ผู้เขียน หัวข้อ: สมองใสวัยคะนอง(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1976 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เช้าวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคมเมื่อไม่นานมานี้ ลูกชายคนโตวัย 17 ปีโทรศัพท์มาบอกผมว่าเขาอยู่ที่สถานีตำรวจ ทางหลวงมาได้สองสามชั่วโมงแล้ว  เพราะขับรถ “เร็วไปหน่อย” ปรากฏว่าผลผลิตจากยีน และการเลี้ยงดู ด้วยความรักของผม  ขับรถทะยานบนทางหลวงด้วยความเร็ว 182 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

“นี่มันมากกว่าเร็วไปหน่อยแล้วนะ” ผมพูด

เขาเห็นด้วย  อันที่จริงน้ำเสียงเขาฟังดูเซื่องซึมสำนึกผิด  เขาไม่คัดค้านเมื่อผมบอกว่าเขาต้องจ่ายค่าปรับเองและอาจรวมถึงค่าทนายด้วย  เขาไม่เถียงเมื่อผมบอกว่า  อะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้าขับรถด้วยความเร็วขนาดนั้น  เป็นต้นว่าสุนัขวิ่งตัดหน้า ยางแตก หรือเพียงแค่จามสักฟืด เขามีหวังกลับบ้านเก่าไปแล้ว พ่อลูกชายตัวดีของผม กลับสงบเสงี่ยมจนน่าหงุดหงิด

แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เขาไม่เห็นด้วย นั่นคือหนึ่งในหลายข้อหาที่เขาได้รับ คือการขับรถโดยประมาท

เขาพูดอย่างใจเย็นว่า  “คำว่า ‘ประมาท’ หมายถึงไม่ระมัดระวัง  แต่ผมระวังนะครับ  ผมคิดดีแล้วว่าถนนเส้นนั้นน่ะทั้งโล่ง ไม่มีน้ำเฉอะแฉะ  ทัศนวิสัยแจ่มแจ๋ว เส้นจราจรหรือก็ชัดเจนไม่มีรถพลุกพล่าน ผมไม่ได้หลับหูหลับตาเหยียบคันเร่งเสียหน่อย แต่ผมขับรถอยู่นะพ่อ”

ความคึกคะนองราวม้าห้อของลูกชายผมชวนให้ใครหลายคนคิดถึงคำถามค้างคาใจสำหรับผู้ที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์จำพวกที่เราเรียกว่า “วัยรุ่น” พวกเขาทำแบบนั้นไปทำไมกัน ส่วนนักวิทยาศาสตร์มองพฤติกรรม ดังกล่าวด้วยสายตาเป็นกลางมากกว่า โดยตั้งคำถามว่าเราจะอธิบายพฤติกรรมเหล่านี้อย่างไร แต่นั่นก็ไม่ต่างจาก  ความสงสัยอย่างหนึ่งเหมือนกัน  เด็กพวกนี้มีความผิดปกติอะไร ดูเหมือนวัยรุ่นจะถูกตัดสินว่าผิดตั้งแต่เราเริ่มตั้งคำถามแล้ว

การศึกษาว่าด้วยวัยรุ่นเชื่อว่า  ช่วงเวลาที่ “รุนแรงและเคร่งเครียด” นี้จำลองแบบมาจากระยะวิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ที่ยังดิบเถื่อนอยู่  ขณะที่ฟรอยด์มองวัยรุ่นว่าเป็นวัยที่แสดงถึงความขัดแย้งทางเพศจิตวิทยาหรือกามจิตวิทยา (psychosexual) ส่วนเอริก เอริกสัน มองว่านี่เป็นช่วงชีวิตที่สับสนวุ่นวายที่สุดของการแสวงหาตัวตน  พูดง่ายๆก็คือ วัยรุ่นคือวัยแห่งปัญหานั่นเอง

                แนวคิดดังกล่าวสืบเนื่องมาถึงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ  เมื่อนักวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีถ่ายภาพสมองที่ช่วยให้เห็นสมองวัยรุ่นด้วยรายละเอียดมากพอที่จะนำไปศึกษาพัฒนาการทางกายภาพและรูปแบบการทำงานของสมอง เทคโนโลยีทางภาพใหม่ๆนี้เผยคำตอบที่ทำให้ทุกคนแปลกใจ  นั่นคือสมองของเราใช้เวลาในการพัฒนานานกว่าที่คิด การค้นพบนี้ให้ทั้งคำอธิบายที่ง่ายและซับซ้อนเกี่ยวกับพฤติกรรมชวนปวดหัวของวัยรุ่น

