ผู้เขียน หัวข้อ: ลอยฟ้ามาหา "ทีลอซู" และ อุ้งผาง อดีตเคย "แดง"  (อ่าน 1723 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ค่ำคืนแสนทรมานกับการเดินทาง 13 ชั่วโมง กำลังจะจบลง เมื่อป้ายบอกทาง ระบุเป้าหมาย "อุ้มผาง 5 กม."
ผู้โดยสาร 11 คน ที่กำลังย้ายก้นลงจากรถตู้ออกอาการโล่งใจ ไม่ใช่เพราะ "หนีน้ำ" จากกรุงเทพฯ มาได้ แต่รอดพ้นจาก "พิษโค้ง" บน "ถนนลอยฟ้า" มาอย่างปลอดภัย ปราศจากอาการพะอืดพะอมใดๆ ต่างหาก

 ยอมรับว่า จดโปรแกรมอุ้มผางไว้ในตารางการเดินทางนานแล้ว แต่เพิ่งจะมีครั้งนี้เองที่ฉันมีโอกาสได้ใช้ปากกา "กากบาท" ลงบนตารางการเดินทาง เป็นอันรู้กัน (กับตัวเอง) ว่า "ไปมาแล้ว"

21.00 น.

 รถตู้ออกเดินทางจากจุดนัดหมายบริเวณปั๊ม ปตท. ถ.วิภาวดี ขึ้นทางด่วนหนีน้ำตรงไปยังปลายทาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ฉันนั่งไปแบบกึ่งหลับกึ่งตื่น พร้อมกับนึกถึงข้อมูลของอำเภอนี้ไปพลาง


 ถ้าไม่สืบค้นข้อมูลฉันก็คงไม่มีทางรู้ว่า "อุ้มผาง" เป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือมีพื้นที่ราว 4,325 ตารางกิโลเมตร ใหญ่ขนาดไหนตอนแรกก็นึกภาพไม่ออก แต่เมื่อลองเอาพื้นที่นี้ไปเทียบกับจังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทยอย่าง "สมุทรสงคราม" ซึ่งมีพื้นที่ราว 416.707 ตารางกิโลเมตรแล้ว ตาตี่ๆ ก็เบิกกว้างขึ้นมาทันที เพราะอำเภออุ้มผางมีความกว้างใหญ่กว่าจังหวัดแม่กลองถึง 10 เท่า!!


 ใหญ่ไม่ใหญ่เปล่า อุ้มผางยังมีเรื่องราวที่ชวนให้เราต้องอัศจรรย์ใจอีกหลายเรื่อง ฉันจะค่อยๆ ไล่เลียงให้อ่านกัน
 เริ่มต้นที่เรื่องพื้นที่ก่อน อุ้มผางแห่งนี้มีอาณาเขตติดต่อกับเพื่อนบ้าน 4 จังหวัด 1 ประเทศ คือ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี และสหภาพพม่า ติดกับจังหวัดเพื่อนบ้านเป็นเรื่องธรรมดา แต่ติดกับพม่าทำให้ฉันรู้สึกว่า ที่นี่ต้องมีอะไรพิเศษ

 เดาไม่ผิดเลยทีเดียว เพราะความเกี่ยวพันกันด้วยสภาพพื้นที่ ทำให้มีชื่อน่ารักๆ อย่าง "อุ้มผาง" เกิดขึ้น

 เดิมทีนั้นในเมืองนี้มีชาวปกาเกอะญอและชาวโพล่ว เป็นประชากรส่วนใหญ่ มีชายแดนติดกับพม่า จึงเป็นจุดตรวจหนังสือเดินทางของชาวพม่าที่จะเข้ามาค้าขายในเขตไทยไปในตัว สมัยนั้นการเดินทางลำบาก (สมัยนี้ก็ยังลำบาก) ครั้นพ่อค้าแม่ขายชาวพม่าจะถือกระดาษเอกสารติดตัวมา กว่าจะผ่านภูเขาลำเนาป่ารกทึบมาได้ เอกสารเหล่านั้นก็รังแต่จะขาดวิ่นไปเพราะความชื้นของเหงื่อไคลบ้าง ละอองฝนบ้าง พวกเขาจึงเอาเอกสารสำแดงตนใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ทำฝาปิด แล้วพก "บ้อง" มาอย่างนั้น ถึงที่ทำการก็นำเอกสารออกมาประทับตรา หนังสือเดินทางรูปแบบนี้เองที่ชาวปกาเกอะญอ เรียกว่า "อุ้มผะ" แล้วเพี้ยนเสียงมาเป็น "อุ้มผาง" ชื่ออำเภอที่โด่งดังจนถึงทุกวันนี้

 ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีผืนป่าโอบล้อมไว้อย่างแน่นทึบ ทำให้อุ้มผางเป็นเมืองที่แทบจะถูกตัดความสัมพันธ์จากโลกภายนอก แม้จะมีถนนลาดยางตัดผ่านจากอำเภอแม่สอดถึงอำเภออุ้มผางมานานเกือบ 30 ปี แต่การเดินทางไปยังอุ้มผางก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี ทุกวันนี้จากแม่สอดไปถึงอุ้มผาง ระยะทางเพียง 164 กิโลเมตร แต่ด้วยความคดโค้งทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางมากถึง 4 ชั่วโมง!!

 และนั่นก็เป็นที่มาของความกะปลกกะเปลี้ยของฉันในวันนี้
 
10.00 น.

 ข้าวต้มเครื่อง ปาท่องโก๋ กาแฟ คืออาหารเช้าอย่างง่ายที่ คุณอั้ม-อนุพงษ์ ศรีธรรม เจ้าของอุ้มผางบุรี รีสอร์ท เตรียมไว้ให้พวกเรา สิบนาทีกับอาหารเช้า เสร็จสรรพแล้วเจ้าของรีสอร์ทก็ต้อนพวกเราให้เข้าห้องพักเพื่อจัดแจงเปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนจะเริ่มกิจกรรมแรกของวันในเวลา 10.30 น.

 เรือยางสีสันสดใสลอยเท้งเต้งอยู่ในลำน้ำแม่กลอง ฉันเลือกเสื้อชูชีพขนาดพอสมตัวแล้วก็โดดขึ้นไปนั่งเรือยางลำที่อยู่ด้านหลังสุด

 สมาชิกล่องเรือยางในวันนี้นอกจากพวกเรา 11 ชีวิตแล้ว ก็ยังมี สุรินทร์ ติเพียร ผู้อำนวย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดตาก และคณะเข้าร่วมกิจกรรมอีก 3 คน เรียกว่า เรือยาง 3 ลำ อัดแน่นไปด้วยผู้โดยสารเต็มลำเลยทีเดียว

 กิจกรรมล่องแก่งเกิดขึ้นที่อุ้มผางนานแล้ว แต่เดิมนั้นใช้แพไม้ไผ่ในการล่อง แต่หลังจากมีการรณรงค์ให้ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผู้ประกอบการต่างๆ จึงเปลี่ยนจากแพไม้ไผ่มาเป็นเรือยางอย่างว่าง่าย

 ในช่วงแรกมีนักท่องเที่ยวบางคนค้านว่า ไม่เหมาะสม เพราะดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่เขาคงไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่ดูไม่เป็นธรรมชาติจริงๆ นั่นก็คือมนุษย์บางจำพวกที่เฝ้าแต่จะหาความพึงพอใจใส่ตนโดยที่ไม่เคยใส่ใจกับ "ผล" ที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่า "น้ำท่วม" ก็เป็น "ผล" อย่างหนึ่งที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า


 ก่อนอารมณ์จะพลุ่งพล่านเกินไป ฉันวักน้ำใสๆ ขึ้นมาแตะใบหน้า น้ำเย็นกว่าอุณหภูมิรอบกายตอนนี้หลายเท่านัก แดดยามสายทำงานหนัก ชักอยากจะกระโดดลงไปเล่นน้ำเสียให้รู้แล้วรู้รอด ดีที่หันไปเห็นเจ้าลิงป่า 2-3 ตัวที่กำลังโรยตัวจากกิ่งไม้ลงมาต้อนรับ "ผู้มาใหม่" อย่างเรา ฉันเลยเอาแต่นั่งมองมันจนลืมเรื่องน้ำไปเลย

