ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 5-10 ม.ค.2558  (อ่าน 804 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 5-10 ม.ค.2558
« เมื่อ: 24 มกราคม 2015, 12:46:03 »
1.สนช.แถลงเปิดคดีถอด “นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์” แล้ว นัดซักถามคู่กรณี 15-16 ม.ค. คาดลงมติถอดถอน 23 ม.ค.!

        เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง
       
        ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่กระบวนการ พ.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สนช. ได้เสนอญัตติให้ประชุมลับ โดยอ้างว่า เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกขึ้นในบ้านเมือง แต่ สนช.หลายคนไม่เห็นด้วย เนื่องจากข้อบังคับการประชุม สนช.กำหนดให้การพิจารณาต้องทำโดยเปิดเผย สุดท้ายที่ประชุมจึงมติ 107 ต่อ 70 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการประชุมลับ
       
        จากนั้นได้เข้าสู่การแถลงเปิดคดี โดยเริ่มจากนายวิชา มหาคุณ ตัวแทนฝ่าย ป.ป.ช.แถลงว่า แม้นายนิคมจะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว แต่เนื่องจากการถอดถอนมีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จึงต้องป้องกันไม่ให้ผู้นั้นกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก และว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2557 จะไม่ได้ระบุถึงการถอดถอนไว้โดยตรง แต่ในมาตรา 5 ก็เปิดให้มีการวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองได้ และมาตรา 11 ก็ให้อำนาจ สนช.ในการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยไว้ กระบวนการถอดถอนจึงต้องเดินไปตามหลักการเมืองการปกครองที่เคยมี
       
        โอกาสนี้ นายวิชา ได้แถลงย้ำสำนวนชี้มูลความผิดนายนิคมว่า ในการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2556 นายนิคมได้สั่งปิดการอภิปรายก่อนครบกำหนดเวลา และตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติกว่า 47 คน ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมาย ป.ป.ช. ด้านนายนิคม แถลงชี้แจงข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่า ตนได้ทำตามข้อบังคับการประชุมทุกขั้นตอนและทำตามกฎหมายทุกประการ พร้อมอ้างว่า การประชุมในวันนั้น ฝ่ายค้านพยายามตีรวนทุกเรื่อง เมื่อมีผู้เสนอให้ปิดอภิปรายและเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย ตนก็ปิดตามข้อบังคับการประชุม
       
        สำหรับการแถลงเปิดคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นั้น นายสมศักดิ์ไม่ได้เดินทางมาแถลงชี้แจงข้อกล่าวหา นายวิชา ในฐานะตัวแทนฝ่าย ป.ป.ช.จึงแถลงเปิดคดีฝ่ายเดียว โดยชี้ว่า นายสมศักดิ์มีพฤติกรรมใช้อำนาจไม่ชอบ ร่วมกับนายนิคมตัดสิทธิผู้สงวนการแปรญํตติและปิดการอภิปรายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดวันแปรญัตติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554
       
       นายวิชา ย้ำด้วยว่า “คดีของนายนิคมและสมศักดิ์ ถือเป็นอนาคตของชาติในการตรวจสอบทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศ ที่ไม่ใช่แค่รับสินบนหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ แต่ยังหมายถึงจริยธรรมและคุณธรรม ที่เป็นหลักในการปกครองประเทศดังเช่น มหาตมะ คานธี นักต่อสู้สันติวิธีของประเทศอินเดีย เคยพูดไว้”
       
        หลังการแถลงเปิดคดีแล้วสร็จ ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อรวบรวมประเด็นซักถามจาก สนช.จำนวน 9 คน ก่อนกำหนดวันประชุมซักถามคู่กรณีทั้งสองฝ่ายในวันที่ 15 ม.ค. คาดว่าการลงมติถอดถอนน่าจะมีขึ้นได้ในช่วงปลายเดือน ม.ค.
       
