ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-13 ก.ย.2556  (อ่าน 936 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-13 ก.ย.2556
« เมื่อ: 06 ตุลาคม 2013, 21:48:40 »
1. ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก “ประชา มาลีนนท์” 12 ปี “พล.ต.ต.อธิลักษณ์” 10 ปี คดีทุจริตรถดับเพลิง ขณะที่ “โภคิน-วัฒนา-อภิรักษ์” รอด!

       เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ,พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ,บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากบริษัทดังกล่าวอยู่ที่ประเทศออสเตรีย) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล จากกรณีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,687,489,000 บาท
       
       ทั้งนี้ ศาลฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายประชา จำเลยที่ 2 และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล โดย พล.ต.ต.อธิลักษณ์ มีพฤติกรรมลุกลี้ลุกลนเร่งรีบเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงจากบริษัท สไตเออร์ฯ ซึ่งเป็นการจัดซื้อในราคาที่สูงเกินจริงไม่สมเหตุสมผล โดยไม่เคยสืบราคาจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรายใด และไม่ได้มีการต่อรองราคาอย่างจริงจัง “(ศาล)เห็นว่า จำเลยที่ 4 ผิดวิสัยข้าราชการ มีการต่อรองราคาโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศชาติ โดยมีพิรุธและเอื้อประโยชน์ต่อจำเลยที่ 5 (บริษัท สไตเออร์ฯ) โดยมิชอบ” จึงพิพากษาจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา
       
       ขณะที่นายประชา จำเลยที่ 2 ศาลเห็นว่า เมื่อนายประชาถูก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ขอให้ช่วยเหลือผลักดันโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงจากบริษัท สไตเออร์ฯ หากนายประชาไม่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ซื้อสินค้า ก็คงไม่เดินทางไปดูงานที่ประเทศออสเตรีย โดยเฉพาะผู้แทนบริษัท สไตเออร์ฯ มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่มาศาลหลายหน เมื่อมาเบิกความก็ให้การกลับไปกลับมา จึงเป็นสิ่งที่ส่อพิรุธมากขึ้น อีกทั้งเมื่อนายอภิรักษ์ จำเลยที่ 6 มีหนังสือให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนโครงการ นายประชา ซึ่งรักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น กลับเร่งให้เปิดแอลซีทันที จนนำไปสู่การซื้อสินค้าไม่เหมาะสม เอื้อประโยชน์ให้บริษัท สไตเออร์ฯ จำเลยที่ 5 สะท้อนพฤติการณ์ว่า นายประชามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ตั้งแต่แรก จึงพิพากษาจำคุกนายประชาเป็นเวลา 12 ปี ไม่รอลงอาญา
       
       ส่วนนายโภคิน จำเลยที่ 1 ,นายวัฒนา จำเลยที่ 3 และนายอภิรักษ์ จำเลยที่ 6 นั้น ศาลยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า นายโภคินเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหลังจากมีการเสนอโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงแล้ว และไม่ได้เป็นผู้อนุมัติโครงการแต่อย่างใด ขณะที่นายวัฒนา ศาลเห็นว่า ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีการทำข้อตกลงการค้าต่างตอบแทน หลังจากมีการลงนามจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงจากบริษัท สไตเออร์ฯ โดยบริษัท สไตเออร์ฯ ได้จ้างบริษัท ซีพีเอ็มฯ มาซื้อขายไก่ต้มสุกที่ส่งออกแทน ซึ่งแม้จะมีการอ้างว่า บริษัท ซีพีเอ็มฯ เป็นเครือญาติกับนายวัฒนา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า นายวัฒนามีส่วนรู้เห็นด้วย ส่วนนายอภิรักษ์ อดีตผู้ว่าฯ กทม.นั้น ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่าได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ กทม.หรือทุจริตแต่อย่างใด จึงพิพากษายกฟ้อง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นายประชา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับบุคคลทั้งสอง เพื่อติดตามตัวมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ต.ค. เวลา 09.30น. พร้อมปรับนายประกัน 2 ล้านบาท ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายประชาได้เดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ก.ค.โดยเที่ยวบิน TG750
       
       สำหรับนายประชาเป็นนักการเมืองคนที่ 4 ของประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก โดยคนแรกคือนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก 15 ปี คดีทุจริตยา ปัจจุบันพ้นโทษแล้วและบวชเป็นพระ คนที่สอง นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี คดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และคนที่สาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี คดีทุจริตซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ
       
       2. “สนธิ-จำลอง” เมินร่วมวงปฏิรูป ซัดรัฐเป็นผู้ก่อความขัดแย้ง ต้องแก้ที่ตัวเอง ด้าน “บรรหาร” ไม่กล้ารับปากจะไม่ช่วย “ทักษิณ” พ้นโทษ!

       เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานคณะปฏิรูป 3 ด้าน ตามแผนสภาปฏิรูปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาพบและหารือกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บ้านพระอาทิตย์ โดยนายบรรหารเดินทางมาพร้อมกับนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ซึ่งการหารือครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีด้วย
       
       ทั้งนี้ นายบรรหาร บอกกับนายสนธิและ พล.ต.จำลองว่า ตนมาในฐานะผู้ประสานงาน เพื่อทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งตนอายุ 82 แล้ว คงอยู่อีกไม่กี่ปี ก็อยากจะทำประโยชน์ให้ลูกหลานบ้าง พร้อมเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ โทรมาหาตนเองว่าอยากจะปฏิรูปบ้านเมืองให้ทุกฝ่ายมาเปิดใจคุยกันไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และขอให้ตนเป็นผู้ประสานงานเพราะรู้จักคนมาก
       
       ด้าน พล.ต.จำลอง บอกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง มาจากการกระทำของพรรครัฐบาล และว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งสภาปฏิรูปอะไร เพราะสามารถแก้ได้โดยตัวของรัฐบาล เพราะฉะนั้นนายกฯ ควรแก้ปัญหาที่ต้นตอ อะไรที่ทำอยู่ก็เลิกซะ ไม่ต้องเดือดร้อนนายบรรหารด้วย
       
       ขณะที่นายสนธิ บอกว่า ขอถามนายบรรหาร 4-5 ข้อว่า นายบรรหารคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ควรกลับมาติดคุกหรือไม่ และถ้าจะนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องนิรโทษฯ ให้นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วยหรือไม่ ทำไมนักการเมืองและข้าราชการต้องบินไปหา พ.ต.ท.ทักษิณ และกลับมาพร้อมตำแหน่ง ตนจึงไม่เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง การแสดงออกของรัฐบาลไม่ได้แสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา เช่นการต่ออายุราชการให้กับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ก็เพราะนายธาริตสามารถเล่นงานฝ่ายตรงข้ามกลับได้ “ถ้าเขาคิดจะใช้พี่บรรหารเป็นเครื่องมือในเกมนี้ ถ้าเป็นแบบนั้น ผมขอไม่เล่นด้วย และอยากถามพี่ด้วยว่า พี่คิดว่าตัวเองก็คือต้นตอของปัญหาด้วยหรือไม่ ...ผมไม่เคยคิดว่าทักษิณจะปฏิรูปการเมือง เขาก็แค่ต้องการลดอุณหภูมิทางการเมืองลงมาเท่านั้น งั้นต้องถามว่า พี่จะไปเป็นตัวประกอบของเขาอีกนานไหม นี่คือคำพูดที่มาจากใจ พี่ต้องไม่โกรธผม”
       
       นายสนธิ ยังบอกด้วยว่า อยากให้นายบรรหารทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ลือลั่นก่อนตาย เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นเครื่องมือของทักษิณ อยากให้นายบรรหารแสดงจุดยืนให้ชัดเจนเพื่อพิสูจน์ว่าสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อชาติ เพื่อประชาชน
       
       ด้านนายบรรหาร ชี้แจงโดยยืนยันว่า ตนทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้เป็นเครื่องมือของใคร และว่า ตอนนี้แค่เริ่มต้น ส่วนตอนจบจะเป็นอย่างไรต้องรอดูต่อไป พร้อมอ้างว่า ตนไม่ได้แก้ตัวแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่บางอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้เชื่อพี่ชาย และว่า ปัจจุบันความเป็นธรรมในสังคมไม่มี ตนถูกแบน พรรคถูกยุบทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิด มัน 2 มาตรฐานหรือไม่ นายบรรหาร ยังพูดเหมือนปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณด้วยว่า เหตุที่ทักษิณไม่กลับประเทศ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมให้ทักษิณนั้น นายบรรหารเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ พร้อมยืนยัน กฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้จะไม่มีการแปรญัตติเพื่อช่วยทักษิณ เมื่อนายสนธิ ถามว่า ถ้าสุดท้ายแล้วสภาฯ จะนิรโทษกรรมหรือพยายามทำอะไรให้ทักษิณ นายบรรหารจะไม่เอาด้วยใช่หรือไม่ ด้านนายบรรหารถึงกับทำหน้าเหวอก่อนบอกว่า ไม่ขอตอบ พร้อมอ้างว่า คำถามนี้ตอบยาก ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
       