 เรือยางพาเราเดินทางผ่าน ทีลอจ่อ หรือ น้ำตกสายฝน ที่ค่อยๆ ทิ้งมวลน้ำใสๆ ลงมาตามชะง่อนผา ดูราวกับสายฝนดังว่า นายท้ายเรือบอก ตรงนี้เป็นจุดพักเล่นน้ำได้ แต่ไม่มีใครในเรือสมัครใจ เราเลยต้องแล่นผ่านไปอย่างนึกเสียดาย

 ความเสียดายไม่ได้อยู่กับเราเนิ่นนาน เพราะล่องเรือผ่านมาอีกไม่ถึง 3 อึดใจ ก็ได้พบกับสิ่งมหัศจรรย์ชิ้นใหม่ นั่นคือ น้ำตกสายรุ้ง

 ไม่ได้เรียนสายวิทยาศาสตร์ แต่ก็พอจะทราบว่า เวลาเที่ยงวันที่แสงตกลงตรงกลางศีรษะแบบนี้ ไม่มีทางที่จะเกิด "รุ้ง" ได้อย่างแน่นอน และก็ถูกต้องเลย เราไม่ได้เห็น สมาชิกทุกคนเลยเล็งว่า พรุ่งนี้ขอมาแก้ตัวใหม่

 ธรรมชาติที่ดูเขียวสดสมบูรณ์ดึงความสนใจจนลืมไปว่าเวลาตอนนี้ล่วงเข้าบ่ายโมงเต็มที ก่อนถึงท่าขึ้นเรือยางที่บริเวณ หน่วยพิทักษ์ป่าผาเลือด เราแวะไปจุ่มขาพิสูจน์ความน่าอัศจรรย์ของน้ำร้อนที่อยู่ใกล้น้ำ (เย็น) ในแม่น้ำแม่กลองกันก่อน

 ที่นี่คือ บ่อน้ำร้อนทีลอโกร แม้อุณหภูมิจะไม่ได้อยู่ในจุดที่เรียกว่า "องศาเดือด" แต่หย่อนขาลงไปก็พอช่วยให้เส้นสายยืดคลายบ้าง

 อาหารกลางวันกินกันแบบไม่ตรงเวลา เมื่อเรามาช้าก็เลยต้องรีบ ข้าวสวยกับผัดเผ็ดถั่วฝักยาวในกล่องพร่องไปอย่างรวดเร็ว เพราะเราต้อง "ทำเวลา" กันอีกรอบ

 คราวนี้ได้รถกระบะโฟร์วีลของ พี่พัน สาวแกร่งแห่งเมืองอุ้มผางเป็นคนนำคณะเดินทางเข้าไป

 จริงๆ ระยะทางไม่ไกล แต่เมื่อฤดูฝนที่ผ่านมาน้ำป่าชะเอาถนนหนทางยุบหาย เราจึงต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมงกว่าจะไปถึงบริเวณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
 
15.30 น.

 บ่ายจัดแบบนี้ถ้ายืนอยู่ในกรุงเทพฯ มหานที คงมีเหงื่อหยดไหลกันบ้าง แต่เพราะป่าอุ้มผางมีต้นไม้ช่วยบดบังแสงแดด เราจึงรู้สึกเย็นสบาย

 แต่ก็อีกนั่นแหละ ป่าแน่นทึบแบบนี้ ยากที่ลำแสงจะลอดผ่านมาได้ง่ายๆ เรารีบเดินเข้าไปที่ น้ำตกทีลอซู ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในป่าราว 1.5 กิโลเมตร เพราะกลัวว่า แสงจะไม่เอื้ออำนวย

 เห็นระยะทางแล้วอย่าเพิ่งถอดใจ เพราะตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นพื้นปูน เดินง่าย ฉันว่า เผลอๆ จะง่ายกว่าทุกๆ น้ำตกที่เคยเดินมาเสียด้วยซ้ำ

