ผู้เขียน หัวข้อ: ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (อ่าน 2337 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ในปัจจุบันนี้ กำลังมีเรื่องที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน และสภาองค์การนายจ้าง/ลูกจ้าง ออกมาเรียกร้องว่า ผู้ประกันตนไม่ควรจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาล เพื่อจะได้สิทธิในหลักประกันสุขภาพเหมือนประชาชนในกลุ่มบัตรทอง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสมควรที่จะรับภาระในการจ่ายค่ารักษาพบยาบาลแก่ผู้ประกันตนอีก 10 ล้านคน เหมือนประชาชนอีก 48 ล้านคน ที่มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

  เมื่อ 1-2 ปีมาแล้ว เคยมีข่าวว่าประกันสังคมจะขยายความครอบคลุมไปถึงครอบครัวผู้ประกันตน โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะโอนเงินเหมาจ่ายรายหัวค่ารักษาของครอบครัวผู้ประกันตน ไปให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.)   หรืออีกทางหนึ่งก็คือ สปสช.เคยบอกว่า ให้โอนเงินค่ารักษาของผู้ประกันตน มาให้สปสช.บริหารแทน

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพ กับกองทุนรักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคมนั้น  ก็ยังไม่เป็นความจริง เห็นมีข่าวอยู่แต่ว่า ถ้าสปสช.จะโอนเงินค่าหัวของครอบครัวผู้ประกันตนมาให้สปส,รักษานั้น สปสช.จะให้ค่าหัวไม่เท่ากับที่ได้รับงบประมาณมาจากรัฐบาล เพราะอ้างว่ากลุ่มผู้ประกันตนและครอบครัวเป็นผู้อยู่ในวัยหนุ่มสาว มีอัตราการเจ็บป่วยน้อยกว่ากลุ่มประชาชนบัตรทอง ที่มีทั้งเด็กและคนแก่

  และกลุ่มผู้ประกันตน ก็มีความรู้สึกว่าสปสช.ต้องการโอนเงินของผู้ประกันตนที่ต้องรวมจ่ายเงินสมทบด้วย ไปจ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้ประชาชนที่ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ การรวมกองทุนนี้ จึงไม่สามารถตกลงกันได้

  เมื่อก่อนนั้น ผู้เขียนก็มีความคิดเห็นเหมือนกลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตนที่ว่า ผู้ประกันตนได้รับการเลือกปฏิบัติและพ.ร.บ.ประกันสังคมนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 30ที่ว่าผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินของตน ในการได้รับการรักษาสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย และนายจ้างก็เป็นผู้ต้องจ่ายเงินสมทบในการให้สิทธิแก่ลูกจ้างด้วย

   แต่เมื่อได้รับฟังข้อคิดจากปลัดกระทรวงแรงงาน ในการประชุมรับฟังความเห็นเรื่องนี้ กับกลุ่มผู้ประกันตน นายจ้าง/ลูกจ้าง ที่กระทรวงแรงงาน (วันที่ 23 มีนาคม 2554)ว่า อันที่จริงแล้วกลุ่มผู้ประกันตนต่างหาก ที่ได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครองจากรัฐบาล มากกว่ากลุ่มประชาชนอื่น 

ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลและนายจ้างต่างก็ต้องจ่ายเงินสมทบกับลูกจ้างทุกเดือน ตามอัตราส่วนที่ลูกจ้างต้องจ่ายจากเงินเดือนของตนทุกเดือน (5% นายจ้าง 5% รัฐบาลจ่าย 2.75%) เพื่อไว้จ่ายให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน(ลูกจ้าง)ในเรื่องต่างๆถึง 7 ชนิด ได้แก่กรณีเจ็บป่วย, ว่างงาน, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, ตาย, ชราภาพ, สงเคราะห์บุตร ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่กลุ่มประชาชนอีก 48 ล้านคน ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน จะไม่ได้รับจากรัฐบาล ได้รับแต่เพียงเงินค่ารักษาพยาบาลรายหัวปีละ ไม่ถึง 3,000 บาทเท่านั้น

   ฉะนั้น ถ้าเรามาพิจารณาใหม่ว่า ผู้ประกันตนนั้น เป็นผู้ได้รับการ “ช่วยเหลือ” ให้มีความ “มั่นคง” ในชีวิต ทรัพย์สิน สวัสดิการและสวัสดิภาพของชีวิต มากกว่าประชาชนกลุ่มอื่น มากกว่าประชาชนกลุ่มบัตรทองอีก 48 ล้านคน จะเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องหรือไม่?

