ผู้เขียน หัวข้อ: ตามหาธรรมมาภิบาลในระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ตอนที่ 5)  (อ่าน 631 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9797
    • ดูรายละเอียด
 ธรรมาภิบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหายไปไหนหรือ?


ก่อนอื่นเพื่อความเข้าใจของทุกท่านร่วมกัน ขอทบทวนหลักธรรมาภิบาล 6 ข้อดังนี้คือ

1.หลักคุณธรรม

2.หลักนิติธรรม

3.หลักความโปร่งใส

4.หลักความมีส่วนร่วม

5.หลักความรับผิดชอบ

6. หลักความคุ้มค่า

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่อะไรบ้าง?

ตำแหน่งสำคัญในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีอยู่ 3 ตำแหน่งคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการสปสช.

ประธานกรรมการมีหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม (มาตรา 17)วรรค 2 และวรรค 3 กำหนดไว้ว่าการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ใช้เสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 17 ซึ่งสรุปได้ว่า มีหน้าที่
(1)กำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข
(2)ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวง และประกาศเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายนี้
(3) กำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุข
(4) กำหนดหลักเกณฑ์และการบริหารจัดการกองทุน
(5) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการถอดถอนเลขาธิการ
(6) ออกระเบียบเกี่ยวกับการเงิน
(7) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ้ายเงินตามมาตรา 41
(8) สนับสนุนและประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพตามมาตรา 47
(10) กำหนดหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นโยทั่วไปจากผู้ให้และผู้รับบริการ
(11) กำหนดหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการลงโทษปรับทางปกครองและเพิกถอนการขึ้นทะเบียน
(12) จัดทำรายงานเกี่ยวกับผลงานเพื่อเสนอรัฐมนตรี
(13) จัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี
(14)ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำธรรมภิบาลข้อไหนหายไปบ้าง?

จะเห็นได้ว่า การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จะต้องดำเนินการโดยการจัดประชุมและลงมติด้วยเสียงข้างมากในที่ประชุม ทั้งนี้ขอยกตัวอย่างการขาดธรรมาภิบาลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดังนี้

1.ทำผิดหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรม ดังนี้

1.1 ไม่ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความเห็นของทั้งผู้ให้บริการ(โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีสิทธิในระบบนี้) และรับฟังความเห็นจากผู้รับบริการ(ประชาชนที่มีสิทธิในระบบนี้) ตามมาตรา 17(13) เป็นเวลาเกือบ 10 ปี แม้ตอนหลังจะจัดประชุมรับฟังแต่ก็ไม่นำข้อเสนอจากฝ่ายผู้ให้บริการไปแก้ไข
แสดงว่าคณะกรรมการยังขาดธรรมาภิบาลในการไม่ให้ผู้ให้บริการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และคณะกรรมการยังไม่รับผิดชอบในการแก้ไขผลงานของคณะกรรมการตามที่ผู้ให้บริการเสนอ
จึงมีปัญหาออกไปสู่สังคมว่า “สปสช.กับกระทรวงสาธารณสุขเป็นคู่ขัดแย้งกัน” ตลอดมาเพราะสปสช.ไม่แก้ไขสิ่งที่สปสช.(โดยมติคณะกรรมการ)บริหารจัดการที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข
ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า สาเหตุแห่งความขัดแย้งล้วนเกิดจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขาดธรรมาภิบาลดังกล่าวแล้ว

1. 2 ไม่ทำตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 5 วรรค 2 ที่ บัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับบริการสาธารณสุข ต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

แต่รัฐมนตรีนพ.มงคล ณ สงขลา ประกาศไม่ให้มีการร่วมจ่ายในปี 2550 ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่มีผลกระทบที่เสียหายแก่โรงพยาบาลที่ได้รับเงินไม่สมดุลกับค่าใช้จ่าย ทำให้โรงพยาบาลขาดดุลการเงินเรื้อรัง หลายร้อยแห่งตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย

นับเป็นการบริหารที่ขาดหลักความคุ้มค่า (ไม่มีประสิทธิภาพ)

แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่แก้ไขให้ถูกต้อง แสดงว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขาดธรรมาภิบาลในข้อ “ความรับผิดชอบ” ในการบริหารกองทุนหลักประกันสุจขภาพแห่งชาติ

