแพทย์เท่านั้น แต่เป็นโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2568-2577 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง

รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ทันตแพทย์ เภสัชกร นักฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาโครงการจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน   

"แม้ปัจจุบันสถานการณ์ขาดแคลนแพทย์จะไม่มากเหมือนในอดีต แต่การมีแพทย์เพิ่มขึ้นย่อมดีในแง่ของการบริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาการกระจายตัวของแพทย์ พื้นที่ที่ยังขาดจะเป็นพื้นที่ไม่ค่อยมีคนอยากไปอยู่ โดยเฉพาะแพทย์สาขาเวชศาตร์ครอบครัวในระบบบริการปฐมภูมิ มีเพียง 2,043 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 3.11 ต่อ100,000 จึงต้องส่งเสริมให้มีการผลิตเพิ่มและบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวอย่างเหมาะสม ซึ่งโครงการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมนวัตกรรมสุขภาพ จะคัดเลือกคนจากในพื้นที่หรือนำบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่มาศึกษาต่อยอด และกลับไปทำงานในหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ เกิดการเติมเต็มและกระจายบุคลากรแต่ละวิชาชีพเข้าสู่ระบบบริการปฐมภูมิได้อย่างตรงจุด" ศ.พิเศษ ดร. นพ.วิชัยกล่าว

ศ.พิเศษ ดร. นพ.วิชัยกล่าวต่อว่า โครงการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมนวัตกรรมสุขภาพยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีอายุยืนยาว เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ข ด้านอื่น(5) ที่บัญญัติให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม ตอบโจทย์นโยบาย Medical hub ของรัฐบาล และนโยบายของนายกรัฐมนตรีเรื่องระบบสุขภาพสำหรับคนไทยและประเทศไทย รวมทั้งสอดรับกับเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนของแพทย์ต่อประชาชนให้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับนานาชาติ โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนแพทย์ต่อประชากร 1:1,305 คน ขณะที่สิงคโปร์ 1:411 คน มาเลเซีย 1:448 คน และเวียดนาม 1:1,204 คน ซึ่งจากกำลังการผลิตแพทย์ในปัจจุบันปีละ 3,386 คน หากจะให้มีจำนวนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1:650 คน จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ในปี 2580

ดังนั้นยังต้องผลิตบัณฑิตแพทย์อย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ด้วยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการผลิตแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์สังกัดกรุงเทพมหานคร กลาโหม และภาคเอกชน ส่วนข้อกังวลเรื่องคุณภาพการผลิตนั้น สถาบันพระบรมราชชนกมีการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตร์และวิชาชีพสุขภาพต่างๆ ตามมาตรฐานแต่ละวิชาชีพ จึงสามารถผลิตแพทย์ที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมนวัตกรรมสุขภาพที่มีคุณภาพ กลับไปดูแลประชาชนในพื้นที่ของตนเองได้แน่นอน

21 April 2024
https://www.hfocus.org/content/2024/04/30308
12
กลุ่มแพทย์ญี่ปุ่น 63 คน รวมตัวกันยื่นฟ้องกูเกิล บริษัทเสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเรียกร้องค่าเสียหาย จากสิ่งที่พวกเขาอ้างว่า เป็นการสร้างความเสื่อมเสีย โดยกูเกิลไม่ควบคุมดูแล และกูเกิลมักปล่อยให้มีการแสดงความเห็นที่เป็นเท็จ

คดีดังกล่าวซึ่งถูกยื่นฟ้องเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่นมา ที่ศาลแขวงโตเกียว โดยกลุ่มแพทย์ ได้เรียกร้องค่าเสียหาย 1.4 ล้านเยน (9,400 ดอลลาร์) โดยคำฟ้องระบุว่า กูเกิลปล่อยให้โพสต์คอมเมนต์แบบผิด ๆ ต่อโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่บนกูเกิลแมพ ซึ่งได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น โดยเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีความรับผิดชอบ และดูเหมือนจะถูกเขียนออกมาด้วยความเคียดแค้น และคำพูดแบบ 'ปากต่อปาก' โดยผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แทบจะไม่มีทางปฏิเสธเลย ซึ่งกูเกิลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าจะมีการร้องเรียนแล้วก็ตาม

ยูอิจิ นากาซาวะ ซึ่งเป็นผู้นำทีมกฎหมายของโจทก์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ความเสียหายที่ได้รับมีมาก และประชาชนไม่มีอำนาจที่จะต่อสู้กลับ เราไม่เห็นด้วยที่แพลตฟอร์มดังกล่าว ไม่มีส่วนรับผิดชอบ”

ทั้งนี้ ชาวญี่ปุ่นบางคนกล่าวว่า พวกเขาเชื่อในสิ่งที่ผู้คนแสดงความเห็นทางออนไลน์เกี่ยวกับโรงพยาบาล  มากกว่าข้อมูลในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโรงพยาบาล แต่ความคิดเห็นออนไลน์เหล่านั้นอาจไม่ถูกต้อง และเป็นอันตราย

ซึ่งโจทย์ ระบุว่า มีการโพสต์บทวิจารณ์เชิงลบอย่างไร้เหตุผลบน 'กูเกิล แมพ' ซึ่งเป็นแอปยอดนิยมในญี่ปุ่น ซึ่งอนุญาตให้ผู้คนเขียนการให้คะแนนของสถาบันต่าง ๆ และบทวิจารณ์ส่วนตัวของพวกเขาได้

ขณะที่ทางด้าน กูเกิล กล่าวในแถลงการณ์ทางอีเมล เมื่อวันศุกร์ว่า บริษัทกำลังทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด หรือเป็นเท็จ บนแพลตฟอร์ม โดยรวมทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยี “เพื่อลบบทวิจารณ์ที่ฉ้อโกง”

ทั้งนี้ การดำเนินคดีแบบกลุ่มเกิด ขึ้นค่อนข้างน้อยในญี่ปุ่น แม้ว่า กูเกิล จะถูกฟ้องในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ โดยถูกกล่าวหาว่า มีโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิด // ละเมิดความเป็นส่วนตัว และปัญหาอื่น ๆ

22 เม.ย. 2567
ch3plus.com
13
รมว.สาธารณสุข  เผยสถานการณ์ความพร้อมการแพทย์ดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบเมียนมา ล่าสุดพบบาดเจ็บสะสม 113 ราย ส่วนใหญ่ถูกระเบิด อาวุธปืน เหลือรักษา รพ.แม่สอด 82 คน ผ่าตัดแล้ว 29 ราย รอผ่าตัดอีก 3 ราย แจงประกาศแผนฉุกเฉิน เหตุผู้ป่วยเข้ามาพร้อมกันเกิน 20 คน แต่ปิดได้ใน 3 ชม. 

