ผู้เขียน หัวข้อ: ตามหาธรรมมาภิบาลในระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ตอนที่ 4)  (อ่าน 641 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 การเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ได้ใช้มาแล้ว 14 ปี แต่มีเลขาธิการเพียง 2 คนเท่านั้น เพราะเลขาธิการสปสช.คนที่ 1 คือนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และคนที่ 2 คือนพ.วินัย สวัสดิวร ต่างก็ดำรงตำแหน่งคนละ 2 วาระ แต่ทั้ง 2 คนก็ไม่ได้อยู่ครบวาระที่ 2 เนื่องจากคนแรก ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง และคนที่ 2 ถูกคำสั่งมาตรา 44 ให้หยุดการปฏิบัติงานก่อนครบวาะถึง 1 ปี
ตำแหน่งเลขาธิการสปสช.มีความสำคัญอย่างไร?
เมื่อไปเปิดดูกฎหมายหลักประกันสุขภาพมาตรา 31ได้บัญญัติไว้ว่า ให้สำนักงาน(หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)มีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ และประกาศของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานทุกตำแหน่ง
จึงเห็นได้ว่า ตำแหน่งเลขาธิการเป็นเหมือน “แม่บ้าน”ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากเลขาธิการสปสช.ต้องทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ตามมาตรา 13) และรับผิดชอบการบริหารกิจการของสำนักงานตามมาตรา 31

ซึ่งถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้ว เลขาธิการสปสช.ก็เพียงแต่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ และประกาศของคณะกรรมการเท่านั้น ไม่มีอะไรที่ต้องทำมากไปกว่านั้น

แต่กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 35 กำหนดให้เลขาธิการเป็นบุคคลตามมาตรา 100 ของปปช. กล่าวคือมาตรา 35 บัญญัติไว้ว่า ให้เลขาธิการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งป็นผู้ดำรงตำแหน่งในระดับสูง และให้ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการที่เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย

ซึ่งถ้าเลขาธิการสปสช.ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว ก็ไม่น่าที่จะมีปัญหาอะไร ตามที่นพ.วินัย สวัสดิวรกล่าวไว้ ตอนที่ถูกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ออกจากการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ว่า เขาทำทุกอย่างตามมติบอร์ด

ฉะนั้นถ้าตรวจพบว่าเลขาธิการสปสช.บริหารงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็จะต้องรับผิดชอบร่วมกันกับเลขาธิการสปสช.ด้วย

ใครมีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกเลขาธิการสปสช.?

กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วรรคสองของม.31กำหนดไว้ว่า “ให้คณะกรรมการเป็นผู้คัดเลือกเลขาธิการ”
วรรคสามม. 31 กำหนดไว้ว่า “ให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 32 (1) (3) ) (4) (5) (6) (9) (10 (11) และ (12) นอกจากนี้ จะต้องไม่เป็นกรรมการในคณะกรรมการและต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันยื่นใบสมัครเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาทำสัญญาจ้างและแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ ทั้งนี้โดยอาจเสนอชื่อผู้มีความเหมาะสมมากกว่าหนึ่งชื่อก็ได้”

ฉะนั้น จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่มีความสำคัญที่รับหน้าที่คัดเลือกเลขาธิการก็คือคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า (มาตรา 17 วรรค 2)ในการประชุมใดๆของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ตัดสินด้วยเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนสียงเท่ากัน ให้ประธานกรรมการออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

จึงเห็นได้ว่าประธานกรรมการอาจออกเสียงได้ 2 ครั้งถ้าคะแนนเสียงของกรรมการเท่ากัน

เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพคนแรก

เลขาธิการสปสช.คนแรกในช่วงที่ยังใช้บทเฉพาะกาลของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเป็นแกนนำในการวางแผนโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นคนแรก ที่ได้ร่วมวางหลักการในการเขียนกฎหมาย และวางแผนในการดำเนินการบริหารจัดการตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะ 6 เดือนแรกก็คือผู้วางแผนโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั่นเอง

เมื่อเริ่มดำเนินการตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเต็มรูปแบบ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดแรกก็คือกลุ่มผู้ร่วมวางแผน รวมทั้งกล่ม NGO ก็คือกลุ่มที่”จัดตั้งขึ้นมา” ตามที่กลุ่มวางแผนได้ร่วมจัดตั้งเช่นเดียวกัน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็คือกลุ่มที่มีแนวคิดสนับสนุนหรือเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับชมรมแพทย์ชนบทนั่นเอง

ซึ่งกรรมการจาก2 กลุ่มนี้ สามารถที่จะชี้นำกรรมการกลุ่มอื่น เช่นกรรมการตามตำแหน่ง ให้เห็นคล้อยตามความเห็นของกลุ่มก่อตั้งได้อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเลขาธิการ หรือการวางแผนดำเนินการใดๆก็คาม เพราะการทำงานตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย

แต่หลังจากมีการดำเนินการตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปได้ครบ 4ปี ถึงคราวที่จะต้องเลือกเลขาธิการใหม่ในปีพ.ศ. 2550 นั้นเอง ในการสรรหาเลขาธิการในวาระที่ 2 (2550-2554) นั้น มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหา 2 คน คือนพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และนพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้อำนวยการพ.นครปฐม ปรากฎว่าทั้งสองคนได้คะแนนจากกรรมการคนละ 12 เสียงเท่ากัน ประธานกรรมการในขณะนั้นคือนพ.มงคล ณ สงขลา จึงตัดสินชี้ขาดให้นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นเลขาธิการต่อไปเป็นวาระที่ 2

เลขาธิการสปสช.คนที่สอง

เมื่อนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งในเดือนมกราคม 2551 มีการคัดเลือกเลขาธิการคนใหม่ โดย นพ.วินัย สวัสดิวรก็ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสปสชในวาระพ.ศ.2551- 2555

