ผู้เขียน หัวข้อ: “วิทยา” เปลี่ยนโผเสนอข้าราชการเกษียณเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินบอร์ด สปสช.  (อ่าน 885 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9772
    • ดูรายละเอียด
 “วิทยา” เปลี่ยนโผเสนอข้าราชการเกษียณเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินบอร์ด สปสช.ด้าน แพทย์ชนบท ชี้ เน้นเลือกคนสั่งได้ เตรียมเปิดผนึกคัดค้านถึงที่สุด
       
       ตามที่มีข่าวนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอ นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ ประธานกรรมการบริษัท ทีวีไดเร็คอินโดไชน่า จำกัดเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) แทนนางวรานุช หงสประภาส ที่ลาออก แต่ได้รับการคัดค้านอย่างกว้างขวางจนต้องเลื่อนการประชุมสรรหาจากวันที่ 17 ก.พ.เป็นวันที่ 28 ก.พ.นั้น
       
       ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า นายวิทยา ได้เปลี่ยนโผเตรียมเสนอ นายวินัย วิทวัสการเวช อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ที่เพิ่งเกษียณราชการ ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด(มหาชน) เข้าสรรหาแทน ซึ่งกรณีดังกล่าว นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงศ์สุกิจ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทและแพทย์ชนบทดีเด่นศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า จากรายงานข่าวจากคนใกล้ชิดของ นายวิทยา นั้น ระบุว่า หลายฝ่ายได้มีการทาบทาม ดร.โอฬาร ไชยประวัติ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในบอร์ด สปสช.สมัย คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมว.สธ.ให้กลับเป็นบอร์ด สปสช.อีกครั้งเพื่อแก้ไขปมปัญหาที่ทำให้งานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเป็นเวลากว่า 6 เดือน เพราะเป็นผู้ที่ทางการเมืองปัจจุบัน นักวิชาการและกลุ่มต่างๆ ภายในกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งชมรมแพทย์ชนบทต่างยอมรับในความรู้ความสามารถ และผลงานที่ผ่านมา แต่นายวิทยา ได้เลือกอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์แทนเพราะเชื่อว่าสั่งได้มากกว่า
       
       นพ.สุวัฒน์ กล่าวต่อว่า นักการเมืองที่หวังแสวงหาประโยชน์เฉพาะหน้าจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างจาก สธ.ดิ้นรนหาคนที่ตนสั่งได้ แต่งตั้งเข้าล้วงลูกในกองทุน สปสช.โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายต่อระบบสาธารณสุขและชีวิตของประชาชน รวมทั้งไม่ใส่ใจต่อสายตาของนักสาธารณสุขภายในประเทศ และนานาประเทศที่เพิ่งชื่นชมความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยและกำลังจับตาดูปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นภายใต้การบริหารของนักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้าครอบงำการกำหนดนโยบายในบอร์ด สปสช.
       
       อดีตประธานแพทย์ชนบท กล่าวด้วยว่า วันที่ 24 ก.พ.นี้ทางชมรมแพทย์ชนบทจะมีหนังสือเปิดผนึกคัดค้านการเสนอชื่อดังกล่าวและเข้าพบ นายวิทยา บุรณศิริ อีกครั้งหนึ่ง ถ้าผลการเข้าพบปรากฏว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพจะถูกล้วงลูกไปใช้ในการหาเสียง ซื้อสื่อและงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ให้หน่วยบริการทั่วประเทศตามโครงการ DPL (Development Policy Loan) จำนวน 3,456 ล้านบาท ของกระทรวงสาธารณสุขยังถูกแทรกแซง ซึ่งหมายถึงชีวิตของประชาชน คนป่วยถูกคุกคาม ทางชมรมจะร่วมกับเครือข่ายต่างๆ เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ และเมื่อถึงเวลานั้นปัญหานี้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องลงมาแก้ไขด้วยตัวเอง จะปล่อยให้นักการเมืองแถวสามดูแลต่อไปไม่ได้แล้ว
       
       รายงานข่าวแจ้งว่า ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในบอร์ด สปสช.ซึ่งดูแลกองทุนปีละกว่าแสนสองหมื่นล้านบาท เป็นตำแหน่งสำคัญรองลงมาจากประธานบอร์ด สปสช.ที่ รมว.สาธารณสุขเป็นโดยตำแหน่ง เพราะเป็นผู้ยกร่างเสนอรายละเอียดการตั้งงบเหมาจ่ายขาขึ้นและการจัดสรรงบขาลงสู่พื้นที่และหน่วยบริหารระดับต่างๆ จึงมีผลต่ออนาคตของระบบ สปสช.โดยเฉพาะขณะนี้มีกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองสนับสนุนข้อเสนอแพทยสภาให้เพิ่มงบชดเชยความเสียหายตามมาตรา 41 จากเดิมใช้ปีละ 100 ล้านบาท เสนอเพิ่มเป็นกว่า 2,000 ล้านบาทโดยดึงงบเหมาจ่ายที่จัดให้หน่วยบริการ และให้ทางบริษัทประกันภัยเอกชนเข้าดูแลบริหารแทนเหมือนกองทุนผู้ประสบภัยจากรถที่เอกชนกำไรปีละหลายพันล้านบาท
       
       ทั้งนี้ ตามประวัติ นายวินัย วิทวัสการเวช ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และอดีตเป็นข้าราชการกระทรวงการคลังที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในสมัยรัฐบาลจากพรรคพลังประชาชน ที่เปลี่ยนจากพรรคไทยรักไทยเพราะถูกยุบพรรค จากเดิมเป็นที่ปรึกษากรมสรรพากร ระดับ 9 แต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังระดับ 10 เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2551 และวันที่ 1 ต.ค.2551 ภายในปีเดียวกันได้เลื่อนเป็นอธิบดีกรมสรรพากร ข่าวในสื่อมวลชนขณะนั้นวิจารณ์กัน ว่า เป็นการแต่งตั้งคนใกล้ชิดทางการเมือง เพื่อดูแลคดีภาษีตระกูลนักการเมืองหนึ่งในขณะนั้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 กุมภาพันธ์ 2555