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ รพ.แม่สอด จ.ตาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ขณะลงพื้นที่ติดตามด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับผู้หนีภัยสงครามเมียนมา ว่า วันนี้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตาม 2 จุด คือ รพ.แม่สอด เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมของ รพ. ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ให้รองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และดูแลเรื่องขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน อีกจุดคือพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่ราชการจัดไว้ให้ผู้ประสบภัยมาพักอาศัยชั่วคราว โดยติดตามเรื่องของมิติการเฝ้าระวังป้องกันโรค และสภาพแวดล้อมไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ

เผยที่มาแผนฉุกเฉินรับสถานการณ์
นพ.ชลน่านกล่าวว่า รพ.แม่สอดมีความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยสงคราม ที่ผ่านมามีการดูแลผู้ได้รับผลกระทบเป็นระยะ แต่มาเน้นหนักตั้งแต่คืนวันที่ 20 เม.ย. 2567 ที่มีผู้บาดเจ็บจากภัยสงครามเข้ามารักษาพร้อมกันถึง 22 คน จึงจำเป็นที่จะต้องประกาศแผนรองรับฉุกเฉินระดับ 3 หรือระดับรุนแรง คือ มีผู้ป่วยเข้ามาพร้อมกันมากกว่า 20 คนขึ้นไป เพื่อระดมทรัพยากรบุคคลและเครื่องมือต่างๆ มารองรับ ซึ่งเป็นการประกาศแผนรองรับฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ รพ. ไม่ได้เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเราไม่มีอำนาจ

"ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติเมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาจำนวนมากจากอุบัติเหตุหมู่ อุบัติภัยหมู่ ซึ่งสงครามก็ถือเป็นอุบัติภัยหมู่ ก็จะมีการประกาศแผนรองรับอยู่แล้ว โดยหลังประกาศแผนใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงทุกอย่างเข้าที่เข้าทางก็ยุติแผนได้เลย ส่วนวันที่ 21-22 เม.ย.ก็เป็นการรับผู้ป่วยตามปกติ อย่างวันที่ 21 เม.ย.ก็มีผู้บาดเจ็บเข้ามา 16 คน แต่เป็นการทยอยเดินทางเข้ามารักษา ไม่ได้มาพร้อมกัน จึงไม่จำเป็นต้องประกาศใช้แผน" นพ.ชลน่าน กล่าว

ผู้บาดเจ็บเหตุเมียนมา กระจายรักษาตาม รพ.ต่างๆ
นพ.ชลน่าน กล่าาวว่า ผู้ป่วยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเข้ามารับบริการและยังค้างอยู่ที่นี่ 82 คน ส่วนใหญ่มีลักษณะบาดเจ็บเป็นหลัก รักษาด้านศัลยกรรม จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ผ่าตัดแล้ว 29 ราย รอผ่าตัดอีก 3 ราย เราดูแลแบบไม่แยกฝ่าย ถือเป็นผู้ประสบภัยไม่แยกฝ่ายไหนอย่างไร โดยเมื่อรักษาเสร็จหายออกจาก รพ.ได้ ฝ่ายความมั่นคงก็จะมารับตัวไปดำเนินการดูแลต่อ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก รายงานว่า ภาพรวมมีผู้ป่วยสะสม 113 ราย กระจายตาม รพ.ต่างๆ ทั้ง รพ.อุ้มผาง รพ.ตามตะเข็บชายแดน ส่วนใหญ่บาดเจ็บจากระเบิดที่เข้ามากระทบ รวมถึงบาดแผลจากอาวุธปืน การดำเนินการระดับจังหวัดจะแบ่งการเตรียมการรองรับไว้ 3 ระดับ คือ ระดับ 1ผู้ป่วยไม่เยอะ เป็นแผนรองรับเฉพาะพื้นที่ รพ. บริหารจัดการจบใน รพ.  ระดับ 2 มีผู้ป่วยมากขึ้นต้องระดมทรัพยากรในจังหวัดมาช่วยกัน ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 60 คน และระดับ 3 คือต้องใช้ทรัพยากรโดยรวมจากนอกเขต และต้องเปิด รพ.สนาม ขณะนี้ยังไม่ถึง นี่คือการเตรียมความพร้อม รวมถึงเครื่องมือบุคลากร ห้องผ่าตัดต่างๆ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า อีกเรื่องคือ การดูแลผู้อพยพในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ซึ่งล่าสุดมีเหลืออยู่ประมาณ 1,600 คน จาก 3 พันคนที่เข้ามา มีทยอยกลับไปแล้ว เราดูแลมิติสุขภาพตรวจสอบว่ามีสถานะสุขภาพอย่างไร มีการวางระบบประเมินเข้าไปดูแลทางสุขาภิบาลอาหาร น้ำ และเฝ้าระวังโรค เช่น มุ้ง ยาต่างๆ ก้จะเตรียมพร้อมทั้งหมด

ยังไม่จบง่ายๆ คาดอพยพเข้าไทยอีก
ถามว่าสถานการณ์ยังไม่จบง่ายๆ อาจมีการอพยพเข้ามาเพิ่ม  นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราไม่ประมาทว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เรามีมาตรการขั้นสูงสุดที่จะรองรับ ไม่ว่าสถานการณ์จะเกิดมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเหตุการณ์เกิดถึงระดับ 3 เราก็ประกาศแผนระดับ 3 คือเราพร้อมรองรับ ในมุมของการเมืองเรื่องสิทธิมนุษยชน มิติสุขภาพ ความเป็นอันตราย ถ้าไม่เกิดจะดีที่สุด ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องช่วยกัน ประเทศเราในมุมของการเมืองก้ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด การแพทย์และสาธารณสุขก็ดูแลสุขภาพเป็นหลัก

ถามว่าต้องมีทรัพยากรอะไรเข้ามาเสริม รพ.แม่สอดอีกหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า แน่นอน เราต้องดูตลอด ขณะนี้เราประสบปัญหาเรื่องหมอศัลยศาสตร์ระบบประสาท ปลัด สธ.ก็ให้ความสำคัญ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ รพ.แม่สอดควรต้องมี แต่ขณะที่ไม่มี ปลัด สธ.สั่งการกับผู้ตรวจราชการ สธ.แล้วว่าจะต้องหาวิธีการทำอย่างไรก็ได้ให้มีศัลยศาสตร์ประสาทเข้ามาดำเนินการ เพราะมีความจำเป็น อย่างกรณีที่เกิดขึ้นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปที่ รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก 1 ราย เพื่อดูเรื่องระบบสมอง

