ผู้เขียน หัวข้อ: คลองขุดสมัยร.5 เส้นทางระบายน้ำสำคัญแห่งกทม.  (อ่าน 1453 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือได้ว่าเป็นยุคที่มีการขุดคลองมากที่สุดยุคหนึ่ง โดยพระองค์ทรงส่งเสริมให้หน่วยราชการและเอกชนขุดคลองขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งขุดคลองใหม่และขุดลอกคลองเก่า เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกและเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯกับจังหวัดข้างเคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ และเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ
       
       ดังพระราชดำริที่กล่าวไว้ในประกาศเรื่องอนุญาตขุดคลอง ว่ามีความต้องการที่จะใช้คลองช่วยกระจายผู้คนออกไปจากย่านชุมชนเดิม "การขุดคลอง เพื่อที่จะให้เป็นที่มหาชนทั้งปวงได้ไปมาอาศัย แลเป็นทางที่จะให้สินค้าได้บรรทุกไปมาโดยสะดวก ซึ่งให้ผลแก่การเรือกสวนไร่นา ซึ่งจะได้เกิดทวีขึ้นในพระราชอาณาจักร เป็นการอุดหนุนการเพาะปลูกในบ้านเมืองให้วัฒนาเจริญยิ่งขึ้น"
       
       ซึ่งในสมัยของพระองค์ก็ได้มีการขุดคลองขึ้นหลายสาย เช่น คลองเปรมประชากร คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ คลองอุดมชลจร คลองราชมนตรี คลองทวีวัฒนา คลองนราภิรมย์ คลองรังสติประยูรศักดิ์ คลองประปา และคลองแยกอีกหลายคลองด้วยกัน

       ซึ่งฉันขอยกแต่คลองเด่นๆที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นส่วนมากมากล่าวถึง โดยเริ่มจาก “คลองเปรมประชากร” เพราะเป็นคลองขุดสายแรกที่ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้น โดยโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระชลธารวินิจฉัย เป็นผู้ปักหมายกรุย และจ้างจีนขุด เมื่อ พ.ศ. 2412 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2413 รวมประมาณ 18 เดือน
       
       เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาจากคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ ไปทะลุต.เกาะใหญ่ อ.กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นระยะทาง 50.846 กม. เนื่องจากทรงเห็นว่าการเดินเรือขึ้นล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยามีเส้นทางอ้อมไปมาทำให้เสียเวลาในการเดินทางมาก
       
       การขุดคลองเปรมประชากรโดยตัดให้ตรงขึ้น ได้ประโยชน์สองประการ คือ ช่วยร่นระยะทางระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงรัตนโกสินทร์ให้สั้นลง และขยายพื้นที่การเพาะปลูกเข้าไปในบริเวณที่คลองตัดผ่าน ซึ่งเดิมเป็นป่ารกชัฏเต็มไปด้วยโขลงช้างเถื่อน จนไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัย
       
       และทรงพระราชทานชื่อคลองนี้ว่า "คลองเปรมประชากร" พร้อมทั้งพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คลองนี้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมขุดคลองและภาษีคลองใด ๆ ทั้งสิ้น ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะขุดคลองนี้เพื่อให้เป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระราชกุศลให้ราษฎรได้รับความสะดวกสบายโดยทั่วกัน

       ส่วนสถานที่สำคัญ ๆ ซึ่งตั้งอยู่ที่สองฝั่งคลองนี้ เช่น พระราชวังดุสิต วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน ทำเนียบรัฐบาล สวนสัตว์ดุสิต โรงเรียนวชิราวุธ และโรงงานปูนซิเมนต์ไทยที่บางซื่อ เป็นต้น
       
       คลองต่อมาที่มีความสำคัญเช่นกัน ได้แก่ “คลองประเวศบุรีรมย์” เป็นคลองขุดที่ร.5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาดำรงราชพลขันธ์ เป็นแม่กองขุด และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เป็นผู้อำนวยการขุด โดยขุดต่อจากคลองพระโขนงไปเชื่อมกับคลองด่าน ออกสู่แม่น้ำบางปะกงที่จ.ฉะเชิงเทรา เรียกคลองที่ขุดต่อออกไปว่า "คลองประเวศบุรีรมย์"
       
       ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเงินทุนจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติส่วนหนึ่ง และเงินจากราษฎรส่วนหนึ่งเป็นค่าขุดคลอง นับว่าเป็นคลองแรกที่รัชกาลที่ 5 ให้ราษฎรช่วยเสียค่าขุดคลอง โดยจะให้ราษฎรที่ออกเงินได้รับผลประโยชน์จากการจับจองที่ดินสองฝั่งคลองเป็นค่าตอบแทน
       
       ต่อมาเมื่อที่ดินคลองประเวศบุรีรมย์ไม่เพียงพอกับความต้องการของราษฎร จึงได้ช่วยกันออกเงินจ้างจีนขุดคลองแยก อีก 4 คลอง คือ คลองหนึ่ง คลองสอง คลองสาม และคลองสี่ ซึ่งเริ่มขุดตั้งแต่ พ.ศ. 2421 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2423 มีความยาวทั้งสิ้น 46 กม.

