ผู้เขียน หัวข้อ: ควันหลงจากเวทีเสวนาเสรีกัญชา : ผลวิจัยจากอิสราเอลและคำบอกเล่าจากชาวบ้านไทย  (อ่าน 779 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
ตามที่ผมได้เรียนไปแล้วว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาเรื่อง “คุยแบบ No Drama เสรีภาพกัญชาควรอยู่ตรงไหน?” พบว่ามีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมเสวนาเป็นจำนวนมาก ผู้ดำเนินรายการซึ่งมีประสบการณ์สูงถึงกับกล่าวว่า “ตั้งแต่สร้างหอศิลป์มาไม่เคยมีครั้งไหนที่คนเข้าร่วมมากขนาดนี้”
       
        หลังจากการเสวนาบนเวทีใหญ่จบ ผู้จัดได้ให้โอกาสผู้สนใจอยู่คุยต่อเพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อน ผมเองได้นั่งฟังต่ออยู่พักหนึ่ง ทำให้ผมได้ประเด็นมาเล่าต่อในบทความวันนี้ครับ
       
        ผู้ฟังคนหนึ่งอายุน่าจะยังไม่ถึง 40 ปี ได้เล่าประสบการณ์ตรงของเขาว่า “แม่ผมป่วย เจ็บกระดูก เดินไม่ได้ ผมจึงตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่กับแม่ ปกติผมเป็นคนสูบกัญชา เคยได้ยินว่ากัญชารักษาโรคได้หลายโรค ผมจึงแอบเอากัญชาชงเป็นน้ำชาให้แม่ดื่ม อยู่มาไม่กี่วันอาการเจ็บปวดลดลง แม่เดินได้ ตอนแรกๆ ผมคิดว่าคงมีกำลังใจที่ลูกกลับมาอยู่บ้านด้วย ผมก็ยังคงชงให้แม่ดื่มต่อไป ตอนนี้แม่ผมเดินได้คล่องปร๋อเลย”
       
        ผมรู้สึกดีใจมากกับคำบอกเล่าของหนุ่มคนนี้มาก ผมจึงเดินไปบอกเขาว่า “อาการของแม่คุณสอดคล้องผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในอิสราเอลเลย”
       
        ความจริงผมได้เตรียมเรื่องนี้ไปเล่าให้วงเสวนาฟัง แต่ไม่มีเวลาได้เล่า จึงขอเล่าต่อในวันนี้ ถือว่าเป็นควันหลงก็แล้วกันครับผมได้ตัดภาพจากเว็บไซต์มาให้ดูด้วยครับ


        เว็บไซต์นี้ได้มาจากผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Bone and Mineral Research. May,2015. ผมเองเป็นนักคณิตศาสตร์ซึ่งไม่มักคุ้นกับวารสารทางด้านนี้ จึงได้ส่งคำถามไปที่ “อาจารย์กู” ได้ความว่าเป็นวารสารอย่างเป็นทางการของ American Society for Bone and Mineral Research โดยที่ในปี 2012 วารสารดังกล่าวได้รับการจัดให้เป็นอันดับสูงสุดในสาขาการวิจัยทางกระดูกและแร่ธาตุ
       
        และเผื่อว่ามีนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องมาพบเห็นบทความนี้เข้า ผมจึงขอตัดภาพของชื่อบทความต้นฉบับซึ่งประกอบด้วยชื่อและสถาบันของผู้วิจัยรวมทั้งบทคัดย่อมาลงให้ดูด้วยครับ ผมเองไม่มีความสามารถทางวิชาการที่จะทำความเข้าใจในรายละเอียดได้ ใครช่วยได้เชิญครับ ถือว่าเป็นการทำบุญทำกุศลให้กับเพื่อนมนุษย์ครับ

ควันหลงจากเวทีเสวนาเสรีกัญชา : ผลวิจัยจากอิสราเอลและคำบอกเล่าจากชาวบ้านไทย
        มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า งานวิจัยชิ้นนี้ถือว่าเป็นงานวิจัยใหม่ล่าสุดที่นอกเหนือไปจากแวดวงเรื่องมะเร็ง พาร์กินสัน และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ (MS treatment) งานวิจัยที่อ้างถึงนี้ส่วนใหญ่เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวอิสราเอล
       