ถามย้ำว่าขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระดับใด  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถ้าใน รพ.อยู่ในระดับ 3 เพราะเกิน 20 คน แต่ว่าสามารถจัดการได้เร็วมาก 2-3 ชั่วโมงก็ปิดแผนได้เลย ตอนนี้ใช้แผนปกติไม่ได้ประกาศแผน ไม่ได้วิกฤต ถ้าทยอยเข้ามาเราก็รองรับได้ บริหารจัดการใน รพ.ได้เลย ส่วนกรณีบาดแผลจากสู้รบศักยภาพ รพ.เราพร้อม ในภาวะฉุกเฉิน รพ.แม่สอดสามารถเปิดห้องผ่าตัดได้ถึง 4 ห้อง

22 April 2024
https://www.hfocus.org/content/2024/04/30322
14
"หมอชลน่าน" สั่งปรับ 100,000 บาท โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังใน จ.สมุทรปราการ หลังปฏิเสธรับผู้ป่วยวิกฤติซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกรถชนในบริเวณใกล้เคียงไปส่งโรงพยาบาลอื่นต่อมาภายหลังตำรวจรายนี้ได้เสียชีวิต

25 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ กพฉ. ครั้งที่ 4/2567 ที่มีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงบทลงโทษ จากเหตุการณ์ที่มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ปฏิเสธการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกรถชนในบริเวณใกล้เคียงไปส่งโรงพยาบาลอื่นจนภายหลังตำรวจรายนี้ได้เสียชีวิต

ที่ประชุมมีมติเห็นว่า จากการรับฟังพยานหลักฐานทั้งในส่วนของพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ และพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโดยระหว่างการปฏิบัติการฉุกเฉิน หน่วยปฏิบัติการอำนวยการและหน่วยปฏิบัติการแพทย์ได้ปฏิบัติการฉุกเฉิน ตามมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินแล้ว

ดังนั้น เมื่อสถานพยาบาลได้รับการประสานการปฏิบัติการฉุกเฉินจากหน่วยปฏิบัติการอำนวยการเพื่อนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ อันเป็นไปตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน สถานพยาบาลจึงมีหน้าที่ในการตรวจคัดแยกลำดับความฉุกเฉินและจัดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที และจะต้องปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างเต็มขีดความสามารถของสถานพยาบาลนั้นแต่การปฏิเสธไม่รับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยการนำสิทธิการรักษาพยาบาลหรือความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเงื่อนไขใด ๆ มาปฏิเสธ ไม่ให้ผู้ป่วยรายนี้ ให้ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 (1)แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ประกอบกับข้อ 3 ของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง อำนาจหน้าที่ ขอบเขต ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของสถานพยาบาลในการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ. 2557 และข้อ 5 วรรคหนึ่งของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ข้อกำหนดว่าด้วยสถานพยาบาล พ.ศ. 2554 ซึ่งต้องระวางโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

และเมื่อพิจารณาจากการกระทำครั้งนี้พบว่า การปฏิบัติการฉุกเฉินโดยการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินรายนี้มีการประสานการปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อนำส่งถึงสองครั้งแต่ได้รับการปฏิเสธทั้งสองครั้งและไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายใกล้ตาย เนื่องจากปัญหาระบบทางเดินหายใจและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและอำนาจหน้าที่ของสถานพยาบาล ประกอบกับผู้ป่วยฉุกเฉินรายนี้ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

จากการกระทำข้างต้นย่อมเห็นได้ว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน จึงมีมติให้ลงโทษปรับทางปกครองในอัตรา 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยการลงโทษปรับทางปกครอง กับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่รับเคสผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งที่สอง

ก่อนหน้านี้ กพฉ. เคยมีมติลงโทษปรับ 100,000 บาท ในอัตราที่สูงสูงสุด แก่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ไม่รับนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่ถูกรถชนอาการสาหัส และภายหลังได้เสียชีวิต ซึ่งขัดต่อกฎหมายและนโยบายของนายแพทย์ชลน่าน ที่ต้องการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้รับการรักษาช่วยชีวิตตามมาตรฐานอย่างเร่งด่วน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา สิทธิการรักษา และความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ทั้งนี้ หากประชาชนหรือหน่วยปฏิบัติการพบเหตุการณ์การปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติในลักษณะนี้สามารถแจ้งมายัง ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สพฉ.โทร.028721669 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

25 เม.ย. 2567
https://www.thansettakij.com/health/wellbeing/594464
15
สระแก้ว - อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว (คนแรก)​ กระทำอัตวินิบาตกรรมตนเองในบ้านพักที่ จ.สระแก้ว แม่บ้านเผยได้ยินเสียงปืนตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้แต่ไม่คิดจะฆ่าตัวตายเพราะไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ถึงความเครียด ขณะชาวบ้านในพื้นที่สุดรักพากันเรียกติดปาก "หมอบรรหาร"

วันนี้ (23 เม.ย.) ร.ต.อ.เสน่ห์ เดชสุภา พนักงานสอบสวนเวร สภ.เขาฉกรรจ์ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างสระแก้ว จุดอำเภอเขาฉกรรจ์ ว่าทเกิดเหตุฆ่าตัวตายโดยใช้อาวุธปืนที่บ้านเลขที่ 16 ม.5 ต.เขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว หลังรับแจ้งจึงเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมแพทย์เวรโรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ และพิสูจน์หลักฐานตำรวจภูธร​สระแก้ว

พบที่เกิดเหตุเป็นบ้านพักกลางสวนที่อยู่ติดกับสวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ ลักษณะ​เ​ป็นบ้านปูน 2 ชั้น มีรั้วรอบขอบชิด และยังพบว่าเป็นบ้านพักของนายแพทย์บรรหาร ภู่ทอง อายุ 81 ปี อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว

และจากการตรวจสอบภายในห้องนอนบนชั้นที่ 2 พบบนโซฟามีร่างผู้เสียชีวิตคือ นายบรรหาร ภู่ทอง สภาพนอนหงาย สวมเสื้อกล้ามสีน้ำเงิน นุ่งกางเกงขาสั้นสีดำ โดยมีบาดแผลถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิดที่ขมับขวา 1 นัด เลือดไหลเต็มโซฟาและพื้น ข้างลำตัวพบอาวุธปืนลูกโม่ขนาด .22 ตกอยู่ คาดว่าน่าจะเป็นการอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ตัวเอง และน่าจะเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 10 ชั่วโมง

หลังเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบและเก็บรายละเอียดในที่เกิดเหตุแล้ว ได้มอบหมายให้กู้ภัยนำร่างผู้เสียชีวิตส่งโรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ ก่อนส่งให้นิติเวชทำการผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตอีกครั้งที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี

จากการสอบถามแม่บ้าน ทราบว่า เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น.ที่ผ่านมา "หมอบรรหาร" ได้เข้านอนตามปกติ และไม่ได้มีอะไรบ่งบอกว่าเกิดความครียด หรือคิดจะทำร้ายตัวเอง

โดยก่อนเกิดเหตุตนได้อยู่ชั้นล่างของบ้าน กระทั่งเวลาประมาณ 20.00 น.ที่ผ่านมาได้ยินเสียงคล้ายปืนดังขึ้น 1 นัด แต่ไม่สงสัยอะไรและคิดว่าเป็นเสียงดังมาจากด้านนอกจึงเข้านอนตามปกติ

"กระทั่งช่วงเช้าเวลา 07.30 น.ซึ่งเป็นเวลาที่"หมอบรรหาร ตื่นนอน แต่ไม่เห็นออกมาจากห้องจึงขึ้นไปเคาะประตูแต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงโทรศัพท์บอกญาติให้มาช่วยงัดประตูห้องและเมื่อเปิดประตูได้ถึงกับตกใจสุดขีด เมื่อเห็นหมอบรรหาร นอนเสียชีวิตอยู่บนโซฟา จึงรีบแจ้งตำรวจ และกู้ภัยเข้าตรวจสอบ" แม่บ้าน กล่าว

ส่วนสาเหตุการทำอัตวินิบาตกรรมของนายแพทย์บรรหาร เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุได้และจะต้องรอสอบแม่บ้าน และลูกๆ ของหมอบรรหาร ว่ามีโรคประจำตัวร้ายแรงหรือไม่ หรือมีภาวะความเครียดจากเรื่องใด ส่วนจะเป็นฆาตกรรมหรือไม่นั้นขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ และต้องรอทำการสอบสวนในเชิงลึกต่อไป

สำหรับนายแพทย์บรรหาร ภู่ทอง อายุ 81 ปี เป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว (คนแรก)​ ปัจจุบัน​ยังดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขาสระแก้ว

โดยนายแพทย์บรรหาร เป็นบุคคลที่ชาวบ้านในพื้นที่รักใคร่เนื่องจากเป็นคนอัธยาศัยดี จึงพากันเรียกติดปากว่า "หมอบรรหาร” ทำให้เมื่อเกษียณอายุราชการจึงเลือกที่จะพักอาศัยอยู่ใน จ.สระแก้ว และได้พักอยู่ที่บ้านสวนหลังดังกล่าวเพียงลำพังกับแม่บ้านวัย 50 ปี

23 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์
16
วันที่ 24 เมษายน พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.อิสเรศ ปาลาพงศ์ รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.อรรชวศิษฏ์ ศรีบุณยมานนทน์ ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.วิโรฒ จนุบุษย์ พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ สว.กก.สส.3 บก.สส.บช.น. ร.ต.อ.ปรินทร์ ส่วนบุญ รอง สว.กก.สส.3ฯ, ร.ต.อ.นิคม นาชัยภูมิรอง สว.กก.สส.3ฯ, ร.ต.อ.ชัยยุทธ ศักดิ์เพชร รอง สว.กก.สส.3ฯ กับพวก

จับกุมตัว น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา อินทยาวงค์ อายุ 35 ปี ที่อยู่ 62/310 ซอยเสรีไทย 72 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลแขวงราชบุรี ที่ จ.52/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน 2567 ในความผิดฐาน “ฉ้อโกง และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น”

โดยก่อนการจับกุม สืบนครบาลได้รับข้อมูลว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลย่านพญาไท พบผู้ที่ใช้ชื่อว่า สุวรรณอำภา อินทยาวงศ์ ปลอมบัตรประจำตัวบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล ซึ่งบัตรประจำตัวที่ปลอมขึ้นมานั้น เป็นบัตรรุ่นเก่าของคณะ ซึ่งไม่ได้ใช้แล้วในปัจจุบัน โดยนำบัตรดังกล่าวไปใช้ในการแอบอ้างตนว่าเป็นศัลยแพทย์ระบบสมองของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล และนำไปหลอกลวงเอาเงินจากคนไข้และเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลหลายราย

โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีบุคคลที่ใช้ชื่อดังกล่าวเป็นบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล และไม่ใช่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล ซึ่งทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลได้รับความเสียหาย

ต่อมาเจ้าหน้าที่สืบนครบาลได้ตรวจสอบพบว่าบุคคลดังกล่าวคือ น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา อายุ 35 ปี ซึ่งมีหมายจับติดตัวของศาลแขวงราชบุรี โดยพฤติการณ์คือ เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2563 ขณะที่ผู้เสียหายใช้เฟซบุ๊ก และได้มีบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ “ข้อมูล ส่วนตัว” เพิ่มเพื่อน

จากนั้นเฟซบุ๊กดังกล่าว ทักข้อความมาพูดคุย และได้แนะนำตัวว่าเป็นแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ชื่อว่า น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา ผู้เสียหายก็พูดคุยกันมาเรื่อยๆ จนได้คบหากัน โดย น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา จะเดินทางมาหาผู้เสียหายที่ อ.เมืองราชบุรี ทุกๆ สัปดาห์ ครั้งละประมาณ 2 วัน แล้วก็จะนั่งรถโดยสารกลับไปกรุงเทพฯ โดยบอกผู้เสียหายว่าจะไปทำงานที่โรงพยาบาลดังกล่าว และบางสัปดาห์ผู้เสียหายจะขับรถไปรับที่หน้าโรงพยาบาล แล้วก็ไปส่งด้วย เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดเวลาที่คบหากัน

ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2566 ผู้เสียหายและ น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา ได้เลิกรากันแต่ปรากฏว่าช่วงก่อนที่จะเลิกกันนั้น น.ส.สุวรรณอำภาได้มาขอให้ผู้เสียหายหาเงินจำนวนประมาณ 300,000 บาท อ้างกับผู้เสียหายต้องใช้เงินในการชดใช้ให้ญาติคนตายที่ตนได้เป็นคนผ่าตัดแล้วเสียชีวิตลง

ผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงจึงเอาเงินผู้เสียหายโอนให้ไปจำนวนหลายครั้ง รวมเป็นเงินมูลค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,283,620 บาท ต่อมาผู้เสียหายพบว่า น.ส.สุวรรณอำภาไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับโรงพยาบาลรามาธิบดี และไม่ได้เป็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดีแต่อย่างใด

ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนได้ยื่นต่อศาลขออนุมัติหมายจับ และสืบนครบาลได้ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาขณะที่แต่งกายในชุดบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล และมีชื่อของผู้ต้องหาเป็นภาษาอังกฤษที่หน้าอกเสื้อด้านซ้ายอีกด้วยได้ จากนั้นได้นำตัวส่ง สภ.เมืองราชบุรี ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สอบสวน ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ไม่เคยมีประวัติการต้องโทษหรือเคยถูกจับมาก่อน

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. กล่าวว่า การหลอกลวงมีหลายรูปแบบ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สายอาชีพต่างๆ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ และฝากเตือนประชาชนเกี่ยวกับการถูกหลอกลวง หลอกให้รัก ผ่านการพูดคุยในสื่อสังคมออนไลน์ในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ถึงแม้จะมีการนัดพบเจอทำความรู้จักกันแล้ว แต่มิจฉาชีพยังสามารถมีวิธีการในการหลอกลวงปกปิดตัวตนที่แท้จริง หรืออวดอ้างหน้าที่การงานที่ดี ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและเสียทรัพย์สินมูลค่าสูงได้... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4543803

25 เมษายน 2567
มติชนออนไลน์
17
วิจัยเผย ‘กุ้งชุบแป้งทอด’ คืออาหารปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุด

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Environmental Research ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์โปรตีนที่ผู้คนรับประทานกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน พบว่า กุ้งชุบแป้งทอด คือเมนูที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนมากที่สุด โดยมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่โดยเฉลี่ย 300 ชิ้นต่อมื้อ

เมนูที่มีไมโครพลาสติกมากเป็นอันดับ 2 รองลงมาคือ นักเก็ตที่ทำจากพืช หรือแพลนต์เบส ซึ่งมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนไม่ถึง 100 ชิ้นต่อมื้อ ขณะที่อันดับ 3 คือนักเก็ตไก่ ตามด้วยชิ้นปลาคลุกแป้งขนมปัง เนื้อกุ้งสด และปลาแพลนต์เบสคลุกแป้งขนมปัง

อย่างไรก็ตาม อาหารที่เป็นโปรตีนที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนน้อยที่สุดคือ อกไก่ เนื้อสันนอก และเต้าหู้ และเมื่อเปรียบเทียบผลข้อมูลการบริโภค นักวิจัยคาดการณ์ว่าผู้ใหญ่ในสหรัฐมีโอกาสได้รับไมโครพลาสติกโดยเฉลี่ยระหว่าง 11,000-29,000 ชิ้นต่อปี และอาจมากสุดถึง 3.8 ล้านชิ้นต่อปี

ขณะที่ในหมวดหมู่ผักและผลไม้ นักวิจัยพบว่า แอปเปิลและแครอท คือผลไม้และผักที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุด มีมากกว่า 100,000 ชิ้นต่อกรัม โดยไมโครพลาสติกขนาดที่เล็กที่สุดถูกพบในแครอท แต่ไมโครพลาสติกชิ้นใหญ่ที่สุดถูกพบในผักสลัด ซึ่งถือเป็นผักที่ปนเปื้อนน้อยที่สุด

งานวิจัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าพบไมโครพลาสติกอยู่ในตัวอย่างเนื้อสัตว์และผักที่นำมาตรวจสอบราว 90% และผักหรือผลไม้สามารถดูดซับไมโครพลาสติกผ่านรากและนำสารเคมีต่างๆ ไปอยู่ในก้าน ใบ เมล็ด และตัวผลไม้

ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำถึงการที่เราจะลดการรับไมโครพลาสติกได้ ประการแรกคือหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ถูกเก็บอยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบพลาสติก และให้เลือกอาหารที่ถูกเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแก้ว ภาชนะเคลือบ หรือฟอยล์ ประการที่สองคือสวมเสื้อผ้าหรือซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ประการที่สาม อย่านำอาหารใส่บรรจุภัณฑ์พลาสติกไปอุ่นในไมโครเวฟ แต่ให้เลือกอุ่นอาหารด้วยเตาหรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นแก้ว ประการที่สี่คือรับประทานอาหารสดให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และลดการซื้ออาหารแปรรูปสูงที่ห่อในพลาสติก

มติชนออนไลน์
25 เมษายน 2567
18
เปิดสาเหตุ หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือหมอดื้อ ประกาศ "ลาออก" จากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เพื่อชัยชนะทาง "อิสรภาพ" ในการพูดความจริง ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น?

ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น? เปิดสาเหตุ หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ประกาศ "ลาออก" จากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เพื่อชัยชนะทาง "อิสรภาพ" ในการพูดความจริง

โดย หมอดื้อ หรือศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา​ ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ได้แจ้งลาออกจากการเป็น หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" มีผู้ติดตาม 3.5 แสนคน ระบุว่า

เรียนทุกท่านครับ เนื่องจากมีความกังวลจากองค์กร ว่าหมอเอง ทางสังคมมีการใช้ชื่อขององค์กรในการให้ความเห็น เรื่องของวัคซีน/เรื่องของไวรัสตัดต่อพันธุกรรม และเรื่องอื่นๆ
 
ดังนั้น หมอได้ ลาออกจากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ แล้วครับ ในวันที่ 25/4 และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท ในฐานะกลุ่ม แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่เห็นชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง (ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา โดยไม่รับค่าตอบแทน)


ด้าน "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ยังได้โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการลาออกของหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือหมอดื้อ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" ระบุว่า

หมอธีระวัฒน์ลาออกจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เพื่อชัยชนะทาง “อิสรภาพ” ในการพูดความจริง เดินหน้าต่อร่วมจัดเสวนา “อันตรายจากวัคซีนโควิด-19 ร้ายแรงกว่าที่คิด” หอศิลป์กรุงเทพ 3 พ.ค.นี้

ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยเหตุผลว่า

"เนื่องจากมีความกังวลจากองค์กร ว่าหมอเอง ทางสังคมมีการใช้ชื่อขององค์กรในการให้ความเห็น เรื่องของวัคซีน /เรื่องของไวรัสตัดต่อพันธุกรรม และเรื่องอื่นๆ"