 ในต่างประเทศนั้น ระบบประกันสังคม เป็นระบบที่เรียกว่า ทำให้เกิดความมั่นคงของสังคม (social security) คือเป็นหลักประกันให้ประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมไม่เดือดร้อนในการรับภาระค่าครองชีพ แม้เมื่อมีปัญหาที่ไม่สามารถทำงานได้ โดยถือหลักการการ“เฉลี่ยทุกข์/เฉลี่ยสุข” อย่างแท้จริง  คือคนที่ทำงานได้ ก็ช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถทำงาน โดยการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในขณะที่ตนเองยังสามารถทำงานได้  และกำหนดให้นายจ้างที่ได้ประโยชน์จากแรงงานของ ลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมร่วมกับลูกจ้าง และรัฐบาลก็จะจ่ายเงินจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศเข้าสมทบในกองทุนประกัน สังคมด้วย เพื่อเป็นประกันว่า เมื่อลูกจ้างมีปัญหาไม่สามารถทำงานได้ ไม่ว่า เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพลภาพ แก่ชรา ตกงาน           หรือถูกเลิกจ้างแล้ว ลูกจ้างก็จะยังมีเงินใช้จ่ายในการดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ต้องเป็นภาระแก่สังคม

  ระบบประกันสังคม ได้เริ่มต้นจากประเทศเยอรมัน ในยุคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานแก่ลูกจ้างเป็นจำนวนมาก และกว่าจะพัฒนามาเป็นระบบประกันสังคมที่หลายๆประเทศได้นำมาใช้ในปัจจุบันนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการเรียกร้องของคนงานและการออกกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งหลายๆประเทศได้มองเห็นประโยชน์ของการประกันสังคม และได้นำมาใช้ในประเทศต่างๆทั่วโลก

รวมทั้งประเทศไทย ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 และได้ขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนออกไปมากขึ้น โดยครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างประมาณ 10 ล้านคน

  ในสหรัฐอเมริกา ประชาชนทุกคนต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม โดยรัฐบาลจ่ายสมทบเป็นจำนวนเท่าๆกัน โดยสามี/ภรรยา/บุตร ต่างก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมด้วย และจะได้รับบำนาญเมื่อสูงอายุทุกคน ทั้งนี้ตามอัตราเงินที่ตนเองจ่ายสมทบและระยะเวลาการทำงานที่ตนเองจ่ายเงินสมทบเช่นเดียวกัน

   ส่วนพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ได้ออกมาเป็นกฎหมายเมื่อปี 2545 หลังจากการตราพระราชบัญญัติประกันสังคมแล้ว 12 ปี ในช่วงแรกคือปีพ.ศ. 2545- 2550 ประชาชนที่ไปรับสิทธิในการตรวจรักษาสุขภาพ 27 ล้านคน ต้องจ่ายเงินครั้งละ 30 บาท ในการไปตรวจรักษาสุขภาพ ในขณะที่ประชาชน 20 ล้านคน ถือว่าเป็นผู้ยากไร้ จะไม่ต้องจ่ายเงินเลยในการไปใช้สิทธิในการรักษาสุขภาพ แต่ในปีพ.ศ. 2550 นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ประกาศยกเลิกการจ่ายเงินครั้งละ 30บาท ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ 47 ล้านคน ไม่ต้องจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพเลย

   และในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ก็ทำป้ายโฆษณาไปทุกจังหวัดว่า รัฐบาลรับรักษาฟรีแก่ประชาชน 48 ล้านคนเท่านั้น

   นี่จึงเป็นที่มาของกลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนและลูกจ้าง/นายจ้าง ออกมาเรียกร้องว่า จะเลิกส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เพื่อจะได้มีสิทธิเหมือนประชาชนกลุ่ม 48 ล้านคนนั้น

   ถ้าเรามาทบทวนว่า การให้ประชาชนมารับการรักษาฟรีโดยไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบจ่ายเงินเลยนั้น มีผลดีผลเสียอย่างไร?