ผลการสแกนเต็มรูปแบบของสมองวัยรุ่นในขั้นพัฒนาชุดแรกภายใต้โครงการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institute of Health: NIH) ที่ศึกษาคนหนุ่มสาวกว่าร้อยคนซึ่งเติบโตขึ้นในทศวรรษ 1990 เผยว่า สมองของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่ในช่วงอายุ 12 ถึง 25 ปี ในช่วงนี้ สมองไม่ได้เพิ่มขนาดขึ้นสักเท่าไร แต่ขณะที่เราใช้ชีวิตผ่านช่วงวัยรุ่น กระบวนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จะเกิดขึ้นในสมอง จะว่าไปแล้วก็คล้ายกับการยกระดับเครือข่ายและการเชื่อมต่อให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

เมื่อพัฒนาการนี้ดำเนินไปตามปกติ เราจะสามารถสร้างความสมดุลระหว่างแรงขับ ความปรารถนา  จุดมุ่งหมาย ประโยชน์ส่วนตน กฎเกณฑ์ จริยธรรม และแม้กระทั่งประโยชน์ส่วนรวมได้ดีขึ้น ก่อเกิดรูปแบบพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น และเป็นเหตุเป็นผลกว่าในบางครั้ง  แต่ในบางคราวโดยเฉพาะเมื่อแรกเข้าสู่วัยรุ่น สมองอาจยังทำงานมะงุมมะงาหราไปบ้าง เหมือนฟันเฟืองใหม่ที่ยังขบกันไม่สนิท

เรื่องราวที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้  บอกเล่าวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมองวัยรุ่นในมุมมองที่แตกต่างออกไป ตลอดห้าปีที่ผ่านมา  ขณะที่ทฤษฎี “งานที่ยังไม่เสร็จ” หรือสมองที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ของวัยรุ่นเริ่มรู้จักกันแพร่หลาย  นักวิจัยบางคนเริ่มมองการค้นพบด้านสมองและพันธุกรรมในแง่มุมแปลกใหม่และเป็นเชิงบวก โดยอาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการ  ผลที่ได้คือคำอธิบายเกี่ยวกับสมองวัยรุ่นที่เรียกว่า  เรื่องของวัยรุ่นนักปรับตัว (adaptive-adolescent story)   ซึ่งฉายภาพวัยรุ่นว่าไม่ได้เป็นเหมือนภาพร่างหยาบๆของผู้ใหญ่ แต่เป็นสิ่งมีชีวิต  ที่มีความอ่อนไหวและไวต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีเยี่ยม และมีสมองที่เกือบสมบูรณ์แบบในการทำงานเพื่อนำพาชีวิตที่ปลอดภัยในรั้วบ้านไปสู่โลกภายนอกอันสับสนวุ่นวาย

แนวคิดนี้น่าจะ “โดนใจ” วัยรุ่น  ที่สำคัญกว่านั้นคือ  มันน่าจะสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่สุดทางชีววิทยา นั่นคือการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection)  กระบวนการคัดเลือกคือศัตรูตัวฉกาจของลักษณะสืบสายพันธุ์ที่ไม่ดี   หากวัยรุ่นเป็นแหล่งรวมของลักษณะแย่ๆ เช่น ความทุกข์ระทม ความโง่เขลาเบาปัญญา  และความหุนหันพลันแล่น หรือจะเป็นความไม่ยั้งคิด ความเห็นแก่ตัว และความประมาท  ถ้าเช่นนั้น ลักษณะเหล่านั้นหลุดรอดการคัดเลือกมาได้อย่างไร

คำตอบก็คือลักษณะนิสัยที่เป็นปัญหาเหล่านั้น  ไม่ได้แสดงลักษณะพิเศษหรือเฉพาะเจาะจงของวัยรุ่น  หากเป็นแต่เพียงสิ่งที่เราสังเกตเห็นได้ง่าย  เพราะมันทำให้เรารำคาญใจ หรือไม่ก็ทำให้ลูกๆของเราตกอยู่ในอันตราย บี. เจ. เคซีย์ นักประสาทวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “เรามักมองวัยรุ่นว่าเป็นตัวปัญหา แต่ยิ่งเราเรียนรู้สิ่งที่ทำให้วัยนี้มีความพิเศษไม่เหมือนใคร ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีกลไกการทำงานและการปรับตัวที่ดีเยี่ยม  อันเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างมากในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่”

