ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 ม.ค.2559  (อ่าน 698 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 ม.ค.2559
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:12:05 »
 1.หลวงพ่อจรัญ” แห่งวัดอัมพวัน ละสังขารแล้ว - “ในหลวง” พระราชทานน้ำหลวงสรงศพและรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน!

        เมื่อวันที่ 25 ม.ค. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ออกแถลงการณ์รายงานอาการอาพาธของพระธรรมสิงหบุราจารย์(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ว่า ตามที่หลวงพ่อจรัญ ได้เข้ารับการรักษาอาการอาพาธในโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2558 ด้วยอาการหอบเหนื่อยจากโรคปอดอักเสบ โดยคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและออกซิเจนนั้น
      
        ต่อมาโรครุนแรงขึ้น แพทย์ได้ถวายการช่วยหายใจและถวายการรักษาประคับประคองระบบการหายใจและหลอดเลือดด้วยเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ถวายการรักษาทดแทนไต ระยะหลังอาการทรุดลง เริ่มมีเลือดออกผิดปกติจนต้องมีการถวายเลือดและเกล็ดเลือด จนในที่สุดการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ไม่สามารถถวายการรักษาประคับประคองได้ต่อไป หลวงพ่อจรัญ ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ เมื่อเวลา 08.37 น. วันที่ 25 ม.ค. สิริอายุ 87 ปี 67 พรรษา
      
        สำหรับหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวันและที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 3 เป็นพระที่มีชื่อเสียงระดับประเทศจากการเป็นพระนักพัฒนา พระนักเทศน์ และพระวิปัสสนาจารย์ หลวงพ่อจรัญ ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระที่มีความสามารถมาก คือ เป็นทั้งนักพัฒนาที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้พระพุทธศาสนา เป็นนักเทศน์ที่เข้าถึงจิตใจของคนทุกวัย และเป็นนักวิปัสสนากรรมฐานผู้มีความมุ่งมั่น หลวงพ่อจรัญ เคยกล่าวว่า "อาตมาไม่เคยสอนใครไปสู่สวรรค์ นิพพาน แต่สอนกรรมฐานให้ระลึกบุญคุณคน นึกถึงพ่อแม่ นึกถึงตนเอง และสงสารตัวเอง แค่นี้พอ..."
      
        ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลวงพ่อจรัญได้เรียบเรียงหนังสือธรรมะที่มีคุณค่าไว้เป็นจำนวนมาก แต่ละปีหลวงพ่อจรัญได้แจกหนังสือเป็นธรรมะวิทยาทานมากกว่า 1.5 แสนเล่ม ด้วยคุณงามความดีนี้ทำให้หลวงพ่อจรัญได้รับการถวายเกียรติคุณมากมาย แต่เหนือสิ่งอื่นใด หลวงพ่อจรัญทำให้คนไทยหลายแสนหลายล้านคนเข้าถึงธรรมะที่แท้ของพระพุทธเจ้า และทำให้คนไทยเข้าใจ "กฎแห่งกรรม" ดังที่หลวงพ่อจรัญเคยกล่าวว่า "ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนควรเชื่อและพยายามศึกษาทำความเข้าใจกฎแห่งกรรม อาตมาอยากจะกล่าวว่า ชาวพุทธที่ไม่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมนั้น หาใช่ชาวพุทธไม่... เพราะที่สุดแล้ว ต่อให้เหนือฟ้ายังมีฟ้า แต่ไม่มีอะไรเหนือกฎแห่งกรรม"
      
        นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เผยว่า ก่อนละสังขาร หลวงพ่อจรัญและศิษยานุศิษย์ได้มอบเงินจำนวน 50 ล้านบาทให้แก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เพื่อมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาลศิริราช
      
        สำหรับการเคลื่อนย้ายสรีระสังขารหลวงพ่อจรัญจากโรงพยาบาลศิริราช ไปยังวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี มีขึ้นเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากที่มารอกราบหลวงพ่อจรัญที่โรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่เช้า โดยประชาชนพร้อมใจกันเปล่งเสียงสาธุอย่างต่อเนื่อง บางรายถึงกับร้องไห้ด้วยความอาลัย
      
       ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานน้ำหลวงสรงศพหลวงพ่อจรัญ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. และพระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ได้แก่ ไตรครอง โกศโถ ฉัตรเบญจาตั้งประดับ พร้อมพวงมาลาพระราชทานและรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นทางวัดจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมได้ โดยจะมีการสวดทุกวันจนครบ 100 วัน
      
       2. “เจ้าคุณเสนาะ” ผูกคอมรณภาพในกุฏิวัดสระเกศ คาดเครียด ขณะที่ ตร.ยังคาใจ จ.ม.ลาตาย ด้าน สตง.ยัน เรื่องใช้งบ 67 ล้านจบแล้ว!

        เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้รับแจ้งเหตุมีพระสงฆ์ผูกคอมรณภาพที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่เกิดเหตุเป็นกุฏิพระพรหมสุธี ภายในกุฏิ พบร่างพระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ อายุ 58 ปี ซึ่งน้องชายและพระลูกศิษย์ได้นำร่างพระพรหมสุธีลงมานอนบนที่นอนก่อนที่ตำรวจจะมาถึง
      
        พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เผยว่า จากการสอบถามน้องชายและพระลูกศิษย์ใกล้ชิด ทราบว่า พระพรหมสุธีมีอาการเครียด มือสั่น ใจสั่น ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ต้องรับประทานยาแก้เครียด และยาความดันวันละ 4 เวลา ส่วนเรื่องถูกปลดออกจากตำแหน่ง ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพรหมสุธีเกิดความเครียด เนื่องจากเป็นพระชั้นผู้ใหญ่
      
       อนึ่ง พระพรหมสุธี ถูกพระพรหมดิลก เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร สั่งพักงานในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาให้พระพรหมสุธีออกจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบพบว่า พระพรหมสุธีมีพฤติกรรมส่อทุจริตงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 67 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติเป็นค่าใช้จ่ายในพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของมหาเถรสมาคมและคณะสงฆ์โดยรวม หลังจากนั้น(16 ม.ค.58) พระพรหมสุธี ได้ถูกสั่งพักงานในตำแหน่งเจ้าคณะภาค 12 ก่อนที่จะถูกกรรมการมหาเถรสมาคมให้พ้นจากตำแหน่งประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศเมื่อวันที่ 21 ม.ค.58 หลังจากนั้นไม่นาน พระพรหมสุธี ก็ได้ลาออกจากเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
      
        ด้านพระมหากฤษณะ กิตตฺปญฺโญ พระอุปัฏฐากที่ใกล้ชิดพระพรหมสุธี เผยว่า พระพรหมสุธีมีอาการเครียดและซึมเศร้าสะสมตั้งแต่ต้นปี 2558 ก่อนหน้านี้ต้องเข้าพบแพทย์เป็นประจำ และฉันยาตามแพทย์สั่ง ต่อมาเมื่อปลายปี 2558 พระพรหมสุธีเคยเปรยว่าไม่อยากอยู่แล้ว เพราะร่างกายรับยาไม่ไหว
      
        สำหรับพิธีสรงน้ำศพพระพรหมสุธี มีขึ้นเมื่อวันที่ 27 ม.ค. และจะมีพิธีสวดพระอภิธรรมจนถึงวันที่ 2 ก.พ. ส่วนวันฌาปนกิจนั้น ทางวัดสระเกศและญาติของพระพรหมสุธีจะหารือกันอีกครั้ง
      
        ด้าน พล.ต.ต.นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา เผยผลชันสูตรศพพระพรหมสุธีเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ว่า สาเหตุการมรณภาพเกิดจากการขาดอากาศหายใจจากการถูกกดรัดที่ลำคอ เบื้องต้นน่าจะไม่ใช่การฆาตกรรม อย่างไรก็ตามต้องรอผลตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง
      
        ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้หลักฐานเพิ่มเติมเป็นจดหมาย 2 ฉบับ ซึ่งนายเอกวัฒน์ ฝังมุข น้องชายพระพรหมสุธี ยืนยันว่าเป็นลายมือของพระพรหมสุธี โดยเขียนทำนองสั่งเสีย ให้ดำเนินการเรื่องศพ และเรื่องเงินที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม จดหมายทั้งสองฉบับยังมีความขัดแย้งกันบางส่วน โดยฉบับหนึ่งสั่งให้พระมหากฤษณะนำเงินที่เหลือจากการจัดงานศพมอบให้นายเอกวัฒน์ น้องชาย แต่อีกฉบับหนึ่งกลับสั่งให้มอบเงินสดและเงินในบัญชีธนาคารให้วัดสระเกศ ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าใช่ลายมือพระพรหมสุธีจริงหรือไม่ รวมถึงปมขัดแย้งในจดหมายดังกล่าว
      