   เราก็จะพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ให้ฟรีหมดนั้น ทำให้ประชาชนไม่เอาใจใส่ในการดูแลสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่เห็นคุณค่าของยาและการรักษา คนที่มีเวลาว่างและมีเงินค่าเดินทางไปโรงพยาบาล ก็จะมาโรงพยาบาลบ่อยๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการตรวจโรคและการรักษา มาขอเปลี่ยนยา กินยาทิ้งๆขว้างๆ

 ส่วนคนจนจริงๆ อาจไม่มีค่ารถมาโรงพยาบาล หรือต้องทำมาหาเลี้ยงชีพจนไม่สามารถจะเสียเวลามารอรับการตรวจรักษาที่แน่นขนัดที่โรงพยาบาลได้ คนจนจริงๆก็ยังต้องไปพึ่งพาอาศัยซื้อยากินเอง

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแก่ประชาชนที่สมควรได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง แต่อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียด้านทรัพยากรสาธารณสุข(ยา เตียง บุคลากรทางการแพทย์ต้องมาดูแลคนเหล่านี้เพิ่มขึ้นมากมาย)  ในขณะที่ประชาชนบางคนอาจจะยังไม่มีความต้องการการดูแลรักษาอย่างแท้จริง

   นอกจากนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีปัญหาในการจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรเครื่องมือ เวชภัณฑ์ สถานที่ เตียง  และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งระบบการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้กระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้จัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่างดังกล่าว

ในขณะที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ออกข้อบังคับและโครงการใหม่ๆมากมาย อันไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังออกระเบียบที่กำจัดสิทธิของแพทย์มิให้ใช้ดุลพินิจทางวิชาการแพทย์ในการตัดสินใจใช้ยารักษาผู้ป่วยบางโรคของตน จนกว่าจะได้รับการอนุมัติตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาที่ไม่เหมาะสม หรือได้รับยารักษาล่าช้า และสปสช.ยังได้จ่ายเงินค่ารักษาตามรายหัวประชาชน น้อยกว่างบประมาณที่ได้รับไปจากรัฐบาล เอาเงินไปซื้อเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์เอง ทั้งๆที่เครื่องมือแพทย์บางอย่าง ไม่สามารถเหมาโหลได้เนื่องจากไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกคนเหมือนๆกัน

   ฉะนั้น ถ้าเราจะพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการด้านหลักประกันสุขภาพของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งรีบพิจารณาทบทวนและแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

  ส่วนเรื่องการประกันสังคมนั้น ได้ทราบว่า กำลังมีการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมอยู่ น่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ในประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ว่า ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลควรขยายความครอบคลุมของระบบประกันสังคมไปยังประชาชนทุกคน ที่สามารถสมัครจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมได้ ไม่เฉพาะกลุ่มลูกจ้างเท่านั้น ทั้งนี้ การส่งเงินเข้าสมทบกองทุนประกันสังคม ก็นับเป็นการออมเงินอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้ประชาชนในวัยทำงานได้ออมเงินรายได้ไว้ใช้จ่ายในยามที่ไม่สามารถทำงานได้ตามสิทธิประโยชน์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคมนี้

   ผู้เขียนเชื่อว่า นักวิชาการด้านการประกันสังคม คงได้เคยศึกษาหรือไปดูงานด้านการประกันสังคมมาหลายแห่งทั่วโลก คงจะสามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลในการดำเนินการ ““พัฒนาการประกันสังคมในประเทศไทย” ให้เป็นระบบที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนไทยทุกคน ให้ประชาชนและรัฐบาล มีส่วนร่วมในการจ่ายเงิน "เพื่อสวัสดิการ"ของประชาชนในสังคมร่วมกัน
โดยยกเว้นผู้ยากไร้ที่สมควรได้รับสวัสดิการฟรี ไม่ใช่ให้ประชาชนทุกคนแบมือรับจากงบประมาณที่ได้จากภาษี ในขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องไป "กู้เงิน"เพื่อมาให้บริการฟรีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นภาระหนี้แก่ลูกหลานในอนาคต และทำให้ระบบบริการสาธารณสุขล้มเหลวเฉกเช่นปัจจุบันนี้

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
(สผพท.)