ผู้เขียน หัวข้อ: การแก้ปัญหาของขาดตลาดในภาวะน้ำท่วมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง-เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ  (อ่าน 1462 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
การแก้ปัญหาของขาดตลาดในภาวะน้ำท่วมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง-เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

มีขนม 10 ห่อแต่มีเด็ก 20 คน ถ้าให้เศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักจัดสรร ปัญหาจะเกิดเช่นในปัจจุบัน ถ้าให้สังคมนิยมจัดสรร เด็กอาจมีขนมกินทุกคน แต่ก็ไม่มีความสุขสูงที่สุด แต่ในหลวงของเราและเศรษฐศาสตร์แนวพุทธสอนทางออกให้เราไว้แล้วครับ

สมมติมีขนม 10 ห่อแต่มีเด็ก 20 คน ถ้าเราให้กลไกตลาด (Market Mechanism) จัดสรรขนม เด็กที่แข็งแรง เด็กที่วิ่งเร็ว เด็กที่พ่อแม่รวยก็จะได้ขนมไปก่อน แน่นอนในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalist) เด็กที่พ่อแม่รวยก็จะให้คนใช้ที่บ้านวิ่งออกไปต่อคิวตั้งแต่ก่อนเปิดร้าน กว้านซื้อขนมทั้งหมดมาเก็บไว้ แน่นอนถ้าพ่อแม่เด็กมีหัวการค้า เขาก็จะเอาขนมมาให้ลูกกินบางส่วน เอาไปอวดเพื่อนๆ ลูกว่า ชั้นมีขนมอร่อยๆ น่ากินๆ เพื่อนลูกๆ จะได้มี Demand เมื่อ Demand เกิดขึ้น แต่ไม่มี Supply จะวางขายในตลาด พ่อแม่เด็กหัวใสนักธุรกิจหนาเลือดเหล่านั้นก็จะเอาขนมที่เก็บตุนไว้ออกมาขายแพงๆ น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราจะเป็นปัญหานี้ในหลายๆ ที่ บางพื้นที่ขายน้ำขวดๆ ละ 60 บาท ทั้งๆ ที่ปกติขวดละ 7 บาท บางแห่งขายไข่ 4 ฟอง 100 บาท บางร้านขายเรือไฟเบอร์ 8,500 บาททั้งๆ ที่เวลาปกติลำละ 2,500 บาท

สมมติเหมือนเดิมคือมีขนม 10 ห่อแต่มีเด็ก 20 คน ถ้าเราให้ระบบสังคมนิยม (Socialist) การปันส่วนก็จะเกิดขึ้น นั่นคือคุณครูก็จะสั่งลงมาเลยว่าต้องแบ่งขนมกันนะหนูๆ โดยเด็ก 2 คนแบ่งขนมกันคนละครึ่งห่อ หรือ 1 ห่อต้องแบ่งกันกิน 2 คน เด็กได้ขนมมาก็นั่งกินหมดไปทันที ข้อดีคือเด็กทุกคนมีขนมกิน ตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะมีปัญหาเช่น เด็กบางคนอาจจะต้องกินขนมที่ตัวเองไม่ชอบ เพราะเด็กไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะได้กินห่อไหน แล้วแต่ว่าส่วนกลางหรือครูจะจัดขนมห่อไหนให้ตามคิว ในช่วงน้ำท่วมครั้งนี้ เราจะเริ่มเห็นร้านค้าบางร้านออกมาติดป้ายว่า น้ำดื่มต้องแบ่งกันซื้อ 1 คนซื้อได้ 3 ขวด/วัน เพราะของมีพอ แต่น้ำท่วมทำให้มาส่งที่ร้านไม่ได้ แบบนี้ก็ยังดี อย่างน้อยยังมีน้ำกิน

