ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 มี.ค.2557  (อ่าน 833 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 มี.ค.2557
« เมื่อ: 24 มีนาคม 2014, 01:15:49 »
1. ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านขัด รธน. ด้าน ปชป.เตรียมยื่นถอดถอน “ยิ่งลักษณ์-ครม.” ทั้งคณะ!

       เมื่อวันที่ 12 มี.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดลงมติคำร้องที่ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง(1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
      
        ทั้งนี้ หลังประชุม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวเกี่ยวกับผลประชุมว่า ตามที่ผู้ร้องเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และกระบวนการตราไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎร มีการกดบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกันนั้น ศาลเห็นว่า ประเด็นที่ 1 ศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน ส.ส.คนอื่นในการประชุมสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2556 ซึ่งพิจารณาแล้ว ขัดมาตรา 122 และมาตรา 126 วรรคสาม ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 2 เสียง เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
      
        ส่วนประเด็นที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า ก่อนวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า เงินกู้ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 4 ประกอบกับความเห็นของพยานบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางการเงิน การคลัง และงบประมาณ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การกู้ตามร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญ
      
        ส่วนร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อการกู้เงินตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินแผ่นดิน การใช้จ่ายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยการเงิน การคลัง ยกเว้นกรณี “จำเป็นเร่งด่วน” รัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติและต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังใน พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณรายจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามที่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมุ่งประสงค์ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ขณะที่การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง เพื่อรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม
      
        ดังนั้นการที่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท บัญญัติให้กู้เงินและนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีรายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินการและการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดินบัญญัติไว้ ทำให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 8
      
        ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ จึงมีผลทำให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม
      
        ทั้งนี้ มีรายงานว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญ 6 ต่อ 2 ที่เห็นว่า กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ขัดรัฐธรรมนูญนั้น ตุลาการฯ เสียงข้างน้อย 2 เสียงที่เห็นว่ากระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ คือ นายชัช ชลวร และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ส่วนตุลาการฯ อีก 1 เสียงที่งดออกเสียง คือ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เนื่องจากเห็นว่า เมื่อวินิจฉัยว่าเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่ากระบวนการตราขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่ได้ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป
      
        สำหรับท่าทีของฝ่ายต่างๆ ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญว่า เสียดายกับสิ่งที่ควรจะได้พัฒนาให้ได้ก้าวนำในการเชื่อมโยงต่อภูมิภาคอาเซียน
      
        ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอว่า “วันนี้ดิฉันเจอทุกรูปแบบแล้วละค่ะ ก็อยากขอว่าอย่างน้อยให้เรามีความยุติธรรมอยู่ในสังคม มีหลักเมตตาธรรมที่ให้กับทุกคนที่เราต้องการที่จะคิดว่าเราทำเพื่อประเทศ อยากให้มองที่เจตนา อย่าใช้ข้อกฎหมายเป็นข้อที่จะลิดรอนหรือเป็นข้อที่จะตัดสิทธิทุกคนเลย”
      
        ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญช่วยให้คนไทยไม่ต้องเป็นหนี้ 50 ปี ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศนั้น นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ส่วนตัวคิดว่า เสียโอกาสของพรรคพวก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะเงินที่เตรียมใช้ก็คือเรื่องของการจ้างที่ปรึกษาหลายหมื่นล้านบาท
      
        ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ประธานคณะกรรมการกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประเทศไทยพ้นพิษภัยระบอบทักษิณ รอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกา ไม่ต้องใช้หนี้ 50 ปี และว่า คณะกรรมการกฎหมายของพรรคจะรอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่คาดว่าจะออกมาใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อประกอบการยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ครม.ทั้งคณะ รวมถึง ส.ส.-ส.ว.ที่โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.นี้ จำนวนเกือบ 400 คน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235
      
       2. กกต.มีมติ 3 ต่อ 2 แจกใบเหลือง “สุขุมพันธุ์” เตรียมส่งศาลอุทธรณ์ชี้ขาด ด้านเจ้าตัว ยัน ไม่ได้ทำอะไรผิด พร้อมเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครอง!