        วันต่อมา(9 ม.ค.) สนช.ได้ประชุมแถลงเปิดคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ในข้อหาไม่ระงับยับยั้งการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เข้าชี้แจงด้วยตนเอง พร้อมนำอดีตรัฐมนตรีบางคนและทีมทนายความมาด้วย
       
        ทั้งนี้ นายวิชา มหาคุณ ในฐานะตัวแทน ป.ป.ช.แถลงชี้พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการรับจำนำข้าว มีการทุจริตและระบายข้าวในราคาถูกให้ผู้มีอำนาจและนำมาขายในราคาแพง ขณะที่ข้าวในตลาดโลกราคาต่ำกว่าในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทำให้ขาดทุน กระทบอุตสาหกรรมข้าวและชาวนา ทำให้เงินของรัฐบาลที่ใช้จำนำข้าวเริ่มหมด ไม่มีเงินให้ชาวนา ทำให้ชาวนามีหนี้สินและฆ่าตัวตายนับสิบราย พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไม่ยับยั้งโครงการที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่สุด จึงส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 178 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2543 มาตรา 11(1) อันนำไปสู่การถูกถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 270 ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 58
       
        นายวิชา ย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมา การไต่สวนของ ป.ป.ช.อยู่บนความเป็นธรรม และอนุญาตให้ทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาตรวจสอบหลักฐานการไต่สวนได้ ทั้งที่ไม่เคยอนุญาตแบบนี้ให้ใครมาก่อน และแม้ว่าจะมีมวลชนมาปักหลักค้างคืนหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.พร้อมการข่มขู่และเหตุระเบิด แต่ ป.ป.ช.ก็ยังมอบความยุติธรรมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์
       
        ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงชี้แจงข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าไม่มีความจำเป็นต้องถอดถอนตน เพราะตนไม่เหลือตำแหน่งใดๆ ให้ถอดถอนแล้ว และว่า การพิจารณาของ สนช.จะส่งผลกระทบต่อชาวนา เป็นการตัดความหวังและอนาคตของชาวนา พร้อมอ้างว่า กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่เป็นธรรม เร่งรีบรวบรัด และตัดพยานหลักฐานของฝ่ายตนออก พร้อมย้ำด้วยว่า ตนไม่เคยคิดทุจริตหรือคดโกง
       
        หลังเสร็จสิ้นการแถลงเปิดคดี ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้นมา 9 คน พร้อมกำหนดวันซักถามคู่กรณีในวันที่ 16 ม.ค. เวลา 10.00 น. ทั้งนี้ คาดว่าจะลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ในวันที่ 23 ม.ค.
       
       2.สปช.จี้ 5 ค่ายมือถือคิดค่าโทรตามจริง ไม่ใช่แค่ออกโปรโมชั่นใหม่ เชิญหารือพร้อม กสทช. 13 ม.ค.นี้!

        เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ได้มีการประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่อพิจารณารายงานการศึกษาเรื่อง การกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานจริง โดยคิดเป็นวินาทีตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคที่มี น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว
       
        ทั้งนี้ น.ส.สารี ชี้แจงว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดค่าบริการไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ โดยคิดค่าโทรเป็นนาที แม้ผู้ใช้บริการจะใช้งานจริงต่อครั้งไม่ถึงนาทีก็ตาม การกระทำของผู้ประกอบการเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในวงกว้าง จึงควรกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการให้จ่ายค่าโทรตามที่ใช้งานจริง
       
        น.ส.สารี ยังเผยด้วยว่า ในแต่ละปีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีรายได้สูงมาก โดยเมื่อปี 2556 บริษัท ทรูมีรายได้ 9.6 หมื่นล้านบาท ,ดีแทคมีรายได้ 9.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอไอเอสมีรายได้ 1.4 แสนล้านบาท พร้อมยกตัวอย่างการคิดค่าบริการของสหภาพยุโรป ที่มีข้อกำหนดเรื่องการคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ(โรมมิ่ง) โดยคิดค่าโทรขั้นต่ำที่ 30 วินาทีแรก จากนั้นตั้งแต่วินาทีที่ 31 เป็นต้นไป คิดค่าโทรตามเวลาที่ใช้งานจริงเป็นวินาทีทั้งหมด และว่า สำหรับประเทศไทย หากคิดค่าโทรตามการใช้งานจริงเป็นวินาที จะช่วยประหยัดเงินได้เดือนละ 3,591 ล้านบาท หรือปีละ 43,092 ล้านบาท
       