        ในพืชตระกูลกัญชามีสาระสำคัญอยู่ 2 ชนิดซึ่งออกฤทธิ์ต่างกัน กล่าวคือมีสารซึ่งมีชื่อย่อว่าทีเอชซี (THC- Tetrahydrocannabinol) และสารซีบีดี (CBD -Cannabidiol) ตัวแรกออกฤทธิ์ต่อจิต สารตัวที่สองเป็นสารที่มีอยู่แล้วในระบบที่เรียกว่า Endocannabinoid System ซึ่งส่วนนี้แหละครับที่ผมเองไม่มีความเข้าใจมากพอ ผมจึงขอคัดลอกข้อความจากวิกีพีเดียมาด้วยครับ (The endocannabinoid system is a group of neuromodulatory lipids and their receptors in the brain that are involved in a variety of physiological processes including appetite, pain-sensation, mood, and memory; it mediates the psychoactive effects of cannabis and, broadly speaking, includes:) กรุณาอย่ามองว่าผมไม่มีความรู้แล้วยังมาเขียน ผมแค่นำมาบอกเล่าเพื่อให้คนที่มีความรู้มาช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของมนุษย์
       
        เท่าที่ผมค้นคว้ามาพบว่า Endocannabinoid ทำหน้าที่สองอย่างคือ นอกจากจะฆ่าเซลล์มะเร็งแล้วยังช่วยฟื้นฟูเซลล์ปกติให้แข็งแรงยิ่งขึ้น แต่ที่มีการกล่าวถึงกันมักจะพูดกันเฉพาะในหน้าที่แรกเท่านั้น แต่ลืมหน้าที่ที่สองไปอย่างน่าเสียดายโดยปกติร่างกายจะสร้างสาร Endocannabinoid ขึ้นมาเองเพื่อทำหน้าที่ในหลายกระบวนการเพื่อให้สิ่งแวดล้อมในร่างกายมีสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงรวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันด้วย
       
        อาการที่แม่ของผู้เล่าในเวทีเสวนาวันนั้น คือเดินได้คล่องปร๋อ ผมเข้าใจว่าน่าจะมาจากหน้าที่ที่สองของ Endocannabinoid นี่เอง
       
        ทีมนักวิจัยชุดนี้ได้พยายามสกัดเอาสาร THC ออกไปแล้วศึกษาการออกฤทธิ์ของ CBD โดยทำการทดลองกับหนูซึ่งมีรอยแตกที่กระดูกโคนขา
       
        Dr.Yankel Gabet ได้อธิบายผลการวิจัยว่า “สาร CBD ช่วยให้กระบวนการเยียวยากระดูกเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญประมาณ 8 สัปดาห์โดยไม่มีผลด้านจิตใจ กระดูกที่ได้รับการเยียวยาแล้วจะแตกได้ยากขึ้นในอนาคต”
       
        Dr.Yankel Gabet ยังได้ให้ความเห็นต่อไปว่า “ผลการศึกษาทำให้เราเชื่อว่าเราควรจะศึกษากับการเยียวยาในมนุษย์ต่อไป” ทีมวิจัยหวังว่าการค้นพบใหม่ครั้งนี้น่าจะนำไปใช้กับการรักษาโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก
       
        สำหรับเรื่องกัญชากับการรักษามะเร็งหลายชนิด เช่นมะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งช่องปาก มะเร็งตับ ฯลฯ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก http://www.collective-evolution.com/2013/08/23/20-medical-studies-that-prove-cannabis-can-cure-cancer
       
        เรื่องมะเร็งกับการรักษาโรคนั้นมีความน่าสนใจอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์ก็คือทัศนะของแพทย์ที่มีต่อสมุนไพร
       
        จากบทความเมื่อสัปดาห์ก่อนของผม ผมได้นำคำสารภาพของแพทย์ที่เป็นนักข่าวจากสำนัก CNN คือ นายแพทย์ Sanjay Gupta ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย เขาเคยคัดค้านเรื่องกัญชาถูกกฎหมาย แต่ในที่สุดเขาก็กลับมาสนับสนุน พร้อมกับขอโทษต่อประชาชน เหตุผลในการขอโทษมี 4 ข้อ คือ
       
        “ขอโทษที่ผม (1) ไม่ได้พิจารณาให้มากพอ (2) ไม่ได้มองไกลพอ (3) ไม่ได้ทบทวนบทความจากห้องทดลองเล็กๆ ในประเทศอื่นๆ ที่เป็นงานวิจัยที่เด่น และ (4) ผมไม่ได้สนใจเสียงอันดังและมีเหตุผลที่ถูกต้องของผู้ป่วยซึ่งมีอาการดีขึ้นจากการใช้กัญชา จริงๆ แล้ว ในบางครั้ง กัญชาเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ใช้ได้ผล”
       