1.3 ในมาตรา 5 วรรค 3 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีสิทธิ “ประกาศกำหนดขอบเขตการรับบริการสาธารณสุขที่บุคคลมีสิทธิจะได้รับ” ซึ่งคณะกรรมการกำหนดขอบเขตการไม่ให้สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขมากมายหลายประการ

แต่คณะกรรมการกลับไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งไม่ตรงกับความจริง(ขาดคุณธรรมเพราะพูดอย่างทำอีกอย่าง)ไม่ซื่อสัตย์สุจริต

1. 4 การเอาเงินกองทุนไปซื้อยาเอง ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ และปล่อยให้มีการจัดซื้อยารวม อ้างว่าราคาถูก แต่มีเภสัชกรเห็นว่า เป็นการซื้อยาใกล้หมดอายุ มีแพทย์พบว่าซื้ออเครื่องมือแทย์ที่ด้อยคุณภาพ เช่นเล็นส์แก้วตาเทียม ขดลวดถ่างเส้นเลือดหัวใจ (stent) หรือมีผลประโยชน์ร่วมกับองค์การเภสัชกรรมในการซื้อยาและน้ำยาล้างไต

1. 5 เอาเงินกองทุนไปให้แก่หน่วยงานที่ไม่ใช่ "หน่วยบริการตามกฎหมาย” เช่น มูลนิธิต่างๆ หรือเอาไปให้หน่วยงานวิจัย เช่นสวรส. การทำผิดกฎหมายแบบนี้ยังทำให้เกิดผลเสียแก่ประชาชนเนื่องจากทำให้โรงพยาบาลขาดเงินที่จะเอาไปใช้รักษาผู้ป่วย

1.6 การแบ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพออกเป็นกองทุนย่อย หลายสิบกองทุน (ผิดกฎหมาย) และยังห้ามโรงพยาบาลเบิกเงินรักษาข้ามกองทุน ทำให้รพ.ไม่มีเงินเพียงพอในการรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ แม้รพ.หลายๆแห่งและกระทรวงสาธารณสุขจะขอให้แก้ไข แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ไม่ยอมแก้ไข ผิดหลักธรรมาภิบาลในเรื่องการรับผิดชอบและการไม่ให้ผู้ร่วมงาน “มีส่วนร่วม”ในการทำงาน

2. ขาดหลักคุณธรรมและขาดความโปร่งใสของคณะกรรมการอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การออกระเบียบบังคับให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังต้องรับการล้างไตทางหน้าท้องก่อนวิธีฟอกเลือดทุกราย ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับสิทธิในการรักษา (ขาดจริยธรรม เป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย)

แต่พอมีแพทย์บางคนออกมาเปิดเผยว่าการรักษาผู้ป่วยไตวายตามข้อบังคับนี้ ทำให้ผู้ป่วยตายเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในโลก คือเฉลี่ย 40% สปสช.ก็ลบข้อมูลนี้ออกจาก webของสปสช.ทันที เป็นการปกปิดข้อมูลขาดความสุจริตโปร่งใส (แต่มีผู้ทำการคัดลอกข้อมูลนี้ไว้แล้ว จึงทราบข้อมูลนี้)
แม้จะมีมีนักวิชาการหลายคนที่เป็นผู้ชี่ยวชาญโรคไต ออกมาขอร้องให้สปสช.ยกเลิกข้อบังคับนี้ เพราะผู้ป่วยบางคนไม่เหมาะที่จะล้างไตทางหน้าท้อง สุ่มเสียงต่อการติดเชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยตายจากการติดเชื้อนี้

แต่แทนที่สปสช.จะเลิกข้อบังคับนี้ กลับไปตั้งงบประมาณซื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มอีกปีละ 3,000 ล้านบาท เพื่อมารักษาคนที่ติดเชื้อจากการล้างไตทางหน้าท้อง ซึ่งผิดหลักการในทางการแพทย์ ที่เราจะต้องหยุดพฤติการณ์เสี่ยงเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ใช่ปล่อยให้ติดเชื้อแล้วจึงรักษา ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจนอาจถึงตายได้ และเป็นการไม่ประหยัดงบประมาณ ไม่คุ้มค่า และทำลายสุขภาพและชีวิตผู้ป่วยอย่างเลือดเย็น และยังขาดคุณธรรมในเรื่องความเมตตากรุณาอีกด้วย