        หลังที่ประชุมอภิปรายเรื่องนี้แล้วเสร็จ ได้เห็นชอบรายงานดังกล่าวด้วยมติ 211 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ก่อนส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ดำเนินการต่อไป ซึ่งวันต่อมา(6 ม.ค.) ทาง กสทช.ได้เชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 5 รายมาหารือ เพื่อแก้ปัญหาการคิดค่โทรปัดเศษวินาทีเป็นนาที ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ,บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค ,บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ,บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)
       
        หลังหารือ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ผู้ประกอบการต้องออกโปรโมชั่นการคิดค่าโทรเป็นวินาทีให้ประชาชนเลือกเปลี่ยนโปรโมชั่นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก่อนวันที่ 1 มี.ค.2558 ส่วนโปรโมชั่นเดิมที่คิดค่าโทรเป็นนาทีก็ยังคงมีอยู่ ส่วนจะมีการแก้ไขโครงสร้างการคิดค่าโทรเป็นวินาทีใหม่ทั้งระบบหรือไม่นั้นต้องดูกระแสตอบรับของประชาชนก่อนว่ามีผู้สนใจเปลี่ยนโปรโมชั่นมากน้อยแค่ไหน
       
        ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ได้สั่งการให้ กสทช.รีบดำเนินการเรื่องการคิดค่าโทรตามที่ใช้งานจริงเป็นวินาที เพื่อลดค่าใช้จ่ายประชาชนลง เพราะถือเป็นหน้าที่ของ กสทช.โดยตรง โดยให้ยึดประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง และต้องมีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการด้วย
       
        ทั้งนี้ หลังที่ประชุม กสทช.-5 ค่ายมือถือได้ข้อสรุปว่า จะออกโปรโมชั่นใหม่คิดค่าโทรเป็นวินาทีเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน ก่อนดูกระแสตอบรับว่าควรปรับโครงสร้างทั้งระบบหรือไม่ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. พร้อมด้วย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธาน กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เปิดแถลงข่าว โดยยืนยันว่า ข้อเสนอของ สปช.ต้องการให้มีการแก้ปัญหาโดยคิดค่าโทรเป็นวินาทีแบบจริงจังและถาวร ไม่ใช่เป็นโปรโมชั่นใหม่ที่ทำแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ด้วยเหตุนี้ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคจะเชิญผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายมาหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างการคิดค่าโทรเป็นวินาทีให้ครอบคลุมทั้งระบบในวันที่ 13 ม.ค.นี้ โดย 3 ฝ่ายประกอบด้วย กสทช.-บริษัทผู้ให้บริการมือถือ และตัวแทนผู้บริโภค
       
       3.ปปง.ยึดทรัพย์แก๊งลักเงิน สจล.100 ล้าน “บอย ปกรณ์” โดนด้วย ด้าน “พิ้งกี้” พูดแปลกไม่รู้มีชื่อถือหุ้น บ.เคพีพีฯ แต่หลักฐานเพียบ!

        ความคืบหน้าคดีฉ้อโกงและลักทรัพย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหา 8 ราย จับได้แล้ว 4 คือ นายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซี ศรีนครินทร์ ,นางอำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนการคลัง สจล. ,นายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ และนายจริวัฒน์ สหพรอุดมการ ส่วนอีก 4 รายยังหลบหนี คือ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ,นางสมบัติ โสประดิษฐ์ ,นายสมพงษ์ สหพรอุดมการ บิดานายจริวัฒน์ และ น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์ ลูกสาวนางสมบัติ นอกจากนี้ตำรวจยังได้เชิญอดีตผู้บริหาร สจล.บางคน เช่น นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล.มาสอบปากคำในวันที่ 5 ม.ค.นั้น
       