       วัตถุประสงค์ของการขุดคลองแห่งนี้ขึ้นก็เพื่อการคมนาคม ระหว่างเมืองสมุทรปราการและเมืองฉะเชิงเทรา และเพื่อเปิดพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นบริเวณสองฝั่งคลอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นคลองแรกที่รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ประสบความสำเร็จในการพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ นับว่าเป็นกุศโลบายให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแยบยล
       
       โดยปัจจุบันถูกใช้เป็นคลองระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ส่วนแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังริมคลองประเวศบุรีรมย์ก็มีมากมาย เช่น วัดมหาบุศย์หรือวัดแม่นาคพระโขนง วัดกระทุ่มเสือปลา ตลาดคลองสวน 100 ปี วิทยาลัยช่างศิลป์ลาดกระบัง เป็นต้น
       
       คลองที่ฉันจะกล่าวถึงต่อไปคือ “คลองทวีวัฒนา” ที่เริ่มขุดในปี พ.ศ. 2421 ด้วยทรงเห็นว่าคลองที่ใช้เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ทั้งคลองภาษีเจริญและคลองมหาสวัสดิ์เริ่มตื้นเขิน จึงให้ขุดคลองนี้ขึ้นในแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อชักน้ำจากแม่น้ำท่าจีนให้ไหลลงทิศใต้ แก้ปัญหาลำคลองตื้นเขิน ดังพระราชดำรัสว่า
       
       "อนึ่ง คลองมหาสวัสดิ์ แลคลองภาษีเจริญ แขวงเมืองนครชัยศรี ซึ่งเป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขุดขึ้นไว้นั้น ดูตื้นเสียไปทั้งสองคลอง ..... ถ้าขุดคลองในระหว่าง ให้ตลอดถึงกัน คงจะชักกับแก้ให้หายตื้นไปได้..... บัดนี้คลองนั้นก็สำเร็จแล้ว เป็นระยะคลองยาว 340 เส้น ให้ชื่อว่า "คลองทวีวัฒนา"..... แลบัดนี้ก็ยังได้ขุดต่อไป ..... ไปออกบ้านสี่พระยา แม่น้ำเมืองนครชัยศรี ระยะทาง 540 เส้น ด้วยเห็นว่าเป็นทุ่งว่างไม่มีไร่นา แลเป็นทางตรง สายน้ำจะเป่าลงมาในคลองทวีวัฒนาแรง ได้ลงมือขุดในเดือน 8 นี้แล้ว แลแขวงเมืองสุพรรณกับกรุงเก่าต่อกัน ที่นั้นทำนาเกือบจะต่อถึงกันแล้ว..... ถ้าการนี้สำเร็จทุ่งนาเมืองสุพรรณ กับแขวงกรุงเก่าก็เป็นอันติดต่อกัน"

       คลองทวีวัฒนาแห่งนี้ เริ่มต้นจากคลองภาษีเจริญในรอยต่อเขตบางแคและเขตหนองแขม ขุดเป็นเส้นตรงไปในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านเขตทวีวัฒนา ออกจากกรุงเทพฯ เป็นเส้นแบ่งเขตอ.บางกรวย บางใหญ่ และไทรน้อย ในจ.นนทบุรี กับอ.พุทธมณฑล และอ.บางเลนไปสิ้นสุดที่แม่น้ำท่าจีน ในอ.บางเลน จ.นครปฐม มีความยาว 35.2 กม.
       
