ผู้เขียน หัวข้อ: "ปากเกร็ด" มหานครไม่ยอม "จม" ชาวบ้านเสียสละ..."รักษาพื้นที่แห้ง"  (อ่าน 1320 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
พื้นที่ "ไข่แดง" คือพื้นที่สามารถป้องกันไม่ให้น้ำไหล เข้าท่วม โดยการบริหารจัดการของหมู่บ้านและชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้รอดพ้นจากอุทกภัยที่รายล้อมอยู่รอบบริเวณ สภาพเหมือนเกาะกลางน้ำ แต่ก็ยังโชคดีที่ ไม่ถูกน้ำเข้าโจมตี แม้จะลำบากอยู่บ้าง แต่ก็ยังถือว่าอยู่รอด

อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่หนึ่งเป็นมากกว่า "ไข่แดง" ขอเรียกว่าพื้นที่ "ไข่ดาว" เช่น เทศบาลนครนนทบุรีและเทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี มีพื้นที่แห้งเกือบ 100% แม้จะถูกโอบล้อมด้วยน้ำ แต่พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นแผ่นดินทองให้ผู้ประสบภัยได้พักพิง

เทศบาลนครปากเกร็ด เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งรอดพ้นจากวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 อย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะไม่รอดทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเทศบาลแห่งนี้ปกป้องพื้นที่แห้งไว้ได้มากที่สุดถึง 97%

ต้องยอมรับว่า เป็นฝีมือในการบริหารจัดการน้ำและจัดการคนได้อยู่หมัดของเทศบาลแห่งนี้ และการเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ของชุมชนริมน้ำที่ยอมให้สร้างคันดิน โดยที่ไม่มีใครมาพังให้เสียหายกันทั้งเมือง

นครปากเกร็ดตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุม 5 ตำบล ของอำเภอปากเกร็ด คือตำบลปากเกร็ด บางพูด บ้านใหม่ คลองเกลือ และบางตลาด มีพื้นที่ 36.04 ตารางกิโลเมตร

มีผู้ประสบภัยที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ประมาณ 2 พันครัวเรือน จากทั้งหมด 8 หมื่นครัวเรือน หรือคิดเป็น 3% ของพื้นที่ประสบภัย ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเทศบาลนครปากเกร็ดใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดูจากย่านการค้าภายในตลาดสดปากเกร็ด มีผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่มาจับจ่ายซื้อสินค้ากันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งชาวบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้ามซึ่งถูกน้ำท่วม ก็พายเรือ นั่งรถบรรทุกทหารมาซื้อของกินของใช้ได้อีกด้วย

มีผู้ประสบภัยอีกกว่า 2 พันครัวเรือน ซึ่งถูกน้ำท่วมมานานนับเดือนอยู่หลังคันดินขนาดมหึมา ที่ทางเทศบาลสร้างเป็นกำแพงสูงบนถนนภายในซอยวัดกู้ เป็นแนวยาวป้องกันไม่ให้น้ำจากเจ้าพระยาทะลักเข้ามาสร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ชั้นในอีก

แม้ว่าการเสียสละของชาวบ้านที่อยู่หลังคันดินจะมีทั้งเต็มใจ ไม่เต็มใจ หรือไม่มีทางเลือก แต่ชาวบ้านที่นี้ ก็ไม่มีใครคิดจะพังคันดิน เพื่อจะได้มีเพื่อนร่วมชะตากรรมแบบที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เพราะพวกเขาคิดว่า ถึงบ้านจะถูกน้ำท่วม แต่พวกเขาก็ยังพายเรือ หรืออาศัยสะพานไม้ ที่ทางเทศบาลสร้างไว้ให้ และที่สร้างกันเอง ออกมาหาของกินของใช้สะดวกกว่าต้องพายเรือหลายกิโลเมตร หรือกอดคอกันจมน้ำทั้งหมด

ชุมชนในย่านนี้จึงสามารถพักอาศัยอยู่ในบ้านเรือนของ ตัวเองได้โดยไม่ต้องอพยพ หรือย้ายหนีไปไหน ส่วนหนึ่ง เพราะคนที่นี่เป็นคนแม่น้ำ ถูกน้ำท่วมจนชิน แม้ว่าปีนี้น้ำจะมามากกว่าทุกครั้ง จนไม่สามารถกอบกู้วัดวาอารามและโรงเรียนในชุมชนได้ ก็ต้องปล่อยให้จมน้ำไป

เช่นเดียวกับวัดกู้ ซึ่งถูกน้ำท่วมขังเต็มพื้นที่วัด แต่ถนน หน้าวัดยังสัญจรผ่านไปมาได้ 1 ช่องทาง เพราะมีคันดินสูงกว่า 3 เมตรกันน้ำไว้ พระครูสมิทธิ์ กตธรรมโม พระวัดกู้ พาทีมงานหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เดินไปตามสะพานไม้ทอดผ่านศาลาการเปรียญที่สร้างยังไม่เสร็จ เพื่อเดินไปดูคันดินหลังวัด ซึ่งได้ระดมกำลังกันกั้นน้ำไว้ แต่ไม่สามารถต้านทานน้ำไว้ได้

