ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯ วางแผน3ระยะ สั้น-กลาง-ยาว แก้ปัญหาน้ำ  (อ่าน 1269 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
หมายเหตุ - สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดทำรายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร เรื่อง "โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา" มีเนื้อหาสะท้อนถึงปัญหาในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนการแก้ไขปัญหา "มติชน" เห็นว่าแผนการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ ตรงกับสถานการณ์ที่ประเทศกำลังประสบปัญหากับอุทกภัย จึงนำเนื้อหาบางส่วนมาเสนอดังนี้

เอกสารโครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระบุมาตรการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำไว้ 3 ระยะคือ

มาตรการระยะสั้น (5 ปี) เน้นการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำที่เป็นมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง และมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างที่ใช้เงินลงทุนน้อย และได้ประโยชน์กับพื้นที่เฉพาะถิ่นที่มีอยู่เดิมและเริ่มมีปัญหา

โดยมุ่งผลแก้ไขปัญหาในระดับหนึ่ง เพื่อจะเป็นพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาระยะกลาง และระยะยาวในอนาคต ทั้งในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 5 ปี

- โดยกำหนดแผนงานตามมาตรการด้านต่างๆ ดังนี้


1.มาตรการในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่สภาพเสื่อมโทรม กำหนดแผนงานและโครงการต่างๆ ดังนี้ แผนงานด้านการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ ประกอบด้วยโครงการต่างๆ อาทิ โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนาและจัดระบบข้อมูล เพื่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ โครงการจัดหาที่ดินทำกินที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า โครงการปลูกสวนป่าเพื่อผลิตไม้ใช้สอย โครงการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร (ฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน, ฝายกั้นน้ำกึ่งถาวร) โครงการศึกษาทบทวนการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ และมาตรการการใช้ที่ดินที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เป็นต้น

2.แผนงานด้านอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ทั่วไป ประกอบด้วยโครงการต่างๆ อาทิ งานอนุรักษ์ดินและน้ำ โครงการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนามาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ทดแทนการใช้สารเคมี และโครงการศึกษาและจัดทำมาตรการในการฟื้นฟูทรัพยากรดินที่มีปัญหาเฉพาะ เป็นต้น

3.แผนงานด้านการปรับปรุงสภาพแหล่งน้ำ อาทิ งานขุดลอกร่องแม่น้ำ หนองน้ำ และคลองธรรมชาติ งานกำจัดวัชพืช และโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการในการป้องกัน กำจัดวัชพืชและขยะในแหล่งน้ำ เป็นต้น

4.แผนงานด้านการตรวจสอบคุณภาพน้ำ อาทิ โครงการจัดทำระบบโครงข่ายสำรวจ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพแหล่งน้ำ โครงการรณรงค์การมีส่วนร่วมของหน่วยราชการ เอกชน และประชาชน ในการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ และโครงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการสารอันตรายและน้ำเสียอย่างเหมาะสม เป็นต้น

5.แผนงานจัดการน้ำบาดาล ดำเนินการในหลายโครงการ อาทิ โครงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของน้ำบาดาล โครงการให้ความรู้ด้านน้ำบาดาลแก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และโครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลน้ำบาดาลประเทศไทย เป็นต้น

6.แผนงานอนุรักษ์น้ำบาดาล ดำเนินการในหลายโครงการ อาทิ โครงการศึกษาการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินบริเวณที่ราบภาคกลางตอนบนและตอนล่าง โครงการศึกษาการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินบริเวณแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน และแอ่งลำปาว-แพร่ และโครงการสำรวจการปนเปื้อนน้ำบาดาล เป็นต้น

- มาตรการในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ประกอบด้วยแผนงานและโครงการต่างๆ ดังนี้

1.แผนงานปรับปรุงเกณฑ์การจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยศึกษาเกณฑ์การระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อการบรรเทาอุทกภัย