       และเนื่องมาจากลำคลองในละแวกนั้นล้วนแต่ขุดอยู่ในแนวตะวันออกสู่ตะวันตก ชาวบ้านจึงเรียกว่า คลองขวาง เพราะมีทิศทางขวางคลองอื่นๆ จำนวนมาก ส่วนช่วงจ.นนทบุรีและนครปฐม นิยมเรียกว่าคลองนราภิรมย์ ตามชื่อวัดนราภิรมย์ ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองในจ.นครปฐม
       
       ปัจจุบันคลองทวีวัฒนาได้ชื่อว่าเป็นคลองที่ยังมีสภาพแวดล้อมดีที่สุดคลองหนึ่งของกรุงเทพฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร พื้นที่ทำนา และยังเป็นที่ตั้งของวังทวีวัฒนาอีกด้วย
       
       ข้ามฝั่งออกไปชานเมืองเราจะเจอกับคลองชื่อดัง “คลองรังสิตประยูรศักดิ์” เป็นคลองสายหลักในโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน โดยการขุดคลองรังสิตและคลองแยกต่าง ๆ ขุดระหว่าง พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2440 โดยบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน

       พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกรมเกษตราธิการในขณะนั้น ได้อนุญาตให้บริษัทขุดคลองซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต.บ้านใหม่ อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี ส่วนปลายคลองเชื่อมกับแม่น้ำนครนายกในเขตอ.องครักษ์ จ.นครนายก ซึ่งคลองนี้กว้าง 16 ม. ยาว 53 กม.
       
       โดยในระยะแรกชาวบ้านเรียกคลองนี้ว่า “คลองเจ้าสาย” ตามพระนามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ หรือเรียกกันว่า “คลองแปดวา” ตามความกว้างของคลอง แต่ภายหลังร.5โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้คลองนี้ว่า “คลองรังสิตประยูรศักดิ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (ต้นราชสกุล รังสิต) พระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ด้วยเหตุนี้ในเวลาต่อมาจึงเรียกชื่อโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณนี้ว่าโครงการรังสิต และเรียกบริเวณที่คลองนี้ไหลผ่านว่าทุ่งรังสิต
       
       ต่อมาขุดคลองแยกจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ฝั่งเหนือและฝั่งใต้ รวมทั้งคลองซอยต่าง ๆ ซึ่งเป็นคลองคูนา ได้แก่คลองขนาดใหญ่ 2 สาย คือ คลองหกวาสายล่าง และคลองหกวาสายบน รวมถึงคลองซอยที่แยกจากคลองสายใหญ่ เริ่มขุดตั้งแต่ พ.ศ. 2435 - พ.ศ. 2448 รวมทั้งสิ้น 59 สาย (ปัจจุบันราชการกำหนดให้เหลือ 17 คลอง)
       
       นอกจากนั้นบริษัทยังได้สร้างประตูระบายน้ำอีก 2 แห่ง สำหรับควบคุมระดับน้ำในคลอง ได้แก่ ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ที่ต้นคลองรังสิตประยูรศักดิ์ทางทิศตะวันตก และประตูน้ำเสาวภา ที่ปลายคลองทางทิศตะวันออก ซึ่งร.5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม กับได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชเทวี ไปทรงเปิดประตูน้ำทั้ง 2 แห่ง เมื่อ พ.ศ. 2439 สำหรับประตูระบายน้ำอีกแห่ง สร้างในภายหลังที่ปลายคลองหกวาสายล่าง เรียกกันทั่วไปว่า ประตูน้ำบริษัทสมบูรณ์
       
       ผลจากการขุดคลองตามโครงการรังสิตการพัฒนาที่ดินตามโครงการรังสิต ทำให้มีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณทุ่งรังสิตมากขึ้น เป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกข้าว ประกอบกับความเชื่อมั่นในระบบชลประทานแบบใหม่นี้ว่าจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ทำให้มีคนสนใจลงทุนทำนากันมากขึ้น

       โดยโครงการนี้ถือเป็นโครงการคลองชลประทานเพื่อการเกษตรแห่งแรกของไทย ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทุ่งรังสิตให้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว รองรับการขยายตัวของการส่งออกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยในขณะนั้น
       
       การขุดคลองตามโครงการรังสิตนับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนางานด้านชลประทานของประเทศไทย โดยเฉพาะการชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม
       
       อีกหนึ่งคลองที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อชาวกรุงก็คือ “คลองประปา” โดยร.5ได้มีพระราชดำริการหาน้ำบริโภคสำหรับประชาชนในเขตพระนคร เพื่อให้บรรดาพสกนิกรของพระองค์มีความเป็นอยู่ อย่างถูกสุขลักษณะปราศจากโรคภัยร้ายแรงด้วย
       
       พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าในขณะนั้นประชาชนทั่วไปยังคงใช้น้ำซึ่งปราศจากความสะอาด บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีระดับต่ำ ทำให้น้ำทะเลเข้าถึง น้ำจะมีรสกร่อยไม่เหมาะสำหรับการบริโภค และน้ำก็มี แนวโน้มที่จะทวีความสกปรกเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากสภาพการขยายตัวของชุมชนและบ้านเมือง
       