       เมื่อวันที่ 11 มี.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประชุมพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังประชุม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เผยว่า กกต.มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง เสนอศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่(ใบเหลือง) กับผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากเห็นว่า ผู้สนับสนุนรายหนึ่งได้ปราศรัยโจมตีใส่ร้ายผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแม้ว่าการปราศรัยครั้งนี้จะไม่ได้เป็นการดำเนินการด้วยตัวเอง แต่มีการเชื่อมโยงไปยังผู้สมัคร กกต.จึงมีมติให้ใบเหลือง
      
        ทั้งนี้ มีรายงานว่า สำนวนคดีนี้ กกต.กทม.มีมติ 3 ต่อ 2 เสนอให้ กกต.ยกคำร้อง และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการ กกต.ที่วินิจฉัยเรื่องร้องคัดค้าน ก็มีมติเสียงข้างมากให้ยกคำร้องคดีนี้เช่นกัน แต่เมื่อเข้าที่ประชุม กกต. กกต.ได้ประชุมลับ ก่อนลงมติ ปรากฏว่า หลังลงมติ เสียงออกมาเท่ากัน คือ 2 เสียงให้ใบเหลือง ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และนายบุญส่ง น้อยโสภณ และ 2 เสียงให้ยกคำร้อง ได้แก่ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ และนายประวิช รัตนเพียร เมื่อเสียงเท่ากัน สุดท้ายนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.จึงออกเสียงชี้ขาด โดยให้ใบเหลือง
      
        รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำนวนร้องคัดค้านผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ร้องโดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายวิญญัติ ชาติมนตรี สมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่ร้องต่อ กกต.กทม.ให้ตรวจสอบ 5 ประเด็น คือกรณี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เขียนบทความในลักษณะมีการชี้นำให้มีการเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ,กรณีการปราศรัยของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ,การปราศรัยของนายอิสสระ สมชัย ,การปราศรัยของนายกรณ์ จาติกวณิช และการปราศรัยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่ง กกต.มีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้อง 4 ประเด็น ยกเว้นคำปราศรัยของนายสุเทพ ที่ระบุทำนองว่า หากเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย จะได้เป็นผู้ว่าฯ หุ่นเชิด และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แนวร่วม นปช. และพรรคเพื่อไทย เป็นกระบวนการเดียวกัน ที่ใช้กรุงเทพฯ เป็นฐานก่อการร้ายจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง กรณีการชุมนุมเมื่อปี 2553 และพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของประเทศไทย ซึ่ง กกต.เสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 มีมติให้ใบเหลือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากกรณีนี้ อย่างไรก็ตาม กกต.ได้มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 ไม่ดำเนินคดีอาญากับผู้ปราศรัย
      
        ด้านนายสมชัย เผยด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการลงนามก่อนยกร่างคำร้องส่งเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์ ภาค 1 เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบตามมติของ กกต.หรือไม่ ซึ่งคาดว่า กกต.ทั้ง 5 คน จะลงนามในหนังสือคำวินิจฉัยเพื่อส่งศาลอุทธรณ์ได้ประมาณวันที่ 21-24 มี.ค. และว่า ระหว่างนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าศาลอุทธรณ์ ภาค 1 จะมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา จึงจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่หากศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้อง ก็ถือว่าคำวินิจฉัยของ กกต.ตกไป
      
        ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พูดถึงมติ กกต.ที่ให้ใบเหลืองตนว่า รู้สึกเสียดายที่ กกต.ใช้เวลานานเกือบ 1 ปีในการวินิจฉัยเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวผู้สมัคร และน่าเสียดายที่ กกต.มาวินิจฉัยในขณะที่บ้านเมืองกำลังลุกเป็นไฟ “ผมไม่อยากให้ประชาชนกังวล เพราะผมเคารพในรัฐธรรมนูญ... และผมเคารพในองค์กรอิสระ แม้จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม”
      
       ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังยืนยันด้วยว่า ตนไม่ห่วงตัวเอง แต่ห่วงงาน และตนไม่ได้ทำอะไรผิด ยังเชื่อว่าบ้านเมืองนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตนอายุ 60 กว่าแล้ว ชาว กทม.ไว้วางใจเลือกมา 2 สมัยแล้ว ถือเป็นบุญมหาศาลและกำไรชีวิตแล้ว ตนเป็นคนไม่ชอบพูด อยากทำงาน และเชื่อว่าศาลยุติธรรมจะให้โอกาสตนทำงานต่อไป
      
        ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงมติ กกต.ที่ให้ใบเหลือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ว่า พรรคเคารพการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและการตัดสินของศาล แต่ยังติดใจข้อกล่าวหาเรื่องการปราศรัยใส่ร้าย หากเป็นการพูดเรื่องจริง จะเป็นการไส่ร้ายได้อย่างไร เพราะเท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้น กรณีนายสุเทพปราศรัยว่า พรรคเพื่อไทย ซึ่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.สังกัดอยู่ เกี่ยวโยงกับเรื่องการเผาบ้านเผาเมือง เกี่ยวกับเรื่องรัฐไทยใหม่ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงที่เคยพิสูจน์กันในคดีมาแล้วทั้งนั้น จึงต้องรอดูว่าบรรทัดฐานการพิจารณาจะเป็นอย่างไร เพราะประเทศประชาธิปไตย การเอาความจริงมาพูดเกี่ยวกับผู้สมัครในพรรคการเมืองโดยเปิดเผย เป็นกระบวนการที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย ถ้าเอาเรื่องเท็จมาพูด ถือว่ายอมรับไม่ได้
      
       3. 6 องค์กรอิสระ เตรียมแถลงโรดแมปทางออก ปท. 17 มี.ค. พร้อมเป็นคนกลางเจรจาคู่ขัดแย้ง!

       เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เผยหลังประชุมผู้แทน 7 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย นายสมชัย ในนาม กกต. ,นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ,นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ,นายโอภาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) ,นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ,นายประสิทธิ์ ปทุมมารัตน์ อัยการอาวุโส ขณะที่ น.ส.ประพีร์ อังกินันทน์ รักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ไม่ได้เข้าร่วม ทั้งนี้ นายสมชัย บอกว่า ที่ประชุมได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับทางออกของประเทศและแนวทางการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
      
        ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับทางออก โดยกำหนดแผนที่ ความสำเร็จ หรือโรดแมป และกรอบการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว และผู้นำทั้ง 7 องค์กรจะแถลงข่าวร่วมกันในวันที่ 17 มี.ค.เวลา 13.30น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
      
        ด้านนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน บอกว่า การหารือของ 7 องค์กรครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก มีการพูดคุยกันมาตลอด แต่ที่ไม่ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจานั้น เนื่องจากเห็นว่ามีองค์กรอื่นทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาอยู่แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ทั้ง 7 องค์กรต้องออกมาแสดงจุดยืนครั้งนี้
      
        ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา ทางสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกมาชี้แจงว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมฟังหลักการของทั้ง 6 องค์กร แต่ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นตัวกลางในการเจรจาแก้ความขัดแย้งได้ เนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ขณะที่ กปปส.มีแกนนำบางคนมีหมายจับของศาลอาญา อัยการไม่สามารถต่อรองเรื่องนี้ได้
      
        ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง บอกว่า แม้อัยการจะถอนตัวก็ไม่มีปัญหา และว่า ขณะนี้ได้มีการทาบทามอีก 2 องค์กรตามรัฐธรรมนูญมาร่วมด้วย และจะร่วมประชุมด้วยอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มี.ค. ซึ่งจะรวมเป็น 8 องค์กร
      
