ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.สังกัดสธ.ขาดทุนยับ-โคม่า11.04%เจอพิษ"บัตรทอง"  (อ่าน 1493 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
รายได้สุทธิของโรงพยาบาลสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 830 แห่ง ขาดทุน 1,887 ล้านบาท หรือเฉลี่ยโรงพยาบาลละ 2.27 ล้านบาท....

โดย....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

การประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 27 ก.ย. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สว.สรรหา ตั้งกระทู้ถาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รม ว.สาธารณสุข (สธ.) ถึงวิกฤตการเงินในโรงพยาบาลสังกดสธ. โดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงยอมรับว่ามีโรงพยาบาลในสังกัดทั้งหมด 824 แห่ง ขาดทุนแล้ว 191 แห่ง

อย่างไรก็ตามจาก ข้อมูลจากรายงานสถานะการเงินหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำขึ้นเพื่อเสนอนายจุรินทร์ ระบุถึงผลกำไรขาดทุนตามกลุ่มโรงพยาบาล โดยแยกตามสถานะรายได้และค่าใช้จ่ายไตรมาส 2 ปี 2553 พบว่ามีโรงพยาบาลที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 570 แห่ง หรือ 68.67% จากทั้งหมด 830 แห่ง ขาดทุนรวม 4,372 ล้านบาท

แบ่งออกเป็นโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีทั้งสิ้น 737 แห่ง ขาดทุน 509 แห่ง หรือ 69.06% เป็นเงิน 2,355 ล้านบาท โรงพยาบาลทั่วไป มีทั้งสิ้น 69 แห่ง ขาดทุน 46 แห่ง หรือ 66.67% เป็นเงิน 1,017 ล้านบาท โรงพยาบาลศูนย์ มี ทั้งสิ้น 24 แห่ง ขาดทุน 15 แห่ง หรือ 62.50% เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ส่วนโรงพยาบาลที่ได้กำไรมีทั้งสิ้น 260 แห่ง กำไรรวม 2,485 ล้านบาท

“รายได้สุทธิของโรงพยาบาลสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 830 แห่ง ขาดทุน 1,887 ล้านบาท หรือเฉลี่ยโรงพยาบาลละ 2.27 ล้านบาท”รายงานระบุ

เห็นได้ว่ากลุ่มโรงพยาบาลชุมชนขาดทุนเป็นวงเงินที่ใหญ่สุด มีข้อสังเกตว่าเพราะมีแหล่งรายได้จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แหล่งใหญ่ในระดับ 54 – 75% รายได้ส่วนใหญ่มาจากรักษาผู้ป่วยนอก โดยรายได้ส่วนนี้จะต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง

นอกจากนี้รายงานยังแจกแจงภาวะวิกฤตทางการเงินอีกว่า สถานะทุนสำรองสุทธิมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2/2553 ยิ่งลดลงไปอีก เหลือเพียง 27,786 ล้านบาท หรือลดลง 21% เมื่อเทียบกับปี 2552

ส่วนสถานการณ์ทุนสำรองสุทธิจากโรงพยาบาล 824 แห่ง พบ 91 แห่ง หรือ 11.04% มีทุนสำรองติดลบและรายได้ต่อเดือนติดลบ (วิกฤต) อีก 376 แห่ง หรือ 45.63% มีทุนสำรองเป็นบวกแต่รายได้ติดลบ (ส่อจะวิกฤต) และมี 100 แห่ง หรือ 12.41% มีทุนสำรองเป็นลบแต่รายได้เป็นบวก ส่วนที่เหลือ 257 แห่ง หรือ 31.19% มีทุนสำรองเป็นบวกในขณะที่รายได้ก็เป็นบวก

สำหรับโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องมี ทั้งสิ้น 258 แห่ง พบโรงพยาบาลชุมชนมีสภาพคล่องต่ำที่สุด ตามมาด้วยโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ตามลำดับ แบ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่ง ได้แก่ รพศ.ตรัง รพศ.สวรรค์ประชารักษ์ รพศ.พระปกเปล้า รพศ.อภัยภูเบศร รพศ.มหาราชนครศรีธรรมราช

โรงพยาบาลทั่วไป 15 แห่ง แบ่งเป็นภาคตะวันออก 6 แห่ง ได้แก่ รพท.อินทร์บุรี รพท.บ้านหมี่ รพท.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว รพท.นครนายก รพท.หัวหิน รพท.ดำเนินสะดวก ภาคเหนือ 4 แห่ง ได้แก่ รพท.ศรีสังวรสุโขทัย รพท.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รพท.เพชรบูรณ์ รพท.เชียงคำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ รพท.ยโสธร รพท.อำนาจเจริญ และภาคใต้ 3 แห่ง ได้แก่ รพท.เบตง รพท.สตูล รพท.พัทลุง

โรงพยาบาลชุมชน 338 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 69 แห่ง ภาคกลางและภาคตะวันออก 63 แห่ง ภาคเหนือ 58 แห่ง และภาคใต้ 48 แห่ง

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้ติดตามข้อมูลด้านงบประมาณและมีระบบเฝ้าระวังเรื่องการเงินการคลังมาโดย ตลอด แต่ก็ยอมรับว่ากระบวนการจัดสรรงบประมาณจะต้องแก้ไข เนื่องจากปัจจุบันเป็นการกระจายงบประมาณตามรายหัวประชากรทำให้โรงพยาบาลบาง แห่งที่มีประชากรน้อยเกิดปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ

นพ.ไพจิตร์ อธิบายว่า กลุ่มโรงพยาบาลที่ขาดทุนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.โรงพยาบาลทั่วไประดับจังหวัด ที่ตั้งอยู่ในอำเภอซึ่งมีประชากรน้อย 2.โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ตามเกาะต่างๆ 3.โรงพยาบาลตามแนวชายแดน ทั้งนี้คงต้องหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อร่วมกันหาทางออก

อย่าง ไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลสังกัด สธ. และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิ การเพิ่มงบรักษาพยาบาลสำหรับบุคคลไร้สถานะซึ่งทำให้มีเงินไหลเข้าระบบ อีกกว่าพันล้าน หรือแม้แต่การเกลี่ยงบจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ให้แก่โรงพยาบาลที่ขาดทุนอย่าง ไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทว่าปัญหาในภาพใหญ่ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่

ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากรายงานสถานะการเงินฯ ระบุว่า “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เป็นสาเหตุของการขาดทุน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการระดับบริหาร และสปสช.ที่ต้องแก้ปัญหาร่วมกัน


โพสท์ทูเดย์ 28 กันยายน 2553