ผู้เขียน หัวข้อ: "เจิ้งเหอ" แม่ทัพขันทีจีนผู้นำกองเรือข้ามมหาสมุทรอินเดีย  (อ่าน 1154 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
 โลกในคริสต์ศตวรรษที่ 9 มีมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ 2 ชาติ คือ จีน และเปอร์เซีย โดยจีนมีราชวงศ์ถังปกครอง มีอาณาเขตตั้งแต่ทะเลจีนจรดเปอร์เซีย และมีเมืองหลวงชื่อ ซีอาน (หรือ Chang an ในสมัยนั้น) สำหรับการติดต่อกับต่างประเทศนั้น จีนได้เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาค้าขาย ไม่ว่าจะมาจากที่ใกล้หรือไกล ส่วนอาณาจักรเปอร์เซียมีราชวงศ์ Abbasid ซึ่งนับถือศาสนามุสลิมปกครอง มีแบกแดดเป็นนครหลวง อาณาจักรเปอร์เซียแผ่ขยายไปทางทิศตะวันออกถึงแม่น้ำสินธุ และทางทิศตะวันตกถึงสเปน
       
       สำหรับเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างมหาอาณาจักรทั้งสอง คือ เส้นทางสายไหม (Silk Road) ที่เป็นที่รู้จักกันดี และเส้นทางทะเล โดยมีเรือติดต่อระหว่างจีนกับเปอร์เซียเพื่อซื้อขายสินค้า และแลกเปลี่ยนความรู้กันตั้งแต่สมัยคริสตกาล เพราะคนจีนปรารถนาจะซื้อผ้าฝ้าย มุก อัญมณี และไม้หอมจากเปอร์เซีย แอฟริกาตะวันออก และอินเดีย ในขณะเดียวกันก็ต้องการขายกระดาษ ผ้าไหม ดินปืน เข็มทิศ และเครื่องปั้นดินเผาให้ชาวเปอร์เซียด้วย
       
       ครั้นเมื่อชาวเปอร์เซียรู้สึกชื่นชมในคุณภาพและความสวยงามของเครื่องปั้นดินเผาจีน จึงต้องการนำสินค้าเหล่านี้เข้าประเทศในปริมาณมาก ครั้นจะขนส่งทางบก (เส้นทางสายไหม) ก็เกรงจะเป็นอันตราย จึงคิดลำเลียงทางทะเลโดยทางเรือ เพราะคิดว่าปลอดภัยกว่า แม้จะรู้ว่าการเดินทางในทะเลอาจมีปัญหา เช่น เรืออับปางและหายไปอย่างไร้ร่องรอย หรือถูกโจรสลัดปล้น แต่ก็ยินดีเสี่ยง
       
       จีนจึงพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างเรือสินค้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและแข็งแรงขึ้น รวมทั้งสร้างนักเดินเรือเพื่อการนี้ด้วย ในการสร้างนักเดินเรือนั้น ได้กำหนดให้ชายจีนต้องศึกษาธรรมชาติของคลื่นในทะเล เพื่อให้มีความกล้าหาญ ไม่ใยดีต่อความทุกข์ และไม่สนใจในความสำราญใดๆ สำหรับด้านการต่อเรือนั้นจากประสบการณ์ที่คนจีนรู้จักใช้แพมาตั้งแต่สมัยโบราณ จีนจึงนำองค์ความรู้นี้มาพัฒนาความสามารถในการต่อเรือ จนเรือจีนมีระวางขับน้ำมากขึ้นและปลอดภัยขึ้น
       
       ด้วยฝีมือและความสามารถของช่างทำให้จีนมีเรือที่สามารถเดินทะเลถึงภูมิภาคในแถบเอเชียใต้ตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 4 เพราะประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า บางครั้งนักเดินเรือจีนต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะถึงที่หมาย และจีนก็ได้ใช้ทะเลเป็นแหล่งทำมาหากินและค้าขายตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ Chin เมื่อ 221-206 ปีก่อนคริสตกาล ได้เคยส่งเรือสำเภาไปเยือนเกาะ Immortal (ซึ่งหมายถึง ญี่ปุ่น) ที่ตั้งอยู่ในทะเลทางด้านตะวันออก
       