 น้ำตกทีลอซู คือแม่เหล็กชิ้นงามของอุ้มผาง เพราะนับตั้งแต่มีพรานป่าพบความมหึมาของน้ำตกที่ไหลผ่านช่องผากว้าง 500 เมตรเมื่อหลายสิบปีก่อนแล้ว นักท่องเที่ยวจากเมืองไทยและต่างชาติก็พากันหลั่งไหลมาชมความงามตามธรรมชาตินี้ไม่ขาดระยะ

 ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดังจึงขนนางแบบหน้าฝรั่งมาถ่ายทำโฆษณาถึงที่นี่ ก็เพราะพวกเขาเองก็คงตะลึงในความงดงาม เลยอยากป่าวประกาศ "ให้โลกรู้ว่า เมืองไทยมีดี"

 "ทีลอซู" เป็นภาษาปกาเกอะญอ "ทีลอ" แปลว่า น้ำตก "ซู" แปลว่า เสียงดัง, ยิ่งใหญ่, ดำ ในความหมายนี้จึงสามารถแปลได้ 2 อย่าง คือน้ำตกที่ยิ่งใหญ่ หรือน้ำตกดำ

 พิศดูแล้วก็สมความหมาย สายน้ำที่ทิ้งตัวผ่านภูเขาหินปูนสูงชัน ลดหลั่นเป็นระดับ 3 ชั้น บนความสูง 300 เมตร งดงามราวกับภาพเขียน ที่ชั้นล่างสุดเป็นแอ่งน้ำขนาดกว้าง มีนักท่องเที่ยวลงไปดำผุดดำว่ายอยู่ตรงนั้น

 ฉันเดินเลาะช่องเขาไต่ขึ้นไปที่ชั้นบน "พระเจ้าจอร์จ นี่มันสระอโนดาตในตำนานป่าหิมพานต์ชัดๆ" มิเสียแรงที่ได้รับการยกย่องให้เป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในเอเชียอาคเนย์

 บันทึกภาพน้ำตกจนเย็นย่ำหนำใจเราก็ต้องรีบ (อีกแล้ว) สืบเท้าออกจากป่าโดยไว เพราะถึงจะยังไม่ค่ำ แต่พี่ยุงป่าแกเริ่มออกหาอาหารแล้ว นึกถึงประโยคหนึ่งที่บางคนเคยบอกไว้

 "อุ้มผางน่ากลัว มีทั้งไข้ป่า และไข้โป้ง"
 
05.30 น.

 อุณหภูมิยามเช้าที่อุ้มผางไม่สะเทือนผู้มีชั้นไขมันเป็นอาวุธเท่าไรนัก เรานั่งรถโฟร์วีลของ "พี่พัน" คันเดิมตรงไปที่ยอดเขาหัวโล้นที่อยู่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร คนแถบนี้เรียกว่า ดอยหัวหมด

 เสน่ห์ของดอยหัวหมดไม่ได้อยู่ที่ชื่อดอยอันมีลักษณะโล้นราบ มีเพียงต้นหญ้าวัชพืชและไม้ทนแล้งขึ้นปกคลุมเท่านั้น แต่ความสำคัญยังอยู่ที่การได้ชมวิวอุ้มผางในมุม 180 องศา บนความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 971 เมตร

 นักท่องเที่ยวที่มาอุ้มผางมักไม่มีใครพลาดโปรแกรมรับตะวันที่ดอยหัวหมด เพราะเทือกเขาสลับซับซ้อนด้านหน้า คล้ายกับมีศิลปินมานั่งระบายพู่กันไล่ตามเฉดสีแบบนี้ นานทีจะมีโอกาสได้เห็น และก็นานทีอีกเช่นกันที่จะได้นั่งชมพระอาทิตย์ขึ้นในผืนป่าตะวันตก ใครพลาดจึงนับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างที่สุด

 เรากลับไปที่รีสอร์ทอีกครั้งเพื่อรับบริการอาหารเช้า จากนั้นก็พาตัวเองเดินย้อนเส้นทางกลับไปล่องเรือยาง กิจกรรมแรกที่ทำเมื่อวาน เพื่อเข้าไปชมน้ำตกสายรุ้ง อีกครั้ง