       ประกอบกับได้ทรงพบเห็นความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาการต่างๆ ของการผลิตและการจำหน่ายน้ำจากต่างประเทศเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ปี พ.ศ. 2440 ในการนี้จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมสุขาภิบาลจัดการที่จะนำน้ำมาใช้ในพระนคร ตามแบบอย่างที่สมควรแก่ภูมิประเทศ
       
       โดยได้ทำการกั้นแม่น้ำน้อย หรือคลองบางหลวงเชียงราก หรือคลองเชียงรากในปัจจุบัน อันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยากักน้ำไว้เป็นอ่างเก็บน้ำหรือคลองขัง แล้วขุดคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับวัดสำแล เหนือจ.ปทุมธานี ในปัจจุบันขึ้นไป 3 กม. หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 41 กม. อันเป็นบริเวณที่น้ำทะเลขึ้นไปไม่ถึงทุกฤดูกาล เข้ามาบรรจบกับคลองขัง หรือคลองบางหลวงเชียงราก

       แล้วยังขุดคลองคู่ขนานให้เรือผ่านสัญจรไปมาได้อีกคลองหนึ่งเรียกว่าคลองอ้อม ไปบรรจบกับคลองบ้านพร้าวออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่เหนือขึ้นไป ต่อมาได้มีการขุดคลองบางสิงห์ และคลองบางหลวงหัวป่า ไปเชื่อมกับเปรมประชากรและคลองระพีพัฒน์ เพื่อรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางประอินเข้ามาบรรจบกับคลองขัง
       
       จากคลองขังได้ขุดคลองประปาจากตำบลบางพูนเลียบทางรถไฟ ขนานกับคลองเปรมประชากรมายังโรงกรองสามเสน ยาวประมาณ 25 กม. โดยทางปลายคลองที่สามเสนมีประตูระบายน้ำเปิดลงคลองสามเสนได้ เวลาน้ำในคลองสามเสนลดลงประตูน้ำจะเปิดให้น้ำไหลออกจากคลองประปาไปลงคลองสามเส และเวลาน้ำในคลองสามเสนขึ้น จะดันประตูน้ำปิดเข้ามากันไม่ให้น้ำโสโครกไหลเข้ามาในคลองประปาได้
       
       โดยในการนี้น้ำในคลองประปาจะไหลอยู่เสมอ ไม่เกิดน้ำตาย น้ำไม่เน่าเสีย น้ำจะมีคุณภาพดี และการที่น้ำไหลผ่านคลองยาวถึง 25 กม. ได้มีโอกาสสัมผัสกับอากาศ และแสงแดด ทำให้น้ำสะอาดขึ้นด้วย
       
       ส่วนสองข้างคลองก็มีคันดินกันไม่ให้น้ำจากเรือกสวนไร่นา หรือจากถนนไหลลงมาในคลองประปา ซึ่งในปัจจุบันได้ทำเขื่อนกั้นจากสามเสนเป็นแนวยาวตลอดไปจนถึงโรงกรองน้ำบางเขน และได้พระราชบัญญัติห้ามลงไปจับสัตว์น้ำ ตกปลา อาบน้ำ ซักล้างเสื้อผ้า หรือทิ้งสิ่งโสโครกลงไปในคลองโดยเด็ดขาด
       
       จากพระราชดำริการหาน้ำบริโภคสำหรับประชาชนในเขตพระนคร จึงได้มีการเปิดโรงกรองน้ำแห่งแรกเมื่อ พ.ศ. 2457 และเป็นจุดเริ่มต้นของการประปานครหลวงในปัจจุบัน
       
       ซึ่งในขณะนี้ คลองที่มีอายุกว่า 100 ปี เหล่านี้ ได้ทวีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งขึ้นเมื่อถูกประกาศให้เป็นคลองที่ต้องเฝ้าระวังในการเกิดน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นวิกฤตมหาอุทกภัยที่ร้ายแรงและยืดเยื้อเป็นอย่างมาก ในเมื่อเราไม่สามารถพึ่งรัฐในการแก้ปัญหาครั้งนี้ได้ เราก็ได้แต่หวังว่าคลองขุดเก่าแก่เหล่านี้จะช่วยฝันน้ำลงสู่ทะเลให้พวกเราได้ผ่านพ้นจากฝันร้ายไปอย่างรวดเร็ว ฉันขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยแล้วและผู้ที่กำลังจะประสบภัยทุกคน...จากใจหนุ่มลูกทุ่ง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 พฤศจิกายน 2554