       เมื่อจักรพรรดิโรมันชื่อ Marcus Aurelius ทรงประสงค์จะซื้อผ้าไหมจากจีน ในค.ศ.166 ซึ่งเป็นยุคราชวงศ์ Han พระองค์ทรงให้พ่อค้าเดินทางจาก Arabia ถึงจีน แต่ชาวจีนไม่ไว้ใจพ่อค้าโรมัน ดังนั้น Aurelius จึงต้องส่งพ่อค้าที่มีสาส์นตราตั้งมาแทน ชาวจีนจึงยอมรับ แล้วจักรพรรดิจีนก็ได้ส่งทูตไปเยือนโรมเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี แต่ทูตได้เสียชีวิตลงก่อนเดินทางถึงยุโรป
       
       เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ท่าเรือเมือง Canton ของจีนจึงมีพ่อค้าต่างชาติมากมาย เช่น โรมัน อียิปต์ เปอร์เซีย อินเดีย อาหรับ และยิวมาทำธุรกิจค้าขาย จนท่าเรือเมือง Canton เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก
       
       ใน ค.ศ.727 นักประวัติศาสตร์แห่งราชวงศ์ถังได้บันทึกว่า ฝูงชนชาวเปอร์เซียได้บุกปล้นและเผาเมือง Canton เหตุการณ์นี้ทำให้จักรพรรดิ Tang ทรงห้ามชาวต่างชาติเข้า Canton และเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรจีน พระองค์ทรงดำริจะเปิดประเทศ โดยเริ่มโครงการต่อเรือขนาดใหญ่ เพื่อให้จีนมีท่าเรือใหญ่ที่ยิ่งใหญ่ นอกเหนือจากท่าที่เมือง Canton รวมถึงให้ต่อเรือรบเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเรือสินค้าด้วย
       
       ลุถึงสมัยของราชวงศ์ Sung จำนวนเรือรบของจีนได้เพิ่มมากเป็นหลายร้อยลำ และยิ่งใหญ่น่าเกรงขามยิ่งกว่ากองทัพเรือ Armada ของสเปนเสียอีก เพราะมีทหารเรือร่วม 52,000 คน และมีเรือรบใหญ่ที่สามารถบรรทุกคนได้ถึง 600 คน พร้อมเสบียงอาหารที่เพียงพอสำหรับการเดินทางที่นานหนึ่งปี กวีจีนชื่อ Chou Chu-fei ได้บรรยายเรือนี้ว่าเหมือนบ้านที่มีใบเรือซึ่งสะบัดไปมา คล้ายเมฆบนท้องฟ้า
       
       บันทึกประวัติศาสตร์ชื่อ Annals of the Sung ที่เขียนในปี 999 ยังได้รายงานอีกว่าที่ท่าเรือจีนมีการซื้อขายสินค้าทุกรูปแบบทั้งนอ แรด และเสื้อเกราะ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับพ่อค้าต่างชาติ ทำให้นักภูมิศาสตร์แห่งราชสำนักจีนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ Somaliland, Arabia และ Sicily ดีพอประมาณ
       
       ส่วนการสร้างเรือสำเภาขนาดใหญ่ได้ก็เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อสำหรับพ่อค้าชาวตะวันตกที่ได้เห็นเรือเป็นครั้งแรก เมื่อจักรพรรดิ Kublai Khan ทรงส่งเจ้าหญิงมองโกลไปเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายเปอร์เซีย เพราะขบวนเรือมีเสากระโดงมากมายตั้งแต่ 4 ถึง 6 เสา และบนเรือมีห้องพักตั้งแต่ 50-60 ห้อง สำหรับผู้โดยสารจำนวนหลายร้อยคน