แต่วิธีที่ดีที่สุดเราต้องใช้ปัญญาในการจัดสรรสินค้า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ และเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ในหลวงของเราสอนเอาไว้ ทำให้เราต้องเริ่มคิด ผู้นำที่ดีควรจะพาเด็กทั้ง 20 คนมานั่งล้อมวงกัน เล่าให้ฟังตามสภาพความเป็นจริงว่าตอนนี้เป็นช่วงน้ำท่วม ของขาดแคลนอยู่นะ มีขนมวันนี้ จะกินหมดเลยรึเปล่า ในวันพรุ่งนี้ถ้าน้ำยังท่วมอยู่ล่ะ ถ้าขนมชุดใหม่ยังมาส่งไม่ได้ล่ะ แล้วเราจะทำอย่างไร เรามาทำยังงี้กันมั้ย เราเปิดขนมทีละถุง เปิดถุงแรกแล้ววนรอบวง ให้เด็กแต่ละคนหยิบมาแบ่งกันกินคนละชิ้น สองชิ้น ถ้าทำแบบนี้ เปิดถุงแรก เด็กทั้ง 20 คนได้ชิมขนมถุงที่หนึ่งทุกคน ถุงแรกหมด เปิดถุงที่สอง วนรอบวง เด็กทุกคนได้กินได้ชิมขนมถุงที่สอง ถุงที่สองหมด ก็ค่อยเปิดถุงที่สาม ทำเหมือนเดิม เปิดวันนี้ 4 ถุงเด็กทุกคนได้กินขนม 4 ชนิด ระหว่างนั่งล้อมวงก็คุยกัน ทำความรู้จักกัน ได้กินขนมทุกชนิด ได้เพื่อนใหม่ ได้รู้จักการแบ่งปัน แล้วถ้าคุยกันไว้แล้ว วันนี้เราอาจจะเปิดแค่ 4 ถุง แล้วเก็บอีก 6 ถุงไว้กินวันพรุ่งนี้ วันมะรืนนี้

คานธีกล่าวไว้ว่า “There is enough in the world for everybody’s need BUT NOT enough for anybody’s greed” “โลกนี้มีพอสำหรับความต้องการของทุกคน แต่ไม่พอสำหรับความโลภของคนแม้เพียงหนึ่ง” พ่อหลวงของเราสอนแนวทางการปฏิบัติเหล่านี้ไว้แล้วในหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องรู้จัก “ความพอประมาณ” “ความมีเหตุผล” “การมีภูมิคุ้มกันที่ดี” แล้วต้องตัดสินใจบน 2 เงื่อนไข “ความรู้” และ “คุณธรรม” ซึ่งตรงกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์แนวพุทธซึ่งผมเรียนรู้มาจากพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตตฺโต) ที่ว่าเศรษฐศาสตร์คือศาสตร์ที่ประเสริฐเพราะเรียนรู้เรื่องการตัดสินใจของมนุษย์ เช่น การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการที่รู้จักประมาณตน รู้จักพอเพียง และการตัดสินใจของมนุษย์ที่ถูกต้อง ต้องประกอบด้วยปัญญา โดยปัญญาหมายถึงความฉลาดที่ประกอบด้วยความดี

บทความนี้ผมเขียนขึ้นเนื่องจากวันนี้ผมมีโอกาสได้ชมการสัมภาษณ์พระอาจารย์ประณตซึ่งขณะนี้กำลังทำหน้าที่บริหารจัดการศูนย์พักพิงผู้เดือดร้อนจากอุทกภัยที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยทางสถานีโทรทัศน์ TPBS พระอาจารย์ประณตเป็นพระหนุ่มนักกิจกรรม ปกติท่านจำพรรษาที่วัดญาณเวศกวัน ซึ่งมีพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นเจ้าอาวาส พระอาจารย์ประณตเล่าถึงวิธีการกระจายสิ่งของที่ได้รับบริจาคมาได้อย่างน่าฟัง และทำให้ผมคิดตามจนสามารถสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้จากการการที่ประชาชนจำนวนมากกักตุนสินค้าเอาไว้จนทำให้สินค้าขาดตลาดได้ออกมาเป็นบทความนี้ครับ

อาจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
manager.co.th 2011-11-07