        ปรากฏว่า นายถวิลได้เข้าชี้แจงตามกำหนด โดยยืนยันว่า ช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้ตรวจสอบพบว่า เงินในบัญชีธนาคารไม่ได้สูญหายแต่อย่างใด และตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นการลักเงินของสถาบัน ยินดีให้ตรวจสอบทั้งหมด ทั้งนี้ นายถวิลยอมรับว่า รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับ น.ส.อำพร เพราะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และรู้จักนายทรงกลด แต่ไม่ได้สนิทเป็นการส่วนตัว
       
        วันต่อมา(6 ม.ค.) ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้อีก 2 ราย คือ นางสมบัติ และ น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์ โดยจับกุมได้ที่บ้านแฟนหนุ่มของ น.ส.จันทร์จิรา ย่านแจ้งวัฒนะ ซึ่งทั้งสองยังให้การวกวน อ้างว่าเงินในบัญชีที่ได้รับโอนมาเป็นเงินเกี่ยวกับพนันบอล แต่ตำรวจตรวจสอบพบว่า เงินของ สจล.ถูกโอนเข้าบัญชี น.ส.จันทร์จิรา 40 ล้านบาท ก่อนโอนต่อให้นางสมบัติ 6 ล้านบาท
       
        ส่วนกรณีที่มีดาราเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ 2 คน คือ น.ส.สาวิกา ไชยเดช หรือพิ้งกี้ ซึ่งถือหุ้นบริษัท เคพีพี โปรดักส์ชั่น จำกัด 1 ใน 7 บริษัทในเครือของนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด นั้น เมื่อวันที่ 7 ม.ค. น.ส.สาวิกา ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อชี้แจงเรื่องการถือหุ้นดังกล่าว
       
        หลังตำรวจสอบปากคำแล้วเสร็จ น.ส.สาวิกา เผยผู้สื่อข่าวว่า ไม่รู้จักนายกิตติศักดิ์เป็นการส่วนตัว และไม่ทราบด้วยว่ามีชื่อเป็นหุ้นส่วนของบริษัทดังกล่าวของนายกิตติศักดิ์ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น ขอให้ทางตำรวจชี้แจงแทนเพื่อความกระจ่าง
       
        ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ เผยว่า จากการสอบปากคำ น.ส.สาวิกา ทราบว่าถูกชักชวนให้ร่วมธุรกิจกับบริษัทด้านการผลิตภาพยนตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 บริษัทในเครือของนายกิตติศักดิ์ อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ประวุฒิ บอกว่า บริษัทดังกล่าวได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด จึงไม่พบเรื่องการแจ้งผลประกอบการหรือเงินหมุนเวียนในบัญชีของบริษัท รวมถึงบัญชีของ น.ส.สาวิกา จึงไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักเงินของ สจล.
       
        ขณะที่ พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รองผู้บังคับการปราบปราม ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสืบสวน ก็เผยว่า น.ส.สาวิกาไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี โดยถูกนำชื่อไปใช้เป็นหุ้นส่วนบริษัท เคพีพี โปรดักส์ชั่น มีนายภูดิศ จันทิมา ผู้ช่วยผู้กำกับละครเป็นตัวเชื่อมโยงขอเอกสารดาราสาวไปใช้ ส่วนที่มาของชื่อบริษัทก็คงมาจากชื่อ “กิตติศักดิ์ ภูดิศ พิ้งกี้” เป็นเคพีพีนั่นเอง แต่จากการตรวจสอบยังไม่พบการดำเนินธุรกิจหรือแบ่งปันผลประโยชน์ใดๆ โดยนายภูดิศ เผยว่า เงินจดทะเบียนบริษัท 1 ล้านบาท นายกิตติศักดิ์เป็นคนออกให้ทั้งหมด
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ น.ส.สาวิกา หรือพิ้งกี้ บอกกับสื่อมวลชนว่า ไม่รู้จักนายกิตติศักดิ์และไม่รู้ว่ามีชื่อไปถือหุ้นบริษัทของนายกิตติศักดิ์ได้อย่างไร ปรากฏว่า สำนักข่าวอิศราได้สืบค้นข้อมูล พบว่า ในการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท พีเคเค โปรดักส์ชั่น ของนายกิตติศักดิ์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2556 ปรากฏชื่อผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน คือ นายกิตติศักดิ์ ,นายภูดิศ และ น.ส.สาวิกา พร้อมกันนี้ยังมีการแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ น.ส.สาวิกา ที่มีการเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง ประกอบการยื่นขอจัดตั้งบริษัทด้วย
       