ภาพเปรียบเทียบเรือขนาดใหญ่ของเจิ้งเหอ (ลำใหญ่) กับเรือของโคลัมบัสผู้ค้นพบทวีปอเมริกา
       แต่หลังจากที่กองทัพมองโกลพิชิตอาณาจักร Sung แล้ว จักรพรรดิ Kublai Khan ได้บัญชาให้กองทัพเรือรุกรานญี่ปุ่นต่อ ในปี 1274 กองทัพซึ่งประกอบด้วยเรือ 900 ลำ ทหารมองโกล 25,000 คน ได้พยายามจะยกพลขึ้นฝั่งที่ญี่ปุ่น แต่ทำไม่ได้เพราะถูกพายุไต้ฝุ่นถล่มจนทหารจมน้ำตายร่วมหมื่นและเรือจำนวนมากอับปาง Kublai Khan ได้ทรงพยายามอีกเป็นครั้งที่สองในปี 1281 ด้วยขบวนเรือที่ทันสมัยกว่าเก่า และใช้ทหารจำนวนมากกว่าเก่าคือ 140,000 คนแต่พายุไต้ฝุ่นก็ได้พัดทำลายกองทัพเรือของ Kublai Khan จนพังพินาศอีก ความพ่ายแพ้ทั้งสองครั้ง โดยไต้ฝุ่น (ของเทพยดา) ทำให้ Kublai Khan ทรงล้มเลิกพระทัยที่จะโจมตีญี่ปุ่นตั้งแต่นั้นมา
       
       ครั้นเมื่อ Marco Polo เดินทางถึงจีน เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิ Kublai Khan Marco Polo ได้อุทานออกมาด้วยความประหลาดใจที่เห็นกองทัพจีนมีเรือเรียงรายเกือบเต็มแม่น้ำ Yangtze โดยเฉพาะที่เมืองท่า Sinju (ปัจจุบันคือ I-ching) ซึ่งมีเรือ 5,000 ลำจอดอยู่ที่ท่า
       
       ในสมัยนั้นจีนจึงเป็นชาติเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ และมีนักเดินเรือที่เก่งกล้าสามารถหลายคน แต่ก็ไม่มีใครเก่งเกิน Zhang He แม่ทัพขันทีแห่งราชวงศ์ Ming ผู้ได้เดินทางข้ามทะเล รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง สู่ชะวา ซีลอน มะละกา อินเดีย อ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง และแอฟริกาตะวันออก การผจญภัยจริงของ Zhang He (เจิ้งเหอ) นับว่ายิ่งใหญ่เทียบเท่าการผจญภัยของ Sinbad ในเจ็ดคาบสมุทรที่เป็นเทพนิยาย
       
       Zhang He เกิดที่เมือง Kun Ming เมื่อ ค.ศ.1371 ในรัชสมัยจักรพรรดิ Hong Wu ในครอบครัวชาวมุสลิมที่ได้อพยพมาจากดินแดนทางตะวันตก (Xin Jiang) เด็กชาย He มีปู่และบิดาเป็นปราชญ์ผู้ทรงศีลในศาสนาอิสลาม ผู้มีภารกิจนำชาวมุสลิมไปแสวงบุญที่นคร Mecca ใน Arabia ดังนั้น He จึงมีชื่อเดิมว่า Ma He (Ma อาจมาจากคำว่า มะหะหมัดในภาษาอารบิก)
       
       ในวัยเด็ก บิดาของ Ma He มักเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางในแดนไกล ทั้งทางบกและทางน้ำให้ลูกๆ ฟัง และ He ผู้เป็นบุตรคนรองของครอบครัว และมีน้องสาว 4 คนได้ตั้งใจฟังพ่อเล่านิทานอย่างจริงจัง และคิดฝันจะไปเยือนนคร Mecca ให้จงได้เหมือนพ่อเมื่อโตขึ้น
       
       ตั้งแต่ครอบครัวของ He ได้อพยพมา Kun Ming บิดาก็ได้ช่วยเหลือ Khan แห่งอาณาจักรมองโกลให้เข้าครอบครองมณฑล Yun Nan ด้วยการเป็นทหาร ในปี 1374 เมื่อจักรพรรดิ Zhu Yun Zhang แห่งจีนทรงสถาปนาราชวงศ์ Ming ขึ้น และพระองค์ทรงบังคับเจ้าเมืองมองโกล ที่ปกครอง Yun Nan ให้ยินยอมเข้ามาอยู่ใต้อาณัติการปกครองของพระองค์ แต่เมื่อราชทูตที่จักรพรรดิทรงส่งมา ถูกสังหารใน ค.ศ.1381 พระองค์จึงทรงโปรดให้ Fu You De และพระราชโอรสคือเจ้าชาย Zhu Di นำทหารกว่า 300,000 คนจากนานกิงเดินทางมา Yun Nan เพื่อกวาดล้างกบฏมองโกลให้สิ้นซาก
       