       ทั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับ นายบรรหารได้มอบปากกาที่ทำขึ้นในวันเกิดตัวเองให้นายสนธิและ พล.ต.จำลองด้วย จากนั้นนายบรรหาร ได้เดินทางไปพบ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่มูลนิธิสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอคำแนะนำและนำไปเสนอในเวทีสภาปฏิรูป โดย นพ.ประเวศ บอกว่า ตนสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง พร้อมชี้ ปัญหาอยู่ที่โครงสร้างอำนาจ ถ้าจะปฏิรูป ต้องลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก โอกาสนี้ นพ.ประเวศได้เสนอให้ปฏิรูปประเทศโดยใช้รูปแบบ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งประกอบด้วย 1.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศมีนายกฯ เป็นประธาน และประกอบด้วยบุคคลที่มาประชุมเมื่อวันที่ 25 ส.ค.
       
       2.เครือข่ายปฏิรูปประเทศ อาจเป็นกลุ่มเครือข่ายตามพื้นที่ กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ โดยให้ทุกฝ่ายเป็นอิสระ ต่างคนต่างทำไม่ต้องขึ้นกับใคร แต่ตัวร่วมที่จะทำให้มาเจอกันคือประเทศไทย 3.สภาปฏิรูปประเทศหรือสมัชชาปฏิรูปประเทศ คือการประชุมของทุกภาคส่วนในการปฏิรูปประเทศ เพื่อพิจารณาและรับรองเป็นมติในประเด็นนโยบายต่างๆ จากนั้นส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มีนายกฯ เป็นประธาน จะทำให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติง่ายขึ้น เพราะผ่านการสังเคราะห์จากทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วม จนเกิดเป็นฉันทามติ
       
       นพ.ประเวศ บอกด้วยว่า ตนขออยู่ในส่วนที่ 2 คือเครือข่ายปฏิรูปประเทศ แต่ถ้าส่วนที่ 1 เชิญให้ร่วมประชุม ก็ยินดี ด้านนายบรรหาร แสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ นพ.ประเวศ พร้อมเผยว่า หลังจากเข้าพบนายสนธิแล้วรู้สึกหนักใจ เพราะลูกระเบิดลงหลายลูก แต่เมื่อเดินทางมาพบ นพ.ประเวศ ทำให้รู้สึกเบาใจขึ้นบ้าง และยืนยันอีกครั้งว่า ตนไม่ได้เป็นเครื่องมือของรัฐบาล
       
       3. ร่างแก้ รธน.ที่มา ส.ว. ผ่านฉลุยวาระ 2 เตรียมลงมติวาระสาม 27 ก.ย.นี้ ด้าน ปชป. จ่อชงศาลฯ วินิจฉัยขัด รธน.หรือไม่!

       เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ซึ่งค้างอยู่ที่มาตรา 7 เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ซึ่งกำหนดไว้ 6 ปี ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายเสนอให้ ส.ว.มีวาระแค่ 4 ปี ทั้งนี้ ได้เกิดเหตุวุ่นวายในช่วงค่ำ เมื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอปิดอภิปราย โดยอ้างว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายนอกประเด็น จึงเกิดการประท้วงกันไปมาระหว่าง ส.ส.ของทั้งสองพรรค ในที่สุด นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้ให้ลงมติ ปรากฏว่า เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปรายต่อ ด้วยคะแนน 336 ต่อ 11 เสียง จากนั้นจึงลงมติว่าจะเห็นชอบมาตรา 7 ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขหรือไม่ ปรากฏว่า ที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบ 334 ต่อ 3 เสียง
       