"ปีนี้น้ำมามากเหลือเกิน นี่ก็สร้างคันดินถึงสองชั้นแล้ว แต่ก็เอาไม่อยู่ กว่าจะเอาอยู่ ก็ชั้นที่ 3 อยู่นอกกำแพงวัดโน่น..ทุกปี วัดจะเป็นที่พักพิงให้คนเข้ามาจอดรถหนีน้ำได้ เพราะวัดถมที่ขึ้นมาสูง แต่ปีนี้ วัดก็ไม่รอดเหมือนกัน แต่ก็ยังดี ที่ถนนหน้าวัดไม่ท่วม ไม่เช่นนั้น ก็คงเดือดร้อนกันไปทั่ว"

ขณะที่ สุคนธรณ์ สัตย์ซื่อ อาจารย์ผู้สอนในโรงเรียนวัดกู้ บอกว่า ปกติ ปลายเดือนตุลาคม ก็จะเปิดเรียนได้แล้ว แต่ปีนี้ยังเปิดไม่ได้ เพราะน้ำท่วมโรงเรียน หนักกว่าทุกปี อาคารเรียนและอุปกรณ์การเรียนเสียหายหมด ต้องยอมรับว่า ชาวบ้านที่นี่มีน้ำใจ ยอมเสียสละให้สร้างคันดิน เพื่อปกป้องวัดและโรงเรียน เพื่อที่ว่าลูกหลานจะได้มาเรียนตามปกติ แต่ปีนี้ต้านทานน้ำ ไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องปล่อยให้น้ำท่วมไป

"ชาวบ้านที่นี่เขาชินกับน้ำ บ้านเกือบทุกหลังมีเรือ คนที่นี่ไม่มีการพังคันดิน เพราะไม่มีประโยชน์อะไร ที่เขาจะไปพังให้เดือดร้อนกันหมด" อาจารย์เวรที่ต้องมาเฝ้าโรงเรียนร้างในยามน้ำท่วม

ด้านชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่หลังคันดิน ชั้นหนึ่งของบ้านจมน้ำมาร่วมเดือนแล้ว "เสน่ห์ มากเสมอ" อายุ 67 ปี อาชีพค้าขาย เล่าว่า คนแถวนี้เขาไม่กลัวน้ำกันหรอก กลัวจะอดมากกว่า ขืนปล่อยให้จมกันหมด ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน จะออกจากบ้านแต่ละครั้งก็ลำบาก นี่ก็ยังดี ที่มีสะพานไม้

"สะพานนี้ก็สร้างกันเอง ก่อนหน้านี้ก็เดินบนกระสอบทราย แต่ตอนหลัง น้ำมันสูงกว่ากระสอบทรายแล้ว ก็ต้องสร้างสะพานไม้เดินไปมา พวกเราชินเสียแล้ว น้ำท่วมทุกปี แต่ปีนี้หนักเหลือเกิน แต่ชาวบ้านที่นี่เขาก็ช่วยกัน อย่างฝั่งนี้ถูก น้ำท่วม ฝั่งโน่นก็ข้ามมาช่วยเหลือ

ทำยังไงได้ ก็มันท่วมไปแล้ว ก็ไม่รู้จะไปพังคันดินให้พื้นที่แห้งเปียกทำไม แต่เข้าใจว่าคนที่เขาไม่เคยถูกน้ำท่วม คงคิดว่า ข้าท่วม เอ็งก็ต้องท่วมด้วย แต่พอนาน ๆ ไป เดี๋ยวก็จะรู้ว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร น้ำมันมาได้ เดี๋ยวมันก็ไปได้" ยายวัย 67 ปี บอกเล่าในฐานะผู้มีประสบการณ์ประสบภัยมาทุกปี

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมของเทศบาลนครปากเกร็ด อาจจะไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกแห่งที่มี

ภูมิประเทศที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมทุ่ง แบบไม่มีที่มาที่ไป จับต้นชนปลายไม่ถูก

แต่วิธีการสร้างคันดินของเทศบาลแห่งนี้ ใช้หลักการไหลของน้ำเป็นตัวตั้ง แล้วเสริมคันคลองตามทางเดินของน้ำ พอน้ำทะเลลด น้ำก็ลดตาม ไม่ใช่ไปสร้างคันขวาง หรือกั้นทางน้ำ แทนที่จะเรียกว่าคันดินกั้นน้ำ อาจเรียกว่าคันเสริมคลองระบายน้ำ ขืนไปขวางทางน้ำ ก็มีแต่พังกับพัง

ประชาชาติธุรกิจ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554