       ผลการสงครามครั้งนั้นปรากฏว่าทหารมองโกลพ่ายแพ้ยับเยิน และประเพณีในสมัยนั้นมีว่าผู้ชนะสงครามจะต้องจับลูกชายของเชลยที่มีวัยตั้งแต่ 8-10 ขวบไปตอน เพื่อนำไปเป็นคนใช้ในราชวังหลวง
       
       ด้วยเหตุนี้เด็กชาย Ma He จึงถูกนำตัวไปนครนานกิง และอีกสามปีต่อมาก็ถูกตอนเป็นขันที แล้วถูกส่งไปรับใช้ในราชวังของเจ้าชาย Zhu Di วัย 25 ชันษา ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าครองเมือง Bei Ping ส่วนบิดาของ Ma He นั้นได้เสียชีวิตเพราะความโศกเศร้า ที่ลูกชายคนเล็กถูกจับไปเป็นเชลย
       
       สำหรับเจ้าชาย Zhu Di นั้น พระองค์ทรงเป็นพระโอรสองค์หนึ่งในจักรพรรดิ Zhu Yuan Zhang และเมื่อมกุฎราชกุมารแห่งราชบัลลังก์ได้สิ้นพระชนม์ลงอย่างคาดไม่ถึงในปี 1392 องค์จักรพรรดิ Zhu Yuan Zhang จึงทรงรีรอที่จะแต่งตั้งให้พระนัดดาซึ่งเป็นพระโอรสองค์โตในมกุฎราชกุมารขึ้นแทน เพราะมีวัยเพียง 14 ชันษา ในขณะที่เจ้าชาย Zhu Di มีวัย 30 ชันษา
       
       ถึงจักรพรรดิ Zhu Yuan Zhang จะทรงโปรดปรานเจ้าชาย Zhu Di ยิ่งกว่าพระนัดดา Zhu Yun Wen เพียงใดก็ตาม แต่เหล่าอำมาตย์ในราชสำนักได้ทูลคัดค้านพระดำริที่จะให้เจ้าชาย Zhu Di ขึ้นครองราชย์ โดยอ้างว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกในแผ่นดิน จักรพรรดิ Zhu Yuan Zhang จึงทรงยินยอม แต่ก่อนพระองค์จะทรงสถาปนาพระนัดดา พระองค์ทรงสังหารและกำจัดคนทุกคนที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการขึ้นครองราชย์ของพระนัดดา Zhu Yuan Wen
       
       ในปี 1398 เมื่อจักรพรรดิ Zhu Yuan Zhang เสด็จสวรรคต เจ้าชาย Zhu Yuan Wen จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ บ้านเมืองขณะนั้นอยู่ในสภาพอึมครึม เพราะผู้คนหวาดวิตกว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองแย่งชิงราชบัลลังก์กัน

นิทรรศการหมุนเวียนเรื่อง "วิทยาศาสตร์ในโลกมุสลิม" ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองห้า แสดงการเดินเรือของเจิ้งเหอ
       สำหรับเจ้าชาย Zhu Di พระองค์ทรงมี Ma He เป็นขันทีคนสนิทในราชสำนัก ขณะทำงานรับใช้ในวัง Ma He ได้รับการศึกษาทั้งด้านการรบ และการปกครองเป็นอย่างดีมากจนเจ้าชาย Zhu Di ทรงไว้พระทัย เพราะ Ma He เป็นนักรบที่มีรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรงและมีความรอบรู้เรื่องสงคราม จึงมีโอกาสออกศึกร่วมกับเจ้าชาย Zhu Di หลายครั้ง และรบชนะทุกครั้ง ข่าวความสามารถที่ยิ่งใหญ่ของเจ้าชาย Zhu Di ทำให้บัลลังก์ของจักรพรรดิองค์ใหม่ Zhu Yuan Wen ในนครนานกิงสั่นสะเทือน เพราะองค์จักรพรรดิทรงคิดว่า เจ้าชาย Zhu Di กำลังท้าทายพระราชอำนาจของพระองค์
       