การที่คณะกรรมการเลือกนพ.วินัย สวัสดิวรมาเป็นเลขาธิการสปสช.คนที่ 2 ได้นั้น ก็เพราะประธานในขณะนั้นคือนพ.มงคล ณ สงขลา ซึ่งก็นับว่าเป็นแกนนำชมรมแพทย์ชนบทคนหนึ่ง และกลุ่มชมรมแพทย์ชนบทเป็นผู้สนับสนุน ทำให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเลือกนพ.วินัย สวัสดิวรมาเป็นเลขธิการ และสามารถทำได้เพราะสามารถ “คุมเสียง” ของ กรรมการที่มาจาก “ผู้ทรงคุณวุฒิ”(นพ.ไพจิตร ปวะบุตร นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.ยุทธ โพธารามิก นายเจษฎ์ โทณวณิก นายอัมมาร สยามวาลา นส.สำลี ใจดี )
และกรรมการที่มาจากองค์กรเอกชน (นายจอน อึ๊งภากรณ์ นางยุพดี สิริสินสุข นายบารมี ชัยรัตน์ นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา นางสุนทรี เซ่งกิ่ง)ได้

การสรรหาเลขาธิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วาระพ.ศ. 2555-2558

สำหรับการสรรหาเลขาธิการในวาระพ.ศ.2555-2558 ซึ่งปรากฎตามรายงานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6/ 2555 วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ว่ามีผู้สมัครเข้ารับการสรรหา 9 คน และกรรมการสรรหาได้เสนอชื่อผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุด 3 คนแรก เสนอให้กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาเลือก 1 คน มาเป็นเลขาธิการ ได้แก่

(1) นพ.วินัย สวัสดิวร
(2) นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล
(3) นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ

ปรากฎว่ามีกรรมการผู้หนึ่งขออนุญาตอภิปรายผู้ผ่านการสรรหาหมายเลข 1 ในกรณีถูกสตง.ตรวจสอบว่ามีการบริการงานผิดพลาดตามที่สตง.ตรวจพบ 7 ประเด็น แต่นายวิทยา บุรณศิริ ไม่อนุญาตให้อภิปราย ทำให้กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเลือกนพ.วินัย สวัสดิวร มาเป็นเลขาธิการสปสช.เป็นสมัยที่ 2

และประเด็นการบริหารงานของนพ.วินัย สวัสดิวร ที่สตง.ตรวจพบ ประกอบกับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทำให้นพ.วินัย สวัสดิวรถูกย้ายออกจากการปฏิบัติงานในตำแหน่งเลขาธิการสปสช.ในวันที่ 25 มิถุนายน 2558

อย่างไรก็ตามมีความพยายามที่จะอธิบายว่า มีการตีความกฎหมายไม่เหมือนกันระหว่างสปสช.และคตร. ทำให้คสช.ออกคำสั่งที่ 11/2558 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2558 แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาในการบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” กรณีคตร.ได้ตรวจพบความผิดปกติในการบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังเกิดข้อโต้แย้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความเห็นไม่ตรงกันอันเกิดจากการตีความกฎหมายหรือวัตถุประสงค์แห่งกฎหมาย จึงให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯนี้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารงานละการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

คณะกรรมการชุดนี้ ได้ตรวจพบการบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหลายประเด็น มีรายละเอียดตามรายงานของคณะกรรมการ

จึงทำให้นพ.วินัย สวัสดิวร ไม่ได้กลับมาทำหน้าที่เลขาธิการสปสช.จนหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม 2559

การสรรหาเลขาธิการสปสช.วาระปัจจุบัน

เมื่อมีการรับสมัครเลขาธิการสปสช.ใหม่ มีผู้สมัครได้รับการเสนอชื่อผ่านกรรมการสรรหา 2 คน แต่คนหนึ่งถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่ามีคุณสมบัติขัดกับมาตรา 32 (12) ทำให้มีนพ.ประทีป ธนกิจเจริญเพียงคนเดียว ที่ผ่านการสรรหามาเสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาว่าจะ “เห็นชอบ” ให้เป็นเลขาธิการสปสช.คนต่อไปหรือไม่

แต่เมื่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่รับรองให้นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เป็นเลขาธิการสปสช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 แล้วนั้น กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทรวมทั้เครือข่ายได้ออกมาโจมตีประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือรัฐมนตรีสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องว่าต้องการจะล้มระบบ 30 บาท
การไม่รับรองผู้ที่กรรมการสรรหาเสนอมา ไม่เกี่ยวข้องการการล้มระบบ 30 บาท

ในประกาศรับสมัครเลขาธิการสปสช.นั้น ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าให้คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไม่เกิน 3 คน
แต่ถ้าคณะกรรมการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เห็นชอบอาจไม่เลือกบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาเสนอก็ได้
ฉะนั้นจึงเป็นการกำหนดไว้แล้วตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จะ “เห็นชอบ” หรือไม่ ในการที่จะเลือกบุคคลที่กรรมการสรรหาเสนอมา

มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติหรือมีอคติต่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการทำตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2559

เรื่องที่นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ไม่ได้รับการ “เห็นชอบ”จากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นเลขาธิการสปสช. จึงไม่เกี่ยวกับการที่มีคนบางกลุ่มโวยวายว่าจะมีการ “ล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” แต่อย่างใด

เพราะเมื่อไม่รับคนนี้เป็นเลขาฯ ก็คาดว่าอาจจะมีการรับสมัครและการสรรหาเลขาธิการสปสช.อีกครั้งในไม่ช้า
เพื่อให้คณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถดำเนินการตามภาระหน้าที่ในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไปได้


 พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
19 กรกฎาคม 2559
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 กรกฎาคม 2016, 23:22:03 โดย story »