        สำหรับท่าทีของฝ่ายต่างๆ ต่อกรณีที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะลุกขึ้นมาเป็นตัวกลางให้เกิดการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองนั้น ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ค่อนข้างเสียงแตก บางส่วนก็หนุน เช่น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่า เป็นสิ่งที่ดี และหากมีการขอให้ตัวแทนของพรรคไปร่วมเจรจา ก็ยินดี แต่บางคนในพรรคเพื่อไทยก็ออกมาเหน็บองค์กรอิสระ เช่น นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย บอกว่า ทั้ง 7 องค์กรถูกใครใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดรัฐบาลรักษาการชุดนี้หรือไม่ หรือจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนสงกรานต์ตามที่ กปปส.ประกาศไว้
      
        ขณะที่ฟากพรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค บอกว่า พรรคพร้อมรับฟังโรดแมปขององค์กรอิสระ 7 องค์กรที่จะเสนอมา พร้อมเชื่อว่า จะเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการเสนอแนวทางแก้ปัญหาประเทศ ต้องคำนึงถึงหลัก 3 ข้อ คือ 1.ยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก 2.ยึดหลักนิติธรรม และ 3.เรื่องคดีต่างๆ ที่ขัดกฎหมายนั้น จะต้องให้มีการเดินหน้าสอบสวนต่อไปตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความถูกผิด
      
        ส่วนท่าที กปปส.นั้น นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. กล่าวว่า กปปส.พร้อมเจรจาพูดคุยกับ 7 องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ยกเว้นรัฐบาลในระบอบทักษิณ ซึ่งที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ปฏิเสธการเจรจากับรัฐบาล ยกเว้นการเจรจาแบบเปิดเผย แต่ถูกปฏิเสธจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม นายเอกนัฏ บอกว่า เป็นห่วงเงื่อนไขและกรอบเจรจาของ 7 องค์กรที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงต้องประเมินท่าที 7 องค์กร ที่จะต้องตอบคำถามว่าจะมีส่วนร่วมในการเจรจาหรือเสนอตัวเป็นคนกลาง ซึ่งอาจมีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะองค์กรเหล่านั้นเป็นคู่กรณีในการตรวจสอบรัฐบาล ดังนั้นเกรงว่าอาจมีผู้นำข้อเสนอของ 7 องค์กร ไปทำให้เข้าใจผิดว่าไม่มีความเป็นกลางได้
      
 

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
Re: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 มี.ค.2557
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 24 มีนาคม 2014, 01:15:59 »
      4. สะพัด! โผโยกย้ายทหาร เด้ง “วินัย” พ้น ผบ.หน่วยซีล เอาใจ รบ. ด้าน ปชช.ยื่นค้าน-ถวายฎีกา ขณะที่เจ้าตัวขู่ไขก๊อก!

       เมื่อวันที่ 13 มี.ค. พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม เผยถึงความคืบหน้าการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารกลางปีจำนวน 203 นายว่า ตนได้ส่งบัญชีรายชื่อโยกย้ายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. จากนั้นวันที่ 12 มี.ค. กกต.ได้เชิญตนไปชี้แจงเพิ่มเติม ด้าน กกต.ได้เห็นชอบบัญชีโยกย้ายนายทหารตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแล้วเมื่อวันที่ 14 มี.ค. หลังได้รับการชี้แจงจากกระทรวงกลาโหมว่าการแต่งตั้งโยกย้ายดำเนินการตามความเหมาะสม และตามลำดับอาวุโส
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า โผโยกย้ายทหารครั้งนี้ มีการปรับย้ายตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ พล.ท.วลิต โรจนภักดี (ตท.15) แม่ทัพน้อยที่ 1 ซึ่งเป็นนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์และเคยพลาดหวังจากการขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 มาถึง 2 ครั้ง ครั้งนี้จะได้ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 แทน พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ที่จะขยับเข้ากินอัตราพลเอก ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ด้าน พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร (ตท.17) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จะได้ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 ขณะที่ พล.ต.วราห์ บุญญะสิทธิ์ (ตท.18) ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์(ผบ.พล.1รอ.) ซึ่งขณะนี้เป็น ผบ.กองกำลังทหารควบคุมการดูแลรักษาความปลอดภัยภายในกรุงเทพฯ จะขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 โดย พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ตท.20) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 (ผบ.มทบ.15) ลูกชาย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) จะกลับมาเป็น ผบ.พล.1 รอ.
       