       จักรพรรดิจึงส่งกองทัพมาบุกยึดเมือง Bei Ping ของ Zhu Di ในปี 1401 และเจ้าชาย Zhu Di ทรงโชคดีที่มี Ma He ช่วยชีวิตไว้ แล้วเจ้าชายกับ Ma He ก็ได้วางแผนโจมตีนครนานกิงเป็นการแก้แค้นเพื่อยึดครองราชบัลลังก์
       
       ในเดือนมกราคม ค.ศ.1402 แม่ทัพ Ma He ได้เคลื่อนทัพเข้าปิดล้อมทางออกของทุกประตูเมืองนานกิงจนอาหารภายในเมืองขาดแคลน และชาวเมืองระส่ำระส่าย จักรพรรดิจึงต้องขอเจรจาสงบศึก แต่เมื่อกองทัพของ Ma He ยาตราเข้าวังได้ สิ่งที่พบคือ ซากศพของพระมเหสีและพระโอรสองค์โตในจักรพรรดิที่ถูกอัคคีเผาจนดำเป็นตอตะโก แต่ไม่มีพระศพของจักรพรรดิเลย
       
       ผู้คนจึงโจษจันกันว่า พระองค์ยังทรงมีชีวิตอยู่ และได้หลบหนีออกจากนานกิงทางคูระบายน้ำ แล้วปลอมพระองค์หนีไปในชุดพระสงฆ์
       
       เจ้าชาย Zhu Di ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1402 และทรงสำเร็จโทษทุกคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์ แล้วทรงเรียกรัชสมัยของพระองค์ว่า Ming และให้ชาวจีนรู้จักพระองค์ในนาม จักรพรรดิ Ming Cheng Zhu หรือจักรพรรดิ Yongle และทรงพระราชทานรางวัลให้ Ma He พร้อมพระราชทานแซ่ให้ใหม่ว่า Zhang ในฐานะที่ได้พิทักษ์เมือง Bei Ping และยึดนครนานกิงได้
       
       ความสงสัยเกี่ยวกับจักรพรรดิ Zhu Yuan Wen ที่ทรงหลบหนีไปทำให้จักรพรรดิ Yongle ทรงกังวลมาก เพราะแผ่นดินจีนไม่สามารถมีจักรพรรดิสององค์ได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเมื่อทรงได้ยินเสียงเล่าลือมากมาย เป็นเนื้อหาที่หลากหลาย จักรพรรดิ Yongle ทรงปักใจอย่างเชื่อมั่นว่าจักรพรรดิ Zhu Yuan Wen ได้ทรงหลบหนีไปหลบซ่อนบนเกาะในทะเลจีนใต้แล้ว
       
       ดังนั้นในปี 1403 จักรพรรดิ Yongle จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างกองเรือสินค้าและกองเรือรบที่มีขนาดมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนขึ้นมา เพื่อ
       (1) ตามล่า ฆ่าจักรพรรดิ Zhu Yuan Wen
       (2) ป้องกันการบุกรุกของกองทัพมองโกลทางเหนือ โดยการผูกมิตรกับนานาประเทศทางตอนใต้ของจีน และจะขอให้ช่วยสนับสนุน ถ้าจีนถูกมองโกลรุกราน
       (3) เตือนผู้ครองประเทศต่างๆ ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระองค์ดังที่เคยปฏิบัติ
       (4) แสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าในเมืองท่าต่างๆ ที่ขบวนเรือของพระองค์จะมาเยือน เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศจีน
       
       แม้จักรพรรดิ Yongle จะทรงมีข้าราชการและแม่ทัพหลายคน แต่คนที่พระองค์ทรงวางพระทัยมากที่สุดคือ Zhang He
       
