ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐประหาร2514กับการรวมธนบุรีเข้ากับกรุงเทพ-คืนจังหวัดธนบุรีให้กับชาวฝั่งธนฯเถอะ  (อ่าน 1278 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ผมไม่ได้เป็นคนอาศัยอยู่ธนบุรีและก็ไม่ได้เกิดในอาณาบริเวณที่เรียกว่า "ฝั่งธนฯ"  แต่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดสระแก้ว  ที่เดิมก็เป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี  จึงอยากจะขอเล่าอะไรซักอย่างก่อน  ยังจำได้ว่าเมื่อปลายปี 2536 ที่แยกมาเป็นจังหวัดใหม่ๆ ทางโรงเรียนและชาวบ้านในชุมชนต่างดีอกดีใจกันเพียงใด  ก็นั่นหมายถึงหากมีกิจจำเป็นที่ต้องติดต่อประสานงานกับทางจังหวัด  จะได้ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงราว 100 กม.  โดยเฉพาะก็น่าทึ่งว่าเป็นท้องถิ่นที่คนลาวกับเขมรอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  ทั้งที่วัฒนธรรมและภาษาแตกต่างกันอย่างมาก

ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี แม้จะมีอำนาจกำกับดูแลอำเภออรัญประเทศ  ซึ่งเป็นชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน  แต่ท่านก็ทำได้ไม่ทั่วถึง  และแม้เป็นยุคที่เขมรไม่แบ่งฝ่ายสู้รบกันแล้วก็ตาม  แต่การเปิดตลาดเสรีการค้าที่รู้จักกันในนามนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า" ของรัฐบาลพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัน  ทำให้ภาระรับผิดชอบของปราจีนบุรีซับซ้อนและหนักอึ้งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

สระแก้วถูกแบ่งให้เป็นจังหวัดด้วยสาเหตุปัจจัยเหล่านี้  มารู้ทีหลังว่าผู้ใหญ่หลายคนสมัยนั้นก็ไม่ค่อยวางใจเท่าไรหรอก  เพราะเมืองเล็กนิดเดียว มีแต่บขส. โรงพยาบาล ตึกแถว ร้านรวงซอมซ่อ  หลายสิ่งหลายอย่างไปตกอยู่กับอำเภอวัฒนานครกับอำเภอวังน้ำเย็น  ซึ่งเป็นถิ่นคะแนนเหนียวแน่นของคุณเสนาะ เทียนทอง  แต่แม้มีอะไรครบครันสองอำเภอนี้ก็ไม่สามารถตั้งขึ้นเป็นตัวจังหวัดได้  ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์การทหาร  เพราะอยู่ห่างจากแนวชายแดนไม่มาก  ยังอยู่ในระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่  แน่นอนว่ากองทัพไทยในสมัยนั้นมิได้หวั่นเกรงกัมพูชา  แต่เกรงกลัวอีกประเทศที่อยู่ถัดไปคือเวียดนาม  ที่เคยบุกยึดพนมเปญในปี 2522  แล้วขยายแนวสู้รบมาปะทะไทยตามแนวชายแดน  สมัยเด็กผมยังเคยวิ่งไปหลุมหลบภัย  เมื่อเขาถล่มกันด้วยปืนใหญ่ข้ามประเทศ

เช่นนี้แล้ว  การเป็นอิสระของสระแก้ว คงจะนำความโล่งใจมาให้ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี  และคนปราจีนบุรีเองก็ไม่ได้ตีโพยตีพายว่าพวกตนสูญเสียดินแดนแต่อย่างใด  กลับเข้าใจและเห็นใจในชะตากรรมของชาวสระแก้วเสียอีก   

จากอำเภอเล็กๆ ที่แทบไม่มีใครรู้จักเลย  มีเพียงตำนานบอกเล่าว่าเป็นที่พักระหว่างเดินทัพไปตีเขมรของรัชกาลที่ 1 กับสด๊อกก๊อกธม ปราสาทหินที่อำเภอตาพระยา  ซึ่งก็อยู่ในแนวชายแดนเช่นกัน  นอกนั้นก็ไม่เห็นมีอะไร  แต่แล้วปัจจุบันกลับเป็นจังหวัดของย่านการค้าชายแดนที่ใหญ่โต  และมีความสำคัญที่ไม่ใช่เพียงต่อประเทศไทยเท่านั้น  หากแต่เป็นระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว  นั่นเพราะสายตาที่รู้จักมองถึงอนาคตของคนรุ่นก่อน  บวกกับความเชื่อมั่นว่าท้ายสุดแล้วคนที่นั่นจะสามารถปกครองและดูแลกันได้ในที่สุด

