ผู้เขียน หัวข้อ: แม่น้ำแซนแสนสวย-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 985 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สายน้ำที่อยู่คู่กับกรุงปารีสคือฉากหลังของเรื่องราวแห่งความสุขสันต์และความอาดูร


ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา แม่น้ำแซนซึ่งเปรียบได้กับหัวใจไหลรินของปารีสทำหน้าที่เป็นทางหลวง คูเมือง ก๊อกน้ำ ท่อระบายน้ำ และอ่างซักผ้า  รูปทรงของแม่น้ำที่เหมือนดาบโค้งผ่าแบ่งเมืองออกเป็นฝั่งซ้ายกับฝั่งขวา ตามประวัติศาสตร์แล้ว   ฝั่งซ้ายเป็นที่สิงสถิตของเหล่าขบถผู้ไม่ติดยึดกับขนบ ส่วนฝั่งขวาเป็นย่านของชนชั้นสูง แต่การแบ่งแยกนี้ค่อยๆลบเลือนไปตามกาลเวลา

แม่น้ำแซนยังเป็นอย่างที่ชาวฝรั่งเศสใช้คำว่า ฟลูอีด  [fluide – ของไหล ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า fluid] ซึ่งเป็นคำแฝงนัยทางปรัชญา สายน้ำแซนกระซิบกระซาบบอกเราว่า จงสยบยอมให้กับความไม่จีรังและความเปลี่ยนแปลง ไร้ประโยชน์ที่จะบัญชาสายน้ำแซนให้สงบนิ่ง แม่น้ำที่สงบนิ่งย่อมไม่ใช่แม่น้ำอีกต่อไป  เฮราคลิตุส ปรัชญาเมธีชาวกรีก บอกว่า เราไม่มีวันก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดิมได้เป็นคำรบสอง  เซ ฟลูอีด (C’est fluide) เพราะขึ้นชื่อว่าวารีย่อมไหลรี่ไม่หวนคืน

ในทศวรรษ 1960 นายกรัฐมนตรีชอร์ช ปงปีดู  งัดไม้ตายมาใช้จัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างปารีสกับแม่น้ำแซน ด้วยการสร้างทางด่วนขนาบสองฝั่งแม่น้ำ “ปารีสต้องปรับตัวให้เข้ากับรถยนต์” เขากล่าวอย่างสบายอารมณ์ แต่ในความเป็นจริง การตัดขาดความสัมพันธ์นี้ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยศตวรรษที่สิบแปด อีซาแบล บักกูช นักประวัติศาสตร์ อธิบายว่า ก่อนหน้านั้นริมฝั่งแม่น้ำแซนเป็นพื้นที่ทางสังคมและการค้าขายอันมีชีวิตชีวา ทว่าหลังปี 1750 สำนักพระราชวังและทางการกรุงปารีสเริ่มกวาดล้างตลาด เรือรับจ้างซักรีด และบรรดาโรงงานออกจากริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อให้การสัญจรในแม่น้ำสะดวกขึ้น แนวเขื่อนสูงที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบเก้ายิ่งตอกย้ำการแบ่งแยกนี้ “แม่น้ำแซนในฐานะพื้นที่ที่มีชีวิตชีวาถูกทอดทิ้ง และเปลี่ยนเป็น พิพิธภัณฑ์ที่ไร้ความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของชาวปารีสค่ะ” บักกูชกล่าว

ตัดเวลามาถึงปี 2013 สมัยของอดีตนายกเทศมนตรีเดลาโนเอจากพรรคสังคมนิยม ผู้ริเริ่มปารีปลาช จักรยานในเมืองและระบบรถไฟฟ้าสาธารณะ ตลอดจนโครงการนำร่องว่าจ้างแกะ “เครื่องตัดหญ้า” สี่ตัวสำหรับเล็มหญ้าที่หอจดหมายเหตุของเมือง เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว หลังจากถกเถียงกันด้วยข้อโต้แย้งทางการเมืองเกี่ยวกับโครงการนี้มาหลายปี ในที่สุด เดลาโนเอก็สั่งปิดทางด่วนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนระยะทางเกือบ 2.5 กิโลเมตร แล้วเปิดเป็น เลแบร์ช หรือทางเดินริมฝั่งแม่น้ำพร้อมสวนลอยน้ำ ร้านอาหาร และสนามเด็กเล่น “อากาศอับของถนนจะหมดไป เกิดเป็นสภาพแวดล้อมแบบเปิดโล่ง ที่ทุกคนสามารถ...หาความสุขได้” เขาประกาศ

แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีความสุข “ฉันไม่เอาด้วยหรอกค่ะ” ราชีดา ดาตี นายกเทศมนตรีของเขตปกครองที่เจ็ดซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจดี กล่าว เธอแสดงท่าทีคัดค้านอยู่หลังโต๊ะทำงานในอาคารศาลาว่าการสมัยศตวรรษที่สิบเจ็ด

“โครงการเลแบร์ชต้องใช้เงิน 40 ล้านยูโร [55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ]” เธอให้เหตุผล “บางทีเราน่าจะเอาไปดูแลเด็กๆ 27,000 คนที่พ่อแม่ไม่มีปัญญาส่งไปอยู่สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเอามาพัฒนาระบบขนส่งมวลชน สามในสี่ของชาวปารีสใช้รถไฟใต้ดิน แต่ไม่เคยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนี้มานานหลายปีแล้วค่ะ”

พื้นที่โล่งแห่งใหม่ทำให้ชีวิตในปารีสน่าอยู่ขึ้นไม่ใช่หรือ

“ปารีสไม่ใช่มีแต่เรื่องความเพลิดเพลินเจริญใจนี่คะ เราต้องทำงานค่ะ”