        ส่วนกรณีที่พระพรหมสุธีเคยถูกร้องเรียนในประเด็นต่างๆ นั้น พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ที่ดีเอสไอได้รับมี 3-4 ประเด็น กรณีร่ำรวยผิดปกติ ดีเอสไอพบว่า อยู่ในอำนาจของมหาเถรสมาคม(มส.) และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) จึงส่งเรื่องให้ทั้งสองหน่วยงานตรวจพฤติการณ์ต่อไป
      
       ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ เผยถึงการตรวจสอบเรื่องความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ 67 ล้านบาทในพิธีพระราชทานเพลิงสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า เบื้องต้นในแง่คดีอาญา ไม่พบความผิด แต่ในแง่พฤติกรรมของสงฆ์ ได้ส่งเรื่องให้ พศ.ดำเนินการต่อ เพราะไม่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ
      
       ด้านนายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการ พศ. เผยว่า เรื่องดังกล่าวจบไปนานแล้ว โดยช่วงแรกเกิดจากความสับสนในบัญชี ทำให้เข้าใจว่ามีการเบิกงบหลวงซ้ำซ้อนกับงบบริจาค แต่หลังจากได้เคลียร์บัญชี ก็ได้ส่งคืนกระทรวงการคลังผ่าน พศ.หมดแล้ว และว่า สตง.ตรวจสอบและแจ้งมาแล้วว่าไม่พบความไม่โปร่งใส
      
       ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน 67 ล้านของพระพรหมสุธีที่รัฐบาลอนุมัติเป็นค่าใช้จ่ายในพิธีพระราชทานเพลิงสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า ตรวจสอบพบว่า มีเงินกว่า 25 ล้านบาทที่หลักฐานไม่สมบูรณ์ ซึ่ง สตง.ได้ท้วงติงไป ต่อมาเมื่อพระพรหมสุธีพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ทางวัดสระเกศก็ได้ส่งเงินคืนให้ พศ. เพื่อให้เป็นเงินแผ่นดินแล้ว ซึ่ง สตง.ตรวจสอบหลักฐานที่นำมาแสดงแล้ว สรุปว่า การจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินทดรองจ่าย ดังนั้นเงินหลวงจึงไม่มีอะไรเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ยุติไปก่อนหน้านี้นานแล้ว เพียงแต่ สตง.ไม่ได้แถลงข่าวเท่านั้น
      
       3. ศาลฎีกา พิพากษาแก้จำคุก “ชูวิทย์” กับพวก 66 คนๆ ละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ขณะที่เจ้าตัว พร้อมเป็นตัวอย่างของคนไม่หนี-ยอมรับคำพิพากษา!


        เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีรื้อบาร์เบียร์ ซอยสุขุมวิท 10 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ และกลุ่มผู้ค้า รวม 44 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จ.ส.อ.อภิชาต ริมมสาร,นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย อดีตผู้บริหารบริษัท สุขุมวิท ซิลเวอร์สตาร์, พ.ท.หิมาลัย ผิวพรรณ หรือ เสธ.หิ อดีตนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด(บก.สส.), พ.ต.ธัญเทพ ธรรมธร หรือ เสธ.แอ๊ป อดีตนายทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และพวกรวม 130 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์, บุกรุกในเวลากลางคืน และกักขังหน่วงเหนี่ยวข่มขืนใจให้บุคคลปราศจากเสรีภาพ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2546 กลุ่มชายฉกรรจ์หลายร้อยคน พร้อมรถแบกโฮบุกทำลายร้านบาร์เบียร์ บริเวณสุขุมวิทสแควร์ ซอยสุขุมวิท 10 แขวงและเขตคลองเตย กทม.
      
        คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายชาญเวทย์ มาลัยบูชา จำเลยที่ 49 เพียงคนเดียว ซึ่งเป็นทนายความที่นำเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ดินไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ให้ลงบันทึกประจำวันช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มชายฉกรรจ์กำลังรื้อถอนบาร์เบียร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้ผู้อื่นเข้าใจว่าการรื้อถอนถูกกฎหมาย และหาผู้ร่วมดำเนินการ โดยจำคุกเป็นเวลา 1 ปี แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน ส่วนจำเลยอื่น ยกฟ้อง
      
        ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุกนายชูวิทย์ กับพวกรวม 66 คนๆ ละ 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่เหลือยกฟ้อง หลังจากนั้น จำเลยที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกได้ยื่นฎีกาสู้คดี
      
        ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2558 ศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีรื้อบาร์เบียร์มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่วันนั้น นายชูวิทย์ จำเลยที่ 129 ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และเปลี่ยนคำให้การใหม่เป็นรับสารภาพ พร้อมทั้งขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ศาลจึงเลื่อนฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 28 ม.ค. แทน
      
        ซึ่งเมื่อถึงกำหนด(28 ม.ค.) นายชูวิทย์ได้เดินทางมาศาล พร้อมนายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ บุตรชาย และผู้ติดตาม เมื่อมาถึงศาล นายชูวิทย์ได้ไหว้พระพุทธรูปประจำศาล ก่อนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนพร้อมเป็นตัวอย่างให้นักการเมืองและประชาชนทั่วไปเห็นว่าตนไม่หนี จะอยู่ตรงนี้และยอมรับคำพิพากษา แม้ว่าตนจะถอนคำให้การที่เคยปฏิเสธ มาเป็นรับสารภาพ ก็เป็นวิธีทางกฎหมายที่ตนได้สู้จนนาทีสุดท้าย
      
        ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่นายชูวิทย์ ยื่นขอถอนคำให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพเมื่อวันที่ 15 ต.ค.58 นั้น ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาในบางประเด็น ตาม ป.วิอาญา มาตรา 126 แต่เป็นการขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การใหม่รับสารภาพ ซึ่งการแก้คำให้การนั้นต้องทำก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่อาจที่จะนำมาพิจารณาได้ แต่คำให้การรับสารภาพของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงแห่งคดีที่ศาลไม่ต้องวินิจฉัยอีก
      
        และว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า หลังจากมีการซื้อขายที่ดินเมื่อปี 2545 ต่อมาได้มีการปรับปรุงสถานที่ให้เป็นร้านค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบาร์เบียร์ กระทั่งวันเกิดเหตุ ได้มีชายฉกรรจ์กลุ่มจำเลยเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้านบาร์เบียร์ ซึ่งเป็นผู้เสียหายว่าให้เก็บของ ขณะที่จำเลยบางคนพูดว่า ให้ไว โดยกลุ่มจำเลยที่เข้ามาพูดคุยมีป้ายแขวนคอเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษแบ่งกลุ่ม เอ บี ซี ดี จากนั้นเวลาหลัง 05.00 น. พบรถแบกโฮ แท่งคอนกรีตกั้นปิดทางโดยรอบและตู้คอนเทนเนอร์ โดยเห็น พ.ท.หิมาลัย หรือ เสธ.หิ จำเลยที่ 128 และ พ.ต.ธัญเทพ หรือ เสธ.แอ๊ป จำเลยที่ 130 อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยถือวิทยุสื่อสารสั่งการ
      
        ซึ่งขณะจับกุมชายฉกรรจ์ในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ยังพบสมุดจดปกสีน้ำเงิน แผนภูมิการรื้อถอน รายชื่อ รายละเอียดขั้นตอนการรื้อถอน และภาพถ่ายร้านค้า รวมทั้งวิทยุสื่อสารซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานที่เป็นผู้จัดการบริษัทดูแลพื้นที่ว่า จำเลยให้ไปซื้อและเช่าวิทยุสื่อสารรวม 20 เครื่อง อีกทั้งโจทก์มีพยานเป็นทั้งเจ้าของร้านบาร์เบียร์ ผู้เสียหาย ผู้กำกับ สน.ลุมพินี และพนักงานสอบสอบในขนะนั้น มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว นอกจากนี้ผู้เสียหายได้ชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนภายหลังจากเกิดเหตุไม่นาน จึงเชื่อว่าน่าจะจดจำใบหน้าจำเลยได้ แม้ว่าในชั้นพิจารณาจะไม่ได้ชี้ตัวจำเลย เพราะขณะนั้นอาจได้รับการเยียวยาและจำเลยบางคนเป็นเพียงผู้รับจ้าง ซึ่งพยานดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับพวกจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าเบิกความตามที่ได้รู้เห็นและได้ปฏิบัติหน้าที่มา พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่า ไม่ได้ให้การปรักปรำหรือกลั่นแกล้งจำเลยให้ได้รับโทษ ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาพร้อมกับของกลางที่พบในที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นว่า พวกจำเลยได้รับรู้ถึงการกระทำ ซึ่งมีการวางแผนเป็นขั้นตอนและแบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน
      
