ผู้เขียน หัวข้อ: โรงพยาบาลกับความรับผิดชอบต่อสังคม  (อ่าน 433 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
วันก่อนผมได้มีโอกาสคุยกับชายคนหนึ่งนอกวงการสุขภาพ ซึ่งผมรู้จักผ่านทางการค้นหาข้อมูลทางกูเกิ้ลเมื่อสามปีที่แล้ว และได้โทรไปชวนให้มาช่วยกันทำงานเพื่อสังคม หวังจะใช้ความรู้ด้านการวิเคราะห์และจัดสรรทรัพยากรมาพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พอเราทำงานมาสักระยะหนึ่ง มีประโยคหนึ่งที่โผล่ขึ้นมากลางการสนทนาคือ “จะได้อะไรตอบแทนเป็นค่าเสียโอกาส แทนที่จะมีเวลาไปทำงานหาเงินตามวิชาชีพของเขาในสถานประกอบการ?”

เฉกเช่นเดียวกันกับเรื่องอื่นๆ ที่เราเห็นในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่ระบบสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน เรื่องต้นทุน-กำไรดูเหมือนจะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรกยามที่จะพิจารณาหรือตัดสินใจกระทำการใด

ผมอยากชักชวนให้พวกเราทุกคนลองหลับตา นึกถึงประสบการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ยามที่เราเจ็บป่วย หรือต้องพาคนใกล้ชิดในครอบครัวไปหาหมอที่โรงพยาบาล คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังคงมั่นใจ และพึ่งพาการบริการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลภาครัฐ ยิ่งโรงพยาบาลใหญ่หรือมีชื่อเสียง คนยิ่งเชื่อถือและยิ่งมีความต้องการมารับบริการมากเป็นเงาตามตัว

การมาวางบัตรเพื่อรอคิวเข้ารับบริการนั้นดูเป็นเรื่องปกติ หลายคนมารอคิวตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น กว่าจะได้รับการตรวจรักษาก็ต้องรอนานหลายชั่วโมง เชื่อหรือไม่ว่าเรื่องที่นั่งพักคอยมีไม่เพียงพอในโรงพยาบาลนั้นดูยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับเรื่องอาหารการกิน และปัญหาด้านอาหารการกินนี้มีผลกระทบไม่ใช่แค่ต่อประชาชนผู้มาใช้บริการเท่านั้น แม้แต่บุคลากรสุขภาพที่ทำงานในโรงพยาบาลยังคงต้องเอาตัวรอดกันเองในแต่ละวัน

ถามว่าปัญหาเรื่องอาหารการกินนี้เป็นอย่างไร? ลองดูข้อมูลล่าสุดช่วงไตรมาสสุดท้ายจากการสำรวจปี 2557 กันดูครับ...

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ และนิสิตปริญญาโทและเอก ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจความชุกของร้านกาแฟ ร้านอาหารจานด่วน และร้านเบเกอรี่ในโรงเรียนแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า โรงพยาบาลศิริราชมี 11 ร้าน โรงพยาบาลรามาธิบดีมี 9 ร้าน โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ มี 7 ร้าน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มี 20 ร้าน ในขณะที่โรงพยาบาลวชิระมี 1 ร้าน

ด้วยจำนวนสถานประกอบกิจการดังกล่าวมีสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับร้านอาหารธรรมดาทั่วไปในโรงพยาบาล และตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงง่าย มองเห็นง่าย จึงไม่แปลกใจที่ประชาชนจะใช้บริการมาก แต่หากมองปรากฏการณ์นี้ในอีกแง่มุมหนึ่งจะพบว่า อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ที่มักจำหน่ายในสถานประกอบกิจการเหล่านี้มักมีลักษณะที่เป็นของทอด เบเกอรี่ ขนมนมเนยนานาชนิด รสชาติหนักไปทางหวาน มัน เค็ม และมักมีกากใยน้อย ซึ่งลักษณะเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเรื้อรังที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะอ้วน

ภาวะดังกล่าว หากเกิดในสถานที่สาธารณะอื่นๆ ทั่วไปในสังคม ก็ถือเป็นสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนอยู่แล้ว แต่หากเกิดในสถานพยาบาล ที่คนส่วนใหญ่ที่มารับบริการเป็นผู้ที่เจ็บป่วย มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ยิ่งน่าจะได้รับการจัดว่าเป็นวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมที่มีโอกาสจะกระหน่ำซ้ำเติมให้ปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยหนักขึ้นเป็นทวีคูณ

จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่องนี้มาโดยตลอด พบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่เคยมีแนวคิดที่จะทำเรื่องอาหารสุขภาพในโรงพยาบาล โดยดำเนินการผ่านทางแผนกโภชนาการของโรงพยาบาลเอง แต่มักไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากภาระงานที่มากมายของแผนกโภชนาการที่ต้องดูแลอาหารการกินให้แก่ผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวภายในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถขยายงานมาดูแลประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลในลักษณะผู้ป่วยนอกได้ ประกอบกับปัญหาการจัดการระบบห่วงโซ่การผลิตอาหาร ตั้งแต่เรื่องความไม่แน่นอนของแหล่งวัตถุดิบ กำลังการผลิต ไปจนถึงกระบวนการจำหน่าย และจัดการผลิตภัณฑ์คงค้าง ฯลฯ