สำหรับธนบุรี  ทั้งๆ ที่มีศักยภาพในการจัดการดูแลตัวเอง  กลับไม่เพียงไม่ได้รับสิทธิอันนี้  แต่การเปลี่ยนแปลงกลับเป็นในลักษณะตรงกันข้าม  ทั้งๆ ที่เคยจัดการบริหารในรูปจังหวัดมาเป็นเวลานาน  ก็กลับถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอีกจังหวัดหนึ่ง  ก็ให้ประหลาดใจยิ่งนัก  ว่าเป็นเพราะเหตุปัจจัยอันใด  จากการค้นหาเอกสารมาอ่านพิจารณาดูคร่าวๆ ก็พบว่า

ในปีพ.ศ.2514 รัฐบาลจอมพลถนอม  กิติขจร  ซึ่งขณะนั้นมีอีกสถานะเป็น "หัวหน้าคณะปฏิวัติ"  เพราะได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเองโดยละมุนม่อมปราศจากการเสียเลือดเนื้อ (ก็เป็นรัฐประหารยึดอำนาจตัวเอง แล้วจะไปเสียเลือดเนื้อกับแมวที่ไหนล่ะ) ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514  หลังจากนั้นไม่นาน  คือในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2514 จอมพลถนอมในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 ให้รวมจังหวัดธนบุรีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดพระนคร เรียกว่า "นครหลวงกรุงเทพธนบุรี" โดยให้เหตุผลไว้ว่า :

"โดยที่จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทั้งในด้านประวัติศาสตร์และการปกครองมาช้านาน  แม้ในปัจจุบันการประกอบอาชีพของประชาชนแต่ละจังหวัดก็ได้ดำเนินไปในลักษณะที่เป็นจังหวัดเดียวกัน  และการจัดหน่วยราชการสำหรับรับใช้ประชาชน  ก็ได้กระทำในรูปให้มีหน่วยราชการร่วมกัน เช่น การศาล การรับจดทะเบียนกิจการบางประเภท  คณะปฏิวัติจึงเห็นสมควรที่จะรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดเดียวกัน  เพื่อการบริหารราชการจะได้ดำเนินไปโดยประหยัดและมีประสิทธิภาพ  บังเกิดความเจริญแก่จังหวัดทั้งสองโดยรวดเร็ว" (ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 88 ตอนที่ 144 ลงวันที่ 21ธันวาคม พ.ศ.2514, หน้า 816 ขีดเส้นใต้โดยผู้อ้าง)
 
จะเห็นได้ว่า นอกจากเหตุผล 2 ข้อที่ขีดเส้นใต้ข้างต้น (คือประวัติศาสตร์กับการปกครอง) แล้ว  ข้ออื่นดูจะไม่มีน้ำหนักที่จะกล่าวถึงแต่อย่างใดเลย  เพราะเหตุง่ายๆ ว่าถ้าธนบุรีต้องขึ้นกับกรุงเทพฯ ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านั้น  ประเทศไทยก็ควรจะมีเพียงกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดเดียว  ซึ่งเป็นไปไม่ได้  จึงขอกล่าว 2 ข้อดังกล่าวเป็นหลัก

กล่าวคือ  ก็อย่างที่เราทราบกัน  การปกครองอย่างรวมศูนย์อำนาจเป็นมรดกสำคัญที่เผด็จการแบบไทยๆ ยึดถือปฏิบัติและสืบรับเอาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามในอดีต  แม้ในอดีตธนบุรีจะขึ้นกับกรุงเทพฯ ก็ขึ้นในความสัมพันธ์แบบเมืองกับเมือง  มิใช่ส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ  กล่าวได้ว่าการรวมธนบุรีเข้ากับกรุงเทพฯ ก็เป็นการปฏิบัติภายใต้กรอบวิธีคิดแบบรวมศูนย์อำนาจ  และอำนาจในลักษณะนี้เมื่ออยู่ภายใต้การกดดันของภาวะสมัยใหม่ก็ทำให้ไม่อาจแสดงตัวในภาวะปกติได้  จุดนี้เองทำให้รัฐประหารตอบโจทย์การใช้อำนาจตามกรอบวัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบไทยๆ

ตลกร้ายที่ผมก็ดั๊นเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า  ข้อเสนอของ ศ.ดร.สมคิด  เลิศไพฑูรย์ ที่เห็นควรลบล้างผลพวงของรัฐประหารอื่นๆ นอกเหนือจาก 19 กันยายน 2549  จริงๆ แล้วนับเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ  แต่ไม่ต้องนับย้อนไปถึง 2475 หรอก  เพราะ 2475 มิได้ถูกนิยามว่าเป็นเพียงรัฐประหารไปนานแล้ว  เอาแค่ผลของรัฐประหาร 2490 เป็นลำดับมา  หรือแค่รัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม  ที่เป็นเรื่องขำขันในหมู่นักประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ก็ได้  ก็ให้ธนบุรีเป็นจังหวัดใหม่แยกออกจากกรุงเทพฯ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อะไรหรอก   