ขอให้กำลังใจแด่ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ได้มีความกล้าหาญและเสียสละในการตัดสินใจครั้งนี้

การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ใช่เป็นความพ่ายแพ้ หากแต่เป็นชัยชนะในการประกาศอิสรภาพเพื่อพูดความจริงให้ได้ตรงประเด็นได้มากยิ่งขึ้น ในฐานะ  "ศาสตราจารย์นายแพทย์"  ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท และในฐานะ "กลุ่มแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่เห็นชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง"

และการลาออกครั้งนี้ไม่ได้ทำให้การทำหน้าที่ของศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑาหายไป

เพราะวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จะยังคงเดินหน้าและเคียงข้างในการนำเสนอความจริงและทางออกให้กับประเทศ ร่วมกับศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ต่อไป

26 เม.ย. 2024
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1123972
19
ข่าวสมาพันธ์ / เร่งผลิต “แพทย์” เพิ่ม เติมปัญหาใหม่หรือไม่?
« กระทู้ล่าสุด โดย story เมื่อ 21 เมษายน 2024, 12:17:17 »
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นร้อนในแวดวงสาธารณสุขไทยกับ “นโยบายการเร่งผลิตแพทย์เพิ่มเข้าระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย” ของ  “กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)”  กำลังดำเนินไปท่ามกลางความเห็นต่างของบุคลากรในวงการแพทย์ที่ภาครัฐจำต้องรับฟัง เพราะข้อท้วงติงสำคัญก็คือ  “ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัญหาแพทย์ลาออก”  และการเร่งผลิตแพทย์รุ่นใหม่ที่เน้น  “ปริมาณ”  อาจส่งผลกระทบในเชิง “คุณภาพ”  อีกด้วย
แม้อาจจะไม่เหมือนกันนัก แต่ก็ต้องถือว่าใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “เกาหลีใต้” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เมื่อบรรดาแพทย์อินเทิร์นและแพทย์ประจำบ้าน (Resident) ทั่วเกาหลีใต้จำนวนนับหมื่นคนรวมตัวยื่นใบลาออก และนัดหยุดงานต่อเนื่อง เพื่อต่อต้านนโยบายการผลิตแพทย์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งวางเป้าเพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์จาก 3,000 คนในปัจจุบัน เป็น 5,000 คน ในปี 2025 ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 10,000 คน ในปี 2035 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์และรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัย เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้มีจำนวนแพทย์ต่อประชากรต่ำมากเมื่อเทียบประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ

ขณะที่สหภาพและสมาคมแพทย์แย้งว่า นโยบายของรัฐบาลนั้น นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุดแล้ว การเพิ่มจำนวนนี้ยังอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์และบริการของแพทย์ในอนาคตด้วย เนื่องจากสาเหตุที่แพทย์ไม่เพียงพอนั้น เป็นเพราะการกระจุกตัวในบางหน่วยงาน เช่น ห้องฉุกเฉินซึ่งสภาพการทำงานแย่และรายได้ต่ำ

สำหรับประเทศไทย ผลจากสถานการณ์การลาออกของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งเครื่องนโยบายผลิตแพทย์ใหม่เข้าสู่ระบบอย่างเต็มกำลัง โดยค่าเฉลี่ยจำนวนการผลิตแพทย์ ณ ปัจจุบันอยู่ประมาณ 2,000-3,000 คนต่อปี ซึ่งส่งผลทำให้แพทย์ต้องทำงานอย่างหนักตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยแพทย์ 1 คนต้องแบกภาระดูแลคนไข้มากถึง 2,000 คนเลยทีเดียว

ทั้งนี้ นโยบายผลิตแพทย์ใหม่ขับเคลื่อนเต็บสูบ ตั้งแต่การยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งไม่เคยมีแพทย์ประจำ สธ. มีแนวทางให้มีแพทย์ประจำ รพ.สต. แห่งละ 3 คน โดยจะเติมบุคลากรแพทย์เข้าไปอยู่ใน รพ.สต.ทั้ง 8,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะต้องมีแพทย์ 25,000 คน คอยประจำและหมุนเวียนการทำงานใน รพ.สต. แห่งละ 3 คน

หรือล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย พร้อมอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ตามที่ สธ. เสนอ

กล่าวสำหรับโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่  แพทย์เวชศาสตร์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณ์สุข ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ทันตแพทย์ เภสัชกร นักฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาโครงการ จะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน

 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงมุ่งหวังให้แพทย์ที่ผลิตออกมาตามโครงการนี้ต้องกลับไปทำงานในพื้นที่ที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ เพราะฉะนั้น สธ. จึงวางแนวทางตั้งแต่ระบบการคัดเลือก คือคัดเลือกคนมาจากพื้นที่ หรือใช้กลไกการเรียนโดยเอาบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่นั้นมาต่อยอด เช่น พยาบาลที่จบปริญญาตรีแล้ว เป็นเส้นทางการผลิตแพทย์แบบใหม่ เป็น New Track มาเรียนต่ออีก 5 ปี

ทั้งนี้ จะมีการระบุชัดว่าบุคลากรตามโครงการต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ และสัญญาที่เขียนก็รองรับด้วยว่าต้องไปอยู่ในพื้นที่

สำหรับปัจจุบันอ้างอิงข้อมูลการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ผู้ทำสัญญาฯ ที่ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนคณะแพทยศาสตร์ ส่วนราชการ หน่วยงาน และกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณฯ 2561 - 2565 สำเร็จการศึกษารวมทั้งสิ้น 13,141 คน ดังนี้ ปี 2561 สำเร็จการศึกษา 2,648 คน สธ. ได้รับจัดสรร 1,994 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,016 คน, ปี2562 สำเร็จการศึกษา 2,629 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,054 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,044 คน, ปี 2563 สำเร็จการศึกษา 2,636 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,031 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,039 คน, ปี 2564 สำเร็จการศึกษา 2,610 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,023 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,021 คน, ปี 2565 สำเร็จการศึกษา 2,618 คน สธ. ได้รับจัดสรร 1,849 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 1,850 คน

โดยค่าเฉลี่ยจำนวนนักศึกษาแพทย์ที่ได้รับคัดเลือกจริงใน 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีแพทย์สำเร็จการศึกษาประมาณ 2,800 คน จะจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณ 2,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีที่ผ่านมาราว 200 คน พร้อมปฏิบัติงานได้ใน เดือนมิถุนายน 2567 ทำให้มีบุคลากรลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระงานและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 เปิดเผยข้อมูลกำลังคนสาธารณสุขภาพรวมประเทศ พบว่า แพทย์รวม 52,497 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชาชนที่ 7.94 : 10,000 คน ซึ่งอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 49% ภาคเอกชน 43% รัฐอื่นๆ 2% และอยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 6%