หากถามว่า แล้วทำไมโรงพยาบาลจึงไม่ประกาศหาร้านอาหารที่สามารถผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพมาจัดจำหน่ายในโรงอาหาร หรือพื้นที่ต่างๆ ของโรงพยาบาลล่ะ? เหตุผลหลักนั้นคือ สัดส่วนกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการที่จะแบ่งให้แก่โรงพยาบาลที่ให้เช่าพื้นที่ ผู้ประกอบกิจการส่วนใหญ่ย่อมต้องหวังจะดำเนินกิจการให้มีกำไรเพียงพอที่จะดำเนินการได้ระยะยาว และต้องผ่านระบบการประมูลเพื่อช่วงชิงพื้นที่กัน ตัวเลขโดยคร่าวที่เป็นที่รู้กันดีคือ กิจการร้านขายอาหารต่างๆ โดยเฉพาะอาหารจานด่วน และเบเกอรี่ มักตั้งราคาไว้มากกว่า 3 เท่าของราคาต้นทุน ในขณะที่กิจการร้านกาแฟนั้น แม้จะไม่ได้มีการส่งต่อกันเป็นตัวเลขที่แน่นอน แต่มีการประมาณการกันว่า ต้นทุนทั้งหมดต่อกาแฟ 1 แก้วนั้น ตกอยู่ที่แก้วละ 10 บาท ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ร้านอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้จะมีอำนาจการต่อรองที่ใช้ในการประมูลสูงกว่าร้านอาหารธรรมดา หรือร้านอาหารที่เน้นเมนูสุขภาพ และแน่นอนว่า เวลาสิ้นสุดการประมูล โรงพยาบาลที่จะให้เช่าพื้นที่ จึงยินดีที่จะเลือกให้ร้านค้าที่เสนอผลตอบแทนมากที่สุดได้พื้นที่ไปดำเนินการ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราคงได้แต่คิดว่า คงไม่มีหนทางใดที่จะช่วยเหลือเรื่องนี้ได้เลย ผู้ป่วยที่มีโรคต่างๆ อยู่แล้วย่อมไม่มีทางเลือกในสังคมทุนนิยมเป็นแน่แท้

ผู้เขียน ได้มีโอกาสทดสอบสมมติฐานว่า หากผันงานด้านอาหารไปให้วงการอาหารมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โดยอาศัยความร่วมมือของโรงพยาบาลที่เปิดพื้นที่ให้จำหน่ายในลักษณะกิจการเพื่อสังคม หรือแปลอีกนัยหนึ่งคือ การประกอบธุรกิจอาหารสุขภาพโดยหวังผลกำไรน้อยแต่พอเลี้ยงตัวได้ จะมีโอกาสประสบผลสำเร็จหรือไม่?

เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2557 เป็นต้นมา เครือข่ายนักวิชาการอาหารสุขภาพเพื่อสาธารณะ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงเรียนการเรือน และโฮมเบเกอรี่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ร่วมมือกันพัฒนาอาหารสุขภาพพร้อมรับประทาน จำนวนกว่า 46 เมนู ภายใต้แนวคิด “สด อร่อย พร้อมรับประทาน และราคาไม่แพง” โดยได้รับความเอื้อเฟื้อพื้นที่ขนาด 4x4 เมตร จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อแสดงออกให้เห็นถึงบทบาทใหม่ของโรงพยาบาล ที่จะร่วมลงทุนทรัพยากรด้านพื้นที่ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยสร้างทางเลือกด้านการเข้าถึงอาหารสุขภาพให้แก่ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ป่วยที่มารับบริการ และบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล ทั้งนี้ผู้ประกอบการด้านธุรกิจอาหารอย่างโรงเรียนการเรือน และโฮมเบเกอรี่นั้น เดิมเน้นทำธุรกิจด้านเบเกอรี่เป็นหลัก แต่ได้มาร่วมมือทำงานด้านอาหารสุขภาพเพื่อสาธารณะ นอกจากเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ภายใต้ห่วงโซ่การผลิตเดิมที่มีอยู่แล้ว ยังเป็นการแสดงออกซึ่งจิตสาธารณะ และเป็นกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวงการวิชาชีพอาหารและวิชาชีพสุขภาพอีกด้วย

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อาหารสุขภาพพร้อมรับประทานดังกล่าว ได้เปิดจำหน่ายจำนวน 2 แห่งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.00-12.00 น. ภายใต้ตราสินค้าชื่อ “กินดี อยู่ดี” ในลักษณะของบูธจำหน่ายอาหาร การดำเนินงานดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากประชาชนผู้มารับบริการที่โรงพยาบาล รวมถึงบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล รวมถึงนิสิตนักศึกษา อย่างไรก็ตามโมเดลการดำเนินงานดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากผู้บริหาร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการดำเนินงาน เช่น พื้นที่ถาวร เป็นต้น

ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลทุกแห่ง ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการเข้าถึงอาหารสุขภาพในลักษณะเดียวกัน หรือในลักษณะอื่นๆ อย่างพร้อมเพรียงกันแล้ว เชื่อเหลือเกินว่า ในไม่ช้า ปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ น่าจะบรรเทาเบาบางลง และอาจมีปฏิกิริยาลูกโซ่ไปสู่การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ที่ดีต่อสุขภาวะของประชาชนในที่สุด

จุดอ่อนไหวคงอยู่ที่ว่า ผู้บริหารโรงพยาบาลภาครัฐจะมีคำถามเหมือนคนที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้นหรือไม่ว่า “จะได้อะไรตอบแทนเป็นค่าเสียโอกาสของโรงพยาบาล แทนที่จะเอาพื้นที่ไปให้เช่า?”

ถึงเวลาหรือยัง ที่โรงพยาบาลภาครัฐจะแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมในลักษณะอื่น ที่ไม่ใช่การดูแลรักษาพยาบาลดังที่เป็นมา?

วันศุกร์ ที่ 13 มีนาคม 2558
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.isranews.org/isra-news/item/37180-hospital_37180.html