        ส่วนที่ พ.ท.หิมาลัย และ พ.ต.ธัญเทพ จำเลยที่ 128 และ 130 ขอให้ศาลลงโทษสถานเบา หรือรอการลงโทษนั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการเข้าไปครอบครองพื้นที่โดยอุกอาจ ไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย ไม่ได้ใช้กฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการให้ถูกต้อง ส่วนนายชูวิทย์นั้น ศาลเห็นว่า หลังเกิดเหตุได้ร่วมกับพวกจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหายจนผู้เสียหายพอใจแล้ว และภายหลังได้นำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่าจำเลยที่ 129 และฝ่ายจำเลยรู้สำนึกผิด นับว่ามีเหตุให้ปรานี เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม และเนื่องจากเป็นเหตุที่อยู่ในส่วนลักษณะคดี จึงมีผลไปถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้ฎีกาด้วย
      
        ศาลฎีกา พิพากษาแก้ ให้จำคุกจำเลยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษ 66 คนๆ ละ 2 ปี และให้นับโทษจำเลยที่ 42, 44, 51, 47, 68, 99 และ 120 ต่อจากคดีอื่นด้วย จึงจำคุกจำเลยทั้งเจ็ดตั้งแต่ 2 ปี 15 วัน- 4 ปี และให้ออกหมายจับจำเลยที่ไม่มาฟังคำพิพากษา ซึ่งรวมถึง พ.ต.ธัญเทพหรือ เสธ.แอ๊ป ด้วย เพื่อให้มารับโทษภายในอายุความต่อไป
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 ม.ค.2559(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:12:28 »
4. กรธ.เผยร่างแรก รธน. มี 270 มาตรา เน้นกันคนทุจริตเข้าสู่อำนาจ ให้ทุกฝ่ายเสนอปรับแก้ได้ภายใน 15 ก.พ.นี้!

        เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้แถลงถึงสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญหลังใช้เวลาในการร่าง 77 วันว่า มี 270 มาตรารวมบทเฉพาะกาล โดยมีการรับฟังความคิดเห็นทั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.), คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 35 กำหนดไว้ทั้ง 10 ประการ และรับฟังทุกฝ่ายโดยไม่จำกัดเวลา รวมทั้งให้ทางสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) สำรวจความเห็นประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย
       
        นายมีชัย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกป้องกันการทุจริต ไม่ให้คนทุจริตเข้าสู่อำนาจ จึงทำให้นักการเมืองไม่พอใจ และเพื่อให้การเมืองไม่ใช่เป็นที่ฟอกตัวของคนที่เคยทำผิด จึงใช้หลักเดียวกับหลักที่ใช้กับผู้ใหญ่บ้าน ใครทำผิดอย่างรุนแรง ศาลตัดสินว่ามีความผิด ไม่ว่าจะถูกลงโทษหรือไม่ คนเหล่านั้นจะกลับมาเป็น ส.ส.ไม่ได้ โดยกำหนดความผิด เช่น เจ้ามือพนัน ค้ายาเสพติด ฟอกเงิน หรือฉ้อโกงประชาชน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เข้าสู่การเมืองไม่ได้ “เรากำหนดหน้าที่ ครม.ไว้ว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เปิดเผย ใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข ซึ่ง สตง.จะเป็นผู้ดูแล เราเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระให้สูงขึ้น และมักพูดกันว่าองค์กรเหล่านั้นไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ความจริงไม่ได้เพิ่มอำนาจจากที่เคยมีอยู่ เพียงแต่กำหนดกระบวนการไว้ให้ชัดเจนว่า อย่างไรเป็นเรื่องทุจริต อะไรไม่สมควรทำ ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือมาตรฐานจริยธรรมก็จะกำหนดให้ชัดเจนว่า อย่างไหนฝ่าฝืนถือเป็นเรื่องร้ายแรง และกำหนดเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามเพื่อไม่ให้เข้าสู่การเมือง หรือถ้าเข้ามาแล้ว ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ เหมือนกับตายหรือล้มละลาย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสิน”
       
        สำหรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ได้มีการกำหนดว่า อะไรที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายไม่ห้าม ประชาชนมีสิทธิทำได้ และเขียนด้วยว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ต้องไม่ขัดเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ไม่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ให้เป็นภาระจนทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ยาก และยังยกเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชนในส่วนสำคัญที่ไม่ควรให้ประชาชนไปตะเกียกตะกายเรียกหาสิทธิเหล่านั้นไปไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐแทน เช่น รัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน มีหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ประชาชนแค่รับบริการเท่านั้น
       
        ส่วนกลไกการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป นายมีชัย กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ตอนลงคะแนนเท่านั้น การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วน ประกาศรายชื่อนายกรัฐมนตรีให้ประชาชนรู้ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรู้ข้อมูลล่วงหน้าอย่างถูกต้อง การจัดให้มีวุฒิสภาเลือกทางอ้อมเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมถึงใจกลางอำนาจอย่างแท้จริงด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาพรรคการเมืองและนายทุน
       
        นายมีชัย ยืนยันด้วยว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชน การชุมนุม จะมีการคุ้มครองเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งวางเงื่อนไขจำกัดได้เฉพาะบางเรื่องเท่านั้น เช่น ความปลอดภัยของสาธารณะ สนามบิน คุ้มครองสิทธิคนอื่น และว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่แตกต่างจากเดิม และไม่ทำให้การชุมนุมของประชาชนทำได้ยากขึ้น
       
        นายมีชัย ย้ำด้วยว่า การวางระบบที่ให้อำนาจองค์กรอิสระ และให้คณะกรรมการที่ตั้งโดย คสช.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่ใช่การสร้างอำนาจซ้อนทับอำนาจ เพราะรัฐบาลใหม่สามารถยกเลิกคณะกรรมการเหล่านั้นได้ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย
       
        ส่วนกรณีที่ให้อำนาจ คสช.ใช้มาตรา 44 ได้ในช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วนั้น นายมีชัย ยืนยันว่า ไม่ถือว่ามีรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ เพราะการให้อำนาจ คสช.ไว้ เพื่อให้มีเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่ยังอยู่ภายใต้บทบังคับของรัฐธรรมนูญใหม่ คือจะอยู่ในฐานะลูกของรัฐธรรมนูญนี้ ไม่สามารถถ่ายเทอำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ที่มีอำนาจเสมือนรัฏฐาธิปัตย์ไปที่คณะกรรมการที่เกิดจากคำสั่งตามมาตรา 44 ได้ แต่อาจมีอำนาจในการควบคุมองค์กรอื่นได้ “ถ้า(รธน.)มีผลบังคับใช้ คสช.ยังคงอยู่เหนือทุกองค์กรทุกหน่วยงาน แต่ไม่ใช่ คปป. เป็นอำนาจเดิมที่เขามีอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยได้ยินว่า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 กับองค์กรอิสระ แต่ที่จำเป็นต้องให้อำนาจไว้ ก็เหมือนให้เอาปากกาเข้ามาด้วย ไม่อย่างนั้นจะจดอย่างไร เพราะมันเกิดมาจากการปฏิวัติ เมื่อยังไม่สำเร็จ ยังต้องให้เครื่องมือเขาไว้ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มา... ถ้าคิดว่ามีปัญหาจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ได้”
       
        นายมีชัย ยังพูดถึงประเด็นการขยายเวลาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกไปอีก 3 เดือนด้วยว่า หากติดใจกันมาก อาจจะนำมาพิจารณาใหม่ โดยเร่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้มีผลบังคับใช้ก่อน ก็สามารถที่จะเลือกตั้งได้ตามกำหนดโดยไม่กระทบกับโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ และไม่มีการห้าม คสช.เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ส่วนเรื่องการปรองดอง ทางคณะกรรมการยอมรับว่า จนปัญญาที่จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ นายมีชัย เผยด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ก็ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะไม่มีการหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้แทน
       
       ทั้งนี้ นายมีชัย ย้ำว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ เพราะยังต้องฟังความเห็นประชาชนเพื่อปรับแก้ให้สอดคล้องต้องกันตามเหตุผล โดยเมื่อเผยแพร่ร่างนี้ไปแล้ว ทุกฝ่ายสามารถส่งความคิดเห็น ข้อเสนอแนะมายัง กรธ.ได้จนถึงวันที่ 15 ก.พ.นี้ เพื่อนำมาปรับแก้ให้ได้ร่างฉบับสมบูรณ์ ที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติ “เราส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไปให้องค์กรต่างๆ แม่น้ำ 4 สาย(คสช.-ครม-สนช.-สปท.) องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา รวมถึงสื่อมวลชนด้วย เพื่อขอให้ช่วยดู แล้วถ้ามีข้อเสนอแนะใด ก็ขอให้ส่งกลับมาให้ กรธ.พิจารณาปรับปรุงภายในวันที่ 15 ก.พ.”
       