แต่บนฝั่งแม่น้ำแซนที่เปลี่ยนแปลงไป ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะมูเซดอร์เซ หลายคนดูมีความสุขในการดื่มด่ำกับความเพลิดเพลินเจริญใจ

“เราเป็นชาวปารีส แต่ไม่รู้สึกเหมือนอยู่ในปารีสเลยค่ะ” แบร์ตีน ปากัป พูดอย่างพึงพอใจ เธอเป็นช่างเสริมสวยอยู่ที่  บาตีโญล ซึ่งเป็นเขตปกครองแถบชานเมือง เธอมาปารีสเพื่อรวมญาติ เอโลอีนา ลูกสาวของเธอ กำลังจดจ่ออยู่กับการแสดงละครใบ้ของนักแสดงสองคน ขณะที่ผู้เป็นแม่นั่งอยู่ที่โต๊ะปิกนิก “ปกติเราไม่ได้มาย่านทันสมัยอย่างนี้กันหรอกค่ะ” เธอบอก “เรา แทบไม่มีปัญญา แต่เดี๋ยวนี้อะไรๆก็เปิดกว้าง แถมยังฟรีอีกด้วย เราไม่ต้องเสียสตางค์เพื่อแลกกับเวลาดีๆอีกแล้ว”

“แม่น้ำแซนเป็นถนนที่สวยที่สุดในปารีสครับ” เอริก ปีล พูด เขาเป็นหัวหน้าแผนกจิตเวชศาสตร์ที่เกษียณอายุแล้ว ผู้อาศัยอยู่บนเรือบ้านชื่อ โอรียง “ผมเคยคิดนะครับว่า ทำไมคนอื่นถึงไม่ควรจะได้สัมผัสประสบการณ์นี้ล่ะ โดยเฉพาะผู้ป่วย       ทางจิต ซึ่งเป็นพวกที่ถูกกีดกันให้อยู่โดดเดี่ยวมากที่สุดในชีวิตประจำวัน” เขาวาดภาพคลินิกจิตเวชลอยน้ำที่เปิดโล่งแต่มีการป้องกันอย่างดี หลังจากแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยร่วมมือกับสถาปนิกคนหนึ่ง และแล้วเมื่อสี่ปีก่อน เรือ อาดามอง ที่มีผนังเป็นกระจกก็เริ่มเปิดให้บริการ ผู้ป่วยมาที่เรือลำนี้เพื่อดื่มกาแฟ รับประทานอาหารว่าง พูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานศิลปะ หรือไม่ก็แค่นั่งชมวิว

“สมัยก่อนโรงพยาบาลจิตเวชมักอยู่ตามซอกหลืบหรือไม่ก็ไกลหูไกลตาผู้คน” ชอง-ปอล อาซอง ผู้อำนวยการคลินิก กล่าว “คุณจะหายเข้าไปหลังประตูที่ปิดล็อก แต่ที่นี่แทนที่จะปิด ทุกอย่างกลับเปิด มีผู้ป่วยที่อาการหนักเหมือนกันครับ แต่ไม่ เคยมีความรุนแรง” เขาหยุดพูดครู่หนึ่ง “ผมว่ามันเปลี่ยนเราด้วยครับ แต่บอกไม่ถูกว่าเปลี่ยนยังไง”

ต้นหม่อนสี่ต้นตรงท่าเรือเป็นเครื่องหมายบอกฤดูกาล สีเหลืองในฤดูใบไม้ร่วง เหลือแต่กิ่งก้านในฤดูหนาว เขียวอ่อนในฤดูใบไม้ผลิ และเขียวเข้มในฤดูร้อน แสงสะท้อนจากแม่น้ำกระทบพื้นผิวภายในตัวเรือเห็นเป็นจุดด่างดวง แปลนเรือเป็น แบบเปิดโล่ง ชากเกอลีน ซีมอนเน หัวหน้าพยาบาล บอกว่า พื้นที่แห่งนี้ ฟลูอีด “ลื่นไหล” กระจกช่วยลบเส้นกั้นแบ่งระหว่างภายในกับภายนอก

อย่างน้อยถ้าจะกล่าวในเชิงอุปมา กระจกยังช่วยลบเลือนปราการที่ขวางกั้นระหว่าง พวกเขา กับ พวกเรา นั่นคือ ระหว่างผู้ป่วยทางจิตที่ถูกขับออกไปอยู่ชายขอบของสังคมกับผู้ที่เข้าใจกันว่าปกติ “เราทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกันครับ” เชราร์   รงซาตตี สถาปนิกผู้ออกแบบเรือลำนี้ บอกฉัน

พื้นที่นั้นแปรเปลี่ยนไปได้เช่นเดียวกับสายน้ำ โดยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและเหตุการณ์ “หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส อารามหลายแห่งถูกใช้เป็นคุก” เขาพูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ “ในพื้นที่เดียวกัน คุณอาจมีอิสระ หรืออาจถูกกักขัง” อาคารหรือห้องสามารถกักขังหรือปลดปล่อย ยอมให้จิตวิญญาณโบยบินอยู่ภายในพื้นที่ที่กำหนดหรือออกไปไกลกว่านั้น ในการออกแบบคลินิกลอยน้ำแห่งนี้ รงซาตตีเลือกอย่างหลัง เรือ อาดามอง นั้นงดงามและแปรเปลี่ยน เฉกเช่นแม่น้ำที่มันลอยลำอยู่

เรื่องโดย แคที นิวแมน
เดือนพฤษภาคม