3. การขาดคุณธรรมและความโปร่งใสในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการ ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนองค์กรเอกชน
ที่มาของกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้ในมาตรา 13 ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีที่มาจากตำแหน่ง ทั้งสิ้น12 คน
มาจากผู้แทนเทศบาล 1 คน ผู้แทนอบจ. 1 คน ผู้แทนอบต. 1 คน และผู้แทนองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบอื่นอีก 1 คน รวมเป็น 4 คน
มาจากผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร 5 คน
ผู้แทนสภาวิชาชีพ 4 คนและผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน 1 คน รวมเป็น 5 คน
ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
รวมเป็นจำนวนกรรมการทั้งสิ้น 32 คน

จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการที่มาจากการสรรหาจำนวน 12 คน (ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนองค์กรเอกชน ) คือ “ตัวแปรของคะแนนเสียงในการลงมติในที่ประชุมของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

ซึ่งเราจะเห็นว่าในวาระแรก ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนองค์กรเอกชนนั้น ล้วนเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสิ้น แต่ในวาระต่อมา เมื่อนพ.มงคล ณ สงขลาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีแกนนำชมรมแพทย์ชนบทมาและเครือข่าย NGO ที่เป็นภาคประชาชนผู้ร่วมเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (และเป็นกรรมาธิการแปรญัตติกม.นี้ในสภาผู้แทนาราษฎร) เป็นกรรมการได้แก่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นส.ยุพดี สิริสินสุข นายบารมี ชัยรัตน์ นายนิมิตร์ เทียนอุดม นส.บุญยืน ศิริธรรม

จะเห็นได้ว่าแกนนำคนสำคัญของสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท เช่นนพ.วิชัย โชควิวัฒนและนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ต่างก็เป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากกว่าคนละ 1 วาระ กล่าวคือ

1. นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นบอร์ดสปสช.2 วาระ คือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประกันสุขภาพ และ.กรรมการจากสัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชนในนามมูลนิธิสร้างสรรค์สังคมและสุขภาวะ และยังเป็นกรรมการในสสส. สวรส. องค์การเภสัชกรรม ฯลฯ
คนๆเดียวกันนี้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เดี๋ยวก็เป็นผู้แทนองค์กรเอกชน ทำได้เฉพาะกลุ่มจริงๆ

2.นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ เป็นบอร์ด 2 วาระคือผู้ทรงคุณวุฒิการแพทย์ทางเลือก และบอร์ดขององค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ และเป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานอีก 1 วาระ คนๆนี้ก็เช่นเดียวกัน เดี๋ยวป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เดี๋ยวเป็นผู้แทนองค์กรเอกชน

3.กลุ่มNGO ด้านสาธารณสุข ก็มีตำแหน่งบอร์ดหลายวาระ บางคนมีตำแหน่งกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานอีกด้วย
กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นพรรคพวกเดียวกันนี้ ยังมีตำแหน่งเป็นอนุกรรมการอีกหลายคณะ

ตัวอย่างเช่น นส.ยุพดี สิริสินสุข เป็นบอร์ดขององค์กรเอกชนด้านการเกษตร 2 วาระ เป็นบอร์ดจากองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี อีก 1 วาระ และเป็นกรรมการควบคุมมาตรฐานอีกจากองค์กรเอกชนด้านติดเชื้อเอชไอวีอีก 1 วาระ มีคำถามคือเธอเป็นเกษตรกรปลูกอะไรไม่ทราบ? แต่ในความเป็นจริง เธอคือเภสัชกร

นส.สารี อ๋องสมหวัง เป็นบอร์ดจากองค์กรเอกชนด้านเกษตร 2 วาระ และเป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานจากองค์กรเอกชนด้านเกษตรอีก 1 วาระ
นายจอน อึ้งภากรณ์ เป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานจากองค์กรเอกชนด้านชุมชนแออัด 1 วาระ

นส..สุพัตรา นาคะผิว เป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเรื้อรัง 3 วาระ

นายนิมิตร เทียนอุดม เป็นบอร์ด
จากองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี 2 วาระ

นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เป็นบอร์ด จากองค์กรเอกชนด้านติดเชื้อเอชไอวี 1 วาระ