       นอกจากนี้ ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท เคพีพี โปรดักส์ชั่น ณ วันที่ 14 ต.ค.2556 ก็ระบุชื่อผู้ถือหุ้น 3 คน รวม 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ประกอบด้วย 1.นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ถือหุ้น 4,000 หุ้น(40%) 2.นายภูดิศ จันทิมา ถือหุ้น 3,000 หุ้น(30%) และ 3.น.ส.สาวิกา ไชยเดช ถือหุ้น 3,000 หุ้น(30%) พร้อมกันนี้ยังมีเอกสารการชำระเงินค่าหุ้นของ น.ส.สาวิกา จำนวน 300,000 บาทด้วย
       
        ส่วนนายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือบอย ที่เกี่ยวข้องโดยซื้อรถลัมบอร์กินีต่อจากนายกิตติศักดิ์ในราคา 13.5 ล้านบาท ท่ามกลางข้อสงสัยว่าเหตุใดนายกิตติศักดิ์จึงยอมขายขาดทุนจากที่ซื้อมาในราคา 19.5 ล้านบาทนั้น ปรากฏว่า หลังจากนายปกรณ์เข้าชี้แจงตำรวจแล้ว ตำรวจเชื่อว่านายปกรณ์ไม่เกี่ยวข้องกับนายกิตติศักดิ์ แค่ซื้อรถต่อและมีการโอนเงินค่ารถให้กันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา(9 ม.ค.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ได้แถลงยึดและอายัดทรัพย์สินของแก๊งลักเงิน สจล.จำนวน 178 รายการ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการนำเงิน สจล.มาซื้อ โดยในจำนวนนั้นรวมถึงรถลัมบอร์กินีที่นายกิตติศักดิ์ขายให้นายปกรณ์ด้วย ดังนั้นนายปกรณ์ต้องนำรถมามอบให้ ปปง.ภายใน 30 วัน หากไม่นำมามอบให้ ปปง.จะขอศาลเพื่อยึดรถต่อไป
       
        สำหรับความคืบหน้าทางคดีนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ม.ค. พนักงานสอบสวนได้ขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้อีก 2 ราย คือ นายภาดา บัวขาว หรือ “โอ๊ต พราด้า” คนสนิทนายกิตติศักดิ์ และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ก่อนรวบตัวนายภาดาได้ในวันเดียวกัน ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี โดยนายภาดายอมรับว่า ตนเป็นผู้ดูแลรถหรูต่างๆ ให้นายกิตติศักดิ์ ก่อนขายรถลัมบอร์กินีให้นายปกรณ์ โดยไม่รู้จักนายปกรณ์เป็นการส่วนตัวมาก่อน
       
       นายภาดา ยังให้การด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีภรรยาและลูก 1 คน แต่เลิกรากันไปนานแล้ว ก่อนมารู้จักนายกิตติศักดิ์ และคบหาเป็นแฟนกัน แต่มาทราบภายหลังว่า นอกจากคบหากับตนแล้ว นายกิตติศักดิ์ ยังเป็นคู่ขากับนายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซี ศรีนครินทร์ ผู้ต้องหาอีกคนด้วย
       
       4.ก.ตร. ไฟเขียวโยกย้ายรอง ผบก.-ผกก.กว่า 1,700 นาย พบ “บช.ก” ล้างบางเครือข่าย “พงศ์พัฒน์” ขณะที่ “บช.น.สังเวยป้ายโฆษณา!