       วันต่อมา(10 ก.ย.) ที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 8 ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว.เมื่อตำแหน่ง ส.ว.ว่างลง ซึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ยังคงติดใจกรณีที่เสียงข้างมากชอบเสนอปิดอภิปราย ขณะที่นายนิคมและนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ก็วินิจฉัยเรื่องการปิดอภิปรายแตกต่างกัน พรรคประชาธิปัตย์ยังชี้ด้วยว่า เสียงข้างมากฉ้อฉล ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่พอใจ โต้กลับว่า ฝ่ายค้านเตะถ่วง ตั้งใจจะคว่ำรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายนิคม ได้เปิดใจด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “ทุกครั้งที่ผมขึ้นมา(ทำหน้าที่ประธาน) ถูกประท้วง ผมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านบอกว่าผมผิด ยื่นถอดถอนผม แม้ยื่นถอดถอนผม ก็ไม่เป็นไร แต่อย่ากล่าวหากัน”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการอภิปรายดำเนินมาถึงช่วงบ่าย ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอปิดอภิปรายอีก โดยอ้างว่าพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายวกไปวนมา ด้านนายสมศักดิ์ไกล่เกลี่ยขอให้อภิปรายอีก 3 คน จากนั้นได้มีการลงมติ ปรากฏว่า เสียงข้างมากเห็นชอบมาตรา 8 ด้วยคะแนน 362 ต่อ 115 เสียง ก่อนพิจารณามาตรา 9 ต่อ ว่าด้วยการห้ามจับกุมคุมขังหรือออกหมายเรียกกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไปสอบ ระหว่างที่มี พ.ร.ฏ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว. เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจาก กกต. หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำผิด ซึ่งผลการลงมติ ปรากฏว่า ที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบมาตรา 9 ด้วยคะแนน 358 ต่อ 96 เสียง
       
       ส่วนมาตรา 10 ซึ่งกำหนดให้ ส.ว.สรรหายังคงมีสมาชิกภาพและสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ในวันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คนใช้บังคับ และหลังจาก ส.ว.สรรหาหมดวาระลง ไม่ต้องสรรหา ส.ว.อีกนั้น ได้มีการพิจารณาต่อในวันที่ 11 ก.ย. โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้ขอแปรญัตติให้ตัดมาตรา 10 ออกทั้งมาตรา เนื่องจากเนื้อหาขัดกับหลักการและเหตุผลของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอง เพราะตามหลักการระบุว่า สมควรกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ในมาตรา 10 ยังคงให้ ส.ว.สรรหาปฏิบัติหน้าที่ต่อ และว่า หากกรรมาธิการจะแก้ให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องแก้ให้สุดซอย อย่าปล่อยให้ ส.ว.สรรหาที่เหลืออยู่ 73 คนกลายเป็นติ่งในวุฒิสภาต่อไป
       
       ทั้งนี้ นายสมชายประกาศด้วยว่า หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วเสร็จ ตนจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้แน่นอน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังอภิปรายไปได้ระยะหนึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอปิดอภิปรายอีก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงถามนายสมศักดิ์ว่า นายสมศักดิ์เคยวินิจฉัยให้สิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติได้อภิปราย วันนี้จะกลับคำอย่างนั้นหรือ? ด้านนายสมศักดิ์ได้ให้ลงมติ ซึ่งเสียงข้างมากเห็นด้วยกับการปิดอภิปราย จึงมีการลงมติว่าจะเห็นชอบมาตรา 10 หรือไม่ ปรากฏว่า เสียงข้างมากเห็นชอบ 348 ต่อ 22 เสียง
       
       จากนั้นได้มีการพิจารณามาตรา 11 ต่อ ซึ่งกำหนดให้ กกต.เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่อรัฐสภาภายใน 30 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้รัฐสภาพิจารณาและเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นี้ภายใน 120 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ประธานสภาฯ นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้วเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ ต่อไป ทั้งนี้ หลังอภิปรายไปได้ระยะหนึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอปิดอภิปราย แต่ ส.ว.บางคนเสนอให้เปิดอภิปรายต่อ จึงมีการลงมติ ปรากฏว่า เสียงข้างมาก 335 ต่อ 12 ไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปราย จึงลงมติว่าจะเห็นชอบมาตรา 11 หรือไม่ ปรากฏว่า เสียงข้างมากเห็นชอบ 329 ต่อ 1 เสียง
       