นางสุนทรี เซ่งกิ่ง เป็นบอร์ดจากองค์กรเอกชนด้านแรงงาน 2 วาระ

นายบารมี ชัยรัตน์ เป็นบอร์ดจากองค์กรเอกชนด้านชนกลุ่มน้อย 2 วาระ

นส.กรรณิก์ กิจติเวชกุล บอร์ดจากองค์กรเอกชนด้านชุมชนแออัด 1 วาระ

นส.บุญยืน ศิริธรรมเป็นบอร์จากองค์กรเอกชนด้านสตรี 1 วาระ

โดยสรุปก็คือ มี “ขาใหญ่” ร่วมทำงานอยู่ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นบอร์ด 2 วาระ (ตามที่กฎหมายกำหนด) แต่ยังเป็น “กรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน”อีก 2 วาระ

เท่ากับว่าในระยะเวลาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่แบ่งได้ 4 วาระนั้น มีบางคนเป็นกรรมการมาตลอดเวลา ได้แก่นส.ยุพดี สิริสินสุข

นอกนั้นก็เป็นบอร์ดอย่างน้อยคนละ 1 วาระ และยังไปเป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานด้วย
ทั้งๆที่การคัดเลือกบุคคลเ
หล่านี้มาเป็นบอร์ดหรือกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานนั้น ผู้สรรหาใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือก

ประชาชนทั่วไปไม่สามารถค้นหาหลักเกณฑ์ของสปสช.ในการเลือกบุคคลเหล่านี้เข้ามาเป็นบอร์ดหรือกรรมการควบคุมคุณภาพาตรฐานได้เลย

และจะเห็นได้ว่ากรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สามารถเข้ามาเป็นบอร์ดในนามองค์กรเอกชนด้านเกษตร คือนส.สารี อิองสมหวัง นส.ยุพดี สิริสินสุข นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ฉะนั้น อาจถือได้ว่า การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งบอร์ดสปสช.นั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ในการเลือกองค์กรและคุณสมบัติของบุคคลให้ตรงกับองค์กรนั้นๆ เช่นนส.สารี อ๋องสมหวัง จากการเป็นนางพยาบาล ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคแต่เข้ามาเป็นบอร์ดจากการเป็นผู้แทนองค์กรด้านเกษตร

หรือนส.ยุพดี สิริสินสุข มีอาชีพเภสัชกร เป็นอาจารย์ในคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แต่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกรรมการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค แต่มาเป็นบอร์ดจากองค์กรด้านเกษตรกร และถ้ามาดูเบื้องหลังของเธอ ก็จะพบว่าเธอคือกลุ่มภาคประชาชนที่ร่วมกัน “ล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

จึงมีโอกาสทำงานในสปสช.มาตลอดเวลาอันยาวนาน 15 ปีนี้

จึงเห็นได้ว่าการสรรหากรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นขาดคุณธรรม ขาดความโปร่งใส ไม่สามารถครวจสอบได้ เป็นการเล่นพรรคเล่นพวกและมีผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน (Conflict of Interest) อยู่เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น

การที่กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท สามารถเลือกกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการจากผู้แทนองค์กรเอกชนได้ ทำให้กลุ่มนี้สามารถ กุมบังเหี่ยนการทำงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้แทบทุกเรื่อง รวมทั้งการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสปสช.ด้วย

จึงเห็นได้ว่าในรอบ 4 วาระที่ผ่านมา จึงมีเลขาธิการสปสช.ที่กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทยอมรับเท่านั้น และมีความพยายามที่จะให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยอมรับนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ มาเป็นเลขาธิการคนต่อไป จนถึงกลับกล่าวหาประธานกรรมการว่าจะล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อคณะกรรมการไม่เลือกนพ.ประทีป มากกว่าคนที่เลือกเพียง 1 เสียง โดยประธานกรรมการไม่ใช้สิทธิเลือกในครั้งนี้

และกรรมการจากผู้แทนองค์กรเอกชนเหล่านี้ก็คือผู้ที่เปิดเผยตัวเองว่า เป็น “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” และคอยมา “ปกป้องระบบ 30 บาท” ด้วยการใส่ความว่ามีคนจ้องจะล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย (บทความเรื่อง เมื่อข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าจะล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

ไม่ทราบว่าพวกเขา “รักหลักประกันสุขภาพ” เพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือรักหลักประกันสุขภาพเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองกันแน่

การที่มี “พรรคพวกมากๆ” ในคณะกรรมการนั้น ย่อมสามารถลงคะแนนชนะมติกรรมการ เป็นคะแนนเสียงข้างมากได้ในแทบทุกเรื่องทุกประเด็นในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งประเด็นการเลือกเลขาธิการด้วย

(ยังมีต่อ)

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
21 กรกฎาคม 2559