2.แผนงานบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วม จะดำเนินการตามโครงการศึกษาการควบคุมแนะแนวการใช้ที่ดิน และโครงการศึกษาควบคุมการใช้น้ำบาดาล

3.แผนงานตอบโต้ความเสียหายจากอุทกภัย จะดำเนินการในหลายโครงการ อาทิ โครงการพยากรณ์น้ำท่วมและระบบเตือนภัย โครงการผจญอุทกภัยและการฟื้นฟูหลังเกิดอุทกภัย และโครงการประกันอุทกภัย เป็นต้น

4.แผนงานพัฒนาระบบปิดล้อมพื้นที่ชุมชน ดำเนินการตามโครงการจัดทำระบบปิดล้อมพื้นที่ชุมชนเมืองหลัก และโครงการจัดทำระบบปิดล้อมพื้นที่ชุมชนกรุงเทพมหานคร

5.แผนงานพัฒนาพื้นที่ชะลอน้ำ (แก้มลิง) และระบบระบายน้ำในพื้นที่ จะดำเนินการตามโครงการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง (บางส่วน) โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน (บางส่วน) โครงการประตูระบายและสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร 2 และโครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย" และโครงการบรรเทาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบน

- มาตรการจัดการน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำ ประกอบด้วยแผนงานต่างๆ ดังนี้

1.กำหนดมาตรฐานและประเภทคุณภาพแหล่งน้ำ 2.กำหนดเขตควบคุมมลพิษ 3.กำหนดมาตรฐานน้ำทิ้งจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4.กำหนดมาตรฐานน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกร 5.สำรวจติดตามและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ 6.รณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำรวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วม 7.ก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาสายหลักตอนล่าง และ 8.กำหนดโควตาปริมาณน้ำทิ้งและคุณภาพน้ำทิ้งของแต่ละชุมชน

- งานระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศด้านทรัพยากรน้ำประกอบด้วย แผนงานและโครงการต่างๆ ดังนี้

1.แผนงานรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถิติต่างๆ ของแหล่งน้ำ งานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง และมติ กฎ ระเบียบ นโยบายกฎหมาย เป็นต้น

2.แผนงานระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศ ดำเนินตามโครงการระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย

3.แผนงานบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ ตั้งคณะทำงานเพื่อบริหารและจัดการข้อมูลสารสนเทศในระบบลุ่มน้ำ

4.แผนงานให้บริการเรียกใช้และสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการปฏิบัติงานประจำ เพื่อการวางแผนการปฏิบัติงาน เพื่อการกำหนดนโยบายและแผนกลยุทธ์ และเพื่อการศึกษาวิจัย

- มาตรการระยะกลาง (5-15 ปี)

จะเน้นการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ประกอบด้วย มาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างบางแผนงานซึ่งต่อเนื่องมาจากมาตรการระยะสั้น เพื่อให้เกิดผลของการแก้ไขได้มากขึ้นและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง อนึ่งมาตรการระยะกลางจะเน้นแผนงานโครงการที่ใช้มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างที่ใช้งบประมาณสูงขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ในลำดับต้นๆ ก่อน โดยเร่งดำเนินการในทุกลุ่มน้ำหลัก โดยใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 15 ปี ดังนี้

1.มาตรการในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ จะต้องสนับสนุนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินการได้ในช่วงมาตรการระยะกลางนี้ ในลุ่มน้ำสาขาหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือ อ่างเก็บน้ำแม่วง แควน้อย และคลองโพธิ์ และโครงการผันน้ำต่างๆ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม และน้ำเสีย ในเขตลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำน่าน ตลอดจนพื้นที่เพาะปลูกของโครงการ ประกอบด้วย โครงการในลุ่มน้ำต่างๆ อาทิ ลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ การยกระดับรายได้ของเกษตรกร การบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในลุ่มน้ำสะแกกรัง และจะมีปริมาณน้ำเหลือใช้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถใช้ในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ควรจะมีการก่อสร้างโครงการระดับลุ่มน้ำคือ และโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนคลองโพธิ์ มีความจุอ่างใช้งาน 64.4 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวอ่างเก็บน้ำ 14.6 ตร.กม. ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก 70,000 ไร่ เป็นต้น