ในการมองทะลุความเป็นวัยรุ่นที่เงอะงะงุ่มง่ามเข้าไปถึงวัยรุ่นผู้ปรับตัวเก่งที่แฝงอยู่ข้างในนั้น เราต้องมองข้ามพฤติกรรมยิบย่อยที่บางครั้งอาจชวนหวาดเสียว  และมองไปที่คุณลักษณะกว้างๆ อันเป็นพื้นฐานของการกระทำนั้นๆ

เริ่มจากการที่วัยรุ่นชอบเรื่องตื่นเต้นหวาดเสียว พวกเราล้วนชอบสิ่งแปลกใหม่และน่าตื่นเต้น  แต่เราไม่เคยให้ค่าสิ่งเหล่านั้นสูงอย่างตอนเป็นวัยรุ่น วัยนี้เป็นช่วงสูงสุดของสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมเรียกว่า การแสวงหาความเร้าใจ หรือการตามล่าหาความเร้าอารมณ์จากสิ่งไม่ธรรมดาหรือเหนือความคาดคิด

การแสวงหาความเร้าใจไม่ได้หมายถึงการขาดความยั้งคิดเสมอไป  การขาดความยั้งคิดจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น โดยเริ่มจากอายุ 10 ปี แต่การแสวงหาความตื่นเต้นจะพุ่งถึงขีดสุดเมื่ออายุ 15 ปี และแม้ว่าการแสวงหาความเร้าใจอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายได้  แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวกได้ด้วยเช่นกัน  เป็นต้นว่า ความต้องการพบปะผู้คนมากขึ้น ทำให้เรามีเพื่อนฝูงมากขึ้น  ซึ่งโดยรวมย่อมทำให้เรามีสุขภาพดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น และประสบความสำเร็จมากขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นถึงขีดสุดในช่วงวัยรุ่น (และอาจทำให้ผู้ใหญ่ทุกข์ใจที่สุด) คือการกล้าได้กล้าเสีย วัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบเสี่ยงมากกว่าวัยอื่นๆ  แล้วเหตุใดพวกเขาจึงกล้าเสี่ยงมากกว่า ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าพวกเขาประเมินหรือช่างน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงกับรางวัลตอบแทนแตกต่างออกไป ในสถานการณ์ที่ความเสี่ยงสามารถให้สิ่งที่พวกเขาต้องการ วัยรุ่นจะให้ความสำคัญหรือคุณค่ากับรางวัลตอบแทนมากกว่าผู้ใหญ่ในสถานการณ์เดียวกัน

นักวิจัยด้านสมองวัยรุ่นใช้วิดีโอเกมขับรถในการทดสอบสมมุติฐาน ในเกมนี้คุณต้องขับรถเข้าเมือง ด้วยเวลาน้อยที่สุด  โดยจำลองสภาพการณ์เช่นสัญญาณไฟจราจรเหมือนในชีวิตจริง  เมื่ออาสาสมัครวัยรุ่นขับรถตามลำพังในห้องที่ไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย พวกเขาจะกล้าเสี่ยงในอัตราเดียวกับผู้ใหญ่ แต่สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเพิ่มเดิมพันที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นเข้าไป ในกรณีนี้ นักวิจัยให้ให้เพื่อนๆเข้ามาอยู่ในห้อง  ผลปรากฏว่าอาสาสมัครที่ขับรถโดยมีเพื่อนๆจับตาดูอยู่จะกล้าเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า  โดยพยายามเร่งเครื่องฝ่าสัญญาณไฟที่เขาเคยหยุดรอในคราวก่อน  ขณะที่พฤติกรรมการขับรถของผู้ใหญ่ไม่ต่างจากเดิมแม้จะมีเพื่อนดูอยู่ก็ตาม

นี่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  ความกล้าเสี่ยงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากความคิดไม่เข้าท่า  แต่เป็นผลจากการที่วัยรุ่นประเมินค่ารางวัลตอบแทนหรือความพึงพอใจสูงกว่า (ผู้ใหญ่) นั่นเอง
                นี่เป็นเพียงตัวอย่างของลักษณะนิสัยชวนปวดหัวที่สุดของวัยรุ่น ได้แก่ การแสวงหาความเร้าใจ และความกล้าเสี่ยง ที่งานวิจัยใหม่ๆ ช่วยให้พ่อแม่ (อย่างผมและคุณ) เข้าใจลูกวัยรุ่นมากขึ้น 

ตุลาคม 2554