       หลังจากนั้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 12 ต่อ ซึ่งกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.สรรหาเท่าที่เหลืออยู่ยังคงสมาชิกภาพต่อไปจนกว่าจะครบวาระ แต่ ส.ว.สรรหาจะปฏิบัติหน้าที่ถอดถอนบุคคลใดออกตามรัฐธรรมนูญมิได้จนกว่า ส.ว.จากการเลือกตั้งตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากลงมติเห็นชอบให้ ส.ว.สรรหาสิ้นสุดสมาชิกภาพในวันที่ ส.ว.เลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ ด้วยคะแนน 333 ต่อ 1 เสียง
       
       ส่วนมาตรา 13 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ซึ่งเป็นการกำหนดวาระเริ่มแรกของวุฒิสภา ที่ประกอบด้วย ส.ว.เลือกตั้งและ ส.ว.สรรหาเท่าที่เหลืออยู่นั้น นายสมศักดิ์ได้ใช้อำนาจประธานที่ประชุมขอความเห็นชอบจากที่ประชุมให้ตัดมาตรานี้ทิ้ง โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมาตรา 12 ได้ยกเลิก ส.ว.สรรหาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีมาตรานี้อีก ซึ่งแม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เห็นด้วย แต่ที่สุดแล้ว ที่ประชุมเสียงข้างมากก็ลงมติเห็นด้วยให้ตัดมาตรา 13 ทิ้ง ด้วยคะแนน 340 ต่อ 4 เสียง
       
       สำหรับขั้นตอนหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาในวาระ 2 แล้ว ต้องเว้นช่วง 15 วัน จึงจะมีการลงมติในวาระ 3 ได้ ซึ่งค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า จะมีการประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ในวาระ 3 ในวันที่ 27 ก.ย. ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยพรรคเห็นว่าไม่ได้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหลายประเด็น เช่น 1.ประธานรัฐสภาใช้อำนาจเกินขอบเขตในการตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติ 2.มีการเพิ่มเติมเนื้อหาจากการพิจารณาในวาระ 1 โดยให้ครอบครัว ส.ส. สามีภรรยา และบุตร สามารถลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ได้ ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน ดังนั้นอาจส่งผลให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นโมฆะได้
       
       4. ครม. เพิ่มปัจจัยผลิตช่วยสวนยางเป็น 2,520 บ. ไม่เกิน 25 ไร่ ด้านภาคีสวนยาง 16 จว.ใต้รับได้ งดชุมนุมใหญ่ พร้อมจี้ รบ.ลงนาม!

       ความคืบหน้าหลัง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา ได้นำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปเจรจากับแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ที่ จ.นครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ก่อนเปิดแถลงว่า ได้ข้อยุติร่วมกับชาวสวนยางแล้วว่า รัฐบาลจะช่วยเหลือที่ กก.ละ 90 บาท แต่ปรากฏว่า แกนนำชาวสวนยางได้ออกมาแฉว่ารัฐบาลชิงแถลงทั้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติร่วมกัน สะท้อนว่ารัฐบาลไม่จริงใจ เพราะชาวสวนยางขอให้พบกันครึ่งทางที่ กก.ละ 95 บาท ดังนั้นชาวสวนยางจะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ก.ย. โดยเฉพาะที่ จ.สงขลามีการประกาศว่าจะปิดด่านสะเดา หากรัฐบาลไม่สนองข้อเรียกร้องภายใน 7 วันนั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) นัดพิเศษ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้ช่วยเหลือชาวสวนยาง จากเดิมที่กำหนดว่าจะช่วยปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท สำหรับผู้ที่มีสวนยางไม่เกิน 10 ไร่ เพิ่มเป็นไร่ละ 2,520 บาท สำหรับชาวสวนยางที่เปิดกรีดไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่ง กนย.ชี้แจงว่า การเพิ่มปัจจัยการผลิตดังกล่าว เท่ากับว่ารัฐบาลได้ช่วยเหลือชาวสวนยางที่ กก.ละ 90 บาทแล้ว เพราะคำนวณจากราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ที่ตลาดกลางหาดใหญ่เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ราคา 78 บาทต่อ กก. เมื่อบวกกับจำนวนที่ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 12 บาทต่อ กก. ก็เทียบได้กับ 2,520 บาทต่อไร่ เท่ากับว่าเป็นไปตามราคาที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราตั้งไว้ที่ 90 บาท/กก. ส่วนผู้ที่เปิดกรีดยางมากกว่า 25 ไร่ จะเหมาจ่ายที่ 63,000 บาทต่อราย
       