2.ลุ่มน้ำแควน้อย ซึ่งเป็นสาขาหลักของลุ่มน้ำน่านมีสภาพปัญหาน้ำหลากจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ลงสู่ลำน้ำแควน้อย และส่งผลกระทบต่อปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองพิษณุโลกเป็นประจำ ดังนั้น ควรก่อสร้างเขื่อนแควน้อย บนแม่น้ำแควน้อยมีความจุอ่างใช้งาน 733 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวอ่างเก็บน้ำ 73.2 ตร.กม. ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำแควน้อย ลุ่มน้ำน่านตอนล่าง ทั้งการบริโภคและป้องกันอุทกภัย

3.โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน สามารถผันน้ำจากลุ่มน้ำกกและอิงลงสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ได้สูงสุดปีละ 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยปีละ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถนำปริมาณน้ำส่วนนี้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และควบคุณภาพน้ำในพื้นที่ได้รับประโยชน์

4.โครงการผันน้ำเมย-สาละวิน-เขื่อนภูมิพล สามารถผันน้ำจากลุ่มน้ำเมยลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ได้สูงสุดปีละ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยปีละ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำส่วนนี้ใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกับโครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน

โครงการผันน้ำเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ และใช้งบลงทุนสูงมาก อาจจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปแล้วเสร็จสมบูรณ์ในแผนระยะยาว

- มาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ประกอบด้วยแผนงานและโครงการต่างๆ ดังนี้

1.แผนงานพัฒนาพื้นที่ชะลอน้ำ (แก้มลิง) และระบบระบายน้ำในพื้นที่ ดังต่อไปนี้ โครงการพื้นที่ชะลอน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ และโครงการพื้นที่ชะลอน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

2.แผนงานจัดสร้างช่องทางผันน้ำหลากบางไทร-อ่าวไทย เพื่อป้องกันอุทกภัยให้กับพื้นที่ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้งบลงทุนสูงมาก ควรเริ่มดำเนินการในมาตรการระยะกลางทันที

3.แผนงานปรับปรุงสภาพลำน้ำและคันกั้นน้ำริมแม่น้ำพร้อมอาคารควบคุม

4.แผนงานด้านกฎหมายและองค์กรด้านน้ำท่วม เพื่อสามารถบริหารน้ำท่วมระดับลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- มาตรการระยะยาว (มากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 25 ปี)

เพื่อสนองตอบการแก้ไขปัญหาระดับลุ่มน้ำในทุกพื้นที่ของลุ่มน้ำซึ่งเพิ่มปริมาณการขาดแคลนน้ำและคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากขึ้นตามลำดับ

การแก้ไขจะประกอบด้วยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างบางแผนงานที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดไป และมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เต็มรูปแบบตามทุกแผนงานที่วางไว้

ทั้งนี้เพื่อจะได้สนองตอบปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม และน้ำเสียได้ทุกพื้นที่ในทุกลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำย่อย โดยใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 25 ปี ซึ่งกำหนดแผนงานและโครงการดำเนินการตามมาตรการในด้านต่างๆ

โดยใช้มาตรการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและป้องกันอุทกภัย จะต้องเร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติมเต็มศักยภาพ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแก่งเสือเต้น แม่ขาน และกิ่วคอหมา รวมทั้งเร่งดำเนินโครงการผันน้ำเต็มรูปแบบ เช่น โครงการลุ่มน้ำยม เพื่อแก้ปัญหาขาดน้ำ ควรสร้างเขื่อนแก่งเสื้อเต้นบนแม่น้ำยมและลุ่มน้ำขาน ซึ่งสาขาของลุ่มน้ำปิงตอนบนมีปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งควรสร้างเขื่อนแม่ขาน เป็นต้น

มติชนออนไลน์ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554