กล่าวได้ว่าสัดส่วนบุคลากรสาธารณสุขต่อประชาชนของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มตะวันตกและเอเชียยังถือว่าน้อย เนื่องจากกลุ่มประเทศตะวันตก อย่างสหราชอาณาจักรมีแพทย์สัดส่วนที่ 58.2 ต่อ 10,000 คน ส่วนกลุ่มประเทศเอเชีย อย่างญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนแพทย์ที่ 24.8 ต่อ 10,000 คน เป็นต้น

 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าปัจจจุบันปริมาณแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปี หากเทียบจำนวนก็ไม่ขาดแคลนเหมือนในอดีต อย่างปัจจุบันมีแพทย์กว่า 30,000 กว่าคน ซึ่งความขาดแคลนไม่ได้ขนาดเท่าอดีต แต่ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า มีมากย่อมดีในแง่การบริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือการกระจายตัวของแพทย์ ซึ่งหากพิจารณาพื้นที่ที่ขาดและต้องมีการกระจายเพิ่มเข้าไปก็จะเป็นพื้นที่ที่คนไม่ค่อยอยากไปอยู่

แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากเหตุและผลดังที่ สธ.แจกแจงเอาไว้ก็นับว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์เป็นไปอย่างที่ว่าจริงๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มักปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์มาก

อย่างไรก็ดี เกิดคำถามว่าการเพิ่มอัตราการผลิตแพทย์มีความจำเป็นมากเพียงใด? จำนวนปริมาณแพทย์ที่เร่งผลิตจะมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่? โดยล่าสุด  “ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์”  อดีตนายกแพทยสภา ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี  “นายเศรษฐา ทวีสิน”  เรียกร้องให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์ โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กพร้อมแนบผลสำรวจความเห็นของแพทย์ 1,485 ราย ต่อโครงการผลิตแพทย์ของ สธ. ระบุ เรื่อง  “ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ”

สาระสำคัญของความเห็นต่างดังกล่าว ประกอบด้วย

 “1. ร้อยละ 81 เห็นว่าปัจจุบันจำนวนแพทย์มีเพียงพอแล้ว แต่มีการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึงจังหวัดใหญ่ๆ มากเกินไป

2. ร้อยละ 84.8 เห็นว่าไม่ควรผลิตแพทย์เพิ่ม เนื่องจากปริมาณการผลิตจะสวนทางกับคุณภาพ ควรแก้ไขปัญหาโดยเพิ่มแรงจูงใจเพื่อลดการลาออกของแพทย์ภาครัฐ

และ 3. ร้อยละ 85.8 เห็นว่าไม่ควรบังคับแพทย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในรพ.สต. แต่ควรส่งเสริมให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำรพ.สต. มีความรู้เพิ่มขึ้น กรณีที่เกินขีดความสามารถ ให้ใช้ระบบปรึกษาและส่งต่อ”

ขณะเดียวกันจะมีการตั้งคณะทำงานอิสระ ประกอบด้วย 1. ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์ 2. นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ 3. ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ และ 4. ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้มีการชะลอโครงการดังกล่าวไว้ แล้วรับฟังความเห็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องก่อน

“เนื่องจากในปัจจุบันได้มีแพทย์จบใหม่พิ่มขึ้นปีละประมาณ 2,800 คน ซึ่งก็เต็มศักยภาพการผลิตแล้ว รวมทั้งมีแพทย์ที่จบมาจากต่างประเทศอีกประมาณ 200 คนทำให้มีแพทย์เพิ่มปีละประมาณ 3,000 คนซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพออยู่แล้วหากบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวได้อย่างเหมาะสม” ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา ระบุ

โดยก่อนหน้านี้  นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร  ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ได้แสดงความเป็นห่วงหลายสถาบันเร่งผลิตแพทย์จำนวนมากซึ่งหวั่นเรื่องคุณภาพ โดยได้ยื่นหนังสือถึงแพทยสภา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 เรื่องขอให้แพทยสภาพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา หลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา และสถาบันผลิตแพทย์ รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานหลังปริญญาในฐานะแพทย์ฝึกหัด เพื่อคุณภาพ และสมรรถนะของแพทยศาสตรบัณฑิต เนื่องจากมีข้อห่วงใยการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตร์ จะเกิดการผลิตแพทย์มากเกินไป จะมีประเด็นเรื่องคุณภาพเพราะเมื่อเร่งผลิตมากเกินไป

นพ.ประดิษฐ์อธิบายและให้เหตุผลว่า ในปัจจุบันมีคณะแพทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และแต่ละคณะต่างก็เพิ่มจำนวนการผลิต ทำให้มีแพทย์จบใหม่แต่ละปีประมาณ 3,000 คน และมีแนวโน้มว่าจำนวนแพทย์จบใหม่จะมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นปัญหา แต่หากพูดถึงกรณีบางโรงพยาบาล เพราะเหตุใดจำนวนแพทย์กลับไม่เพียงพอ ก็เป็นเรื่องการบริหารจัดการปัญหาการกระจายตัวของแพทย์

สำหรับสถานการณ์ปัญหาภาระงานแพทย์หนักจนลาออกเป็นปรากฎการณ์ ถามว่าการแก้ปัญหาการผลิตแพทย์จะตอบโจทย์หรือไม่ หรือเน้นการกระจายแพทย์ให้เหมาะสมนั้น ได้คำตอบว่าการกระจายแพทย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ การเร่งผลิตแพทย์ต้องเข้าใจว่ามีส่วนหนึ่งลาออกไปด้วยทำให้สูญเสียบุคลากรมาก ในส่วนนี้ต้องหาทางออกในการป้องกันปัญหาการสูญเสียบุคลากรด้วย

 ที่สำคัญคือภาระงานของแพทย์เป็นเรื่องที่คุยกันมานาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง 

โดยเนื้อหาที่ สพศท. ได้ยื่นหนังสือเสนอต่อ แพทยสภา มีหลายประเด็น อาทิ 1.จำนวนแพทย์โดยรวมในปัจจุบันเพียงพอแล้ว สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทยได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก การเพิ่มอัตราผลิตมากเกินไปจะทำให้ขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต เป้าหมายอัตรากำลังแพทย์กระทรวงสาธารณสุขจะเพียงพอในระยะเวลาไม่กี่ปี ตำแหน่งบรรจุข้าราชการจะไม่เพียงพอสำหรับแพทย์จบใหม่

2. ควรมีระบบการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอ

3. ควรปรับระยะเวลาการฝึกอบรมให้ได้ตามมาตรฐานสากล และเหมาะสมกับบริบทระบบสุขภาพไทย ทั้งนี้ ประมาณ 50 ปี หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ของไทยใช้เวลา 7 ปี แต่เนื่องจากความขาดแคลนแพทย์อย่างรุนแรง แพทยสภาจึงลดเวลาฝึกอบรมลงเหลือ 6 ปี เพื่อให้แพทย์ไปทำงานในชนบทได้เร็วขึ้น ดังนั้น เมื่อปัจจุบันความขาดแคลนแพทย์ไม่รุนแรงแล้ว ก็ควรปรับหลักสูตรฝึกอบรมกลับมาเป็น 7 ปีเช่นเดิม

4. หลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ บางหลักสูตร ลดมาตรฐานในการผลิตลง ได้แก่ หลักสูตรแพทย์ 4 ปี ซึ่งสหรัฐฯ รับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วเข้ารับการฝึกอบรม โดยศึกษาพื้นฐานการแพทย์ 2 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 2 ปี รวม 4 ปี จึงได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ จากนั้นต้องฝึกงานอีก 1-3 ปี จึงมีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่หลักสูตรที่ไทยนำมาปรับใช้ ลดเวลาศึกษาพื้นฐานการแพทย์เหลือ 1.5 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 1 ปี อีก 1.5 ปี ไปดูเรื่องอื่นๆ เมื่อศึกษาครบ 4 ปีแล้ว สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้เลยโดยไม่ต้องฝึกงาน เป็นการลดมาตรฐาน หรือกรณีหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา เป็นต้น

5. คณะแพทยศาสตร์ที่มีหลักสูตรแพทยศาสตร์หลายหลักสูตร แต่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาเพียงหลักสูตรเดียว กลับใช้หลักสูตรที่ได้รับการรับรองแล้วมาประยุกต์ใช้ แล้วถือว่าผ่านการประเมินตามกันไปด้วย แพทยสภาจึงควรรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ทุกหลักสูตรแยกจากกัน

6. ควรมีข้อบังคับสำหรับการรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ต่างประเทศ เพื่อให้มีมาตรฐานไม่น้อยกว่าหลักสูตรแพทย์ของไทย

7.แพทยสภาควรควบคุมมาตรฐานของหลักสูตร และคณะแพทย์ต่างๆ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ในการรับรองหรือไม่รับรองปริญญา คณะ หลักสูตรใด และยังสามารถควบคุมการเปิดของคณะแพทย์ที่ไม่พร้อม และหลักสูตรแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานได้

8. แพทยสภาควรเผยแพร่รายชื่อหลักสูตร และคณะแพทย์ที่ผ่านการรับรอง เพื่อป้องกันปัญหาผู้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ไม่มีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม

 สุดท้าย ต้องยอมรับว่าปรากฎการณ์แพทย์ลาออกเป็นผลมาจากปัญหาภาระงานล้น นโยบายเร่งผลิตแพทย์นับเป็นวาระร้อนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เป็นการเติมบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่เข้าสู่ระบบ แต่อาจไม่ได้แก้ปัญหาวิกฤตสมองไหลแพทย์ลาออก เพราะโจทย์ข้อใหญ่ของการเร่งผลิตแพทย์รุ่นใหม่ ต้องไม่ใช่เพิ่มเพียงปริมาณ แต่ต้องมีคุณภาพด้วย

20 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

20
นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม หวั่นปริมาณสวนทางกับคุณภาพ พร้อมเสนอ 2 ทางออก

วันที่ 17 เมษายน 2567 นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา โพสเฟซบุ๊ก อำนาจ กุสลานันท์ เผยหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ พร้อมแนบผลสำรวจความเห็นของแพทย์ 1,485 ราย ต่อโครงการผลิตแพทย์ รวมถึงข้อเสนอทางเลือกการแก้ปัญหาในรูปแบบอื่น ๆ

โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อความว่า

เรื่อง ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ

เรียน นายกรัฐมนตรี

ตามที่ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 ผู้บริหาร สธ.ได้แถลงข่าวการขออนุมัติงบประมาณ 150,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแพทย์เพื่อส่งไปประจำ รพ.สต.แห่งละ 3 คนและกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้โดยในวันที่ 20 กพ. 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 37,000 ล้านบาท แล้วนั้น

เนื่องจากมีเพื่อนแพทย์จำนวนมากได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้มา ดังนั้นคณะทำงานอิสระ ซึ่งประกอบด้วย

1.ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
2.นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์
3.ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ
4.ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

จึงได้จัดทำแบบสอบถามขึ้นเพื่อขอทราบความเห็นจากแพทย์ในกลุ่มต่าง ๆ มีแพทย์ตอบแบบสอบถามมา 1,485 ราย โดยเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นดังนี้

1.ร้อยละ 81 เห็นว่าปัจจุบันจำนวนแพทย์มีเพียงพอแล้ว แต่มีการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึงจังหวัดใหญ่ ๆ มากเกินไป

2.ร้อยละ 84.8 เห็นว่าไม่ควรผลิตแพทย์เพิ่ม เนื่องจาก ปริมาณการผลิตจะสวนทางกับคุณภาพ ควรแก้ไขปัญหาโดยเพิ่มแรงจูงใจเพื่อลดการลาออกของแพทย์ภาครัฐ

3.ร้อยละ 85.8 เห็นว่าไม่ควรบังคับแพทย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในรพ.สต. แต่ควรส่งเสริมให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำรพ.สต. มีความรู้เพิ่มขึ้น กรณีที่เกินขีดความสามารถ ให้ใช้ระบบปรึกษาและส่งต่อ

จึงเรียนมายังนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาสั่งการให้มีการชะลอโครงการดังกล่าวไว้ แล้วรับฟังความเห็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องก่อน

เนื่องจากในปัจจุบันได้มีแพทย์จบใหม่พิ่มขึ้นปีละประมาณ 2,800 คนซึ่งก็เต็มศักยภาพการผลิตแล้ว รวมทั้งมีแพทย์ที่จบมาจากต่างประเทศอีกประมาณ 200 คนทำให้มีแพทย์เพิ่มปีละประมาณ 3,000 คนซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพออยู่แล้วหากบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวได้อย่างเหมาะสม

ขอแสดงความนับถือ

ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
อดีตนายกแพทยสภา

17 เมษายน 2567
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10