       ทั้งนี้ กนย. ได้เสนอรูปแบบการช่วยเหลือชาวสวนยางดังกล่าวให้ที่ประชุม ครม.รับทราบแล้วเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติงบช่วยเหลือโดยนำมาจากงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินวงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท สำหรับเงื่อนไขการช่วยเหลือ ต้องเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิหรือสิทธิทำกินในพื้นที่นั้น
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง กนย.และ ครม.มีมติช่วยเหลือด้วยการเพิ่มปัจจัยการผลิตดังกล่าว ส่งผลให้ชาวสวนยางมีทั้งพอใจและไม่พอใจ โดยกลุ่มที่ไม่พอใจ ได้แก่ ชาวสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีนายมนูญ อุปลา เป็นแกนนำ ได้มีการนำโลงศพ 3 ใบมาเผาบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเวียงสระ ประกอบด้วย โลงศพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ,โลงศพนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และโลงศพนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมชี้ว่า รัฐบาลกลับคำ บอกจะช่วยเหลือชาวสวนยางที่ กก.ละ 90 บาท กลับเปลี่ยนเป็นการช่วยปัจจัยการผลิตแทน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ทั่วถึง คนกรีดยางไม่ได้ประโยชน์
       
       ส่วนกลุ่มที่พอใจ ได้แก่ กลุ่มสวนยางบ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่มีนายเอียด เส้งเอียด เป็นผู้ประสานงาน โดยบอกว่า รับได้กับการเพิ่มปัจจัยการผลิตดังกล่าว ดังนั้นทางกลุ่มจะไม่มีการชุมนุมในวันที่ 14 ก.ย.
       
        ขณะที่กลุ่มภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและชาวสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ ที่มีนายอำนวย ยุติธรรม เป็นประธานภาคีเครือข่าย ได้ประชุมเพื่อกำหนดท่าทีต่อการช่วยเหลือของรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 ก.ย. โดยได้ข้อสรุปว่า จะเรียกร้องไปยังรัฐบาล 5 ข้อ 1.ภาคีเครือข่ายฯ มีมติรับหลักการตามที่รัฐบาลเสนอเพิ่มปัจจัยการผลิตเป็น 2,520 บาท/ไร่ หรือเฉลี่ย 12 บาท/กก. และขยายจาก 10 ไร่เป็น 25 ไร่ โดยรัฐบาลต้องจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค. 2.ให้รัฐบาลช่วยเหลือเงินชดเชยส่วนต่างราคาปาล์มน้ำมันให้ได้ กก.ละ 6 บาท 3.รัฐบาลต้องไม่เอาผิดและไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุม 4.รัฐบาลต้องเยียวยาและจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน 5.ให้นายกฯ หรือตัวแทนมาร่วมลงนามกับตัวแทนเครือข่ายภายในวันที่ 13 ก.ย. ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช
       
       ด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า รัฐบาลจะส่ง พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบกลุ่มภาคีเครือข่ายเกษตรกรฯ ที่ จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ย. โดยจะไม่มีการลงนามแต่อย่างใด เพียงแต่ไปรับหนังสือจากกลุ่มภาคีเครือข่ายฯ เท่านั้น สำหรับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือภายในวันที่ 15 ต.ค.นั้น พล.ต.อ.ประชา อ้างว่า ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ น่าจะพูดคุยกันได้
       
       ส่วนในด้านคดี พล.ต.อ.ประชา บอกว่า ใครทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรืออาญา ต้องว่ากันไปตามขั้นตอน โดยจะมีฝ่ายคดีขึ้นมาดูความเรียบร้อย ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ว่า มีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมชาวสวนยางทั้งหมด 11 คดี จาก 5 พื้นที่ชุมนุม ได้แก่ สภ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี 2 คดี มีผู้ต้องหา 3 คน ออกหมายเรียกแล้ว ,สภ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มี 6 คดี ผู้ต้องหา 26 คน กำลังขออนุมัติหมายจับอีก 1 คน ,จุดแยกนาบอน จ.นครศรีธรรมราช มี 1 คดี ผู้ต้องหา 6 คน ,จุดชุมนุมท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มี 1 คดี ผู้ต้องหา 9 คน และ จ.กระบี่ 1 คดี ผู้ต้องหา 7 คน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 กันยายน 2556