       5. ศาลฎีกาพิพากษาแก้ จำคุก “กำนันเซี้ย” 5 ปี คดีฮั้วประมูล ส่วนคดีรุกที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำคุก 3 ปี พร้อมสั่งออกหมายจับ!

        เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายประชา โพธิพิพิธ หรือกำนันเซี้ย อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ , นางเขมพร ต่างใจเย็น ภรรยา , น.ส.วรรณา ล้อไพบูลย์ คนสนิทนางเขมพร และนายถวิล สวัสดี (เสียชีวิตแล้ว) เป็นจำเลย ที่ 1-4 ในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ , หน่วงเหนี่ยวกักขัง และกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (ฮั้วประมูล)
       
        โดยโจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างปี 2542 - 2544 จำเลยร่วมกันฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ใน จ.กาญจนบุรี และเพชรบุรี หลายโครงการ กระทั่งเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2544 จำเลยที่ 4 พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ ศรีสุข เลขานุการของกำนันเซี้ย กับพวกอีกหลายคนที่ศาลอาญาพิพากษาลงโทษไปแล้วเมื่อปี 2546 ได้ร่วมกันกระทำความผิดข้อหาเป็นอั้งยี่ เข้าขัดขวางไม่ให้บริษัท วัสดุเซ็นเตอร์ จำกัด เข้าเสนอราคา โดยได้กักตัวนายเดชา มาศวรรณา ตัวแทนบริษัทไว้ พร้อมเสนอให้รับเงิน 1 หมื่นบาท เพื่อไม่ให้เข้าร่วมการเสนอราคา แต่เมื่อนายเดชาไม่ยินยอม นายสมศักดิ์กับพวกได้ใช้กำลังประทุษร้าย ต่อมาจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พร้อมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
       
        คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายประชา เป็นเวลา 5 ปี ฐานเป็นหัวหน้า หรือผู้มีตำแหน่งในอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 วรรค 2 ส่วนจำเลยที่ 2-4 ให้จำคุกคนละ 4 ปี ฐานเป็นอั้งยี่ แต่ต่อมาเมื่อมีการอุทธรณ์คดี ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2550 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อถึงกำหนดที่ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษา(25 ม.ค.) จำเลยทั้งสามไม่มาศาล มีเพียงทนายความผู้รับมอบอำนาจเดินทางมา ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลได้ออกหมายจับจำเลยจนครบ 1 เดือนแล้วหลังจากที่ไม่มาศาลหลายนัด ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย โดยศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ส่วนที่จำเลยที่ 1-3 อ้างว่า ไม่รู้เห็น และไม่ทราบเรื่องการกีดกันการประมูลดังกล่าวนั้น ศาลเห็นว่า ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ การกระทำของจำเลยที่ 1-3 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และ พ.ร.บ.ฮั้วประมูลมาตรา 4-6 ซึ่งผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดมาตรา 209 วรรคสอง ฐานเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งในคณะบุคคล ซึ่งเป็นอั้งยี่ จึงพิพากษาแก้ให้จำคุกนายประชา จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี จำคุกนางเขมพร และ น.ส.วรรณา จำเลยที่ 2-3 คนละ 4 ปี โดยให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสามมารับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป
       
        วันเดียวกัน(25 ม.ค.) ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายประชา หรือกำนันเซี้ย เป็นจำเลยในความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
       
        โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสู้คดี
       
        ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่นำสืบฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าว แล้วไปสร้างบ้านพักอาศัย โดยมอบหมายให้คนงานเข้าไปดูแล ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ยุติว่าจำเลยเป็นอดีตกำนัน รวมทั้งมีประกาศเรื่องที่ดินติดไว้ที่หน้าที่ว่าการอำเภอ จำเลยย่อมทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่เหมาะสมแห่งพฤติการณ์คดี จึงพิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ (1) (3) ให้จำคุก 4 ปี แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้ คงจำคุก 3 ปี แต่เมื่อจำเลยไม่มาศาล จึงให้ออกหมายจับเพื่อมารับโทษตามคำพิพากษาต่อไป

MGR Online       30 มกราคม 2559