 ละอองน้ำเหล่านั้นตกลงมากระทบกับแสงตะวันยามสายทำให้เกิดการหักเหของแสงกลายเป็น "รุ้งกินน้ำ" พวกเราใช้เวลาบันทึกภาพที่น่าประทับใจนั้นเนิ่นนาน กระทั่งแสงเปลี่ยนทิศทางไปในเวลาเกือบ 10.00 น. นั่นแหละ เราถึงบอกให้นายท้ายออกเรือยาง เดินทางกลับอย่างสบายใจ

 วินาทีสุขสุดๆ แบบนี้ คงไม่มีใครนึกถึงเส้นทางอุ้มผาง-แม่สอด ตอนขากลับ โอ้...ถนนลอยฟ้า ถ้าเป็นไปได้อยากเปลี่ยนเป็น "ถนนลัดฟ้า"ไปเลยจะได้ไหมหนอ  
..........................................
การเดินทาง-ที่พัก

 จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ผ่านอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ถึงตาก ระยะทางประมาณ 425 กิโลเมตร แต่ก่อนถึงตัวจังหวัดตากประมาณ 7 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด ระยะทางราว 86 กิโลเมตร ถึงแม่สอดแล้วเลี้ยวซ้ายอีกครั้งไปตามทางหลวงหมายเลข 1090 แม่สอด-อุ้มผาง ผ่านเส้นทางคดเคี้ยวสลับซับซ้อนจำนวน 1,219 โค้ง ระยะทางประมาณ 164 กิโลเมตร ก็จะถึง อ.อุ้มผาง "ดินแดนดอยลอยฟ้า"

 ที่พักในอุ้มผางมีหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะพ่วงแพ็คเกจท่องเที่ยวอุ้มผางไว้ด้วย ที่แนะนำคือ อุ้มผางบุรี รีสอร์ท บ้านพักแสนสบาย ในบรรยากาศธรรมชาติ สอบถาม โทร. 0 5556 1576, 08 9871 7116 ดูข้อมูลเพิ่มที่ www.umphangburiresort.com

 นักท่องเที่ยวที่ต้องการรายละเอียดการท่องเที่ยวเส้นทาง อ.อุ้มผาง เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สมาพันธ์สมาคมเครือข่ายท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทร. 0 2540 2971-2, 08 1263 2919 หรือ ททท.สำนักงานตาก โทรศัพท์ 0 5551 4341-3

โดย : นิภาพร ทับหุ่น
กรุงเทพธุรกิจ
19 พฤศจิกายน 2554
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 พฤศจิกายน 2011, 00:41:14 โดย pani »

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
Re: ลอยฟ้ามาหา "ทีลอซู"
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 20 พฤศจิกายน 2011, 00:40:08 »
อุ้มผาง อดีตเคย "แดง"

อุ้มผางเป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (ใหญ่กว่าจังหวัดสมุทรสงครามถึง 10 เท่า)
ในขณะเดียวกันก็เป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลจากอำเภอเมืองมากที่สุดในประเทศไทยเช่นกัน (ราว 257 กิโลเมตร)

 การเข้าถึงดินแดนที่แวดล้อมไปด้วยขุนเขาและป่าไม้อันรกทึบนี้ทำได้ค่อนข้างลำบาก แม้ปัจจุบันจะมีถนนลาดยางปูทางไปจนถึงตัวเมืองอุ้มผางแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลามากถึง 6 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย (จาก จ.ตาก) ซึ่งความยากราวกับถูกโดดเดี่ยวไว้ลำพังนี้เอง ที่ทำให้อุ้มผางถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อครั้งเกิดสงครามความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ปี 2514

 พื้นที่อุ้มผางเมื่อกว่า 30 ปีก่อนร้อนระอุไปด้วยเสียงปืนของการสู้รบระหว่างทหารกับผู้เข้าร่วมขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นสหายชาวปกาเกอะญอและชาวโพล่วในพื้นที่ นอกจากนี้ก็มีนักศึกษาและนักการเมืองบางส่วน

 การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในครั้งนั้นทำได้ลำบาก เพราะด้วยชัยภูมิที่เข้าถึงยากอย่างหนึ่ง กับการเป็นกองบัญชาการใหญ่ที่มีทหารฝ่ายคอมมิวนิสต์ดูแลแน่นหนาอย่างหนึ่ง ทำให้การสู้รบค่อนข้างยืดเยื้อ

 อย่างไรก็ดี สงครามประชาชนนี้สิ้นสุดลงเมื่อเกิดการเมืองภายในพรรคคอมมิวนิสต์ มวลชนที่กลับใจ ยอมจำนนและเปลี่ยนมาเป็นบุคคลผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย นั่นรวมถึงเสกสรร ประเสริฐกุล จิระนันท์ พิตรปรีชา และวิชัย บำรุงฤทธิ์ ผู้นำทางความคิดในครั้งนั้นด้วย

 หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง "14 ตุลา สงครามประชาชน" ในฉากจบที่มี "ทหารป่า" ลอบยิงนักศึกษาและมวลชนที่กำลังเดินทางออกมอบตัว อาจทำให้บางคนตีความหมายไปผิดๆ คิดว่าเป็นการทำร้ายประชาชนจากคนในพื้นที่อย่างชาวปกาเกอะญอ และชาวโพล่ว แต่จากการถ่ายทอดของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวปกาเกอะญอ และชาวโพล่ว ผ่านหนังสือ "อุ้มผาง เบื้องหลังธรรมชาติ" ที่เขียนโดย ประชา แม่จัน กลับพบความ "ผิดหวัง" จากฉากสุดท้ายของหนังเรื่องนั้น

 "ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างความเสียใจให้กับชาวปกาเกอะญอ และโพล่ว แถบนี้อย่างมาก ทุกคนบอกว่า พวกเขาไม่เคยคิดทำร้ายสหายไทและนักศึกษา อย่างไรก็ตาม พวกเขายังถามถึงสหายไท หรือเสกสรร ประเสริฐกุล หลายคนมีความยินดีที่เขาเป็นตะล่าพะโด่ (อาจารย์ใหญ่)"

 ปี 2525 มวลชนวางอาวุธและเดินทางออกจากป่า ถือเป็นการปิดฉากสงครามอุดมการณ์ในป่าอุ้มผางอย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากนั้นอุ้มผางก็เริ่มได้รับการพัฒนาเป็นระยะๆ โดยถนนที่ตัดผ่านไหล่เขาลัดเลาะจาก อ.แม่สอด สู่ อ.อุ้มผาง ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2516 เสร็จสิ้นลงในปี 2526

 ระยะทาง 164 กิโลเมตร จาก อ.แม่สอด ถึง อ.อุ้มผาง ต้องผจญความโค้งชันของขอบเขา ราวกับเดินทางไปบนสรวงสวรรค์ แต่เมื่อไปถึงที่หมายนั่นแล้ว ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ถึงความสวยงามสมบูรณ์ของผืนป่า "ถนนสายลอยฟ้า" จึงถูกนิยามขึ้นเมื่อมีคนพูดถึงถนนสำคัญสายนี้

 อุ้มผาง เป็นที่รู้จักโด่งดังในฐานะเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มี "ทีลอซู" น้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแม่เหล็กสำคัญที่นักท่องเที่ยวแนวผจญภัยไม่ควรพลาด นอกจากนี้ก็มียังมี "ทีลอเล" อีกหนึ่งน้ำตกที่ท้าทายความอยากของนักท่องเที่ยว ส่วน "น้ำตกปิตุ๊โกร" มีความสูงที่สุดในประเทศไทย ก็กำลังเป็นจุดหมายใหม่ของนักเดินป่า ยังไม่นับรวมแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจอีกสารพัด

 จาก "ป่าสีแดง" ในวันวาน อุ้มผางกำลังก้าวสู่การกลับมาเป็น "ป่าสีเขียว" อีกครั้ง จากการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ที่เรียกกันติดปากว่า Eco Tourism

 โดย : นิภาพร ทับหุ่น
กรุงเทพธุรกิจ 19 พฤศจิกายน 2554