        เมื่อวันที่ 5 ม.ค. พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.) เผยถึงการจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ(ผบก.) ถึงผู้กำกับการ(ผกก.) ประจำปี 2557 ว่า ในส่วนของ บช.ก. มีตำรวจที่จะถูกโยกย้ายออกนอกหน่วยประมาณ 100 นาย มีทั้งที่ย้ายเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและแนวคิดในการทำงาน และย้ายเพราะกระทำความผิดร่วมกับเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผบช.ก. โดยมีระดับผู้กำกับถึงร้อยละ 50 ที่ถูกเสนอชื่อโยกย้ายเนื่องจากทำผิดร่วมกับเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ พร้อมย้ำว่า การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปด้วยความเหมาะสม และร้อยละ 80-90 เป็นการโยกย้ายจากความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ
       
        ด้าน พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เผยถึงการแต่งตั้งโยกย้ายในส่วนของ บช.น.ว่า มีการย้ายผู้กำกับที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องป้ายไฟโฆษณาบนป้อมจราจร หลังตรวจสอบพบว่า การจัดทำป้ายโฆษณาไม่เคยยื่นหนังสือขอความเห็นชอบผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
       
        อย่างไรก็ตาม วันเดียวกัน(5 ม.ค.) ได้มีกลุ่มผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล ยื่นหนังสือถึงจเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) เพื่อขอความเป็นธรรม โดยอ้างว่า กลุ่มตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยเรื่องป้ายโฆษณาบนป้อมจราจร ยังไม่ได้สรุปว่ามีความผิดหรือไม่ พร้อมชี้ว่า ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ,กองบังคับการตำรวจทางหลวง และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ก็มีเรื่องป้ายโฆษณบนป้อมจราจรเช่นกัน ทำไมไม่มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง อีกทั้งการลงทัณฑ์ก็ไม่มีมาตรฐาน บาง บก.น.ให้ยุติการสอบ บาง บก.น.ภาคทัณฑ์ บาง บก.น.ให้กักยาม จึงขอความเป็นธรรมต่อ ก.ตร.ให้ชะลอการแต่งตั้งจนกว่าจะทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้กำกับที่ร้องขอความเป็นธรรม ยังพูดเหมือนขู่ด้วยว่า หากยังมีการนำเรื่องป้ายโฆษณาบนป้อมจราจรมาพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย และไม่พิจารณาให้เท่าเทียมกันทุก บช.น. จะฟ้องร้องคดีตามกฎหมายต่อไป
       
        ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้ออกมายืนยันในวันต่อมา(6 ม.ค.) ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นอำนาจของกองบัญชาการ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ก.ตร.ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซง พร้อมดักคอตำรวจที่ร้องขอความเป็นธรรมและขู่ฟ้องตามกฎหมายว่า “ตำรวจมีวินัย การชุมนุมร้องเรียนอะไรต้องไตร่ตรอง มีวินัย เพราะมีช่องทางร้องเรียนตามกฎหมายอยู่แล้ว เชื่อว่า ผบช.ทุกหน่วยไม่มีอคติ อยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้อง ไม่กล้ากลั่นแกล้ง”
       
        ทั้งนี้ ที่ประชุม ก.ตร.เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับรอง ผบก.ถึง ผกก. ประจำปี 2557 โดยก่อนจะเห็นชอบรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายกว่า 1,000 นาย ตามที่ ผบช.ก.และ ผบช.น.เสนอ ได้มีการให้ตำรวจระดับผู้บัญชาการเข้าชี้แจงเหตุผลการแต่งตั้งโยกย้าย เช่น พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ในฐานะรักษาราชการแทน ผบช.ก.เข้าชี้แจงการแต่งตั้งโยกย้ายในส่วนของ บช.ก. และ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น.เข้าชี้แจงการแต่งตั้งโยกย้ายในส่วนของ บช.น. โดยทุกคนต่างยืนยันว่าได้พิจารณาแต่งตั้งตามขั้นตอนของกฎหมาย และพร้อมรับผิดชอบกับผลที่จะตามมา
       