ยิ่งเมื่อพิจารณาเหตุผลทางประวัติศาสตร์  ซึ่งคณะปฏิวัติ 2514 มิได้อธิบายว่าคืออะไร  เป็นแต่อ้างลอยๆ เท่านั้น  แน่นอนธนบุรีมีประวัติศาสตร์  แต่ประวัติศาสตร์ธนบุรีมิได้สนับสนุนการรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่อย่างใดเลย  ตรงข้ามยุคธนบุรีถือเป็นอีกยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่ต้องสงสัย  ไม่ใช่แค่เพราะเป็นอดีตราชธานี  แต่เพราะแม้อยู่ในช่วงเวลาไม่ยาวนานเท่าไร  ก็กลับมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น  ที่ส่งผลทำให้หลายสิ่งหลายอย่างไม่อาจจะเป็นเหมือนอย่างในยุคอยุธยาได้อีกต่อไป (ต่อให้อยากจะฟื้นราชอาณาจักรอยุธยากันเต็มแก่ก็เหอะ)

การเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ต่างหากที่ทำลายประวัติศาสตร์ธนบุรีอย่างร้ายแรง  ทั้งยังเป็นการหมิ่นแคลนและดูดายต่อ "พระคุณ" ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกตะหาก  คำกล่าวที่ว่าถ้าไม่มีธนบุรีก็จะไม่มีกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง  หากแต่การเป็นเมืองน้องใหม่ในประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ นั่นแหละ  ที่กลายเป็นปัญหาต้องไปผนวกรวมเอาประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของธนบุรีมาเป็นของตน 

ประวัติศาสตร์ที่ควรจะถือเป็นเหตุผลเพื่อความอิสระ  กลับเป็นพันธนาการไปได้อย่างไร?
 
ในรอบหลายปีมานี้  แม้มีจังหวัดเกิดใหม่หลายแห่ง  แต่ดูเหมือนจะจำกัดอยู่ในพื้นที่ภาคอิสานเป็นส่วนใหญ่  และดูจะเป็นเรื่องของท้องถิ่น  มากกว่าจะเป็นเรื่องของส่วนกลางโดยตรง  การปกครองรวมศูนย์อำนาจถูกพิสูจน์โดยประวัติศาสตร์ไปแล้วว่า  ล้าหลังไม่สมเหตุสมผล  เพราะถ้าถือตามนั้นประเทศไทยก็ควรมีเพียงจังหวัดเดียวคือกรุงเทพฯ  จึงเป็นเหตุผลที่ไม่เหมาะจะนำมายึดถือปฏิบัติอีกต่อไป 

ยิ่งเมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีปลาย 2554 นี้  เราก็ได้เห็นแล้วว่า แม้แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ที่อาจหาญประกาศว่ารับผิดชอบต่อชาวกทม. (เท่านั้น)  มิได้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อคนทั้งประเทศ  ก็ยังมิอาจปกป้องดูแลกรุงเทพฯ ได้ทั่วถึง  ธนบุรีกลายเป็นดินแดนชายขอบที่ไม่มีระบบจัดการระบายน้ำเป็นของตนเอง  ผลคือเกิดน้ำท่วมขังโดยที่ท่านผู้ว่าฯ ก็มิอาจป้องกันแก้ไขได้มากนัก  ต้องยอมรับแล้วล่ะครับ  ว่ากรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นเมืองที่ใหญ่โตเกินที่ควรจะเป็นมากไป  จนเกิดปัญหาการบริหารจัดการได้ง่าย
 
แม้จะหยิบยกเอา Organic Theory มาร่ายยาวว่า เป็นอวัยวะส่วนหัวใจหรือสมองของประเทศอย่างไร  ก็ไม่เพียงไม่เกิดประโยชน์  ยังรังแต่จะย้ำการรวมศูนย์อำนาจกับประวัติศาสตร์ที่ฉวยอ้างอย่างผิดๆ เท่านั้น  เราควรจะมองกรุงเทพฯ ในแง่จังหวัดหนึ่ง  ที่เมื่อเกิดปัญหาการบริหารจัดการอย่างมากแล้ว  ก็สามารถให้แยกออกไปเป็นอีกจังหวัดหนึ่งได้  เพื่อจะได้จัดระบบบริหารจัดการของตนเองขึ้น  เพื่อประโยชน์ในการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนต่อไป  การไม่มีธนบุรีเป็นส่วนหนึ่ง  ย่อมไม่ถึงกับจะทำให้กรุงเทพฯ ต้องล่มสลาย  เช่นเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าธนบุรีที่ไม่เป็นเขตหนึ่งของกรุงเทพฯ จะไม่สามารถจัดการดูแลตนเองแต่อย่างใด  อีกอย่างคือเราจะมัวลุ่มหลงงมงายอยู่กับมายาคติอันสืบเนื่องมาจากความเป็นเมืองหลวงที่สร้างขึ้นโดยรัฐประหาร 2514 กันต่อไปทำไม

คืนจังหวัดธนบุรีให้กับชาวฝั่งธนฯ เถอะครับ!   

โดย กำพล จำปาพันธ์
มติชนออนไลน์ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554