       เพราะ Zhang He มีความสามารถในการเดินเรือโดดเด่นยิ่งกว่าใครทั้งหมด (เทียบเท่ากับ Odysseus ในวรรณกรรม Ulysses, Leif Ericsson ผู้พบ Newfoundland และ Magellan ผู้เดินทางรอบโลก)
       
       ในปี 1405 Zhang He จึงออกเดินทางจากเมือง Foo-chow ด้วยเรือ 317 ลำ ลูกเรือ 27,870 คน โดยเรือลำใหญ่ที่สุดมีความยาวถึง 150 เมตร กว้าง 60 เมตร (ใหญ่เท่าเรือเดินสมุทรปัจจุบัน) พร้อมเรือติดตามเป็นเรือบรรทุกผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องเทศเดินทางไปสำรวจชะวา ซีลอน มะละกา และฝั่งตะวันออกของอินเดีย และยังได้ปราบโจรสลัดที่ช่องแคบมะละกาด้วย ขบวนเรือเดินทางกลับถึงจีนในปี 1407
       
       ในการถวายรายงานการเดินทางของตนต่อจักรพรรดิ Zhang He ได้กล่าวว่า “ในยุคราชวงศ์ Ming นี้ องค์จักรพรรดิได้ทรงรวบรวมแผ่นดินและแผ่นน้ำจนเป็นหนึ่งเดียวและยิ่งใหญ่กว่าในสมัยราชวงศ์อื่นๆ (ทั้ง Han และ Tang) ทำให้ทุกประเทศที่อยู่ทั้งสุดขอบฟ้าและขอบโลกล้วนเป็นประเทศเมืองขึ้นของจีนทั้งสิ้น กองทัพเรือของข้าพระองค์ได้แล่นใบไปไกลเป็นระยะทาง 100,000 ลี้ (ไกลยิ่งกว่าเส้นรอบวงของโลก) ใบเรือของข้าพเจ้าสะบัดพลิ้วคล้ายเมฆในอากาศทั้งกลางวันและกลางคืน ข้ามทะเลที่มีพายุคลื่นรุนแรงอย่างสบายๆ คล้ายคนที่เดินตามถนน” ลีลาการเขียนบรรยายเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า Zhang He มีความสามารถด้านการประพันธ์ไม่ยิ่งหย่อนกว่าความสามารถในการเดินเรือ

เส้นทางเดินเรือของเจิ้งเหอ (เส้นประ)
       หลังจากพักที่บ้านเกิดเมืองนอนได้ไม่นาน ในปี 1407-1409 กองทัพเรือของ Zhang He ก็ได้นำทูตจาก Sumatra และ India ที่ได้เดินทางติดตามกองทัพในครั้งแรก เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิ Yongle นำส่งกลับประเทศของทูตเหล่านั้น การเดินทางครั้งที่ 2 นี้ จึงเป็นการยืนยันว่า ราชวงศ์ Ming มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายประเทศในแถบมหาสมุทรอินเดีย ในการเดินทางครั้งนั้นกองทัพได้แวะที่ชะวา สยาม และซีลอนด้วย
       
       ในปี 1409-1411 Zhang He ได้ออกเดินทางอีก แม้กองทัพจะยิ่งใหญ่จนเป็นที่ยำเกรงในด้านความสามารถในการทำสงคราม แต่ในการเดินทางครั้งที่ 3 นี้ Zhang He ผู้เป็นมุสลิมได้แวะทำบุญที่ Calicut ในอินเดีย
       
       ในปี 1413-1415 Zhang He ได้เดินทางไกล ผ่านอินเดียออกสู่ทะเลอาหรับเป็นครั้งแรกถึง Hormuz ในอิหร่านและ Muscat และได้นำราชบรรณาการจาก 18 รัฐพร้อมทูตของรัฐเหล่านั้นกลับเมืองจีนด้วย
       
       ในปี 1417-1419 กองเรือมหาสมบัติของ Zhang He แวะสำรวจแหลม Arabia และขึ้นฝั่งในแอฟริกาตะวันตกเป็นครั้งแรก และที่ Aden สุลต่านได้ประทานสัตว์ “ประหลาด” เช่น ม้าลาย ยีราฟ สิงโต และนกกระจอกเทศให้ Zhang He นำกลับไปถวายจักรพรรดิจีนเพื่อนำไปเลี้ยงในสวนหลวง
       