       ส่วนกองทัพเรือ มีรายงานว่า มีการปรับย้ายตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ (ตท.16) ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการพิเศษทางเรือ(ผบ.นสร.) หรือ ผบ.หน่วยซีล หลังจาก พล.ร.ต.วินัย ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นเชิงลบต่อรัฐบาล จนมีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่พอใจ นอกจากนี้ พล.ร.ต.วินัย ยังถูกรัฐบาลมองว่าให้การสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ขณะที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ รู้สึกไม่สบายใจและอึดอัดกับการถูกรักษาการนายกฯ กดดัน จึงปรับย้าย พล.ร.ต.วินัย ที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.นสร.มานาน 3 ปี 6 เดือน ออกจากตำแหน่ง เพื่อลดแรงกดดันจากรัฐบาล โดย พล.ร.ต.วินัยจะถูกย้ายไปกินอัตราพลโทในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังไม่สามารถหาคนที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง ผบ.นสร. แทน พล.ร.ต.วินัยได้ จึงโยก พล.ร.ต.ยุจ พิจิตรชุมพล หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการ (ตท.18) ผบ.กองเรือยุทธการ ที่เคยดำรงตำแหน่งทั้งรอง ผบ.นสร. และ เสธ. นสร.ลงมาเป็น ผบ. นสร. เพื่อขัดตาทัพไปก่อน
       
       ด้าน พล.ร.ต.วินัย กล่าวถึงกระแสถูกย้ายออกจากตำแหน่ง ผบ.หน่วยซีล ว่า เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาจะเห็นสมควร “แต่ผมอาจจะลาออกจากราชการ หากถูกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ผมไม่ได้ทำงาน และมีแรงกดดันมากๆ เพราะผมเป็นคนทำงาน จะให้ผมอยู่เฉยๆ คงไม่ไหว เช่น ถ้าย้ายผมไปอยู่ที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม แล้วจะให้ผมทำงานอะไร ขณะนี้ขอตัดสินใจแบบวันต่อวัน ที่ผ่านมา หน่วยซีลไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่บางคนที่ไปเพราะอยากปกป้องประชาชน เกรงว่าอาจได้รับอันตรายเท่านั้น”
       
       ทั้งนี้ หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการโยกย้าย พล.ร.ต.วินัย พ้นตำแหน่ง ผบ.หน่วยซีล โดยเครือข่ายนักศึกษาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ และนายอุทัย ยอดมณี ได้นำมวลชนเดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพเรือเมื่อวันที่ 14 มี.ค.เพื่อยื่นหนังสือขอให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ทบทวนการปรับย้าย พล.ร.ต.วินัย
       
        ขณะที่อีกด้าน กลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ นำโดย พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ได้นำมวลชนเดินทางไปที่สำนักงานเลขาธิการพระราชวัง เพื่อยื่นหนังสือถวายฎีกาคัดค้านการโยกย้าย พล.ร.ต.วินัย จากนั้นได้เดินทางไปกระทรวงกลาโหม เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อคัดค้านการย้าย พล.ร.ต.วินัยเช่นกัน โดยระบุเหตุผลว่า พล.ร.ต.วินัย ทำหน้าที่ปกป้องประชาชนด้วยความเข้มแข็งและรักความถูกต้อง และเป็นที่รักของประชาชนทุกหมู่เหล่า แต่กลับถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายการเมือง โยกย้ายออกจากตำแหน่ง ทำให้ข้าราชการที่ดีมีจำนวนน้อยลง จึงอยากขอให้ทบทวนอย่างรอบคอบอีกครั้ง
       