       หลังประชุม ก.ตร.เสร็จสิ้น พล.อ.ประวิตร เผยว่า การแต่งตั้งโยกย้ายของทุกหน่วยงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนใหญ่เป็นไปตามบัญชีของแต่ละกองบัญชาการที่เสนอเข้ามา ส่วนรายชื่อจะเปิดเผยวันไหน ผบ.ตร.จะเป็นผู้กำหนดวันให้มาลงนามพร้อมกันอีกครั้ง
       
       ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ เผยว่า ในส่วนของ บช.ก.มีย้ายรอง ผบก.ถึง ผกก.56 นาย เกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ขณะที่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ เผยว่า ในส่วนของ บช.น.ได้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายทั้งสิ้น 73 นาย และว่า เฉพาะเรื่องป้ายโฆษณาบนป้อมจราจร มี ผกก.ที่ไม่สมัครใจย้าย 38 นาย สมัครใจ 7 นาย แต่ยืนยันว่ามีเหตุผลในการย้าย เพราะมีความบกพร่อง โดย ก.ตร.เห็นชอบการโยกย้ายทุกตำแหน่ง “แต่งตั้งครั้งนี้ ผมพิจารณาโดยยึดประโยชน์ของบ้านเมือง... หากมีการฟ้องร้องต้องรับสภาพ เป็นตำรวจหนีไม่ได้ ผมทำด้วยความเป็นธรรม เพราะผมไม่รู้จักใคร ยืนยันคนที่ย้ายไป 100% ถูกตั้งกรรมการหมด ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐเสียหายทั้งสิ้น”
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. พล.ต.ต.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงผลการประชุม ก.ตร.เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับรอง ผบก.ถึง ผกก.จำนวนทั้งสิ้น 1,711 นาย พร้อมยืนยัน การโยกย้ายครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจไปสู่กองบัญชาการต่างๆ ทั่วประเทศ ให้มีอำนาจในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาปฏิบัติงานภายในหน่วยของตนเอง ขณะที่คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 88 กำหนดให้แต่ละกองบัญชาการเสนอบัญชีรายชื่อโยกย้ายเข้าที่ประชุม ก.ตร. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะดำเนินการได้
       
       5.7 วันอันตรายปีใหม่ ยอดเจ็บ-ตายลดลง ดับ 341 ศพ “สิงห์บุรี-นครพนม” เจ๋ง ไร้ผู้เสียชีวิต!

        เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงสรุปยอดอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2558 ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2557 - 5 ม.ค.2558 ว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 2,997 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 341 ศพ และบาดเจ็บ 3,117 คน ซึ่งลดลงจากปี 2557 ที่เกิดอุบัติเหตุ 3,174 ครั้ง เสียชีวิต 366 ศพ และบาดเจ็บรวม 3,345 คน สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากสุดยังคงเป็นการเมาสุรา ร้อยละ 37.30 รถจักรยานยนต์เกินอุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 82.26 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดเชียงใหม่รวม 133 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด 18 ศพ และบาดเจ็บสะสมสูงสุด 129 คน ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลยมี 2 จังหวัด คือ สิงห์บุรี และนครพนม
       
        นายวิบูลย์ กล่าวว่า พอใจภาพรวมการดำเนินงานและมาตรการของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน(ศปถ.) ที่สามารถลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียลงได้ โดยพบว่า ยอดอุบัติเหตุลดลงร้อยละ 5.5 ยอดผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 7 และยอดผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 6.7 หลังจากนี้จะเดินหน้ารณรงค์ปลุกจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถิติอุบัติเหตุตลอดทั้งปีของประเทศลดลงด้วย


ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 มกราคม 2558