       ในปี 1421-1422 นี่เป็นการเดินทางครั้งที่ 6 ขบวน เรือของ Zhang He ได้ใช้วิธีนำทูตกลับส่งยังประเทศที่ทูตเคยอยู่ และนำทูตชาติอื่นไปจีน เรือได้แวะที่ Hormuz และประเทศในคาบสมุทรอาหรับ
       
       ในปี 1431-1433 นี่คือการเดินทางครั้งสุดท้ายของ Zhang He ขบวนเรือเดินทางไป Swahili ในแอฟริกาและได้แวะที่ Mecca ช่วงขากลับ Zhang He ได้ล้มป่วยและเสียชีวิต ศพจึงถูกฝังในทะเล เพราะ Zhang He เป็นคนมุสลิม ดังนั้นพิธีศพจึงต้องจัดการในวันที่ตายทันที
       
       ทันทีที่เรือลำสุดท้ายของขบวนเรือเทียบท่าเหล่าขุนนางในราชสำนัก เมื่อรู้ว่า Zhang He เสียชีวิตต่างก็ดีใจและกล่าวเพ็ดทูลจักรพรรดิว่า การเดินทางไกลเช่นนี้ เป็นเรื่องสิ้นเปลืองมาก และได้อ้างคำสอนของขงจื้ออีกว่า คนที่เป็นลูกไม่ควรเดินทางไกลและไปนาน ในขณะที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ข้อติงต่างๆ ของบรรดาขุนนาง ทำให้จักรพรรดิ Ming Cheng Zhu ทรงลังเลที่จะสนับสนุนการเดินทางสำรวจในทะเลของจีนอีก ประกอบกับในช่วงเวลานั้น ญี่ปุ่นได้แค้นเคืองเหตุการณ์ที่จักรพรรดิ Kublai Khan ทรงรุกรานญี่ปุ่น จึงได้รวบรวมกำลังส่งสลัดเข้าโจมตีบรรดาเมืองท่าต่างๆ ของจีนอยู่เนืองๆ
       
       จนจักรพรรดิ Ming Cheng Zhu ทรงทนไม่ได้จึงออกพระราชกฤษฎีกาห้ามทหารจีนเดินทางสำรวจทางทะเลอีกต่อไป และให้ทหารมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของประเทศจีนเท่านั้น
       
       ยุคการสำรวจของจีนจึงถึงจุดจบ และภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งศตวรรษต่อมา กองเรือของนักสำรวจชาวยุโรปก็ได้เข้าควบคุมทะเลและมหาสมุทรของโลก
       
       เหตุการณ์นี้ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายคนฉุกคิดว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าจักรพรรดิ Ming Cheng Zhu ทรงสนับสนุนการเดินเรือข้ามทะเลและมหาสมุทร โดยบัญชาให้กองทหารของพระองค์ออกสำรวจฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาจนหมด แล้วอ้อมแหลม Good Hope ขึ้นไปเพื่อสำรวจฝั่งตะวันตกด้วย หรือไม่ก็เดินทางถึงยุโรป ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นกองเรือจีนก็คงเผชิญกองเรือขนาดเล็กกว่าของนักเดินเรือชาวดัชท์และโปรตุเกส
       
       แม้กองเรือมหาสมบัติของ Zhang He จะไม่ได้เดินทางถึงยุโรป หรือเข้าไปสำรวจทะเล Mediteranean นั่นก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายสำหรับจีนแต่ประการใด เพราะยุโรปในเวลานั้นยังอยู่ในยุคมืด และมีความอารยะน้อยกว่าจีน ส่วนประเด็นสำคัญสุดท้ายที่ Zhang He ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นคือจีนเป็นชนชาติที่เดินเรือเก่ง คนจีนเป็นทั้งนักธุรกิจ และนักสำรวจที่สามารถ จีนหาใช่ชนชาติที่ปิดตัวเองและไม่สังคมกับชนชาติอื่นเลยดังที่คนหลายคนเคยคิด


โดย สุทัศน์ ยกส้าน    4 มกราคม 2556
http://www.manager.co.th