        ประเด็นที่ผมจะพูดถึงก็คือประเด็นที่ 4 คือ หมอไม่ได้ฟังเสียงของผู้ป่วยที่รักษาด้วยตนเองจนมีอาการดีขึ้นโดยใช้กัญชา ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เป็นประเด็นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ซึ่งในกระบวนการพัฒนาสมัยใหม่ถือว่าหากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้วเป็นการยากที่จะประสบผลสำเร็จ ในทำนองเดียวกัน หากหมอไม่ฟังความเห็นของคนไข้(บ้าง)ก็ยากที่การรักษาจะสำเร็จเช่นกัน
       
        นายแพทย์ Sanjay Gupta ยังได้ให้ข้อมูลอีกว่า โจทย์วิจัยเกี่ยวกับกัญชาในสหรัฐอเมริกานั้น ร้อยละ 94 เป็นการวิจัยถึงเรื่องผลเสียของกัญชา มีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่วิจัยถึงผลดี ดังนั้นจึงไม่แปลกใจองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาจึงไม่แพร่หลายเท่าที่ควร
       
        ผมได้นำเสนอเรื่องงานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับกัญชามาพอสมควรแล้วนะครับ โปรดสังเกตว่าผมยืมเอาความเห็นของแพทย์มาวิจารณ์แพทย์ เรียนตามตรงว่า ผมเองก็กลัวหมอ (ทั้งๆ ที่เคยสอนคณิตศาสตร์ให้นักศึกษาแพทย์มานับสิบรุ่น)
       
        ไหนๆ ก็ได้ยืมคำพูดของคนอื่นมาวิจารณ์หมอแล้วขออีกสักเรื่องนะครับ นี่คือปกหนังสือชื่อ “ทางเลือกใหม่ในการเยียวยามะเร็ง” จาก “มูลนิธิโกมลคีมทอง” (หมายเหตุ ทางมูลนิธิส่งมาให้ผมเป็นประจำ ด้วยความขอบคุณยิ่งครับ)
       
        ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นนายแพทย์ ดร.นพ.เดวิด เซอร์แวน-ชไรเบอร์ ผู้แปลก็เป็นนายแพทย์ คือ นพ.ประพจน์ เภตราภาศ และคณะ ผมนำภาพปกหนังสือมาให้ดูด้วย

ควันหลงจากเวทีเสวนาเสรีกัญชา : ผลวิจัยจากอิสราเอลและคำบอกเล่าจากชาวบ้านไทย
        ข้อความในหนังสือที่ผมสะดุดตา คือบันทึกของผู้เขียน ที่ได้ยกเอาคำพูดของ ศาสตราจารย์เรเน่ คูบอส มหาวิทยาลัยร็อคกี้เฟลเลอร์ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (ผู้ค้นพบยาปฏิชีวนะที่สามารถเป็นการค้าครั้งแรก ค.ศ. 1939) ความว่า
       
        “ข้าพเจ้ารู้สึกอยู่เสมอว่า ปัญหาเดียวของวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นคือ ยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์เพียงพอ การแพทย์สมัยใหม่จะเป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อแพทย์และผู้ป่วยของเขาได้เรียนรู้ในการจัดการพลังของร่างกายและจิตที่ทำงานผ่าน vismedicatrixnaturae (พลังเยียวยาของธรรมชาติ)”
       
        ที่กล่าวมาแล้วเป็นปัญหาในเรื่องการวิจัยทางการแพทย์และทัศนะของเจ้าของทุนวิจัย ถ้าผมจะจบบทความเพียงแค่นี้ก็จะขาดมิติทางการเมืองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ครอบงำวงการวิชาการ
       
        ว่ากันสั้นๆ เลยนะครับ จากเว็บไซต์ http://www.projectcensored.org/22-us-government-repressed-marijuana-tumor-research พบว่า
       
        “คณะวิจัยทางการแพทย์ของสเปนจากการเปิดเผยในกรุงมาดริดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2000 ได้แสดงให้เห็นว่า สาร THC ในกัญชาทำลายเนื้องอกในหนูทดลอง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาในรัฐเวอร์จิเนียในปี 1974 ก็ได้ผลลัพธ์ที่คล้ายกัน แต่หน่วยงานด้านการปราบปรามยาเสพติด (DEA) ได้ปิดบังไว้ และใน ค.ศ. 1983 รัฐบาลเรแกนและบุชได้พยายามโน้มน้าวให้มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและนักวิจัยทั้งหลายให้ทำลายผลงานวิจัยทั้งหมดที่เกี่ยวกับกัญชาในระหว่างปี 1966 และ 1976 รวมทั้งบทคัดย่อในห้องสมุดด้วย”
       
        เห็นแล้วหรือยังครับว่าเรื่องกัญชามันเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน ไม่ต่างจากเรื่องพลังงานที่คนไทยเราก็ถูกปิดกั้นและผูกขาดเช่นเดียวกัน

โดย ประสาท มีแต้ม    6 กันยายน 2558
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000100998