        ด้าน พล.อ.นิพัทธ์ พูดถึงการโยกย้ายนายทหารกลางปี ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ว่า รอ กกต.ส่งบัญชีรายชื่อที่เห็นชอบแล้วกลับมายังกระทรวงกลาโหม คาดว่าอย่างช้าที่สุดจะมาถึงวันที่ 17 มี.ค. จากนั้นจะนำบัญชีรายชื่อเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อลงนามและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทันที พล.อ.นิพัทธ์ ยังยืนยันด้วยว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารครั้งนี้ โดยเฉพาะการย้าย พล.ร.ต.วินัย นายกฯ และฝ่ายการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโยกย้าย แต่มาจากการพิจารณาของผู้บังคับบัญชา ซึ่ง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร.เห็นว่าการย้าย พล.ร.ต.วินัย มีความเหมาะสม ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบจากกรณีที่นายทหารจากหน่วยซีลหลายนายเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับการชุมนุม
       
       5. ศาลแพ่ง สั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามเนรเทศ “สาธิต” ออกนอกประเทศ!

       เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายสาธิต เซกัล นักธุรกิจชาวอินเดีย ได้มอบอำนาจให้นายอาทิตย์ เซกัล น้องชาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) และคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานละเมิด โดยขอให้ศาลเพิกถอนมติหรือคำสั่งที่จำเลยเพิกถอนถิ่นที่อยู่อาศัยของนายสาธิต พร้อมขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้โจทก์ถูกจับกุมและถูกผลักดันออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้และมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินทันที
       
        ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวสัญชาติอินดีย เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่อายุ 5 ขวบ กระทั่งอายุ 21 ปี ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร โจทก์ประพฤติตนเป็นพลเมืองดี ประกอบแต่คุณงามความดีและทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยหลายด้าน นอกจากนี้ในการไต่สวนได้ความว่า โจทก์เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. จึงได้รับความคุ้มครองตามคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีที่นายถาวร เสนเนียม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อีกทั้งเมื่อวันที่ 10 ก.พ. คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง โดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าคำปราศรัยของโจทก์ยังไม่เป็นภัยต่อประเทศชาติ จึงยังไม่มีเหตุเนรเทศโจทก์ออกนอกราชอาณาจักร
       
        แต่ ศรส.มีคำสั่งเนรเทศโจทก์ โดยอาศัยประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 11(8) จากนั้นวันที่ 21 ก.พ.คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง จำเลยที่ 2 ได้พิจารณากรณีดังกล่าวอีก โดยลงมติลับให้เพิกถอนถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของโจทก์ ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม จำเลยที่ 2 ได้ลงนามคำสั่งตามความเห็นของจำเลยที่ 3 โดยอ้างว่าโจทก์เข้าร่วมเป็นแกนนำกับกลุ่ม กปปส.และขึ้นเวทีปราศรัยให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายบ้านเมือง นำมวลชนไปปิดล้อมกรมการบินพลเรือน จึงเป็นบุคคลที่กระทำการกระทบต่อความมั่นคง
       
        ด้านศาลเห็นว่า มีข้อเท็จจริงที่รับฟังจากนายจรูญ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมการบินพลเรือนว่า ที่โจทก์พร้อมพวก เดินทางมาที่กรมการบินพลเรือนนั้น ไม่มีการข่มขู่หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ และไม่มีการทำลายทรัพย์สินของกรมฯ แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 7 มี.ค. พล.ต.ต.กฤษฎา สุรเชษฐ์พงษ์ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ให้เนรเทศโจทก์แล้ว ย่อมมีผลให้เจ้าหน้าที่นำตัวโจทก์ออกนอกราชอาณาจักรได้ ดังนั้นเมื่อพิจารณาพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว ศาลเห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนคำพิพากษามาใช้ตามคำขอของโจทก์ได้ จึงมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสาม ดำเนินการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวโจทก์ออกนอกราชอาณาจักรไว้ชั่วคราว จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ส่วนคดีขอเพิกถอนถิ่นที่อยู่อาศัย ศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 26 พ.ค.เวลา 09.00น.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 มีนาคม 2557